ดร.ณัฎฐ์ ขวางแนวคิดตั้ง 'รัฐบาลแห่งชาติ'​ ชี้เกิดผลร้ายมากกว่าผลดี

“ดร.ณัฎฐ์' นักกฎหมายมหาชน อัด “สว.จเด็จ” ชงจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ จะเกิดผลร้ายมากกว่าผลดี ชี้บ้านเมืองยังไม่ถึงทางตัน รัฐบาลต้องมาจากประชาชน

1 มิ.ย. 2566 -​ ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ “ดร.ณัฎฐ์” นักกฎหมายมหาชน กล่าวถึงกรณีนายจเด็จ อินสว่าง สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)​เสนอจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ที่มีปัญหาเพื่อเป็นทางออกของบ้านเมือง ว่า การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของนายจเด็จ สามารถกระทำได้ แต่เร็วเกินไปที่จะพูดในเรื่องนี้ เพราะประเทศไทยยังไม่ถึงทางตันทางการเมือง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาลประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง ยังไม่อาจทราบแน่ชัดว่า พรรคการเมืองใดจะรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลได้ เพราะการชนะการเลือกตั้งของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ไม่ได้ชนะขาด ตัวแปรคือเสียงจากพรรคภูมิใจไทยและเสียงสมาชิกวุฒิสภา

ทั้งนี้การจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ เคยพูดกันมาหลายยุคหลายสมัย โดยเฉพาะการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ โดยหยิบมาตรา 5 วรรคสองของรัฐธรรมนูญมาอุดช่องว่างทางกฎหมายโดยอนุโลม โดยอาศัยประเพณีการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะเกิดขึ้นได้จะต้องเกิดข้อขัดแย้งและสถานการณ์บ้านเมืองที่แก้ไขไม่ได้ เหมือนกับย้อนตำนานในอดีต นายกพระราชทาน ม.7 แต่บริบทการเมืองปัจจุบัน แตกต่างจากอดีต รัฐธรรมนูญเปิดช่องให้ รัฐบาลรักษาการอยู่จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ยังไม่เกิดสุญญากาศทางการเมือง ทางตันทางการเมือง ความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกลย่อมดำเนินการไป

ส่วนตั้งคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล เสมือนตั้งรัฐบาลเงา เชิงซ้อน ไม่มีผลทางกฎหมายอะไร แต่จะไปแทรกแซงข้าราชการประจำไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญห้ามเด็ดขาด การฟอร์มทีมรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาล 376 เสียง เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี ถือเป็นเงื่อนไขบังคับก่อน เป็นเงื่อนไขสำคัญ

ส่วนนายจเด็จ ด่วนออกมาพูด เป็นการตีปลาหน้าไซ โดยเฉพาะการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี สมาชิกวุฒิสภามีอำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ไม่ควรไปจุ้นในการชี้นำจัดตั้งรัฐบาลประชาชน เพราะการเลือกตัวแทนมาทำหน้าที่ในระบอบการปกครองประชาธิปไตย ตนจะยกวาทกรรมทางการเมืองที่มักหยิบมาพูดกันบ่อยๆของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา “อับราฮัม ลินคอล์น” ที่ว่า “การปกครองในระบอบประชาธิปไตยจะต้องเป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชน” หากย้อนกลับไปดูการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับแรก บัญญัติไว้ในมาตรา 1 ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ให้อำนาจสูงสุดของประเทศนั้น เป็นของราษฎรทั้งหลาย ต่อมารัฐธรรมนูญปัจจุบันได้ บัญญัติไว้ในมาตรา 3 วรรคหนึ่งว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ การปกครองในระบอบประชาธิปไตยจะต้องเป็นการปกครองโดยประชาชน

ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่าส่วนที่นายจเด็จ ได้หยิบยกความดีความชอบของ 2 พรรคการเมือง ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ ตนถามว่า มีเพียงสองพรรคการเมืองเท่านั้นหรือ เพราะพรรคการเมืองทุกพรรค ไม่ว่า พรรคการเมืองขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก เป้าหมายจิตอาสาทำงานเพื่อบ้านเมืองตามครรลองประชาธิปไตยเป็นไปตามกฎหมายพรรคการเมือง การหยิบสองพรรคการเมืองนี้ นายจเด็จ จะเป็นทนายหน้าหอ เป็นกระบอกเสียงให้ใช่หรือไม่ เพราะยังไม่เห็นสองพรรคการเมืองนี้ออกมาดิ้น โดยเฉพาะมันสมองของชาติบุคลากรของทุกพรรคการเมืองมีอยู่แล้ว แต่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยจะต้องผ่านกระบวนการเลือกตั้ง จะไปโยนหินถามทาง ปูดแนวคิดตั้งรัฐบาลแห่งชาติเพื่ออะไร

