ทีมเศรษฐกิจพปชร. ข้องใจ การอนุญาตผลิตไฟฟ้าในสมัย 'ลุงตู่' ใจอยู่ที่นายทุน?


ทีมเศรษฐกิจพปชร. ตั้งข้อสังเกตการอนุญาตผลิตไฟฟ้าในสมัย'ลุงตู่' ใจอยู่ที่นายทุน โฆษณาว่าไม่มีค่า'ความพร้อมจ่าย'เป็นการพูดเอาความดีใส่ตัว อนุญาตให้บริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ประมูลทำโซล่าร์ฟาร์ม ไม่ได้สนับสนุนให้ประชาชนมีรายได้จากโซล่าเซลล์รูฟท็อป

26เม.ย.2566 - นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ที่ปรึกษากรรมการนโยบายพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก เรื่อง ใจลุงตู่อยู่ที่นายทุน? มีเนื้อหาดังนี้

รูป 1 ข่าวระบุว่า "ฟันธง! หุ้นโรงไฟฟ้าผ่านจุดต่ำสุดแล้ว
ลุ้นกำไรปี 66 แตะ 5.3 หมื่นล้านบาท ระยะยาวมี Upside จากการเปิดประมูลพลังงานหมุนเวียนกว่า 8,000 เมกะวัตต์"

รูป 2 ปรากฏผลการประมูลบางส่วน
บริษัทที่ได้อันดับหนึ่ง ได้ไป 2,500 เมกะวัตต์
อันดับสองถึงห้า ได้ไปเพียง 832, 339, 170 และ 80 ตามลำดับ

ผมตั้งข้อสังเกต 2 เรื่อง
เรื่องที่หนึ่ง ค่า "ความพร้อมจ่าย"
มีทีมลุงตู่มาโฆษณาว่า การอนุญาตผลิตไฟฟ้าในสมัยลุงตู่ไม่มีค่า "ความพร้อมจ่าย" ไม่เหมือนสมัยยิ่งลักษณ์
ค่า "ความพร้อมจ่าย" นี้ รัฐบาลเริ่มต้นใช้หลักการนี้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต เพราะเป็นรัฐวิสาหกิจที่ประชาชนเป็นเจ้าของ 100%
ค่า "ความพร้อมจ่าย" คือให้หลักประกันแก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตในการกู้เงินมาเพื่อลงทุนสร้างโรงไฟฟ้า
เมื่อลงทุนไปแล้ว ถ้าหากสถานการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าเกิดลดลง ถึงแม้รัฐไม่สามารถซื้อไฟฟ้าได้ รัฐก็จะต้องจ่ายเงินชดเชยให้แก่โรงไฟฟ้าทุกเดือน
ค่า "ความพร้อมจ่าย" จึงเป็นหลักการที่ทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตสามารถกู้เงินเพื่อลงทุนโรงไฟฟ้าได้สะดวก
และเป็นเรื่องที่เหมาะสมใช้แก่รัฐวิสาหกิจที่ประชาชนเป็นเจ้าของ 100%
แต่ในการเปิดให้เอกชนสร้างโรงไฟฟ้าขายให้แก่รัฐนั้น อันที่จริง ไม่ควรจะใช้หลักการค่า "ความพร้อมจ่าย" ให้แก่บริษัทเอกชน
การใช้หลักการค่า "ความพร้อมจ่าย" ให้แก่บริษัทเอกชนซึ่งดำเนินการตั้งแต่สมัยยิ่งลักษณ์ จึงเป็นการให้หลักประกันรายได้แก่โรงไฟฟ้าเอกชนโดยไม่จำเป็น
เมื่อรัฐบาลให้หลักประกันลดความเสี่ยงแก่เอกชนด้วยค่า "ความพร้อมจ่าย" เอกชนจึงพยายามแข่งขันกันเพื่อให้ชนะประมูล
จนมีข่าวว่าจ่ายใต้โต๊ะกันมหาศาล จริงหรือไม่?
เพราะเมื่อชนะประมูลด้วยมีค่า "ความพร้อมจ่าย" ก็จะสามารถเร่งสร้างโรงไฟฟ้า และเอาหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์
ได้กำไรสองต่อ!!!
ในด้านการไฟฟ้าฝ่ายผลิต เมื่อเอกชนสร้างโรงไฟฟ้าเสร็จ ถ้ารัฐไม่ซื้อก็จะต้องจ่ายค่า "ความพร้อมจ่าย" ดังนั้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตจึงต้องซื้อไฟฟ้าจากเอกชนก่อน
เมื่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตซื้อไฟฟ้าจากเอกชนก่อน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตก็ต้องลดปริมาณการผลิตของตนเองลง
นี่เอง ที่ทำให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของรัฐวิสาหกิจที่ประชาชนเป็นเจ้าของ 100% มีแต่ลดลงๆ ทุกวัน
ส่วนการที่ทีมลุงตู่โฆษณาว่า การอนุญาตผลิตไฟฟ้าในสมัยลุงตู่ไม่มีค่า "ความพร้อมจ่าย" ไม่เหมือนสมัยยิ่งลักษณ์นั้น ก็เป็นการพูดเอาความดีใส่ตัว
เพราะในการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนนั้น การไฟฟ้าฝ่ายจำเป็นต้องรับซื้อทันทีที่ยังมีแสงแดดและพลังลม
จึงไม่มีหลักการค่า "ความพร้อมจ่าย" ไม่เหมือนโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง
สรุปแล้ว คำโฆษณาว่า การอนุญาตผลิตไฟฟ้าในสมัยลุงตู่ไม่มีค่า "ความพร้อมจ่าย" ไม่เหมือนสมัยยิ่งลักษณ์นั้น เป็นการทำให้ประชาชนเข้าใจผิดได้

เรื่องที่สอง ใจลุงตู่ไม่ได้อยู่กับประชาชน?

