เอกฉันท์! 'ส.ส.รัฐบาล-ฝ่ายค้าน' แจงเหตุผลไม่เห็นด้วย พ.ร.ก.ชะลอใช้กฎหมายอุ้มหาย

28 ก.พ.2566 - ที่รัฐสภา ได้มีการพิจารณาเรื่องด่วน พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย (พท.) อภิปรายว่า ร่างพ.ร.ก.นี้เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพ และเป็นเรื่องระดับชาติ นายสมศักดิ์ คือตัวอย่างของรัฐมนตรีที่มีความรับผิดชอบต่อสภาฯเพราะมาตอบกระทู้ และเสนอกฎหมาย ทั้งที่ไม่มีรัฐมนตรีคนใดให้ความสำคัญกับสภาฯ เลย ตนเพียงอยากสะท้อนว่า รัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง และรัฐมนตรีที่มาจากการแต่งตั้งนั้นแตกต่างกัน การชะลอการบังคับใช้ มาตรา 22-25 ไปให้มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ตุลาคม 2566 หรือช่วงปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ทั้งที่ มาตราเหล่านี้มีสำคัญเรื่องการคุ้มครองสิทธิผู้ถูกจับกุมตัว ที่ต้องมีหลักฐานบันทึกทั้งภาพ และเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะที่จับกุมและควบคุมตัว เพื่อความโปร่งใสและตรวจสอบได้

“ตำรวจเป็นองค์กรที่น่าเห็นใจที่สุด เพราะผู้บริหารสูงสุด หรือประธาน ก.ตร. กำลังทำให้วงการสีกากีถูกเปลี่ยนให้เป็นสีเทา พรรคร่วมฝ่ายค้าน จึงไม่เห็นด้วยกับการตรา พ.ร.ก.นี้ พูดตรงๆ คือจะลงมติไม่อนุมัติ พ.ร.ก.นี้ แต่ถ้ามีการพลิกเกม ก็ต้องปฏิบัติตามที่ออกไป เราจึงต้องเตรียมการยับยั้งกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งช่องทางเดียวที่เราทำได้ และเข้าทางท่าน คือเราต้องแลกด้วยการใช้ช่องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนญวินิจฉัย ว่าพ.ร.ก.นี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรคหนึ่งหรือไม่ ซึ่งต้องใช้เวลาพิจารณาประมาณ 60 วัน” นพ.ชลน่าน กล่าว

นายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวอธิบายว่าแม้พรรคของเขาจะยังไม่ได้มีมติว่าจะให้อนุมัติการออกพ.ร.ก.ที่มาเลื่อนการบังคับใช้ 4 มาตรา พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหาย แต่ตัวเขาเองไม่อนุมัติ พ.ร.ก.นี้ด้วยเหตุผลว่าพ.ร.บ.นี้เป็นกฎหมายที่รัฐบาล พรรคของเขาเสนอ และสภาแห่งนี้เสนอเพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

อีกทั้งกฎหมายนี้ที่มีผลบังคับใช้เมื่อ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา แต่การออก พ.ร.ก.ฉบับนี้จะเป็นการเลื่อนบังคับใช้มาตรา 22-25 ที่กำหนดให้ตำรวจบันทึกภาพและเสียงระหว่างการตรวจค้น จับกุมควบคุมตัว และขัง พร้อมแจ้งฝ่ายปกครอง ทำบันทึกจับกุมทั้งสภาพร่างกายและจิตใจของผู้ถูกควบคุมตัวให้ญาติและทนายความสามารถตรวจสอบได้ เพื่อป้องกันการซ้อมทรมานการอุ้มหายอุ้มฆ่าและการทำทุจริต ออกไปจนถึงวันที่ 1 ต.ค.2566

ส.ส.จาก ปชป. ยังกล่าวด้วยว่ากฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหายนี้มีการเสนอมาเกือบ 10 ปีแล้วตั้งแต่ยุค คสช.จนถึงวันนี้รัฐบาลก็เสนอเข้ามาอีกทั้งยังมีเหล่าสมาชิกสภาร่วมเสนอด้วย เพราะคำนึงถึงการทำตามอนุสัญญาระหว่างประเทศ แล้วในการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีก็มีการเชิญหน่วยงานที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายนี้ไปชี้แจง ทุกหน่วยงานต่างก็ให้ความเห็นชอบ เช่น กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานศาลยุติธรรม และหน่วยงานอื่นๆ

