'วิษณุ' ชี้ รธน. มาตรา 82 ส.ส. เข้าชื่อ 50 คนยื่นสอบคุณสมบัติได้หลังปฏิญาณตน

"วิษณุ" บอกโหวตนายกฯไม่กำหนดเวลา จึงวางไทม์ไลน์รัฐบาลใหม่เข้าทำหน้าที่ไม่ได้ รับนัยการเมืองบทบาทประธานสภาฯชุดนี้ต่างกับในอดีต ไม่กล้าแนะรับมือเผือกร้อนโหวต "พิธา" เป็นนายกฯแบบไหน เผย ส.ส.เข้าชื่อ 50 คนสอบตาม ม.82 ได้หลังปฏิญาณตน

20 มิ.ย.2566 - เมื่อเวลา 12.25 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯให้สัมภาษณ์กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองส.ส. 500 ไทม์ไลน์ของการได้รัฐบาลใหม่จะเป็นอย่างไรว่า ขั้นตอนแรกต้องให้ส.ส.รายงานตัวระหว่างวันที่ 20-24 มิ.ย. แต่ความเป็นจริงต้องใช้เวลา 7 วัน เมื่อมีการรายงานตัวสภาฯจะแจ้งกลับมายังรัฐบาลว่า มีส.ส.เข้ามารายงานตัวในจำนวนที่มากพอ จากนั้นจะนำความกราบบังคมทูลฯขอพระราชทานวันเพื่อประกอบรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา และการเลือกประธานสภาฯจะเกิดขึ้นหลังรัฐพิธี 10 วัน ซึ่งปกติมักจะดำเนินการเร็วขึ้นกับที่จะกำหนดกัน และรอเวลาสองสามวัน เพื่อรอการโปรดเกล้าประธานสภาฯ

หลังจากนั้นอำนาจจะอยู่ที่ประธานสภาฯว่าจะเลือกนายกฯเมื่อไหร่ก็แล้วแต่ซึ่งไม่มีกรอบเวลากำหนดไว้ว่าต้องดำเนินการในกี่วัน และไม่ได้ระบุว่าต้องทำได้ภายในกี่ครั้ง

เมื่อเลือกนายกฯได้ก็ต้องตั้งคณะรัฐมนตรี เมื่อรัฐมนตรีเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณรัฐบาลชุดนี้ก็จะพ้นไป ซึ่งไทม์ไลน์ที่ตนแจ้งคณะรัฐมนตรีไว้เป็นการประมาณการเปรียบเทียบกับอดีตซึ่งจะเป็นช่วงปลายเดือน ก.ค. หรือต้นส.ค.ซึ่งเร็วกว่าที่เราคิด

ซึ่งตนไม่สามารถตอบกรอบเวลาที่ชัดเจนได้เนื่องจากมีการผูกกับกรอบเวลาการเสด็จพระราชดำเนินเปิดประชุมรัฐสภา การโปรดเกล้าฯประธานสภาคนใหม่ รวมถึงการกำหนดเลือกนายกฯจะเสร็จสิ้นเมื่อใดกี่รอบกี่หน ซึ่งควบคุมไม่ได้และไม่ควรไปควบคุมด้วย

เมื่อถามว่าปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้คือ การเลือกนายกฯใช่หรือไม่เพราะมีส.ว.ออกมาตั้งกำแพงต้านนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯพรรคก้าวไกล นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่ทราบว่าเป็นกำแพงหรือไม่ก็เห็นข่าวว่าดูดีขึ้นแล้วไม่ใช่หรือก็ดีใจด้วย

เมื่อถามว่า หากการเลือกนายกฯไม่มีกรอบเวลาจะช่วยลดข้อครหาว่ายื้อการแต่งตั้งโยงย้ายข้าราชการระดับสูง นายวิษณุ กล่าวว่าไม่มีไม่ยื้อ ถึงอย่างไร การแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงต้องขอ กกต. และกกต.ก็ไม่อนุญาตมาแล้วหลายรอบ เอาไว้รอดูว่านานหรือไม่ ขณะนี้ยังไม่มีแววว่าจะนานก็รอรัฐบาลใหม่เข้ามาก็แล้วกัน