หากเป็นห่วงบ้านเมือง ต้องย้อนกลับไปถามว่า หน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภามีอะไรบ้าง การไปจุ้นจัดตั้งรัฐบาล ระหว่างรัฐบาลประชาชนกับรัฐบาลแห่งชาติ เป็นหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภาหรือไม่ อย่างไร ไม่เข้าท่า เกินขอบเขตอำนาจหน้าที่ ควรเคารพเสียงของประชาชน แม้รัฐธรรมนูญให้เอกสิทธิ์โหวตนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 272 แต่เป็นเพียงดุลพินิจเด็ดขาดในสภาเท่านั้น

ในส่วนของทุกพรรคการเมือง ย่อมมีจุดแข็ง จุดอ่อน แตกต่างกันตรงจุดแข็งนโยบายและทุนสนับสนุนพรรคการเมือง แต่ด่านสำคัญการที่จะไปทำหน้าที่ คือ การเลือกตั้ง ทีจะต้องโดยสุจริตและเที่ยงธรรม อยู่ที่พี่น้องประชาชนเทคะแนนเลือกตัวแทนพรรคการเมืองใดมาทำหน้าที่ เป็นตัวแทนในสภา ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร

หากนายจเด็จเสนอตัวลงแข่งขันในสนามเลือกตั้ง อยากรู้ว่าจะได้สักกี่คะแนน แต่เอาใจช่วย การตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ไม่มีฝ่ายค้าน ไร้ระบบการตรวจสอบถ่วงดุลในสภา ให้ประชาชนมโนภาพดูว่า ระบบการเมืองการปกครองของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร แม้จะเป็นระยะเวลาสั้น จะเอาตัวแบบโมเดลประเทศเกาหลีเหนือหรือไม่ อย่างไร ผลร้ายย่อมมากกว่าผลดี เพราะไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่ถือว่าเป็นทางออกของบ้านเมือง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ดร.ณัฏฐ์' ชี้อุณหภูมิการเมืองร้อนแรง หลังพรรคส้มเร่งแก้รธน. มาตรา 256 หักอำนาจ สว.

ดร.ณัฏฐ์ มือกฎหมายมหาชน เผยร่างแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ฉบับพรรคประชาชน อุณหภูมิการเมืองร้อนแรง หักอำนาจ สว.

ดร.ณัฏฐ์ มองการเมืองไทยปี 68 'รัฐบาลอิ๊งค์' มีเสถียรภาพ อยู่ยาวถึงปี 70

“ดร.ณัฏฐ์” มือกฎหมายมหาชน ชี้การเมืองไทยปี 2568 “รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร” กุมเสียงข้างมาก รัฐบาลมีเสถียรภาพ แม้เจอโรครุมเร้า นักร้องเรียนรายวัน ยังไม่มีตัวแปรใดล้มรัฐบาล ฟันธง รัฐบาลอยู่ยาวถึงปี 2570

'ดร.ณัฏฐ์' ชี้เลือกตั้งอบจ.ระอุ! 'บ้านใหญ่' ยังขลัง-บางแห่งเสื่อมตามกาลเวลา

“ดร.ณัฏฐ์” มือกฎหมายมหาชน ชี้ การเมืองท้องถิ่น อบจ. ระอุ บ้านใหญ่ยังขลัง แต่บางแห่งเสื่อมไปตามกาลเวลา ข้าราชการการเมือง ส.ส.ช่วยหาเสียงได้

ดร.ณัฏฐ์ ชี้ชัด 'ประชามติชั้นเดียว' แค่ยกแรก 'แก้รธน.ทั้งฉบับ' เจอด่านหิน-นโยบายขายฝัน!

“ดร.ณัฏฐ์” มือกฎหมายมหาชน ชี้ กลไกแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับผ่านด่านหินยาก แม้เพื่อไทยใช้เทคนิคช่องทางพ้น 180 วัน ผ่านร่าง พรบ.ประชามติ เป็นเพียงนโยบายในฝัน  

มติ 153 สว. ยืนประชามติ 2 ชั้น! อบรม 'ไอติม' พูดได้ไงจะมีผู้รณรงค์ให้ปชช.นอนหลับทับสิทธิ์

สว. ยกมือพรึ่บ 153 เสียง ผ่านกม.ประชามติ ฉบับกมธ.ร่วมฯ ยึดเสียงข้างมากสองชั้น ก๊วนสว.พันธุ์ใหม่ โวยดัดจริต สองมาตรฐาน โธ่! "ไอติม" โชว์กึ๋นนักเรียนนอก บอกสองชั้นเปิดช่องรณรงค์ให้ประชาชนนอนหลับทับสิทธิ์ สว.สีน้ำเงิน สวนทันควันใครจะกล้าทำแบบนั้น

'บิ๊กอ้วน' ชี้ 'สนธิ' แค่หนึ่งเสียงการบริหารประเทศไม่ควรโฟกัสแค่คนคนเดียว!

'ภูมิธรรม' ยังไม่เห็นข้อเรียกร้อง 'สนธิ' บอกเป็นแค่ความเห็นหนึ่งต้องรับฟังทุกฝ่าย เปรียบเหมือนมองปี๊บหนึ่งใบ ต้องมองให้รอบด้าน ไม่หมิ่นประมาทม็อบจุดติดหรือไม่