การที่ประชาชนติดตั้งโซล่าเซลล์รูฟท็อปนั้น ประชาชนจะสามารถผลิตไฟฟ้าแข่งขันกับโรงไฟฟ้าขนาดยักษ์ได้เป็นครั้งแรก
ประชาชนติดตั้งโซล่าเซลล์รูฟท็อป ลงทุนไม่กี่แสนบาท ก็สามารถแข่งขันกับโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงที่ลงทุนหลายพันล้านบาท
จึงเป็นครั้งแรก ที่ประชาชนมีอำนาจที่จะสร้างรายได้ให้แก่ตนเอง ผลิตไฟฟ้าแข่งขันกับบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่
แต่ลุงตู่ไม่ได้อ้าแขนรับให้ประชาชนมีรายได้ตรงนี้
การติดตั้งจะต้องยื่นขออนุญาตยุ่งยากจาก 3 หน่วยงาน
ประชาชนผลิตไฟฟ้าใช้เองได้ก็จริง แต่ในทางปฏิบัติ ในเวลากลางวันที่โซล่าเซลล์ทำงานนั้น ครัวเรือนส่วนใหญ่ไปทำงานนอกบ้าน
ปริมาณไฟฟ้าที่ประชาชนผลิตในช่วงเวลากลางวัน จึงเกินกว่าที่ประชาชนจะใช้ในช่วงเวลากลางวัน
อันที่จริง ถ้าหากประชาชนจะเก็บไฟฟ้าที่ผลิตเกินกว่าการใช้ในช่วงเวลากลางวัน เพื่อเอาไว้ใช้ในช่วงเวลากลางคืนนั้น ก็ทำได้
แต่จะต้องลงทุนแบตเตอรี่เก็บไฟซึ่งมีต้นทุนสูงมาก
ดังนั้น ถ้ารัฐจะส่งเสริมการติดตั้งโซล่าเซลล์รูฟท็อปอย่างจริงจัง รัฐก็จะต้องรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตเกินในช่วงเวลากลางวัน
ตรงนี้เอง ลุงตู่กำหนดปริมาณวงเงินที่จะรับซื้อไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์รูฟท็อป เอาไว้ต่ำมาก
และรับซื้อในราคาที่ต่ำเพียงประมาณหน่วยละ 2.20 บาท ทั้งที่ประชาชนต้องซื้อไฟฟ้จากรัฐในราคาหน่วยละ 4.70 บาท
นโยบายลุงตู่ จึงไม่ได้สนับสนุนให้ประชาชนมีรายได้จากโซล่าเซลล์รูฟท็อปอย่างแท้จริง
แต่ปรากฏว่า ใจลุงตู่ น่าจะไปอยู่ที่นายทุน?
เพราะมีการอนุญาตให้บริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่เข้ามาประมูลทำโซล่าร์ฟาร์ม เพื่อขายไฟให้แก่รัฐอย่างเป็นล่ำเป็นสัน
ทั้งหมดนี้ ลุงตู่และลุงสุพัฒน์พงษ์มีหน้าที่จะต้องอธิบายให้ประชาชนว่า
ทำไมจึงเน้นให้ประโยชน์แก่นายทุนยักษ์ใหญ่?
ทำไมไม่ให้ประโยชน์แก่ประชาชนรายย่อยแทน?

แนวคิดของทีมเศรษฐกิจพรรคพลังประชารัฐนั้นแตกต่างครับ
เราต้องการให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโซล่าเซลล์รูฟท็อป และโครงการ หนึ่ง อบต/เทศบาล หนึ่งโซลาร์ฟาร์ม
โดยจะใช้หลักการหักกลบลบหน่วย net metering
ซึ่งหมายความว่า ประชาชนจะขายไฟฟ้าให้แก่รัฐ ได้ในราคาเท่ากับที่ซื้อไฟฟ้าจากรัฐ
ถ้าซื้อไฟฟ้าจากรัฐหน่วยละ 4.70 บาท ก็จะขายไฟฟ้าให้รัฐได้หน่วยละ 4.70 บาทเท่ากัน
ด้วยวิธีนี้ สำหรับบ้านที่ใช้ไฟกลางคืนไม่มากนัก ค่าไฟในบางวันอาจจะลดลงเหลือเพียง 0 บาท
นี่คือข้อแตกต่างที่สำคัญ

ทีมเศรษฐกิจพรรคพลังประชารัฐ เอาประชาชนเป็นศูนย์กลางครับ

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'พีระพันธุ์' นั่งหัวโต๊ะ กพช. สั่งชะลอรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 3,668 เมกะวัตต์

การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้รับมอบหมายจาก นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

อดีตรมว.คลัง งัด พรบ.ธ.ก.ส. ฟันเปรี้ยง! ดิจิทัลวอลเล็ต ไปตกม้าตายที่ ธ.ก.ส. ชัดเจน

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า

ค่าไฟค้างเติ่ง! บิ๊กตู่เผยที่ประชุม กพช.ขอฟังความคิดเห็นรอบด้านก่อน

นายกฯ เผย ที่ประชุม กพช.ยังไม่เคาะปมค่าไฟ ขอฟังความคิดเห็นให้รอบคอบก่อน ยันจะไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อนและสร้างภาระให้รัฐบาลใหม่ ปัดเทงบทิ้งทวน ชี้ค่าป่วยการ อสม.พรรคร่วมเป็นคนเสนอ