เมื่อถามว่า ในสภานการณ์การเมืองขณะนี้บทบาทประธานสภาฯแตกต่างจากในอดีตหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ในเชิงการเมืองนัยอาจมีความแตกต่างกัน แต่เชิงกฎหมายอำนาจหน้าที่เหมือนกัน

ซักว่าหลักการการเลือกประธานสภาฯต้องได้เสียงเท่าไหร่ นายวิษณุ กล่าวว่า ต้องได้เสียงข้างมากของสมาชิกที่มาประชุม และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม จะเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการฯ

ถามอีกว่าตามข้อบังคับการประชุมสภาฯการเลือกประธานสภาฯต้องลงมติลับหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ต้องว่าไปตามข้อบังคับ เมื่อถามว่าหากลงมติลับจะมีการหักหลังการได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ

เมื่อถามว่า หากกกต.รับรอง ส.ส. แล้วช่องทางการยื่นตรวจสอบคุณสมบัติส.ส. ตามมาตรา 82 กกต.สามารถทำได้เองหรือต้องรอให้มีคนมาร้องกับกกต.ก่อน นายวิษณุ กล่าวว่า ได้ทุกรูปแบบ ขอให้ไปดูรัฐธรรมนูญก็แล้วกันมาตรา 170 กับมาตรา 82 ส.ส. ส.ว. กกต. ได้ทั้งนั้น โดยในส่วนของส.ส. ยื่นได้หลังปฏิญาณตน ที่พล.ต.อ.วิโรจน์ เปาอินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ที่อาวุโสสูงสุดจะทำหน้าที่ประธานชั่วคราว และนำปฏิญาณตน

เมื่อถามว่าสมมุติศาลสั่งให้นายพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ส.ส.ในช่วงการโหวตนายกฯ ประธานสภาฯจะมีทางออกอย่างไรบ้างเพราะเป็นผู้รับผิดชอบ นายวิษณุ กล่าวว่าไม่ทราบ

ถามว่า ประธานสภาฯควรพักการประชุมวาระดังกล่าวจนกว่าศาลจะตัดสินจะปลอดภัยกว่าหรือไม่ นายวิษณุ ตอบว่า ไม่ทราบ ไม่ควรไปแนะนำอะไรประธานสภาฯซึ่งตอนนี้ยังไม่ทราบว่าเป็นใคร

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เด็กก้าวไกล' ถาม 'ชาดา' ตอบปมต่างชาติเช่าอสังหาฯ 99 ปี

'สส.ก้าวไกล' ข้องใจ รบ.เตรียมเปิดช่องให้ต่างชาติถือครองอสังหาฯ 99 ปี ซัดนายกฯ หวังช่วยกลุ่มทุน ด้าน 'ชาดา' ยอมรับ 'เศรษฐา' สั่งให้เร่งดำเนินการ แก้ กม.แจงต้องแก้เพื่อดึงเงินลงทุนต่างชาติ

'สนธิญา' จี้ กกต.รับรอง 200 สว.ก่อนแล้วสอยทีหลัง!

'สนธิญา' จี้ กกต.เร่งรับรอง สว.ใหม่ ค่อยตามเก็บคนทุจริตทีหลัง ลั่นอยากเห็นคนจบ ป.7- แม่ค้า นั่งทำงานระดับประเทศ หลังบรรดาด็อกเตอร์บริหารทำประเทศวิบัติมาหลายปี

ทันควัน! ก้าวไกลยื่นญัตติด่วนให้ทบทวนคำถามประชามติใหม่

ก้าวไกลยื่นญัตติด่วน หวังรัฐสภามีมติให้ ครม.ทบทวนคำถามประชามติ เรื่องรัฐธรรมนูญก่อนรัฐสภาแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติเสร็จ 'พริษฐ์' ย้ำคำถามที่เปิดกว้างจะเพิ่มโอกาสที่การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่จะสำเร็จ

ศาลรธน.มติ 6 ต่อ 3 ชี้โทษอาญา ตาม พ.ร.บ.เช็คไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 วินิจฉัย ว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คปี 2534 มาตรา 4 วรรคสอง เฉพาะในส่วนโทษทางอาญา ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