19 มิ.ย. 2566 - จากกรณีประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)กำหนดเป็นวันเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไปในวันที่ 14 พ.ค.2566 อย่างไรก็ตามขณะนี้ กกต.ยังไม่ประกาศผลเลือกตั้ง ส.ส. เหตุผลใด ทำไมถึง กกต.ประกาศผลการเลือกตั้งล่าช้าหรือว่าเตะถ่วงดึงเกมหรือไม่ อย่างไรนั้น
ล่าสุด ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ “ดร.ณัฎฐ์” นักกฎหมายมหาชนคนดัง ได้อธิบายและให้ความรู้ทางกฎหมายมหาชนในแง่มุมที่น่าสนใจว่า การประกาศผลการเลือกตั้ง ประชาชนให้ความสนใจจำนวนมากเพราะมีผลต่อการจัดตั้งรัฐบาล ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ตนเคยเขียนประเด็นบทบาท กกต.ในการอำนวยความยุติธรรมกระบวนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในดุษฎีนิพนธ์ปริญญาเอกทางกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมัยเรียนดอกเตอร์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใช้สำหรับในการค้นคว้าอ้างอิงสำหรับประชาชน นักศึกษาที่สนใจการเมืองได้ สำหรับปัญหาการประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยนำรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ มาเปรียบเทียบกับกฎหมายเลือกตั้งต่างประเทศ ให้เห็นถึงการใช้อำนาจของ กกต.ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งตัวแปรสำคัญ กระบวนการเลือกตั้ง ก่อนประกาศผลเลือกตั้ง กกต.ใช้หลัก”ตรวจสอบเบื้องต้น”แล้ว มีเหตุอันควรเชื่อว่า ผลการเลือกตั้ง เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม เป็นข้อสาระสำคัญ ที่ กกต.หยิบมาใช้เหตุผลในการประกาศผลเลือกตั้ง มาตรา 85 วรรคท้าย แห่งรัฐธรรมนูญ
ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า “การตรวจสอบเบื้องต้น”ไม่ได้เขียนไว้ในกฎหมายแม่บท ว่า ให้ กกต.ใช้วิธีตรวจสอบเบื้องต้นอย่างไร แต่กลับไปขยายให้อำนาจแก่ กกต.ในกฎหมายลูก คือ พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และระเบียบ กกต.ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวนและการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ.2561 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม โดยในมาตรา 127 วรรคสอง แห่ง พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ได้บัญญัติ หลักการตรวจสอบเบื้องต้น โดยให้ กกต.รับฟังรายงานของผู้ตรวจการเลือกตั้งและข้อมูลข่าวสารที่ได้รับจากแหล่งต่าง ๆ มาประกอบการพิจารณาด้วย ในส่วนระเบียบ กกต.ว่าด้วย การสืบสวน การไต่สวนและการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ.2561 ได้แก่ ระยะเวลาในการร้องคัดค้าน ภายหลังการเลือกตั้ง มีกำหนดระยะเวลาภายใน 30 วันนับแต่วันเลือกตั้ง หมายความว่า ภายหลังเลือกตั้ง ส.ส.นับถัดจาก วันที่ 14 พ.ค.2566 เป็นวันเลือกตั้ง หากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เห็นว่า มีพยานหลักฐานพบว่า ผลการเลือกตั้งไม่สุจริตและไม่เที่ยงธรรม สามารถร้องคัดค้านผลการเลือกตั้งได้ แต่ต้องร้องคัดค้าน ภายในวันที่ 13 มิถุนายน 2566 หากคำร้องมีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพียงพอ คดีมีมูล โดยตรวจสอบคำร้องและพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ผอ.กกต.ประจำจังหวัด จะรับเรื่องและตั้งคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนประจำจังหวัด รับเรื่องร้องคักค้าน เป็นคดีเลือกตั้ง และรายงานเหตุคัดค้านให้ กกต.ทราบ เป็นเหตุผลที่ กกต.หยิบมาพิจารณาประกอบเหตุผลตรวจสอบเบื้องต้นด้วย
ในทางปฎิบัติ การตรวจสอบเบื้องต้นที่กฎหมายให้อำนาจ กกต.ตรวจสอบ มี 2 วิธีการ ได้แก่ ประการแรก การรับฟังข้อมูลรายงานจากผู้ตรวจการเลือกตั้ง