นายสุทัศน์ กล่าวว่าหน่วยงานที่มาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการปฏิรุปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนหน่วยงานที่ถูกเชิญมาก็ให้ความเห็นชอบกฎหมายไม่มีใครโต้แย้งหรือมีการท้วงติงเรื่องงบประมาณและวิธีปฏิบัติ แต่เมื่อต้นมกราคม 2566 ก็มีข่าวว่าจะเลื่อนใช้ 4 มาตรานี้ออกไปเขาในฐานะกรรมาธิการชุดนี้จึงได้เชิญผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมาชี้แจง ก็มีพล.ต.อ.สุรเชฐ หักพาลมาชี้แจงแทนซึ่งการชี้แจงนี้ถือว่ามีข้อผูกผันต่อคำชี้แจง เมื่อชี้แจงแล้วจะอ้างว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ทราบไม่ได้เพราะชี้แจ้งแล้วจะต้องไปรายงานต่อผู้บังคับบัญชา และหน่วยงานอื่นๆ ต่างก็ไม่ได้บอกว่ามีปัญหาอะไรทั้งเรื่องบุคลากรและงบประมาณ

นายสุทัศน์ กล่าวต่อว่าแต่คำชี้แจงเพื่อขอให้มีการออกพ.ร.ก.มาเลื่อนใช้พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหายกลับถูกส่งมาจาก สตช.ผ่านกรมคุ้มครองสิทธิและไปต่อที่สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีกว่าการกระทรวงยุติธรรม แล้วก็ถูกเสนอต่อไปที่ ครม. จึงมีข้อสงสัยว่าข้อมูลที่ ผบ.ตร.ส่งให้กรมคุ้มครองสิทธินั้นถูกต้องหรือไม่ แล้วข้อมูลที่เสนอต่อ ครม.นั้นสมบูรณ์แล้วหรือไม่และที่ ครม.เองได้ตรวจสอบข้อมูลที่รับมาแล้วหรือยัง

ส.ส.จาก ปชป.ยังตั้งคำถามต่อไปว่าช่วงเวลาหลังจากฎหมายผ่านแล้วก่อนจะมีการบังคับใช้มีเวลา 120 วันทาง สตช.ได้มีการดำเนินการเตรียมความพร้อมอย่างไรบ้างถึงมาอ้างได้ว่าไม่มีงบประมาณแล้วเพิ่งมาขอเมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา

นายสุทัศน์ยังกล่าวด้วยว่าการถ่ายวิโอนั้นก็ไม่ได้จำเป็นต้องใช้กล้องที่วิเศษอะไรใช้กล้องมือถือก็ใช้ได้บันทึกภาพส่งให้อัยการหรือนายอำเภอก็ได้ จะมาอ้างว่ากลัวเจ้าหน้าที่ถูกฟ้องร้องถ้าปฏิบัติไม่ถูกต้องก็เป็นเรื่องที่ผู้ถูกจับกุมจะต้องมีช่องทางในการสู้คดีอยู่ไม่ว่าจะเป็นในแง่มุมไหน แล้วทำไม สตช.ถึงไม่จัดอบรมและ สตช.ก็เคยมีช่วงที่ ผบ.ตร.ออกคำสั่งเมื่อปี 2564 ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กล้องติดตามตัวให้มีการบันทึกภาพและเสียงขณะมีการตรวจค้นจับกุมและสอบสวนด้วย จึงไม่ใช่เรื่องสำคัญที่จะต้องออก พ.ร.ก.ฉบับนี้มา

นายสุทัศน์ กล่าวด้วยว่า พ.ร.ก.ที่กำลังพิจารณาอยู่นี้ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 เพราะ พ.ร.ก.ที่จะออกมาต้องเป็นกรณีฉุกเฉินมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ พ.ร.ก.ฉบับนี้ไมได้เป็นเรื่องฉุกเฉินเร่งด่วนแต่ประการใด ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความมั่นคงและความปลอดภัยสาธารณะ หรือภัยพิบัติตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญด้วย แต่การพิจารณาว่า พ.ร.ก.นี้จะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็เป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยตัวเขาเองพร้อมจะร่วมลงชื่อเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและถ้ารัฐบาลไม่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเขาก็จะไปร่วมลงชื่อกับพรรคฝ่ายค้านหากจะมีการส่ง พ.ร.ก.นี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

