'หมอวรงค์' เผยอนาคตการเมือง ไม่ลงเลือกตั้งเน้นเคลื่อนไหวเวทีประชาชน ย้ำไม่เคยคิดย้ายพรรค

หมอวรงค์-ไทยภักดี เผยอนาคตการเมือง ไม่ลงเลือกตั้ง ยอมรับสู้ไม่ได้ เน้นไปเคลื่อนไหวเวทีประชาชน แต่ถ้ากติกามีการแก้ไข ค่อยคิดอีกครั้ง เผยยังไม่คิดย้ายไปอยู่พรรคอื่น

18 มิ.ย. 2566 – นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี ให้สัมภาษณ์เป็นครั้งแรก หลังการเลือกตั้งเมื่อ 14 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งพรรคไทยภักดีไม่มีที่นั่งส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร แม้แต่คนเดียว และหลังจากนั้น นพ.วรงค์ ก็เก็บตัวเงียบมาตลอด จนแวดวงการเมืองสงสัยหายไปไหนและจะวางมือทางการเมืองหรือไม่

โดยนพ.วรงค์ กล่าวว่าพรรคไทยภักดียังคงอยู่ และจะอยู่บนถนนการเมืองต่อไป แต่หากกติกาและบริบทการเลือกตั้งยังคงเป็นแบบที่เป็นตอนเลือกตั้งที่ผ่านมา ก็ตัดสินใจแล้วว่าหากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นตนเองและพรรคไทยภักดี คงไม่ลงเลือกตั้ง แต่จะหันไปเคลื่อนไหวการเมืองภาคประชาชนแทนเพื่อต่อสู้ทางความคิดในเวทีประชาชนแทน

นพ.วรงค์ กล่าวต่อว่า หลังเลือกตั้งได้มีการถอดบทเรียนและประเมินผลเลือกตั้งที่ออกมา จนสรุปสิ่งที่เกิดขึ้นได้ว่า หนึ่ง รัฐบาลล้มเหลว เราต้องยอมรับก่อน ซึ่งผมรู้อยู่แก่ใจแล้ว แต่ในสถานการณ์ช่วงก่อนการเลือกตั้ง มันไม่เหมาะที่จะไปวิพากษ์วิจารณ์ ถามว่าเขาล้มเหลวอะไรบ้าง เห็นว่า รัฐบาลปัจจุบันล้มเหลวสี่เรื่อง

หนึ่ง เขาไปแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราและนำไปสู่การแก้ไขพรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ที่แก้ไข เปลี่ยนระบบการเลือกตั้งจากตอนเลือกตั้งปี 2562 ที่ใช้บัตรใบเดียว ทุกคะแนนเสียงไม่ตกน้ำ ก็ไปแก้เป็น บัตรสองใบ -หาร 100 จนฝ่ายค้านเวลานั้น ประกาศทันที จะชนะเลือกตั้งแลนด์สไลด์ ทั้งที่พรรคไทยภักดีเคยเตือนแต่แรกว่า หากแก้ไขจะนำไปสู่ปัญหาของประเทศในอนาคต และฝ่ายรัฐบาลจะแพ้ทั้งกระดาน แต่เขาไม่ฟัง

ประเด็นที่สอง พรรคและคนในฝ่ายรัฐบาลมาแตกกันเอง แล้วแยกออกมาอยู่กันคนละพรรค ทำให้คนยิ่งเบื่อ เรื่องที่สาม เอื้อทุจริตและเอื้อทุนผูกขาด ที่ไทยภักดีก็ออกมาต่อต้านเรื่องพวกนี้ ทั้งเรื่องพลังงาน การสื่อสารผ่านดาวเทียม เป็นต้น และสุดท้ายที่พลาดมากๆ ทั้งที่เป็นหน้าที่ซึ่งต้องทำ และนำไปสู่ความพ่ายแพ้ครั้งยิ่งใหญ่ คือฝ่ายรัฐบาลไม่ต่อสู้ทางความคิด พรรคฝ่ายค้านเดิมเขาต่อสู้ทางความคิด โดยบิดเบือนหมด แต่ฝ่ายรัฐบาลไม่เอาความจริงมาสู้ ไม่เคยออกมาต่อสู้ทางความคิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง 112 เรื่องสถาบันฯ อาจมีบ้างแต่ก็หยุมหยิม ไม่ได้ออกมาแบบสร้างชุดความคิดสู้ เลยทำให้คนเบื่อ เพราะพื้นฐานการที่่ฝ่ายรัฐบาลอยู่มาแปดปีกว่า คนเบื่ออยู่แล้ว มันก็เลยยิ่งสวิงมากขึ้น และมันก็มีผลกระทบกับพรรคไทยภักดีตามมา เพราะไทยภักดี คนมองว่าเป็นพรรคการเมืองที่เหมือนกับสนับสนุนรัฐบาล ทั้งที่อะไรที่ดีเราก็เชียร์ แต่อะไรไม่ดี เราก็วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล แต่แน่นอน มันหนีไม่พ้น พรรคไทยภักดี ย่อมได้รับผลกระทบจากสิ่งนี้ อันนี้คือภาพที่ทำให้เกิดปัญหา