อีกประการหนึ่ง ได้รับรายงานจาก ผอ.กกต.ประจำจังหวัด กรณีที่รับคำร้องเรียนตั้งคณะทำงานสืบสวนและไต่สวนในคดีเลือกตั้ง
ข้อมูลที่ได้รับรายงานจาก 2 ประการข้างต้น เป็นตัวแปรสำคัญ ที่ กกต.หยิบมาใช้พิจารณา ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง โดย กกต.ตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว มีเหตุอันควรเชื่อ การเลือกตั้งโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ตรงนี้ เป็นไปตามข้อกฎหมายที่รองรับอำนาจ กกต.ไว้
การตรวจสอบเบื้องต้นจะต้องสานสัมพันธ์กับระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ แต่ต้องไม่ช้ากว่า 60 วันนับแต่วันเลือกตั้ง หมายความว่า กกต.จะต้องประกาศผลการเลือกตั้งไม่เกินกรอบระยะที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ส่งผลให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันเลือกตั้ง 14 พ.ค.2566 ทำให้ ว่าที่ ส.ส.ได้รับค่าตอบแทนอัตราเงินเดือนและสิทธิที่จะพึงมีได้รับตามกฎหมายด้วย
การประกาศผลการเลือกตั้ง ขณะนี้ยังอยู่ภายในกรอบระยะเวลา 60 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง จึงไม่เป็นประกาศผลเลือกตั้งล่าช้าหรือดึงเกมเต๊ะถ่วง ทั้งนี้ ในมาตรา 85 วรรคท้าย ประกาศผลการเลือกตั้งจะต้องสานสัมพันธ์มีจำนวนร้อยละ 95 ของเขตเลือกตั้ง เพราะมาตรา 121 วรรคหนึ่ง บัญญัติอุดช่องว่างสุญญากาศทางการเมือง โดยกำหนดระยะเวลา ภายใน 15 วันนับแต่ประกาศผลเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไป ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก
แต่เป็นกระบวนการตรวจสอบอก่อนประกาศผลเลือกตั้ง ล่าช้า หากพ้นวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 เป็นต้นไป หรือว่า เกินระยะเวลา 60 วัน หากยังไม่ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ตรงนี้แหละ เป็นการประกาศผลการเลือกตั้งล่าช้าเกินควร จะมีปัญหาคดีอาญาตามมา ให้พี่น้องประชาชนใจเย็นๆ ให้ กกต.ทำงานให้เต็มที่เพื่อกลั่นกรองให้รอบคอบก่อนประกาศผล เพราะอยู่ในกรอบระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้
ผู้ตรวจการเลือกตั้ง เป็นผลผลิตที่ปรับโครงสร้างกฎหมายเลือกตั้งใหม่ ที่นำมาแทน 5 เสือ กกต.ประจำจังหวัด แต่การสรรหาในรูปแบบใหม่ ผู้ตรวจการเลือกตั้ง โดย กกต.ได้ใช้วิธีสรรหาบุคคลในและภายนอกจังหวัด ผสมผสานกันเพื่อป้องกันการครอบงำของนักการเมืองในพื้นที่ โดยไม่มีอำนาจเป็นคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนคดีเลือกตั้ง พูดภาษาชาวบ้าน มีอำนาจจับทุจริตเลือกตั้ง แต่ไม่มีอำนาจสอบสวนคดีเลือกตั้ง รูปแบบผู้ตรวจการเลือกตั้ง ให้เทียบเคียงกับ ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา หมายความว่า การเลือกตั้งเสร็จสิ้น ภาระหน้าที่ย่อมเสร็จสิ้นไป แต่ยังอยู่ในรายชื่อผู้ตรวจการเลือกตั้ง โดยออกแบบให้ผู้ตรวจการเลือกตั้ง มีอำนาจหน้าที่ในการปราบปรามการทุจริตเชิงรุก ก่อนหรือขณะในการเลือกตั้ง มีหน้าที่ตามกฎหมายเลือกตั้งให้รายงานการทุจริตการเลือกตั้งให้แก่ กกต.ทราบโดยตรง
ระยะเวลา กกต.ในการประกาศผลการเลือกตั้ง หากเทียบเคียงกับต่างประเทศ อาจใช้ระยะเวลาสั้นกว่าประเทศไทย เพราะบริบทการเมืองแตกต่างกัน โดยในรัฐธรรมนูญมาตรา 85 วรรคท้าย ให้ กกต.ประกาศผลภายใน 60 วันนับแต่วันเลือกตั้งและไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 หมายความว่า เลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค. กกต.จะต้องประกาศรับรอง ส.ส.ภายในวันที่ 13 ก.ค.และจำนวนว่าที่ ส.ส.จะต้องรับรองไม่น้อยกว่า 375 คน ดังนั้น สถิติที่ผ่านมา กกต.จะทยอยรับรอง โดยเขตใดไม่มีเรื่องร้องเรียน รับรองไปก่อนอันดับแรก ส่วนข้อมูลเบื้องต้น 2 ช่องทาง ที่ร้องคัดค้านผลการเลือกตั้ง ได้แก่ ได้รับแจ้งข้อมูลจากผู้ตรวจการเลือกตั้งและได้รับแจ้งข้อมูลร้องเรียนจาก ผอ.