'สันติ' หวังประชาชนเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นพลเมืองตื่นรู้!

'สันติ' รำพึงวาระครบ 1 เดือนหลังเลือกตั้ง ชี้เริ่มเห็นการต่อสู้อนุนิยมและเสรีนิยม รวมทั้งแนวนโยบายเศรษฐกิจ ระบุหากพลเมืองตื่นรู้ก็จะวิเคราะห์แยกแยะได้

14 มิ.ย.2566 - นายสันติ กีระนันทน์ รองหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า 14 มิถุนายน 2566 ครบ 1 เดือนหลังจากวันหย่อนบัตร ผมสังเกตว่า วันนี้เป็นวันแรกที่เมื่อผมส่อง FB แล้ว มีเรื่องการเมืองน้อยลงไปกว่าวันก่อนหน้า ความคืบหน้าที่เป็นทางการคือ กกต. เริ่มรับรอง ส.ส. ซึ่งคงจะสมบูรณ์ครบร้อยละ 95 ในเวลาไม่ช้านี้ กระบวนการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการรายงานตัวของ ส.ส. การเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ในรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา การเลือกประธาน สภาผู้แทนราษฎร จนกระทั่งรูปรอยของการจัดตั้งรัฐบาล หน้าตา ครม.จะเป็นอย่างไร ก็คงจะได้เห็นในไม่ช้านี้ จะเรียกความมั่นใจได้ หรือจะสร้างความสงสัยให้ประชาชน ก็รออีกไม่นาน

นับจากนี้ไปอีก 10 วัน ก็จะถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2566 ครบ 91 ปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ต้องยอมรับว่า ยังไปไม่ถึงไหน โดยเฉพาะช่วงเวลากว่า 20 ปีมานี้ ที่วุ่นวายและถ่วงรั้งการพัฒนาประเทศ

อย่างไรก็ดี ถึงเวลานี้ หากตัดเหตุการณ์หรือองค์ประกอบที่สร้างความงุนงงออกไป ก็อาจจะทำให้เริ่มเห็นการต่อสู้กันทางอุดมการณ์ทางการเมือง ระหว่างอนุรักษ์นิยม (ทั้งเข้มข้น และอนุรักษ์นิยมใหม่ที่เป็นสายกลางมากขึ้น) และเสรีนิยม (ที่สุดโต่ง จนถึงสายกลางของเสรีนิยมที่มีความประนีประนอมตามสมควร) คล้ายๆ กับที่เป็นไปในต่างประเทศ ถึงแม้ว่าบางเสี้ยวส่วนของเสรีนิยม (ที่เรียกตัวเองว่า ฝ่ายประชาธิปไตย) อาจจะแอบแฝงแนวคิดสังคมนิยมมาให้เห็น

นโยบายเศรษฐกิจที่เคยมีแนวคิด "ประชานิยม" เป็นจุดขายหลักในระยะเวลากว่า 20 ปีมานี้ อาจจะเริ่มมีคำถามว่าเหมาะสมหรือไม่ สร้างภาระให้ระบบเศรษฐกิจโดยไม่สร้างผลิตภาพหรือเปล่า เริ่มมีการนำเสนอแนวคิด "สังคมนิยม" ที่มุ่งเน้นการลดความเหลื่อมล้ำ โดยใช้วิธี Robinhood ซึ่งก็ท้าทายต่อการดำเนินการและผลที่ตามมา

ในขณะที่แนวคิด "ทุนนิยม" หรือ capitalism ที่ถูกเข้าใจผิดว่าเหมือนกับแนวคิด "ทุนสามานย์" ซึ่งไม่ได้มีภาษาอังกฤษบัญญัติไว้ แต่เป็นเพราะมีการดำเนินงานทางเศรษฐกิจที่ทุจริต (corruption) เอื้อประโยชน์ให้ทุนใหญ่ และแย่งความมั่งคั่ง (wealth redistribution) ไปจากคนอื่นอย่างไม่เป็นธรรม และถูกกล่าวอ้างว่าสร้างความเหลื่อมล้ำให้เกิดขึ้นในสังคมอย่างรุนแรง เลยทำให้คนทั่วไปเข้าใจผิดว่า capitalism หรือทุนนิยม เป็นแนวคิดทางเศรษฐกิจที่ไม่ดี ทั้งที่ capitalism นั้น มุ่งเน้นการแข่งขันที่เป็นธรรม

อุดมการณ์และแนวคิดเหล่านี้ หากประชาชนผู้มีสิทธิมีเสียง จะวิเคราะห์ แยกแยะให้เห็นชัดเจน และเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองเป็น "พลเมืองตื่นรู้" (active citizen) ก็จะเป็นพลังสำคัญที่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดำรงอยู่ได้ทั้ง 3 สถาบันหลัก (ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ที่ปรากฎในธงไตรรงค์) และเป็นหลักในการพัฒนาประเทศทุกด้านให้เข้มแข็งต่อไปได้ #เพ้อเจ้อรำพึง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ก้าวไกล' เหยื่อระบอบทักษิณ! ตราบใดกระแส 'อนุรักษ์นิยม' ยังไม่ฟื้น

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่าพรรคก้าวไกล เหยื่อของระบอบทักษิณ!

'นิพิฏฐ์' แนะเอาตัวให้รอด จากการเมืองใหม่ที่ไม่เห็นอนาคต กับการเมืองเก่าประชานิยมซื้อเสียงไปวันๆ

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ทนายความ อดีตส.ส.พัทลุง โพสต์ข้อความหัวข้อ "เอาตัวให้รอด" มีรายละเอียดดังนี้

ปูดรัฐบาลเหิมเกริมสั่งสื่อทีวีปิดปาก 'จตุพร' แลกผลประโยชน์ ปลุกปชช.ลุกขึ้นเปลี่ยนแปลง

ปูดรัฐบาลเหิมเกริม สั่งสื่อทีวีปิดปาก 'จตุพร' แลกผลประโยชน์ หวั่นขุดความจริงประจาน ทำ ปชช.รู้ทัน จตุพร ลั่นพูดสื่อไม่ได้ต้องไปพูดผ่านเครื่องกระจายเสียง 'ทนายนกเขา' ปลอบ ปชช.เลิกสิ้นหวังกับตนเอง กระตุ้นลุกขึ้นเปลี่ยนแปลง อย่าจมจ่อมกับแสดงพลังชุมนุม แนะแต่ละคนลงถนนแสดงฉันทามติ เชื่อเป็นพลังใหญ่ได้