1 มี.ค.2566 - พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ โพสต์เฟซบุ๊ก พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวข้อ บทที่ 1 จิตวิญญาณในความจงรักภักดี จาก อดีต ถึง ปัจจุบัน พร้อมกับเนื้อหาว่า ผมพูดไม่เก่ง แต่ใครที่ใกล้ชิดจะรับรู้ว่าผมรับฟังมากมาตลอด
ยิ่งในช่วงหลังซึ่งเป็นผลจากการระดมคนมีความรู้ความสามารถมากมายมาช่วยสร้าง “พรรคพลังประชารัฐ”ให้เป็นสถาบันการเมืองที่จะเป็นทางออกที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริงให้กับประเทศเรา ผมยิ่งตั้งใจรับฟังทุกคนทุกฝ่ายที่เข้ามาทำงานร่วมกัน
และการรับฟังนั้นเองที่ทำให้มองเห็นว่ามีหนทางเดียวเท่านั้นที่ประเทศเราจะก้าวพ้น “กับดัก”อันเป็นอุปสรรคของการพัฒนาประเทศนำพาประชาชนสู่ชีวิตที่ดีงาม
ผมขอเริ่มด้วยการเล่าให้ฟังว่า ผมเกิดในครอบครัวที่คุณพ่อเป็นนายทหารระดับสูง เติบโตมาในสังคมคนในกองทัพ วัยเด็กผมเรียนและจบจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล จากนั้นเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร สำเร็จการศึกษาโรงเรียนนายร้อย จปร.
เข้ารับราชการทหารและเติบโตมาจากกองทัพภาคที่ 1 โดยเฉพาะในสังกัดกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ร.21 รอ.) หรือคนส่วนใหญ่รู้จักในนาม "ทหารเสือราชินี"
ลองคิดดูว่าคนๆหนึ่งที่ถูกหล่อหลอม และปลูกฝังมาด้วยสังคมแวดล้อม ระบบการศึกษา และหน้าที่การงานแบบผมนี้ จะมี “จิตวิญญาณ”แบบไหน
ความจงรักภักดีที่มีต่อ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” เป็นสภาวะที่ฝังลึกอยู่ในจิตวิญญาณของผม จนเป็นกระแสจิตที่ส่งให้ทุกคนสัมผัสถึงและรับรู้ได้โดยไม่ต้องเอ่ยอ้าง
ชีวิตผมดำเนินอยู่ด้วยจิตวิญญาณนี้ตลอดมา และแน่นอนว่าจะตลอดไป
และเพราะผมถูกหล่อหลอมชีวิตขึ้นมาด้วยความเป็น “ทหารอาชีพ” จาก “ทหารชั้นผู้น้อย” ค่อย ๆ เติบโตมาจนเป็น “ผู้บัญชาการกองทัพ”
ผมจะเล่าถึงการเฝ้ามอง รับรู้ และครุ่นคิดถึงความเป็นไปของประเทศชาติ โดยเฉพาะในมุมของการเมือง
เพราะตลอดชีวิตที่ผ่านมา นิสัยอย่างหนึ่งของผมคือชอบอยู่ท่ามกลางญาติมิตร เพื่อนพ้องน้องพี่ ใครที่รู้จัก หรือใกล้ชิดกับผมจะรู้ว่า บ้านผมเป็นแหล่งรวมการใช้ชีวิตร่วมกันของพี่ของน้อง ของเพื่อนฝูงมาตั้งแต่สมัยยังเรียนหนังสือตลอดมาจนกระทั่งทำงานรับใช้ราชการ ตั้งแต่เป็น “นายทหารชั้นผู้น้อย”จนเป็น “ผู้บัญชาการกองทัพ”ก็เป็นเช่นนั้นเสมอมา
เป็นที่พบปะ หารือ ช่วยเหลือเกื้อกูล มีอะไรก็แบ่งกันกิน แบ่งกันใช้ ปรึกษาแลกเปลี่ยนความคิดกัน
ยิ่งเติบโตในตำแหน่งหน้าที่เครือข่ายแวดวงก็ขยายกว้างขึ้น ยิ่งมีบทบาทเกี่ยวข้องกับความเป็นไปของประเทศยิ่งพบปะ สังสรรค์ เกี่ยวข้องกับผู้คนมากขึ้น
ชีวิตที่ดำเนินไปเช่นนี้ของผมทำให้ได้รับรู้ว่า ประเทศไทยของเรานั้นมีผู้ที่มีคุณค่าอยู่มาก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประสบความสำเร็จในการสร้างชีวิต ทั้งผู้มีความเจริญก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงาน ผู้ประสบความสำเร็จในการประกอบธุรกิจ ทั้งที่เป็นข้าราชการ และภาคเอกชนจากบริษัทห้างร้านต่างๆ