ส.ส.ปชป. กล่าวว่าถ้าสุดท้ายแล้วศาลรัฐธรรมนูยวินิจฉัยว่า พ.ร.ก.นี้ขัดรัฐธรรมนูญแล้วใครจะรับผิดชอบเพราะมาตรา 157 เรื่องละเว้นปฏิบัติหรือปฏิบัติงานล่าช้า ผบ.ตร.อาจถูกยื่นฟ้องต้อง ปปช.และถูกสอบกรณีมีการยื่นข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ต่อ ครม. เพราะขัดมาตรฐานจริยธรรม และ พ.ร.ก.ก็ไม่ใช่เรื่องเล็กเพราะ ครม.จะต้องถวายคำแนะนำต่อเบื้องสูงเพื่อให้ลงพระปรมาภิไธยด้วย

นายสุทัศน์ ยังกล่าวด้วยว่าหากมีการเลื่อนใช้มาตรา 22-25 ออกไปก็จะกระทบกับประชาชน และที่ผ่านมารัฐบาลก็เห็นชอบให้สัตตยาบรรณอนุสัญญาป้องกันการทรมานและบังคับบุคคลสูญหายหรือ CED การเลื่อนใช้พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหายก็จะส่งผลให้การให้สัตตยาบรรณใน CED ก็ต้องเลื่อนออกไปด้วยซึ่งขัดต่อมติของ สนช. ขัดรัฐธรรมนูญ ขัดกับที่กระทรวงการต่างประเทศดูแลส่วนนี้อยู่ เขาจึงยืนยันที่จะไม่อนุมัติ พ.ร.ก.ที่จะมาเลื่อนการใช้ทั้ง 4 มาตราของพ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหายออกไป

นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.ยะลา พรรคพลังประชารัฐ ได้กล่าวถึงความพยายามผลักดันให้มีการออกกฎหมายเพื่อป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหายและมีการปรับแก้ร่างกฎหมายจนมีการประกาศใช้เมื่อ 25 ต.ค.2565 แล้ว ซึ่งเขาก็ตั้งกระทู้ถามหลายครั้งถึงเรื่องนี้และเห็นว่ากฎหมายที่ออกมานี้ได้ยกระดับการบังคับใช้กฎหมายซึ่งเป็นเรื่องที่ดีต่อประชาชนโดยเฉพาะกับประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ยังบังคับใช้กฎอัยการศึกแลพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อยู่

นายอาดิลันกล่าวว่ากฎหมายทั้งสองฉบับที่ใช้อยู่ในพื้นที่นี้เป็นเรื่องที่ทำให้มีเรื่องร้องเรียนมาจากประชาชนมาโดยตลอดจากการมีประชาชนถูกควบคุมตัวไปโดยไม่รู้ว่าถูกเอาไปไว้ที่ไหน เรื่องซ้อมทรมาน ไปจนถึงมีการวิสามัญฆาตกรรม แต่เมื่อมีกฎหมายป้องกันการอุ้มหายและซ้อมทรมานแล้วก็นับว่าเป็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในรอบ 100 ปี ยังเป็นการเปลี่ยนแปลงการคุ้มครองสิทธิประชาชน

ส.ส.ยะลา พปชร.กล่าวด้วยว่า มาตรา 22-25 ที่กำลังจะถูกเลื่อนบังคับใช้นั้นเป็นมาตราที่จะมาอุดช่องโหว่ของกฎหมายในเรื่องการควบคุมตัว ต้องมีการบันทึกภาพเสียงระหว่างการควบคุมตัว มีการตรวจร่างกาย

นายอาดิลันกล่าวเพิ่มเติมว่ามาตราที่ถูกเลื่อนเหล่านี้เป็นมาตราที่คุ้มครองประชาชนแต่การที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติอ้างว่าไม่พร้อม แต่อย่างไรก็ตามมีหลายหน่วยงานที่ได้ไปชี้แจงต่อที่ประชุมของอนุกรรมการของกรรมาธิการปฏิรูปกระบวการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนว่ามีความพร้อมในการบังคับใช้กฎหมายฉบับบนี้แล้ว ทั้งกรมคุ้มครองสิทธิ กระทรวงยุติธรรม แม้แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเองก็มี พล.ต.อ.สุรเชษ หักพาลเองก็มาบอกว่าถึงต้องใช้เครื่องมือจำนวนมากแต่ก็สามารถปฏิบัติตามกฎหมายนี้ได้โดยไม่เป็นอุปสรรคที่จะทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามพ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มหายและซ้อมทรมานนี้ได้

