'ดร.ณัฎฐ์' มือกฎหมายมหาชนคนดัง สวนหมัด 'ชำนาญ จันทร์เรือง' สร้างอีเว้นท์รายวัน เอาตรรกะอะไรมามั่นใจ 'พิธา' รอดคดีหุ้นสื่อ และได้เป็นนายกรัฐมนตรี ซัดฝันกลางวันแสกๆ
7 มิ.ย.2566 - ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ “ดร.ณัฎฐ์”มือกฎหมายมหาชน กล่าวถึงกรณี นายชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ และรองประธานคณะก้าวหน้า โพสต์ระบุว่าเขียนแปะติดไว้ข้างฝาไว้ได้เลยว่า 1.กกต.ยกคำร้องคดีหุ้นไอทีวีของคุณพิธา 2.คุณพิธาผ่านการโหวตในการประชุมฯ เลือกนายกรัฐมนตรีด้วยคะแนนมากกว่า 376 เสียง
โดย ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวว่าตนไม่ได้ให้ราคานายชำนาญ บ้านเมืองปกครองโดยระบบนิติรัฐ ในคดีเลือกตั้งในกรณีถูกร้องว่าขาดคุณสมบัติถือครองหุ้นสื่อตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98(3) ประกอบ มาตรา 42(3) พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าที่ ส.ส.และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในชั้น กกต.ใช้ระบบไต่สวน ไม่ใช่ระบบกล่าวหา คณะกรรมการมีอำนาจรวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิดก่อนที่จะวินิจฉัยชี้ขาด ก่อนเสนอให้ กกต.ชุดใหญ่มีมติเห็นชอบ เป็นไปตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวนและวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ.2561 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม
ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่าแต่ปัญหาหุ้นสื่อ เป็นการร้องให้ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส.ข้อเท็จจริงไม่สลับซับซ้อน เป็นปัญหาข้อเท็จจริงนำไปสู่ข้อกฎหมาย เพราะกรณีฝ่าฝืนจงใจยื่นสมัคร ส.ส.โดยขาดคุณสมบัติ มีโทษอาญาและตัดสิทธิ์ทางการเมือง 20 ปี ส่วนใหญ่ แนวคำวินิจฉัย กกต.ที่ผ่านมา เป็นเผือกร้อน จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะมีเงื่อนเวลาที่ กกต.ต้องรับรองไปก่อน ภายใน 60 วัน แล้วไปสอยภายหลัง
"โดยชั้นเชิงทางกฎหมาย เทคนิคที่นายพิธา โอนหุ้นให้แก่ทายาท เสมือนประหนึ่งว่า ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการมรดก ตามคำสั่งศาล เพื่อสร้างพยานหลักฐาน มาหักล้างในชั้น กกต.และชั้นศาลรัฐธรรมนูญ หากมองในทางวิชามาร ทีมกฎหมายที่ให้คำแนะนำมือไม่ถึง ยังอ่อนหัด ไปเรียนมาใหม่ อ่านเกมพลาด เพราะถูกจับไต๋ได้" มือกฎหมายมหาชน กล่าวและว่า เทคนิคแบบนี้ เคยถูกใช้ในกระบวนการยุติธรรม แต่ศาลไม่เชื่อในพยานหลักฐาน เพราะเป็นหลักฐานที่สร้างขึ้นมาเพื่อหลอกศาล เท่านั้น
ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวย้ำว่า สาเหตุที่นายพิธา โอนหุ้นให้แก่ทายาทเพื่อวางแผนในการต่อสู้คดี เป็นเพียงเทคนิคทางกฎหมาย แต่พลาดเพราะการชิงโอนหุ้นแบ่งปันทายาท ถูกจับได้คาหนังคาเขา ประการแรก เพื่อสร้างพยานหลักฐาน พยานเอกสาร ขึ้นมา แล้วนำไปยื่นประกอบคำให้การของตน และสร้างตัวละครเพิ่มโดยนำทายาทที่เกี่ยวข้องมาเป็นพยานในคดี ให้คณะกรรมสืบสวนหรือไต่สวน เชื่อว่า ถือครองหุ้นสื่อในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกจริง
โดยนำนิติกรรมอำพราง ที่จัดทำขึ้น ยื่นรายงานต่อศาลในคดีที่ร้องขอจัดการมรดก ว่า มีการปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทเสร็จสิ้นแล้ว โดยอาจใช้วิชามาร ในคำร้องที่แถลงศาลว่า ตนได้สละมรดกในสัดส่วนของตน มีผลย้อนหลังไม่ได้ถือครองหุ้นแต่แรก แต่อยู่ในฐานะครอบครองแทนเท่านั้น
"หากพิจารณาข้อกฎหมาย จะย้อนแย้งกันเพราะในการทำหน้าที่เป็นผู้จัดการมรดก ต้องจัดการตามหน้าที่และทำรายการแสดงบัญชีการจัดการและแบ่งปันมรดกให้เสร็จภายในหนึ่งปี ตามความในมาตรา 1732 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยอาจใช้เทคนิคทางกฎหมาย ทำเอกสารย้อนหลังว่า ระยะเวลา 17 ปีที่ผ่านมา เป็นไปตามข้อยกเว้นเสียงข้างมากของทายาทโดยขยายระยะเวลาพ้นระยะเวลาหนึ่งปี" ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวและว่า ตนบอกได้คำเดียวว่า ทีมกฎหมายอ่อนประสบการณ์มาก เพราะพยานหลักฐานมัดตัวดิ้นไม่หลุด
ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า อีกประการหนึ่ง พยานหลักฐานที่สร้างขึ้นมายื่นคำแถลงต่อศาลแล้ว อีกช่องทางหนึ่ง ใช้เทคนิค ยื่นเอกสารการโอนหุ้น ระบุข้อความว่า จัดการในฐานะผู้จัดการมรดก โดยยื่นเอกสารต่อ บมจ.ไอทีวี เพื่อเปลี่ยนแปลงการถือครองหุ้น อีกช่องทางหนึ่ง ยื่นเปลี่ยนแปลงต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โดยตรง เล่น 2 ช่องทาง เพื่อให้เอกสารที่จัดทำขึ้นมาในการโอนหุ้นอยู่ในความครอบครองของรัฐ เพื่อให้ข้อความเอกสารที่ระบุข้อความไว้ จากเอกสารเอกชน ให้เป็นเอกสารที่อยู่ในความครอบครองของรัฐ จะกลับกลายเป็นเอกสารมหาชน เพื่อใช้ยันกับบุคคลทั่วไป โดยคัดถ่าย และขอรับรอง เพื่อสร้างหลักฐานพยานเอกสารมาหักล้างข้อกล่าวหา วิธีการเทคนิคทางกฎหมาย เรียกว่า วิชามารทางกฎหมาย
แต่ตนมองว่า เทคนิคการสร้างพยานหลักฐานโอนหุ้นให้ทายาท เป็นเชือกกล้วยรัดคอ ตายคาเขียง เพราะศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาเฉพาะในวันสมัคร ส.ส.ถือครองในฐานะอะไร อยากถามว่า นายชำนาญ จบกฎหมาย มีประสบการณ์ว่าความทางคดีบ้างหรือไม่ อย่างไร ให้ศึกษาหลักการรับฟังพยานหลักฐานในระบบไต่สวนเยอะๆ จะได้เข้าใจกฎหมายมหาชนมากขึ้น
