24 มิ.ย.2566 - สืบเนื่องการครบ 91 ปี วันที่ 24 มิถุนายน 2475 การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ "ดร.ณัฎฐ์" มือกฎหมายมหาชนคนดัง กล่าวว่า วันนี้ ต้องรำลึกถึงคณะราษฎรที่มีหัวคิดก้าวหน้าประชาธิปไตย เห็นความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมืองที่ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศให้ดีขึ้น โดยเฉพาะแนวคิดการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองให้มี Constitution และ Parliament ในระบบรัฐสภาหมายความว่า ให้มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศในระบบนิติรัฐและให้มีการปกครองตามโครงสร้างระบบรัฐสภา เหมือนในอังกฤษ เหตุผลที่เป็นเช่นนี้ คณะราษฎรเห็นการเปลี่ยนแปลงในญี่ปุ่นและการล่มสลายของราชวงศ์จีน ประกอบกับระบบการศึกษาของสยามในขณะนั้น ประชาชนส่วนใหญ่มีการศึกษาน้อย เพราะอำนาจรัฐกระจุกอยู่ที่บุคคลคนเดียว
แนวคิดการปกครองโดยประชาชน เพื่อประชาชนโดยประชาชน ได้นำมาเขียนไว้ในธรรมนูญการปกครองสยาม(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2475 บัญญัติไว้ในมาตรา 1 อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย โดยในมาตรา 3 ได้กำหนดให้กษัตริย์เป็นประมุขของประเทศ หมายความว่า เปลี่ยนแปลงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ในธรรมนูญฉบับแรก การใช้อำนาจอธิปไตยของพระมหากษัตริย์ เขียนในมาตรา 2 ให้บุคคลและคณะบุคคล ได้แก่ (1)กษัตริย์ (2)สภาผู้แทนราษฎร (3)คณะกรรมการราษฎร (4)ศาล โดยขณะนั้น จำกัดอำนาจของกษัตริย์ในมาตรา 7 โดยระบุว่า การกระทำใดของกษัตริย์ ต้องมีคณะกรรมการราษฎรผู้หนึ่งผู้ใดลงนามด้วย โดยต้องได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการราษฎร มิฉะนั้น “ตกเป็นโมฆะ”
ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวว่าหมุดหมายสำคัญ ที่เรียกว่า หมุดคณะราษฎร สานสัมพันธ์กับ ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 มีเจตจำนงแน่วแน่ในหลัก 6 ประการ คือ "เอกราช ปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ การศึกษา” ทั้งนี้ เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของประเทศ สอดคล้องกับสารตั้งต้นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมีรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศและระบบรัฐสภา แบ่งแยกอำนาจ 3 ฝ่าย คือ นิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ เพียงแต่ขณะนั้นมีเพียงสภาเดียว คือ สภาผู้แทนราษฎร ส่วนสภาสูงกำเนิดในภายหลัง ที่เรียกว่า “พฤฒสภา” ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อว่า “วุฒิสภา” และในรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ได้เปลี่ยนชื่อจาก ประธานกรรมการราษฎร เป็น”นายกรัฐมนตรี” และคณะกรรมการราษฎร เป็น”คณะรัฐมนตรี”
ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวต่อไปว่า การล่มสลายของคณะราษฎร ในการรัฐประหาร วันที่ 8 พ.ย. 2490 โดยแกนนำฝ่ายทหารนอกราชการ ได้แก่ กลุ่มที่ 1 พล.ท.ผิน ชุนหะวัณ กลุ่มที่ 2 พ.อ.กาจ กาจสงคราม กลุ่มที่ 3 พ.ท.ก้าน จำนงภูมิเวช ส่วนกลุ่มที่ 4 เป็นนายทหารประจำการ พ.อ.สวัสดิ์ สวัสดิ์เกียรติ เป็นจุดเริ่มต้นของ ทหารนำการเมือง ไม่มีลักษณะการเมืองนำทหาร ประชาธิปไตยจึงมีลักษณะเพียงแค่เนื้อหา แต่ในการใช้อำนาจการปกครองกึ่งประชาธิปไตย ภาษาชาวบ้าน เรียกว่า ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ขัดแย้งกับแนวคิดคณะราษฎรที่ต้องการความเจริญของบ้านเมือง โดยให้ประชาชนปกครองกันเอง โดยประชาชน เพื่อประชาชน