กกต.ประจำจังหวัด ภาษาชาวบ้าน เรียกว่า มีเรื่องร้องเรียน ในทางปฎิบัติ กกต.จะทยอยรับรองภายหลัง โดยรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.บัญญัติไม่ตัดอำนาจให้ กกต.สืบสวนหรือไต่สวนในเรื่องนั้นต่อไป พูดภาษาชาวบ้านว่า รับรองก่อน แล้วไปสอยภายหลัง หากนับถึงขณะนี้ นับถัดวันเลือกตั้งถึงวันนี้ รวมระยะเวลา 36 วัน ไม่ปรากฎว่า กกต.ประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งระบบเขตเลือกตั้งและระบบบัญชีรายชื่อ เหตุเป็นเช่นนี้ เพราะระเบียบ กกต.ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวนและการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ.2561 เปิดช่องให้ภายหลังเลือกตั้ง ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ใช้สิทธิร้องคัดค้านผลการเลือกตั้งภายใน 30 วันนับแต่วันเลือกตั้ง ดังนั้น ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง กกต.จะต้องรับฟังข้อมูลเบื้องต้นจากข้อร้องเรียนนี้ก่อน เป็นเหตุผลหนึ่งที่ กกต.ประกาศผลการเลือกตั้งอย่างรอบคอบ แต่อยู่ในกรอบระยะเวลา 60 วันนับแต่วันเลือกตั้งตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้
ปัญหากำหนดวันประผลการเลือกตั้ง ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญฉบับเดิม กำหนดไว้ 30 วัน ต่อมารัฐธรรมนูญฉบับ 2560 กำหนดไว้ 60 วันนับแต่วันเลือกตั้ง โดยเขียนระบุว่า ให้ กกต.ตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว เหตุอันควรเชื่อว่า การเลือกตั้งโดยสุจริตและเที่ยงธรรม เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญเพื่อให้ กกต.องค์กรอิสระ ใช้ความละเอียดรอบคอบ ส่วนรับรองมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของเขตเลือกตั้งทั้งหมด เพื่อป้องกันสุญญากาศทางการเมืองและให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาโดยเร็วตามมาตรา 121 ส่วนคำว่า กกต.ตรวจสอบเบื้องต้นและประกาศผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ “โดยเร็ว” หมายความว่า ภายในกรอบระยะเวลา 60 วัน กกต.อาจประกาศผลรับรองก่อนก็ได้ เช่น รับรองภายใน 40 วัน หรือ 45 วัน เป็นต้น ส่วนคำว่า “ไม่ช้า”กว่า 60 วันนับแต่วันเลือกตั้ง หมายความว่า ไม่เกินกว่ากรอบระยะเวลา 60 วัน เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญให้ กกต.ประกาศผลโดยละเอียดรอบคอบโดยเร็ว โดยเขียนเพิ่มเติมว่า การประกาศผลไม่เป็นการตัดอำนาจและหน้าที่ของ กกต.ที่จะดำเนินการสืบสวน ไต่สวนและวินิจฉัยชี้ขาด แสดงว่า แม้อยู่ในกระบวนการสืบสวนหรือไต่สวน กกต.ยังไม่ชี้ขาด กกต.จะต้องรับรองไปก่อน ให้มีสมาชิกภาพความเป็น ส.ส.ไปก่อน กระบวนการสอบสวนยังต้องพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดต่อไป หรือที่เรียกว่า “รับรองไปก่อน สอยภายหลัง”
ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า หาก เทียบเคียงเลือกตั้งปี 2562 กกต.ใช้ระยะเวลารับรอง 40 กว่าวัน ส่วนการเลือกตั้งปี 2566 ขณะนี้ ยังไม่มีการประกาศผลเลือกตั้ง น่าเชื่อว่า จะประกาศผลเลือกตั้งเร็วๆนี้ ปัญหาว่า ระยะเวลา 60 วัน เป็นปัญหาถกเถียงกันในชั้นร่างรัฐธรรมนูญ ในอีกมิติหนึ่งของผู้ร่างมาตรานี้ มองถึงความละเอียด รอบคอบคดีเลือกตั้งเพราะมีหลายขั้นตอนและใช้ระยะเวลาพอควร เปิดช่องให้ดุลพินิจ กกต.ในการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ ภายในกรอบระยะเวลา ส่วนกระบวนการสิบสวนหรือไต่สวน มีระยะเวลา 20 วัน ขยายได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละ 15 วัน หากพ้นกำหนด อาจร้องขออนุญาตจาก กกต.ก่อนพ้นกำหนด 3 วัน ขอขยายระยะเวลาในการสืบสวนหรือไต่สวน ล่าสุด กกต.ออกระเบียบใหม่ ทำสำนวนในการสืบสวนหรือไต่สวนได้ไม่เกินหนึ่งปี