นพ.วรงค์ กล่าวต่อว่า เมื่อเป็นอย่างที่กล่าวข้างต้น ทำให้การเมืองอีกซีกหนึ่งได้เปรียบ ใช้คำแบบนี้แล้วกัน การต่อสู้ตรงนี้มันเกิดจาก “ไม่ซื้อเสียง ก็ซื้อสื่อ” คำว่าซื้อสื่อ ให้ความหมายครอบคลุม คือผมเชื่อว่าสื่อเกือบ 70-80เปอร์เซ็นต์เป็นของเขา ผมไปออกทุกรายการ เป็นคนของเขาหมด เข้าข้างเขาหมด เวลาเราไปออกรายการ มีข้อมูลจะพูดเพื่อคัดค้านเขา ก็มีความพยายามปิดปากไม่ให้เราพูด รวมถึงสื่อโซเชียลมีเดีย และไอโอ ทำให้การปั่นกระแสของพวกนี้เขาจะได้เปรียบ อย่างผมขอยกตัวอย่าง กรณี”ลุงพล” จากผู้ร้ายทำให้กลายเป็นพระเอกขึ้นมา คือตัวอย่างที่ยกมาให้เห็น การที่พรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งมีเครื่องมือมากในการปั่นกระแสต่างๆ มันจึงทำได้ง่ายมาก และที่สำคัญสิ่งที่ปั่นมันเฟกเยอะ

หัวหน้าพรรคไทยภักดี กล่าวว่า อีกฝ่ายที่ต้องตำหนิคือคณะกรรมการการเลือกตั้ง คือส่วนสำคัญมันก็อาจมาจากเรื่องของรัฐธรรมนูญ ที่ทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียม คือการแข่งขันในระบอบประชาธิปไตยมันต้องเท่าเทียม ทุกพรรคต้องได้โอกาสเหมือนกัน ใช้เงินใกล้เคียงกัน แล้วให้ประชาชนไตร่ตรอง แต่สิ่งที่เห็นวันนี้มันไม่ใช่ เรื่องเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งส.ส.ระบบเขตที่ผ่านมา ที่ให้ผู้สมัครส.ส.ระบบเขตแต่ละคนใช้เงินคนละไม่เกินหนึ่งล้านเก้าแสนบาท และบัญชีรายชื่อก็อีกร่วมร้อยกว่าล้านบาท เบ็ดเสร็จต้องหาเงินประมาณเก้าร้อยกว่าล้านบาท แต่ของพรรคไทยภักดี ใช้เงินในการเลือกตั้งที่ผ่านมาน้อยมาก ซึ่งเรารู้อยู่แล้วว่า หากเราไปเอาเงินจากบริษัทใหญ่ สุดท้ายต้องตอบแทน เราไม่ต้องการกระบวนการทุจริตเพื่อเอื้อประโยชน์เกิดขึ้น ตราบใดที่กติกาเป็นแบบนี้ ยังไง เราก็สู้ไม่ได้ ในเมื่อเราปฏิเสธการจะไปทำทุจริตอยู่แล้ว