ทั้งยังปรากฎแนวคำพิพากษาวินิจฉัยว่า การรัฐประหารสำเร็จไม่มีความผิดฐานกบฎ รองรับไว้ในคำพิพากษาฎีกาที่ 45/2496 ที่ว่า “ข้อเท็จจริงได้ความว่าใน พ.ศ. 2490 คณะรัฐประหารได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศได้เป็นผลสำเร็จ การบริหารประเทศชาติในลักษณะเช่นนี้ คณะรัฐประหารย่อมมีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลง แก้ไขยกเลิกและออกกฎหมายตามระบบแห่งการปฏิวัติ เพื่อบริหารประเทศชาติต่อไป มิฉะนั้นประเทศชาติจะตั้งด้วยความสงบไม่ได้ ดังนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 จึงเป็นกฎหมายอันสมบูรณ์” แม้รัฐประหารล่าสุด 22 พ.ค. 2557 มีคนไปร้องต่อศาลอาญาเพื่อดำเนินคดี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ศาลได้หยิบคำวินิจฉัยข้างต้น มาเป็นเหตุให้ยกฟ้อง
"หมุดหมายการเปลี่ยนแปลง แม้ผ่านมา 91 ปี ครบรอบในวันนี้ การชิงสุกก่อนห่ามทางการเมือง ในแนวคิดของล้นเกล้ารัชกาล ที่ 7 “ทรงสนับสนุนการปกครองที่มาจากประชาชน แต่พระองค์มีพระราชวินิจฉัยว่าการปกครองระบอบนี้จะต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยฝึกหัดประชาชนให้รู้จักใช้สิทธิในการออกเสียง…” และ”..ทรงมีแผนที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ ปรากฏว่าในรัชกาลนี้มีร่างรัฐธรรมนูญถึง 2 ฉบับ ฉบับแรก… บัญญัติให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงใช้อำนาจแต่งตั้งและถอดถอนนายกรัฐมนตรี… ฉบับที่สอง… ไม่เห็นด้วยที่จะประกาศใช้ด้วยเห็นว่ายังไม่ถึงเวลา ควรให้ประชาชนได้มีประสบการณ์ในการปกครองตัวเองมากกว่าที่เป็นอยู่ก่อน แผนพัฒนาการปกครองของรัชกาลที่ 7 จึงสิ้นสุดลงเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง…” ทั้งยังปรากฎบันทึกของทูตญี่ปุ่น ชื่อ ยาสุกิจิ ยาตาเบ ระบุในเอกสารว่า “ประชาชนสยามไม่เคยได้รับการฝึกฝนทางการเมือง ไม่มีอิสรภาพในการพูด หากไม่มีการปฏิวัติและรอให้พระปกเกล้าฯ ปฏิรูปการเมืองอย่างค่อยเป็นค่อยไปนั้น ‘รอไปอีกหนึ่งร้อยปีก็ไม่มีทางสำเร็จ’ ”ความจริงข้อนี้อาจเห็นได้จากพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 7 ที่ทรงกล่าวว่า “ประเทศนี้พร้อมแล้วหรือยังที่จะมีการปกครองแบบมีผู้แทนแล้วหรือไม่ เหล่านี้ จึงเป็นที่มาของการแย่งชิงอำนาจ โดยการรัฐประหาร ล่าสุด 22 พฤษภาคม 2557"
ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวด้วยว่า ประชาธิปไตยแบบตัวแทน ผ่านระบบเลือกตั้ง แต่ต้องสานสัมพันธ์กับรัฐธรรมนูญที่เป็นสากล กับดักประชาธิปไตยในการออกแบบรัฐธรรมนูญโดยกำหนดให้ สว.มีมากถึงกึ่งหนึ่ง 250 คน จำนวน ส.ส.(500 คน) แม้เพิ่มจาก 200 เป็น 250 ให้มีอำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีภายในห้าปีแรก ตามประชาธิปไตยโดยตรงในการลงประชามตินำไปบัญญัติในบทเฉพาะกาล มาตรา 272 แตกต่างรัฐธรรมนูญสากล ที่กำหนด สว.ซึ่งเป็นสภาสูงเพื่อมีหน้าที่กลั่นกรอง เพียง 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ส.