โฆษกรัฐบาลฟุ้งเศรษฐกิจฟื้นอัตราว่างงานลดลง

โฆษกรัฐบาลเผย ภาพรวมด้านแรงงานของไทยปี 65 อัตราการว่างงานปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นายกฯ ย้ำทุกฝ่ายช่วยกันดูแลแก้ปัญหา ร่วมกันสร้างรากฐานเศรษฐกิจไทยให้มั่นคง

5 มี.ค.66 – นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามภาวะสังคมไทยไตรมาสสี่และภาพรวมปี 2565 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รายงานพบความเคลื่อนไหวสำคัญเกี่ยวกับการจ้างงานในไตรมาสสี่ ปี 2565 การจ้างงานปรับตัวดีขึ้น การว่างงานลดลง มีอัตราการว่างงานร้อยละ 1.15 ขณะที่ภาพรวมทั้งปีอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.32 รวมทั้งสถานการณ์ด้านแรงงานไตรมาสสี่ ปี 2565 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากการขยายตัวของการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม โดยนายกรัฐมนตรีพอใจต่อสถานการณ์การจ้างงานที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง พร้อมย้ำให้ทุกฝ่ายช่วยกันดูแลเรื่องการแก้ปัญหาการว่างงาน ทำให้ประชาชนทุกกลุ่มมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น 

“นายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ติดตามภาวการณ์มีงานทำ หรือการว่างงานของประชาชนในภาพรวมทุกไตรมาส ซึ่งภาพรวมด้านแรงงานปี 65 อัตราการมีงานทำปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 มีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ในส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 และปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 ติดต่อกัน นอกจากนี้ ผู้ว่างงานระยะยาวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และการว่างงานตามระดับการศึกษาลดลงในทุกระดับ ซึ่งทิศทางด้านการจ้างงานที่เป็นบวกนี้ เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จจากการพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจไทยอีกครั้ง รวมทั้งสะท้อนความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยกำลังดีขึ้น หลังจากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีย้ำให้ทุกฝ่ายช่วยกันดูแลเรื่องการแก้ปัญหาการว่างงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้สถานการณ์การจ้างงานแรงงานของไทยดียิ่งขึ้น ให้ประชาชนทุกกลุ่มมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ร่วมสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจไทยให้มั่นคงไปด้วยกัน” นายอนุชา กล่าว 

นายอนุชากล่าวอีกว่า นอกจากนี้ รัฐบาลโดยกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ประสานงานกับภาคเอกชน และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน สนับสนุนให้ผู้ที่ต้องการหางาน และสถานประกอบการที่ต้องการรับสมัครคนทำงานมีโอกาสได้พบกัน เพื่อสร้างโอกาสการเข้าถึงตำแหน่งงานและเกิดการจ้างงาน โดยทุกคนที่ต้องการมีงานทำ สามารถใช้บริการจัดหางานได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือเลือกหางานผ่านระบบออนไลน์ บนแพลตฟอร์ม “ไทยมีงานทำ” ซึ่งให้บริการทั้ง Web Application ที่เว็บไซต์ ไทยมีงานทำ.doe.go.th  และ Mobile Application หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน 1694 

ทั้งนี้ สศช. ได้รายงานสถานการณ์ด้านแรงงานไตรมาสสี่ ปี 2565 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากการขยายตัวของการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม การจ้างงาน มีจำนวนทั้งสิ้น 39.6 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็นผลจากการจ้างงานในสาขานอกภาคเกษตรกรรมที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 โดยสาขาโรงแรมและภัตตาคาร และสาขาการค้าส่งและค้าปลีก ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว ขณะที่สาขาการขนส่ง/เก็บสินค้า และสาขาการผลิตมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการยังมีความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต สำหรับภาคเกษตรกรรม การจ้างงานหดตัวร้อยละ 3.4 จากปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้และการย้ายสาขาของแรงงาน ชั่วโมงการทำงานปรับตัวดีขึ้น โดยชั่วโมงการทำงานภาพรวมและภาคเอกชนเฉลี่ยอยู่ที่ 42.6 และ 46.5 ชั่วโมง/สัปดาห์ ผู้ทำงานล่วงเวลาเพิ่มขึ้นโดยมีจำนวนกว่า 6.3 ล้านคน ขณะที่ผู้ว่างงานแฝงและผู้เสมือนว่างงานลดลงกว่าร้อยละ 28.0 และ 19.0 ตามลำดับ การว่างงานปรับตัวดีขึ้น โดยผู้ว่างงานมีจำนวน 4.6 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ1.15 ซึ่งลดลงทั้งผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนและไม่เคยทำงานมาก่อน สำหรับภาพรวม ปี 2565 อัตราการมีงานทำและชั่วโมงการทำงานปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อน COVID-19 สถานการณ์ด้านแรงงาน ปี 2565 ผู้มีงานทำมีจำนวน 39.2 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 1.0 โดยการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม ขยายตัวร้อยละ 2.0 ตามภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นหลังจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวและการส่งออกที่ขยายตัวขึ้นจากปีก่อน ขณะที่ภาคเกษตรกรรม การจ้างงานหดตัวร้อยละ 1.2 จากผลกระทบของอุทกภัยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 และการเคลื่อนย้ายของแรงงานไปสู่สาขาที่ฟื้นตัวได้ดี

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สภาพัฒน์ เตรียมชงครม.อุ๊งอิ๊ง จัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยถึงการเดินหน้า โครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดยจะต้องดูว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร หากรัฐบาลดำเนินมาตรการนี้ต่อก็จะต้องดูว่ามีการปรับเปลี่ยนมากน้อยแค่ไหน จากเดิมที่มีข้อเสนอสำคัญไป 2 เรื่อง คือ แหล่งที่มาของเงิน จากงบประมาณปี 67 ที่มีการใช้จ่ายแล้ว และงบประมาณปี 68 ที่จะเข้ามาวันที่ 1 ตุลาคมนี้

'กุนซือนายกฯ' กระทุ้งอีก! 'ธปท.' ต้องเร่งลดดอกเบี้ย

'พิชัย' ห่วงเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำ หลังเงินเฟ้อติดลบ 5 เดือนซ้อนสวนทางโลก จี้ ธปท. หั่นดอกเบี้ยนโยบาย ลดช่วงห่างเงินกู้เงินฝาก ตามสภาพัฒน์ฯ แนะนำ

ครม.เห็นชอบงบ 552 ล้าน ให้จังหวัดอันดามัน หั่นออก 2 โครงการ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ หรือ ครม.สัญจร จ.ระนอง ว่า ที่ประชุมครม.สัญจร เห็นชอบข้อเสนอของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (จังหวัดกระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูล) จำนวน 18 โครงการ วงเงินรวม 552 ล้านบาท โดยจะใช้งบประมาณปี 2566 ไปพลางก่อนนั้น

'สภาพัฒน์' แนะเร่งเครื่องส่งออกหลังทรุดติดต่อกันหลายไตรมาส

“สภาพัฒน์”สั่งจับตาการส่งออกที่ยังซบเซา ย้ำปีหน้าไทยยังเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงในหลายด้านทั้งเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน อัตราเงินเฟ้อ เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว ส่วนจีดีพีปี66 คงเป้าอยู่ที่ 2.5-3%