“ผมคุยกับทีมงานพรรคไทยภักดีแบบตรงไปตรงมาเลยว่า เราต้องยอมรับว่ายังไง เราก็สู้เขาไม่ได้ ประกาศเลยผมสู้เขาไม่ได้ แต่ถ้าเรื่องความคิด ผมไม่แพ้คุณ แต่เพราะเราไม่มีองคาพยพที่จะมาจัดการสิ่งเหล่านี้ เราไม่มีปัญญาหาเงิน หาโครงข่ายที่มีผลประโยชน์ร่วม แม้แต่โครงข่ายจากต่างประเทศ แล้วมาทำสิ่งเหล่านี้ ส่วนทางออกคืออะไร ก็เป็นหน้าที่ของกกต.ในการจัดการเลือกตั้งให้เป็นธรรม ให้เท่าเทียมกันในทุกๆมิติ”นพ.วรงค์ระบุ

เมื่อถามถึงเส้นทางการเมืองต่อจากนี้ ของพรรคไทยภักดี นพ.วรงค์ กล่าวว่า หลังการเลือกตั้ง ได้คุยกับทีมงานของพรรคไทยภักดีว่าเราสู้เขาไม่ได้ ต้องยอมรับ หากกติกายังเป็นแบบนี้อยู่ ผมยอมรับเลยว่าผมพ่ายแพ้ สู้เขาไม่ได้ ยกเว้นมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม ผมจะสู้กับคุณ หัวเด็ดตีนขาด ผมไม่กลัว แต่ตราบใดที่คุณใช้ศักยภาพแบบนี้ ผมไม่มีศักยภาพจะไปหาเงินได้เยอะขนาดนั้น หาโครงข่ายจากต่างประเทศ เพราะผมต่อต้านโครงข่ายต่างประเทศอยู่แล้ว ดังนั้น ยังไง ผมก็สู้พวกคุณไม่ได้ ผมไม่สู้คุณ ในเวทีแบบนี้แล้ว เพราะยังไง ผมสู้พวกคุณไม่ได้ แต่ผมจะสู้กับพวกคุณในเวทีประชาชน

“ผมไม่ทิ้งการเมือง แต่ถ้าตราบใดที่ยังแข่งขันกันในลักษณะแบบนี้อยู่ ผมก็เคยบอกกับทีมงานว่า ถ้าแบบนี้เราสู้เขาไม่ได้ คือเขาใช้ทั้งซื้อเสียงหลายกลุ่ม ซื้อสื่อ แล้วเราจะเอาเงินที่ไหนไปซื้อ ในเมื่อไทยภักดีต่อต้านการทุจริตอยู่แล้ว ซึ่งการไปรับเงินจากทุนใหญ่ เขาใช้กันเป็นพันล้าน ไม่ใช่แค่หลักร้อยล้านบาท แต่ไทยภักดีเราใช้แค่หลักสิบล้านต้นๆ ไม่มีทางไปเปรียบเทียบได้”

นพ.วรงค์กล่าวต่อว่า ดังนั้นบอกเลย ผมสู้คุณไม่ได้ แต่ทางความคิด ผมสู้คุณได้ ซึ่งถ้ายังจัดการเลือกตั้งในรูปแบบนี้ ความเห็นส่วนตัวผม คือไม่ต้องไปลงแข่งแล้ว ถ้าไทยภักดีจะทำพรรคการเมืองต่อไป ก็เป็นพรรคการเมืองที่ทำการเมืองนอกรัฐสภา ชี้นำประเทศ ชี้นำประชาชนให้เห็นว่าตอนนี้เกิดปัญหาอะไรขึ้นบ้างในประเทศ เราต้องพยายามชี้นำทางความคิด เพราะวันนี้การต่อสู้ที่รุนแรงคือการต่อสู้ทางความคิด การต่อสู้ด้วยความจริง ข้อเท็จจริง ถ้าสู้แบบนี้ เราสู้เขาได้ และเราจะเห็นบทบาทของพรรคไทยภักดีในบทบาทแบบนี้เด่นชัดขึ้น คือเรายังเป็นนักการเมือง แต่ถ้าตราบใดที่กติกายังเป็นแบบนี้ ใช้เงินซื้อสื่อซื้อเสียงแบบนี้ ผมไม่แข่งกับคุณ พวกคุณไปแข่งกันเลยไป จนประชาชนเบื่อขึ้นมาเมื่อไหร่ ค่อยว่ากันอีกที หรือคนคิดได้ เริ่มมีการคิดเรื่องการทำให้เกิดระบบการแข่งขันมีความเป็นธรรมมากขึ้น เราจะเอาไทยภักดีไปแข่ง แต่ถ้ายังเป็นแบบนี้ คงไม่แข่งด้วย