"แล้วคุณเอาตรรกะอะไรมาบอกว่า กกต.ยกคำร้อง คุณมั่นใจขนาดนั่นเชียวหรือ การโพสต์สั้นๆว่ามั่นใจว่า กกต.ยกคำร้องนายพิธาน่าจะทานยาลืมเขย่าขวด เพราะข้อเท็จจริงการถือครองหุ้นสื่อ ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐาน ถือครองหุ้นสื่อมากน้อย ย่อมขาดคุณสมบัติสมัคร ส.ส. หากจะเอาแนวคำวินิจฉัยในคดีนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ปชป.เขต 2 นครนายก มาเทียบเคียง คนละกรณีกัน และไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใด ให้ศาลรัฐธรรมนูญถือตามคำสั่งหรือคำพิพากษาศาลยุติธรรม แต่ในทางกลับกัน ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยย่อมเด็ดขาด ผูกพันองค์กรศาล ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 วรรคท้าย
ส่วนที่ว่า นายพิธาจะผ่านการโหวตในการประชุมฯ เลือกนายกรัฐมนตรีด้วยคะแนนมากกว่า 376 เสียง ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า เป็นการสร้างอีเว้นท์รายวัน สร้างความฮึกเหิมให้กับมวลชน การฟอร์มทีมรัฐบาลพิธา ขณะนี้ รวบรวมเสียง ส.ส.ได้ 313 เสียง 8 พรรคการเมือง โดย 2 ช่องทาง สมการคณิตศาสตร์ทางการเมือง จะต้องรวบรวมให้ได้ 376 เสียง แล้วก้าวไกลจะไปเอาเสียงอีก 60 กว่าเสียงมาจากไหน เพราะตัวแปรแก้ไขมาตรา 112 สมาชิกวุฒิสภา เขาไม่เอาด้วย หากจะไปจับมือถือกับพรรคภูมิใจไทย 71 เสียง เขาเอาด้วยหรือไม่ กัญชาเสรี เป็นตัวแปรหลัก
"ถามว่านายชำนาญ เอาความมั่นใจมาจากไหนว่าได้ เสียงครบ 376 เสียง ฝันกลางวันแสกๆ เกมการเมืองพลิกขั้ว เพียงพรรคเพื่อไทย 141 เสียง ถอนตัว ก็จบแล้ว อย่าลืม ค่ายสีแดง 141 เสียง อำนาจเด็ดขาดในทางพฤตินัย อยู่ที่เจ้าของพรรคตัวจริง นายห้างดูไบ เท่านั้น" ดร.ณัฐวุฒิ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘อดีตรองหน.เพื่อไทย’ เตือนสติ ‘ไว้ใจ-ศรัทธา’ คือพื้นฐานเสถียรภาพความมั่นคงรัฐบาล
สามารถ แก้วมีชัย อดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เตือนสติรัฐบาล
เพื่อไทย ปล่อยคลิปแจงให้สัญชาติใครได้ประโยชน์?'
พรรคเพื่อไทย โพสต์คลิปตอบประเด็นให้สัญชาติใครได้ประโยชน์?'
เทพไท อัด 'เพื่อไทย' ปากว่าตาขยิบ แก้ รธน.
นายเทพไท เสนพงศ์ อดีตสส.นครศรีธรรมราช โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง แก้ไขรัฐธรรมนูญ : ปากว่าตาขยิบ ช่วงนี้มีสมาชิกพรรคเพื่อไทยออกมาแก้ตัวเป็นพันวันเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
นพดลวอนหยุดปั่นเกาะกูด ‘คำนูณ’ แนะชั่งข้อ ‘ดี-เสีย’
“นพดล” ย้ำ “เกาะกูด” เป็นของไทย เอ็มโอยู 44 ไม่ได้ทำให้เสียดินแดน วอนเลิกบิดเบือนหวังผลการเมือง “คำนูณ” ชำแหละบันทึกความตกลง เป็นคุณกับกัมพูชามากกว่า
อยู่เหนือการควบคุม พท.โยนบาปปมแก้ ‘รธน.’ ‘แม้ว-เนวิน’ คุมการเมือง
"พท." เล็งยื่นร่าง กม.นิรโทษกรรมเดือน ธ.ค.นี้ ยันไม่ล้างผิด ม.112-คดีทุจริต "นพดล" รับ กม.ประชามติงานยาก ต้องโน้มน้าว สว.เห็นตามเกณฑ์ชั้นเดียว แย้มใช้เกณฑ์ 20%
กระจ่าง! ดร.ณัฏฐ์ นักกฎหมายมหาชน ชี้กรณีคุณสมบัติ 'สว.หมอเกศ'
“ดร.ณัฏฐ์” นักกฎหมายมหาชน ชี้ กรณี สว.หมอเกศ ปริญญาเอกและตำแหน่งศาสตราจารย์ หากไม่จริง เป็นการโชว์เหนือ หลอกลวงเพื่อจูงใจให้ผู้สมัคร สว.ด้วยกัน เข้าใจผิดในคุณสมบัติ ความรู้ ความสามารถของตนเอง