'ศรีสุวรรณ'จี้ กกต.เร่งตีความปมแจกเงินดิจิทัล

'ศรีสุวรรณ' ให้ถ้อยคำ กกต.​ ปมเงินดิจิทัล ตอกย้ำเพื่อไทยฝ่าฝืนกฎหมายหลายฉบับ ซ้ำการชี้แจงก็ไม่ชัดเจน จี้ กกต.เร่งเคลียร์ก่อนนำเรื่องฟ้องศาลปกครอง

11 พ.ค.2566​ - ที่สำนักงานคณะกรรมการ​การ​เลือกตั้ง​ (กกต.) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมาให้ถ้อยคำต่อ กกต.หลังจากได้รับหนังสือด่วนที่สุด จาก กกต. เพื่อให้มาให้ถ้อยคำประกอบคำร้องกรณีที่สมาคมได้ยื่นคำร้องขอให้ตรวจสอบการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่เสนอนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เป็นการจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้กับพรรคและผู้สมัครพรรคเพื่อไทย อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้งและกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องหรือไม่

นายศรีสุวรรณ​ กล่าวว่าการหาเสียงโดยการแจกเงินดังกล่าวอาจเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 73(1) และ (5) ของพระราช​บั​ญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.2561 ประกอบพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ.2501, พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย 2485, พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561, พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 2561 และ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) 2561 ได้

“แม้พรรคเพื่อไทยจะได้ชี้แจงนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองที่ต้องใช้เงิน ตามมาตรา 57 ต่อ กกต. และได้มีการเผยแพร่ต่อสาธารณะเป็นการทั่วไปแล้วก็ตาม แต่เนื่องจากตัวเลข 5,600,000 ล้านบาท ที่ต้องนำมาใช้ในนโยบายนี้ ยังเป็นที่สงสัยกันอย่างมากว่าวงเงินดังกล่าวต้องนำมาใช้ในครั้งเดียวก่อนเริ่มโครงการ จะอ้างนำภาษีที่ได้จากผลคูณต่อเศรษฐกิจจากนโยบาย 1 แสนล้านบาทมารวมก่อนไม่ได้ ส่วนการตัดงบประมาณที่ซ้ำซ้อนก็ไม่แจ้งให้ชัดว่าจะตัดงบประมาณด้านใด ตัดงบบัตรคนจน ตัดงบผู้สูงอายุ ใช่หรือไม่”นายศรีสุวรรณระบุ

นายศรี​สุวรรณ​ กล่าวอีกว่า​ หากพรรคเพื่อไทยจัดสรรเงินที่จะต้องนำมาใช้จ่ายตามกรอบวงเงินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล จะไปกระทบกับวงเงินงบประมาณจากนโยบายการใช้จ่ายเงินอื่นๆ ของพรรคเพื่อไทยที่มีรวม 70 นโยบาย 15 ด้าน ตามเอกสารชี้แจง ซึ่งกำหนดกรอบวงเงินที่ใช้ดำเนินการตลอดระยะเวลา 4 ปีตามวาระรัฐบาล รวมเป็นเงินกว่า 3 ล้านล้านบาทด้วย ความเป็นไปได้อาจมีน้อยมาก และหากมีความพยายามผลักดันนโยบายดังกล่าวออกมาใช้ก็อาจจะไปกระทบต่อวินัยการเงินการคลังของชาติ ซึ่งนอกจากสุ่มเสี่ยงที่จะผิดกฎหมายแล้ว ยังเป็นการหาเสียงที่ถูกครหาจากนักวิชาการและผู้ที่อยู่ในแวดวงการเงินการคลังมากมายอีกด้วย

“การชี้แจงนโยบายดังกล่าว อาจไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของมาตรา 57 ที่กำหนดไว้หรือไม่ ซึ่ง กกต. ต้องพิจารณาและวินิจฉัยว่านโยบายหาเสียงดังกล่าว มีความเป็นไปได้ หรือมีการปกปิดข้อมูลที่ควรจะแจ้งหรือไม่ หากมีการปกปิด ก็อาจจะเข้าข่ายผิดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 มาตรา 73(5) ได้ ซึ่งนโยบายในลักษณะ กกต.ต้องเร่งวินิจฉัยเพื่อวางบรรทัดฐานเกี่ยวกับการใช้นโยบายประชานิยมสุดขั้วมาใช้หาเสียง ซึ่งอาจก่อความเสียหายต่อการเงินการคลังของชาติได้ในอนาคต แต่หาก กกต.ไม่ดำเนินการใด ๆ สมาคมจำต้องนำความไปฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อสร้างบรรทัดฐานของการหาเสียงต่อไป”

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ศรีสุวรรณ' นำความทุกข์ชาวบ้านยื่นฟ้อง รมว.พาณิชย์ เหตุปล่อยสินค้า 'แพงทั้งแผ่นดิน'

นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน ได้เดินทางมาศาลปกครองกลาง เพื่อยื่นฟ้อง รมว.พาณิชย์ คณะกรรมการกลางว่าด้วยสินค้าและบริการ และอธิบดีกรมการค้าภายใน ฐานใช้อำนาจโดยมิชอบ

'ดิเรกฤทธิ์' พ้อ! ไร้องค์กรตรวจสอบ กกต. ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ 'เลือก สว.'

นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า "ประชาธิปไตยต้องไม่มีอำนาจใดไม่ถูกตรวจสอบ"

เลขาฯกกต. โต้ก้าวไกล ปมยื่นยุบพรรค

นายแสวง บุญมี เลขาธิการกกต และนายทะเบียนพรรคการเมือง โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว กล่าวถึงอำนาจ และการปฏิบัติหน้าที่ของกกต. เลขาฯกกต.และนายทะเบียนพรรคการเมืองต่อกรณีการยื่นยุบพรรคการเมือง