การใช้ชีวิตร่วมกัน เรียนรู้กันและกันทำให้ผมรับรู้ว่า ผู้มีความรู้ ความสามารถเหล่านี้ มีไม่น้อยเลยที่มีเจตนาดี และมีจิตใจที่พร้อมจะเสียสละมาทำงานเพื่อประเทศชาติ
หากรัฐสภาและรัฐบาลได้คนมีความรู้ความสามารถเหล่านี้เข้ามาร่วมงาน จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการนำพาประเทศพัฒนาสู่ความเจริญรุ่งเรือง
แต่ที่เกิดขึ้นกับความเป็นไปของประเทศคือ โอกาสที่คนเหล่านี้จะได้เข้ามาร่วมทำงานให้กับประเทศนั้นมีน้อยมาก หรือแทบไม่มีหนทางเลย
ระบอบประชาธิปไตยของประเทศเรา กลายเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ปิดกั้นพวกเขา
การแข่งขันทางการเมืองที่มุ่งเอาชนะคะคานสูงยิ่ง ทำให้ทุกคนที่คิดจะเข้ามาเสี่ยงกับการเป็นเป้าถูกโจมตี ทำลายล้าง
ความคิดที่จะเสียสละมาทำงานเพื่อชาติกลายเป็นเปิดทางให้ตัวเองถูกทำลาย
คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตแล้วเหล่านี้ ทำใจยอมรับความเสี่ยงจากการร่วมทำงานการเมืองกับนักการเมืองในวัฒนธรรมมุ่งทำลายเช่นนี้ไม่ได้
และแม้จะมีบางคนที่กล้าพอจะเข้ามา ทว่าวัฒนธรรมการเลือกตั้งของบ้านเรา ไม่เอื้อให้คนมีความสามารถเหล่านี้ได้รับชัยชนะ เนื่องจากไม่มีความสามารถในการหาคะแนนเท่ากับ “ผู้มีอาชีพนักการเมือง”ที่มีความเชี่ยวชาญในการหาวิธีได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งมากกว่า
คนมีความรู้ ความสามารถ และมีเจตนาดีต่อการพัฒนาประเทศเหล่านี้ แทบไม่เหลือโอกาสที่จะเข้ามาทำงานให้ประเทศในระบบที่อำนาจต้องผ่านการเลือกตั้ง ตามที่ฝ่าย “ประชาธิปไตยเสรีนิยม”มุ่งมั่น กำหนด
จึงมีคนกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะฝ่าย “อนุรักษ์นิยม”ที่มองไม่เห็นหนทางอื่นที่จะนำผู้มีความรู้ความสามารถเข้ามาร่วมกันทำงานให้กับประเทศชาติ นอกจากการทำ “รัฐประหาร” ยึดอำนาจและเปิดโอกาสให้คนมีความรู้ ความสามารถ ด้วยการแต่งตั้งคนเหล่านี้เข้ามา
การเรียกร้องให้ “กองทัพ”เป็นผู้นำทำรัฐประหาร และจัดตั้งคณะรัฐมนตรีที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาบริหารจัดการประเทศจึงเกิดขึ้นเสมอ
และต้องยอมรับว่าการรัฐประหารหลายครั้งในประวัติศาสตร์ เป็นทางออกที่ประชาชนจำนวนไม่น้อย เห็นว่าส่งผลดีต่อประเทศ
อย่างยุคสมัยของสมัย “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์”
นี่เป็นประสบการณ์ และมุมมองที่ทำให้ผมเข้าใจ เห็นใจ และพร้อมจะยืนอยู่ข้างความปรารถนาดีต่อประเทศชาติ ของคนกลุ่มที่มีอิทธิพลและส่วนได้ส่วนเสียสูงกับความเป็นไปของประเทศ ของผู้มีความรู้ความสามารถ แต่ไม่มีโอกาสแสดงบทบาท เพราะผ่านการเลือกตั้งจากประชาชนได้ยากลำบาก จนเป็นที่น่าเสียดายเหล่านี้
แต่ก็นั่นแหละ นั่นเป็นประสบการณ์ช่วงรับราชการทหาร