"ส่วน ใบส้ม ใบเหลือง ใบแดง และใบดำ โดยเฉพาะ การออกแบบเครื่องมือของ กกต.”ใบส้ม” “ใบดำ” เป็นผลผลิตตามรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือให้ กกต.ยกระดับปราบปรามการทุจริตเลือกตั้งให้เข้มข้น โดยการแจกใบส้ม ให้อำนาจ กกต.ตามมาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 224 (4) คำสั่ง กกต.เป็นที่สุด ส่วนใบดำ มีประจักษ์พยาน พบว่า ผู้สมัครทุจริตการเลือกตั้ง หรือรู้เห็นการกระทำของบุคคลอื่น กกต.จะให้ใบดำ หรือใบแดง อาจเป็นใบดำได้ ส่งให้ศาลฎีกาเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง ตามมาตรา 226 หากศาลฎีกามีคำสั่งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งใดๆ ถูกตัดสิทธิสมัคร ส.ส.สว.หรือท้องถิ่น ตลอดชีพและไม่สามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆได้ ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหมวด ปปช.มาตรา 235 วรรคสี่"
พรป.ว่าด้วย กกต.และระเบียบ กกต.ที่เกี่ยวข้องให้อำนาจ กกต.ย่นหรือขยายระยะเวลาในการเลือกตั้งได้และขั้นตอนการแจกใบส้ม ของ กกต.ยังให้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ จนถึงวันก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง โดยอาศัยช่องทางตามความในมาตรา 225 วรรคหนึ่ง ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง ถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้ กกต.มีอํานาจสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ในหน่วยเลือกตั้งหรือเขตเลือกตั้งนั้น ถ้าผู้กระทําการนั้นเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง หรือรู้เห็นกับการกระทําของบุคคลอื่น ให้ กกต.สั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้นไว้เป็นการชั่วคราวไม่เกิน 1 ปี ตามมาตรา 224 (4) ดังนั้น อำนาจแจกใบส้ม ของ กกต.กรณีพบว่าทุจริต ยังมีอยู่จนกว่าจะประกาศผลการเลือกตั้งและไม่เกินวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 เชื่อว่า กระบองยักษ์ใบส้มจะทำงาน แต่ไม่แน่ใจว่า เขตเลือกตั้งใด.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชัดแล้วเลือกอบจ.68 รับสมัคร ‘23-27ธ.ค.’
กกต.ประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาและนายก อบจ. สมัคร 23-27 ธ.ค. เลือกตั้ง 1 ก.พ.ปีหน้า หลายจังหวัดตรวจสอบความพร้อม คาดวันแรกผู้สมัครทะลัก "อุ๊งอิ๊ง"
'ดร.ณัฏฐ์' ชี้เลือกตั้งอบจ.ระอุ! 'บ้านใหญ่' ยังขลัง-บางแห่งเสื่อมตามกาลเวลา
“ดร.ณัฏฐ์” มือกฎหมายมหาชน ชี้ การเมืองท้องถิ่น อบจ. ระอุ บ้านใหญ่ยังขลัง แต่บางแห่งเสื่อมไปตามกาลเวลา ข้าราชการการเมือง ส.ส.ช่วยหาเสียงได้
กกต. ประกาศวันรับสมัคร-เลือกตั้ง สมาชิกอบจ.-นายกอบจ.
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยแพร่เอกสารประชาสัมพันธ์ ระบุว่าผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์การบริหารส่วนจังหวัด ได้ประกาศ
ดร.ณัฏฐ์ ชี้ชัด 'ประชามติชั้นเดียว' แค่ยกแรก 'แก้รธน.ทั้งฉบับ' เจอด่านหิน-นโยบายขายฝัน!
“ดร.ณัฏฐ์” มือกฎหมายมหาชน ชี้ กลไกแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับผ่านด่านหินยาก แม้เพื่อไทยใช้เทคนิคช่องทางพ้น 180 วัน ผ่านร่าง พรบ.ประชามติ เป็นเพียงนโยบายในฝัน
ประธานกกต. เซ็นมตั้ง 415 ผู้ตรวจการเลือกตั้ง รับมือเลือกตั้งอบจ. 1 ก.พ.68
นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกกต.ลงนามในหนังสือคำสั่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง ลงวันที่ 18 ธ.ค. 2568 เรื่องแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด สำหรับปฏิบัติหน้าที่ในการเลือกตั้งนายกองค์การ
พวกเรารอพวกท่านอยู่! หวด ‘กกต.-ปปช.’ เร่งทำงานเพื่อประเทศชาติให้เต็มที่
รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กดังนี้