นายอาดิลันยังกล่าวด้วยว่าตัวเขาเองไม่เห็นด้วยกับเลื่อนการบังคับใช้มาตรา 22-25 ออกไปตามที่คณะรัฐมนตรีให้เหตุผลไว้ว่าการออกพ.ร.ก.แก้ไข พ.ร.บ.ป้องกันอุ้มหายและซ้อมทรมานี้เพื่อประโยชน์แก่ความปลอดภัยสาธารณะเพราะเขาเห็นว่าไม่ได้สัดส่วนกับการคุ้มครองสิทธิที่ประชาชนรวมถึงการปกป้องเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทำงานโดยสุจริตตาม 4 มาตราในพ.ร.บ.ป้องกันอุ้มหายและซ้อมทรมาน เมื่อเทียบกับเจ้าหน้าที่ไม่สุจริตแล้วจะไปขยายเวลาการบังคับใช้ออกไป

พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทยกล่าวว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นเหมือนแสงสว่างของการป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหายและ 4 มาตราที่จะถูกเลื่อนใช้ออกไปก็เป็นหัวใจสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ และเธอก็คัดค้านการเลื่อนใช้มาตลอด และเธอรู้สึกว่ากฎหมายที่เป็นประโยชน์และคุ้มครองสิทธิให้กับประชาชนแล้วยังคุ้มครองเจ้าหน้าที่ทำถูกกฎหมายถึงได้ออกมาบังคับใช้ได้ยาก ไทยเข้าร่วมและลงนามในกฎหมายระหว่างประเทศไว้นานกว่า 10 ปีแล้ว และยังมีประชาชนที่รอให้มีกฎหมายฉบับนี้รวมถึงครอบครัวโต๊ะมีนาของเธอที่รอมากว่า 68 ปีอีกทั้งกฎหมายฉบับนี้ยังผ่านสภาโดยได้รับเสียงเห็นชอบจากสภาถึง 287 เสียง และหลายหน่วยงานก็มาชี้แจงต่ออนุกรรมการของ กมธ.ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมว่าพร้อมจะใช้กฎหมายนี้และมีความกระตือรือล้นอย่างยิ่ง

พญ.เพชรดาว กล่าวว่าจากที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้ชี้แจงมานั้นยังรับไม่ได้เพราะในมาตรา 22 ก็ยังมีข้อยกเว้นในกรณีที่ไม่สามารถบันทึกวิดีโอและเสียงได้ตลอดก็ให้บันทึกเหตุสุดวิสัยนั้นในบันทึกการควบคุมตัวอีกทั้ง มาตราที่เหลือ 23-25 ก็ไม่ได้ต้องใช้งบประมาณอะไร เพราะ 23 ก็เป็นเรื่องการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว

พญ.เพชรดาว กล่าวถึงงานวิจัยเรื่องการร้องเรียนถึงการปฏิบัติหน้าที่ไม่เหมาะสมของเจ้าหน้าที่ตำรวจในอังกฤษและสหรัฐฯ ด้วยว่าเมื่อเทียบกันระหว่างก่อนเจ้าหน้าที่มีการติดกล้องกับหลังเจ้าหน้าที่ติดกล้องแล้วจำนวนเรื่องร้องเรียนมีการลดลง 93%

“การเลื่อนไปทุกนาที ทุกชั่วโมง ทุกวัน มีความหมายกับชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน การเลื่อนเป็นการซื้อเวลาความไม่ปลอดภัยของสาธารณะจะเกิดขึ้นถ้าเลื่อน 4 มาตราของหมวด 3 นี้ออกไป เหตุผลที่อ้างไม่ได้ฉุกเฉินไม่ได้เร่งด่วน ไม่ได้จำเป็นในการที่จะเลื่อน ดิฉันและพรรคภูมิใจไทยไม่อนุมัติและไม่เห็นด้วยการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.ฉบับนี้”

พญ.เพชรดาวกล่าวว่าการติดกล้องยังอาจช่วยฟื้นศรัทธาที่มีต่อตำรวจกลับมาในวันที่ประชาชนเสื่อมศรัทธาแล้วได้บ้างและเชื่อว่าไม่มีสิ่งใดที่ตำรวจไทยทำไม่ได้ถ้าไม่อยากทำ