หัวหน้าพรรคไทยภักดีกล่าวย้ำว่า สำหรับพรรคไทยภักดียังทำต่อไป ยังเคลื่อนไหวการเมืองต่อ ให้ความรู้ประชาชน สนับสนุนแนวคิดต่างๆ แต่หากกติกาเลือกตั้งยังไม่มีการแก้ไข ยังเป็นอยู่แบบนี้ ที่ไม่แฟร์ ก็ต้องบอกว่า กูไม่สู้มึง กูยอมแพ้ ผมไม่แข่งกับคุณ เรายอมแพ้ แต่ไทยภักดียังอยู่ พรรคจะบอกประชาชน จะชี้นำให้ประชาชนได้เห็นว่าอะไรเป็นอะไร ชี้นำความถูกต้อง แต่ต้องขอย้ำว่า ผมไม่ได้ปฏิเสธที่จะเล่นการเมือง จะยังคงเล่นการเมืองอยู่ เพียงแต่ถ้ากติกายังเป็นแบบนี้ ผมไม่ลง

ถามถึงกรณี หากมีพรรคการเมืองอื่น มาชวนให้ไปร่วมงานการเมือง ให้ไปอยู่ด้วย จะไปหรือไม่ นพ.วรงค์ กล่าวว่า มีคนเขียนคอมเมนต์ในเพจของผมเยอะมากเรื่องนี้ เขาอาจมองว่า เมื่อมีอุดมการณ์เรื่องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ที่ไปตรงกันกับบางพรรค แต่ผมก็ยังไม่แฮปปี้กับความคิดหลายอย่างของเขา โดยเฉพาะกับการเอื้อประโยชน์ทุนใหญ่ ซึ่งถ้าลดโทนได้ อันนั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง เพราะไทยภักดีเอง ก็รู้ว่าการต่อสู้วันนี้มันใช้เงินเยอะมาก ซึ่งตราบใดที่การเลือกตั้งใช้เงินเยอะ ประเทศก็จะยังคงอยู่ในวงจรอุบาทว์ ดังนั้น หากไปอยู่พรรคอื่น เพียงเพื่อขอให้ได้เป็นส.ส. แล้วมันจะได้อะไร ผมก็มานั่งนึก จะให้ไปอยู่กับพรรคการเมืองบางพรรค ที่มีอุดมการณ์ปกป้องสถาบันฯตรงกัน แต่ยังทำการเมืองแบบเก่าๆ อยู่ ก็ไม่รู้ว่าจะทำไปทำไม มันไม่ได้ทำให้ประเทศดีขึ้น

วันนี้ผมยังไม่เห็นพรรคการเมืองที่ผมถูกใจ มันจึงเป็นที่มาที่ทำให้ผมมาตั้งพรรคการเมือง แต่มันก็พิสูจน์ให้เห็นแล้ว ถ้าพูดภาษาชาวบ้านคือ “กูไปไม่ไหวจริงๆ กับการต่อสู้แบบนี้” แต่ยังสนุกที่จะยังทำงานการเมือง ปกป้องประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน เมื่อมันเป็นแบบนี้ เราก็ไม่ลงเลือกตั้ง ก็ไม่เห็นเป็นไร ประชาชนเขาเห็น เขาก็อาจเชื่อใจ ที่เรายังไม่ลงเลือกตั้งแล้วเคลื่อนไหวทำอะไรเพื่อประชาชนจริงๆ ก็อาจทำให้เราได้รับการสนับสนุนจากประชาชนมากยิ่งขึ้นก็ได้