แต่หลังจากเข้ามาทำงานการเมือง ในฐานะรัฐมนตรี และจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐ และเห็นความเป็นจริงครั้งแล้วครั้งเล่าว่า ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง พรรคการเมืองที่ได้รับชัยชนะ นักการเมืองที่ประชาชนส่วนใหญ่เลือกเข้ามาเป็นคนอีกพวกหนึ่ง
ตลอดเกือบ 10 ปีของการทำงานในฐานะนักการเมือง จากร่วมรัฐบาลเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จนถึงมาร่วมสร้าง และเป็น “หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ”
แม้ “จิตวิญญาณ” ผมยังมั่นคงกับ “สำนึกอนุรักษ์นิยม” แต่ความเข้าใจต่อความจำเป็นที่ประเทศต้องเดินหน้าไปด้วย “ประชาธิปไตยเสรีนิยม” ได้เกิดขึ้นอย่างลึกซึ้ง
ซึ่งผมจะเล่าให้ฟังในตอนต่อๆไปถึงความเข้าใจต่อความจำเป็นดังกล่าว
และบอกเล่าถึงความเชื่อมั่นของผมว่าจะประสาน “จิตวิญญาณอนุรักษ์นิยม”อันหนักแน่นของผม ให้เดินหน้าอย่างเข้าใจความจำเป็นของประเทศที่ต้องขับเคลื่อนด้วย “ประชาธิปไตย”ได้อย่างไร
จะบอกต่อไป ให้ทุกคนมั่นใจว่า “ผมทำได้ และจะทำอย่างเต็มที่ หากได้รับโอกาส”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ลุงป้อม' ร่วมลอยกระทง อวยพรคนไทย สุขสมหวัง สิ่งใดไม่ดีขอให้หลุดพ้น
พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ร่วมกับ นายสันติ พร้อมพัฒน์ พล.อ. กฤษณ์โยธิน ศศิพัฒนวงษ์ พล.ต.ท ปิยะ
'บิ๊กป้อม' สั่งลูกพรรคให้ทำทุกวิถีทางเพื่อยกเลิก MOU 44
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เดินทางกลับจากพรรคพลังประชารัฐ ภายหลังร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารและ ส.ส.พรรคประจำสัปดาห์
'บิ๊กป้อม' ประกาศสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้า ตั้งศูนย์ประสานงานข้อมูลเขต 77 จังหวัด
นายภัทรธรณ์ เทียนไชย รองเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค เป็นประธานว่า
ระแวง-ระวัง “ประโยชน์ทับซ้อน” ถกขุมทรัพย์ไทย-กัมพูชาไปถึงไหน?
การเคลื่อนไหวต่อต้านบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-กัมพูชา เพื่อแก้ไขปัญหาเขตแดนและแผนพลังงานเมื่อปี 2544 หรือ MOU44 และการปลุกกระแสการเสียเกาะกูดให้กัมพูชา ถ้ามีการเจรจาผลประโยชน์ระหว่างรัฐบาล 2 ชาติ
'สุวัจน์' แนะรัฐบาลอุ๊งอิ๊งอยากอยู่ครบเทอมต้องยอมรับการตรวจสอบ
โคราชกูรูการเมือง 'สุวัจน์' ชี้โพลเทอมรัฐบาล 4 ปี ที่สุดแล้วพี่น้องประชาชนเป็นคนตัดสิน เหน็บเมื่ออยู่ครบเทอมต้องมีผลงานแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ แนะ'อุ๊งอิ๊ง'ต้องยอมรับการตรวจสอบ ดิอิมพอสซิเบิลอย่าใช้กับการเมืองไทย
'บิ๊กป้อม' สั่ง สส.พปชร. คว่ำรายงานนิรโทษกรรม ชี้ล้างผิดคดี 112 กระทบปกป้องสถาบัน
นายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ซึ่งมีนโยบายสำคัญที่สุดที่จะต้องปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ให้มั่นคงสถาพรตลอดไป