ประชาธิปัตย์ทัพแตก "นิพิฏฐ์" โบกมือลาพรรค หลังอยู่มา 27 ปี สะพัดจับมือก๊วนสี่กุมาร "สมคิด-อุตตม" ตั้งพรรคใหม่ป้ายแดง อ้างไร้ที่ยืนในพรรคสีฟ้า เพราะโดนสำเร็จโทษหลังสอบตก ลั่น I shall return
ความเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงกำลังเตรียมพิจารณาแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ พ.ร.บ.พรรคการเมือง เริ่มเข้มข้นขึ้นท่ามกลางกระแสข่าวการจัดทัพ-การย้ายพรรคของนักการเมืองเกิดขึ้นต่อเนื่อง เช่น กระแสข่าวกลุ่มสามมิตรของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน จะยกทีมกลับพรรคเพื่อไทย หรือกระแสข่าวกลุ่มนายวิรัช รัตนเศรษฐ อาจย้ายไปพรรคภูมิใจไทย
โดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โพสต์เฟซบุ๊กถึงเรื่องนี้ว่า ไม่ทราบว่าใครปล่อยข่าว และมุ่งหวังวัตถุประสงค์ใด แต่ขอเรียนว่าเป็นนักการเมืองที่มีอุดมการณ์ ซึ่งเคยให้คำมั่นยืนยันมาหลายครั้งหลายหนแล้วว่าจะขอเคียงข้าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ดังนั้นข่าวคราวการย้ายพรรคที่มีกระแสออกมา ล้วนแล้วเป็นข้อมูลเท็จทั้งสิ้น ยืนยันว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าจะสนับสนุนนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เท่านั้น และไม่มีทางแปรพักตร์
ขณะที่ในพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ก็มีความเคลื่อนไหวเช่นกัน โดยนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต ส.ส.พัทลุง และอดีตรองหัวหน้าพรรค ปชป. ที่ดูแลพื้นที่ภาคใต้ในช่วงเลือกตั้งปี 2562 ได้โพสต์เฟซบุ๊กว่า "I shall return (ฉันจะกลับมา)" โดยได้มีผู้เข้าไปแสดงความคิดเห็นพร้อมให้กำลังใจนายนิพิฏฐ์เป็นจำนวนมาก และเรียกร้องให้กลับมาลงสมัคร ส.ส.พัทลุงอีกครั้ง ขณะที่นายนิพิฏฐ์ได้ตอบกลับความคิดเห็นช่วงหนึ่งว่า "ทำสงครามครั้งสุดท้าย เพื่อคนพัทลุง พี่จะสมัครหรือไม่อีกเรื่องหนึ่ง แต่ขอ ส.ส.พัทลุงทั้ง 3 คน 3 เขต เพื่อพัทลุง อย่าให้เลือกเพื่อให้คนนั้น คนนี้ ได้เป็น ส.ส. แต่ต้องเลือกเพื่อคนรุ่นลูก รุ่นหลาน"
มีรายงานว่า นายนิพิฏฐ์เตรียมไปยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค ปชป.ต้นเดือน ธ.ค.นี้ รวมถึงเข้าไปพบกับ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ในฐานะประธานสภาที่ปรึกษาพรรค เพื่ออำลา เนื่องจากนายนิพิฏฐ์เป็นสมาชิกพรรคมานานถึง 27 ปี และเป็น ส.ส. 8 สมัย และจะให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนด้วย
มีกระแสข่าวว่านายนิพิฏฐ์จะไปจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ร่วมกับทีม 4 กุมาร หรือกลุ่มของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์, นายอุตตม สาวนายน อดีต รมว.การคลัง และอดีตหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โดยจะเป็นพรรคที่ชูแนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการฟื้นฟูพื้นที่ภาคใต้ และแก้ปัญหาปากท้องประชาชน
ต่อมานายนิพิฏฐ์ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า อยู่ในพรรค ปชป.มา 29 ปี ออกศึกภายใต้สังกัด ปชป. เป็น ส.ส.มา 8 สมัย แต่ในการออกศึกทำสงครามครั้งที่ 9 ล่าสุดเเพ้ ไม่ว่าจะเเพ้ด้วยสาเหตุใด เช่น อาจเพราะการต่อสู้นั้นใช้ลูกดอกอาบยาพิษ หรือเป็นการต่อสู้ที่มีกติกาไม่เป็นธรรม หรืออะไรก็แล้วเเต่ แต่ถือว่าเเพ้ พอเเพ้เเล้วกลับถูกเเม่ทัพสำเร็จโทษเลย ก็เลยมานั่งคิดว่าจะยอมถูกสำเร็จโทษจากการพ่ายเเพ้ หรือจะสู้ต่อ สุดท้ายขอสู้ต่อ แต่จะสู้ในกองทัพเดิมไม่ได้เเล้ว เพราะไม่มีที่ยืน เเละถูกถอดยศก็ต้องไปหาที่อยู่ใหม่
"บังเอิญมีพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง มีนักการเมืองที่เขาให้เกียรติมาเชิญ หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีระดับหัวหน้าพรรคมาเชิญ 4-5 พรรค โดยครั้งนี้ที่ไปคุยมาล่าสุด นโยบายดีมาก คนที่ไปคุยด้วยเป็นปัญญาชน เป็นคนดี มีนโยบายเศรษฐกิจที่ดีมาก โดยเฉพาะเรื่องการฟื้นประเทศหลังจากโควิด-19 นโยบายที่จะฟื้นภาคใต้ก็ดีมาก เลยตัดสินใจไปร่วมทำงานการเมืองกับเขาเหล่านั้น ยังไม่ขอระบุชื่อพรรคเเล้วกัน" อดีตแกนนำพรรค ปชป.ระบุ
ผู้สื่อข่าวจึงถามว่า ก่อนตัดสินใจครั้งนี้ได้บอกลานายชวนหรือยัง นายนิพิฏฐ์ตอบว่า ยังไม่ได้เรียนท่าน ความจริงต้องบอกท่านก่อน เเต่มันเป็นข่าวไปเสียก่อนเเล้ว ยังไงก็ต้องไปลามาไหว้ อยู่พรรคนี้ตั้งเเต่ปี 2535 ส่วนการตัดสินใจครั้งนี้ถามว่าเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเเล้วหรือไม่นั้น ผมเองไม่มีที่ยืนเเล้ว ต้องไปพรรคอื่น ซึ่งในพรรคใหม่ผมจะไปลง ส.ส.บัญชีรายชื่อ
เมื่อถามว่าพรรคที่จะไปอยู่ ใช่พรรคที่กลุ่มสี่กุมารตั้ง ตามที่มีกระเเสข่าวใช่หรือไม่ นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า อย่าเพิ่งเลย ส่วนจะเป็นพรรคอะไร ให้หัวหน้าพรรคที่จะไปอยู่ใหม่เขาเป็นผู้พูดเปิดตัวดีกว่า
อนึ่งก่อนหน้านี้มีแกนนำและอดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ลาออกไปอยู่พรรคการเมืองอื่นแบบเดียวกับนายนิพิฏฐ์ เช่น นายกรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.การคลัง ลาออกไปตั้งพรรคกล้า, นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ลาออกไปเป็นที่ปรึกษานายกฯ และที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค พปชร. และ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ลาออกไปอยู่กับพรรครวมพลังประชาชาติไทย จากนั้นแยกตัวออกมาตั้งพรรคไทยภักดี เป็นต้น
นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ประธาน ส.ส.พรรค ปชป. กล่าวกรณีที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พปชร.ประกาศกวาด ส.ส.กทม.ให้ได้ 24 ที่นั่ง ว่าถือเป็นเรื่องปกติทางการเมืองที่พรรคการเมืองต่างๆ จะประกาศว่าจะกวาด ส.ส.ให้ได้มากเท่าไหร่ก็ได้ แต่ท้ายที่สุดแล้วอยู่ที่วันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ซึ่งไม่ได้หวั่นไหวอะไรในคำประกาศของหัวหน้าพรรค พปชร. และคงไม่ประกาศว่า ปชป.จะได้กี่ที่นั่งใน กทม. แต่เรากำลังมุ่งมั่นทำงานหนักเพื่อให้ประชาชนกลับมาสนับสนุนเรา
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวเช่นกันว่า พรรคจะมีการประชุมโซนเขตเลือกตั้งทั่วประเทศที่พรรคได้แบ่งไว้ทั้งสิ้น 21 โซน ซึ่ง กทม.มีถึง 6 โซนด้วยกัน โดย กทม.มีความพร้อม โดยเดิมทีเรามี ส.ส.กทม.ถึง 9 คน แต่หลังจากนี้อาจเปลี่ยนแปลงบ้าง ซึ่งไม่เป็นปัญหา ถึงอย่างไรก็ส่งผู้สมัครครบทุกเขตแน่นอน มั่นใจว่าจะได้ ส.ส.กทม.มากขึ้นกว่าเดิม เป้าหมายในการเลือกตั้งครั้งแต่ไปคือได้ ส.ส.แบบแลนด์สไลด์