นพ.วรงค์ กล่าวตอนท้าย ขอย้ำว่าไม่ได้ปฏิเสธการเมือง เดี๋ยวจะเข้าใจผิดว่าผมปฏิเสธการเมือง หรือว่าผมจะไม่ลงการเมือง ไม่ลงสมัครส.ส.แล้ว ไม่ใช่แบบนั้น เพียงแต่ในอนาคต หากมีเงื่อนไขบางอย่างที่ทำให้เราเห็นว่าเราลงแล้วสู้ได้ เหมือนกับคุณเล่นกอล์ฟ ถ้าคุณให้แฮนดิแคปเราลงแข่งกับคุณ ถ้าคุณไม่ให้แฮนดิแคป เราคงไม่ลงแข่งกับคุณ ก็เหมือนกันในตอนนี้ เพราะผมว่ากติกาตอนนี้มันไม่แฟร์ การที่ไม่ลงเลือกตั้งก็ไม่เห็นเป็นไร เพราะเราต้องการชี้ให้เห็นถึงความตั้งใจของเราว่าการทำงานการเมือง ไม่ต้องมีตำแหน่งก็ได้ แต่ก็เคลื่อนไหวทำงานการเมืองได้ ผมยังยืนยันว่าผมเป็นนักการเมือง เพียงแต่ถ้ามีการแก้ไขเงื่อนไขอะไรบางอย่าง หรือในอนาคต หากว่าพรรคการเมืองมันลดโทนลง มาคุยกับผม แล้วบอกว่าเรื่องนี้ผมยอม เช่นเรื่องพลังงาน คุยกันแล้วโอเค ก็อาจเป็นไปได้ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งแล้ว อนาคตก็ไม่แน่

“เรื่องที่ถามถึงโอกาสที่จะย้ายไปอยู่กับพรรคการเมืองอื่น ผมขอใช้คำนี้ดีกว่า คือ ณ วันนี้ เรื่องเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในหัวผม เลยไม่อยากไปคาดการ ยังไม่อยากพูดถึงอนาคต เพราะไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นมา แต่ ณ วันนี้หลังจากไตร่ตรองมาเป็นเดือน ตั้งแต่หลังเลือกตั้ง 14 พ.ค. ได้คุยกับเพื่อนๆ และทีมงานไทยภักดีแล้ว ก็เห็นว่า ถ้ายังเป็นแบบปัจจุบันนี้ ก็อย่าไปแข่งกับมัน แข่งไปก็แพ้ สู้ไม่ได้ ก็ต้องยอมรับ ส่วนพรรคไทยภักดีก็อาจจะไปเน้นการเคลื่อนไหวนอกสภาฯ ผมว่าวันนี้ประชาชนต้องการคนที่เข้ามาต่อสู้ทางความคิด ซึ่ง ณ วันนี้ ผมดูแล้ว ฝ่ายพรรคการเมืองในสายอนุรักษ์นิยม ไม่มีการต่อสู้ทางความคิดเลย เราจึงมีความจำเป็นต้องยืนอยู่”นพ.วรงค์ระบุ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอวรงค์' ชี้กัมพูชาไม่ต้องการเกาะกูด แต่ต้องการพลังงาน-พื้นที่ทับซ้อน

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานที่ปรึกษาพรรคไทยภักดี โพสต์ เฟซบุ๊กว่า เขมรไม่ได้ต้องการเกาะกูดแต่ต้องการพลังงาน?

'หมอวรงค์' เตือนรัฐบาล ปมเจรจาเกาะกูด ทำไทยเสียอธิปไตยทางทะเลซ้ำรอยเขาพระวิหาร

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม กล่าวถึงกรณีเรียกร้องให้รัฐบาลชี้แจงเรื่อง เกาะกูด และการ MOU 2544 การแบ่งปันผลประโยชน์พื้นที่ทางทะเล อย่างเป็นทางการ

'หมอวรงค์' ให้ข้อมูล กกต. เพิ่ม 3 ประเด็นใหม่ หลักฐานมัดทักษิณครอบงำเพื่อไทย

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานที่ปรึกษาพรรคไทยภักดี เข้าให้ถ้อยคำต่อกกต.กรณียื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคเพื่อไทย ยินยอมให้นายทักษิณ ชินวัตร

วัดใจแพทองธาร 'วรงค์' ส่งตัวแทนบุกทำเนียบฯ จี้ 'นายกฯ' นำ 'พ่อนายกฯ' เข้าคุก

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานที่ปรึกษาพรรคไทยภักดี เปิดเผยว่าตนได้มอบตัวแทน ไปยื่นหนังสือเรื่อง "ขอติดตามความคืบหน้าการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย" ถึง