และไม่มีอำนาจโหวตเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีตามระบบกลไกลรัฐสภา ทำให้ประชาธิปไตยบิดเบี้ยว เป็นเพียงประชาธิปไตยในเนื้อหา ทหารนำการเมือง ประชาธิปไตยไม่เบ่งบาน แม้ประชาชนจะตื่นตัวทางการเมือง ออกมาใช้สิทธิการเลือกตั้งถึง ร้อยละ 75 จากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด แต่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ใช้เสียงข้างมากทั้งสองสภาเลือกนายกรัฐมนตรี ทั้งประเพณีการปกครอง ให้พรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งครองเสียงข้างมากในสภาจัดตั้งรัฐบาล แต่รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรไม่ได้บัญญัติไว้ ให้พรรคที่ชนะเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเสียงข้างมากในสภา รัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 159 วรรคท้าย หากพรรคการเมืองใดรวบรวมเสียง ส.ส.และ สว. ถึง 376 เสียง และเสนอรายชื่อบุคคลใด เป็นนายกรัฐมนตรี และโหวตเสียงให้ แม้เสียงข้างน้อยในสภา หากปฎิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ย่อมเป็นประมุขฝ่ายบริหาร คือ นายกรัฐมนตรี
"ดังนั้นแม้ 91 ปีที่ผ่านมา มีการออกแบบรัฐธรรมนูญมาหลายแบบ แม้กระทั่งรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม แต่การเมืองกับการทหาร ควบคู่ไปด้วยกัน แต่ประชาธิปไตยที่แท้จริง การเมืองจะต้องนำการทหาร ให้การเมืองแก้ไขปัญหาด้วยการเมือง เป็นระบบกลไกลรัฐสภา แต่ปัจจุบัน แม้ผลการเลือกตั้ง ส.ส.ล่าสุด พรรคการเมืองของพลเรือนชนะการเลือกตั้ง แต่การออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด ยังไม่พร้อมกับการเปลี่ยนแปลง แม้จะเขียนบทเฉพาะกาลไว้ท้ายรัฐธรรมนูญถึง 279 มาตรา ปฎิรูปทุกด้าน แม้จะเรียกขานว่า รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง แต่ประเทศไทยยังอยู่ในวังวนการทหารนำการเมือง” ดร.ณัฐวุฒิ กล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มองต่างมุม 'ดร.ณัฏฐ์' เชื่อศาลรธน.ตีตกคำร้อง 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ล้มล้างฯ
สืบเนื่องจากกรณีนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญใน 6 ประเด็น เพื่อวินิจฉัยสั่งการให้ นายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย เลิกการก
'นักกฎหมาย' โต้ยิบ 'กรมที่ดิน' ปมที่ดินเขากระโดง
ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ “ ดร.ณัฏฐ์” นักกฎหมายมหาชน กล่าวถึงกรณีกรมที่ดินชี้แจง 5 ประเด็นเกี่ยวกับที่ดิน 'เขากระโดง' ว่าคำแถลงของกรมที่ดิ
นักกฎหมาย หวั่นคำสั่งทางปค. กรณีที่ดินเขากระโดง อยู่เหนือคำพิพากษาศาลฎีกา จะขัดต่อหลักนิติรัฐ
“ดร.ณัฏฐ์” นักกฎหมายมหาชน ชี้ มติเขากระโดง หักมุม ไม่เชื่อรูปแผนที่ในคำพิพากษาศาลฎีกา คำพิพากษาศาลฎีกาย่อมเหนือกว่าคำสั่งทางปกครอง
กระจ่าง! ดร.ณัฏฐ์ นักกฎหมายมหาชน ชี้กรณีคุณสมบัติ 'สว.หมอเกศ'
“ดร.ณัฏฐ์” นักกฎหมายมหาชน ชี้ กรณี สว.หมอเกศ ปริญญาเอกและตำแหน่งศาสตราจารย์ หากไม่จริง เป็นการโชว์เหนือ หลอกลวงเพื่อจูงใจให้ผู้สมัคร สว.ด้วยกัน เข้าใจผิดในคุณสมบัติ ความรู้ ความสามารถของตนเอง
สอน 'เพื่อไทย' หัดเอาอย่าง 'อภิสิทธิ์' นักการเมืองรักษาสัจวาจา
นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เพื่อไทย ไม่นิรโทษ มาตรา 112 ไม่แคร์มวลชน แต่แคร์พรรคร่วม