ส่วนความเคลื่อนไหวเรื่องการยกร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรค ปชป. กล่าวว่า ร่างของพรรคในประเด็นเรื่องการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะเอาความชัดเจนตามรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่าจะเป็นสัดส่วนสัมพันธ์โดยตรงกับจำนวนบัญชีรายชื่อคือ 100 คน ฉะนั้นหากได้ 60% ก็จะได้ ส.ส. 60 คน ที่เหลือหากพรรคการเมืองใดมีเศษมากที่สุดก็จะได้ ส.ส.พรรคนั้นไป
“ไพรมารีโหวต มีความคิดเห็นเดิมคือไม่เห็นด้วย เพราะเป็นไพรมารีจอมปลอม เป็นกระบวนการที่เป็นภาระกับพรรคการเมืองโดยไม่ใช่เหตุ เป็นต้นทุนของนักการเมือง”
ขณะที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล คณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย จะมีเนื้อหาคล้ายกับร่างของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ทั้งวิธีคำนวณ ส.ส. ที่รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมมีเนื้อหาแบบเดียวกับรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมปี 2554 โดยวิธีคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ต้องนำคะแนนเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อมาหารด้วย 100 ตาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ แล้วไปดูคะแนนของแต่ละพรรคว่าจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อกี่คนจะคิด ส.ส.แบบพึงมีไม่ได้เพราะรัฐธรรมนูญเขียนไว้แบบนี้ ส่วนกรณีถ้าได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อไม่ถึง 100 คน ก็ควรให้พรรคที่มีคะแนนเศษมากที่สุด ไม่จำเป็นว่าพรรคนั้นต้องมี ส.ส.หรือไม่ เรื่องเบอร์ที่ใช้ในการเลือกตั้งก็ให้ใช้เบอร์เดียวทั้งประเทศ โดยใช้เบอร์จากการสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็นตัวตั้ง
“ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมืองนั้น มีคำถามว่าไพรมารีโหวตยังต้องทำอยู่หรือไม่ เมื่อรัฐธรรมนูญมาตรา 45 ที่กำหนดให้เปิดโอกาสให้สมาชิกมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการกําหนดนโยบาย และการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ยังคงมีอยู่หมายความว่าต้องรับฟังความคิดเห็นสมาชิกในการส่งผู้สมัคร ดังนั้นไพรมารีโหวตยังต้องมีอยู่ แต่เราจะเสนอวิธีการให้มีความคล่องตัวมากขึ้น เช่นจังหวัดไหนมีสาขาพรรค มีตัวแทนพรรค ไม่ว่าจะกี่เขตก็ตาม ให้ส่งผู้สมัครได้ทั้งจังหวัด สัปดาห์หน้าจะมีการนำเนื้อหาเข้าหารือกับแกนนำพรรคและหารือในที่ประชุม ส.ส. และจะยื่นต่อประธานรัฐสภาต่อไป” นายชูศักดิ์กล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แฉระบบเด็กฝาก ทำลายองค์กรตร. ดับฝัน‘ดาวฤกษ์’
เช็ก 41 รายชื่อแต่งตั้งนายพลสีกากี ระดับรอง ผบ.ตร.-ผบช.
ยธ.เมินแจงกมธ. ปมนักโทษเทวดา รพ.ตำรวจชั้น14
ชั้น 14 น่าพิศวง "โรม" กวักมือเรียก “ทักษิณ” ไปสภา เข้าแจง กมธ.มั่นคงฯ
แจกเฟส2เอื้อเลือกอบจ. เตือนร้องถอดถอนครม.
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ยันไทยสงบ สันติ หวังแม้รัฐบาลเปลี่ยน
ฟ้อง9บิ๊กมท.ทุจริตที่เขากระโดง
เรื่องถึงศาล "ณฐพร" ฟ้องกราวรูด "บิ๊ก ขรก.มหาดไทย"
ลุ้นศาลรับคดีล้มล้าง ตุลาการถก6ประเด็น‘ทักษิณ-พท.’/ดันแก้ประชามติไม่รอ180วัน
"ทักษิณ-พท." ระทึก! 9 ตุลาการศาล รธน.ยืนยันนัดประชุมวาระพิเศษ 22 พ.ย.นี้
สั่งประหารชีวิต ‘แอม ไซยาไนด์’ คุกผัวเก่า-ทนาย
ศาลพิพากษาประหารชีวิต "แอม ไซยาไนด์" วางยาฆ่าก้อย พร้อมชดใช้ 2.3 ล้าน