ขณะที่การอภิปรายของส.ส. นั้น ทั้งฝ่ายรัฐบาล และ ฝ่านค้านแสดงความไม่เห็นด้วยเพราะมองว่าเป็นการละเมิดหลักการคุ้มครองประชาชน และการตราพ.ร.ก.ดังกล่าวไม่เข้าข่ายเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนดพร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่าการไม่เตรียมพร้อมของหน่วยงานเพื่อเตรียมตัวการทำงานให้เป้นไปตามที่กฎหมายกำหนดนั้นเป็นการละเลยของหน่วยงาน ดังนั้นการตราพ.ร.ก.ดังกล่าวเพื่อแก้ปัญหาให้กับหน่วยงานรัฐ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการหลีกเลี่ยงการใช้กฎหมายที่อาจจะมีผลกระทบต่อการสร้างความยุติธรรมให้ประชาชนที่ถูกจับกุม ดำเนินคดีหรือไม่

ทั้งนี้สมาชิกได้อภิปรายอย่างต่อเนื่อง โดยส.ส.ฝ่ายค้านลุกสอบถามถึงความชัดเจนต่อกรณีที่ส.ส. ลงชื่อเพื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความตามการตราพ.ร.ก.ดังกล่าว เพราะถือว่าจงใจต้องการให้ พ.ร.ก.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย และเพื่อให้รอการพิจารณาและลงมติพ.ร.ก.ดังกล่าวตามขั้นตอน

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ไม่น่าเชื่อว่าแม้แต่ พ.ร.บ.ป้องกันอุ้มหายฯ ยังโดนอุ้มหายจากสภาฯ ทั้งที่เรื่องนี้น่าจะเป็นฉันทามติเดียวระหว่างพรรคฝ่ายค้านกับพรรคฝ่ายรัฐบาล และระหว่าง ส.ส. กับ ส.ว. แต่กลับมาตกม้าตายเพราะเรื่องวัสดุอุปกรณ์อย่างกล้อง

ทั้งที่กฎหมายนี้ผ่านสภาฯ เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาในเดือนตุลาคม 2565 กำหนดให้เวลา 120 วันในการเตรียมตัว แต่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้เวลาถึง 81 วันในการยื่นขอรับสนับสนุนงบประมาณ กว่าเรื่องจะไปถึง ครม. คือวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 เหลือเวลาก่อนกฎหมายบังคับใช้เพียง 12 วัน

“คนที่ไม่ได้อยู่ในครอบครัวที่ถูกซ้อมทรมานและอุ้มหาย คงไม่เข้าใจว่าช้าไปเพียงหนึ่งนาทีหรือหนึ่งวันเป็นอย่างไร รัฐบาลมีเวลาในการเตรียมตัวแต่กลับไม่เตรียม ผมไม่รู้ว่าสาเหตุคือความประมาทเลินเล่อ ความไม่ใส่ใจ หรือความเลือดเย็นทางการเมือง นี่คือสาเหตุที่ผมและพรรคก้าวไกลไม่สามารถผ่าน พ.ร.ก. ฉบับนี้ได้”

ทั้งนี้นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่สอง ชี้แจงว่าขณะนี้ยังไม่มีการยื่นเรื่องต่อประธานสภาฯ หากมีการยื่นแล้วจะต้องพิจารณาในรายละเอียดต่อไป พร้อมขอให้ส.ส.อภิปรายเนื้อหาต่อไป.

ด้าน พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ชี้แจงถึงสาเหตุ และความเป็นมาของพ.ร.ก.ฉบับนี้ ว่า แม้จะจัดซื้อกล้องมาตั้งแต่ปี 2562 - 2565 รวมแสนกว่าตัวก็ยังมีไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงยังมีปัญหาในข้อปฏิบัติต่างๆ มากมาย นอกจากนี้ ระเบียบกลางของกฎหมายนี้ ก็ยังทำไม่แล้วเสร็จ เพราะมีการโต้แย้งกันระหว่างหน่วย จนอาจส่งผลต่อการศรัทธาและความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม เพราะยังมีความเห็นไม่ลงตัวในหลายประเด็น และยังไม่มีการซักซ้อมการจับกุมของผู้ปฏิบัติงาน ทั้งนี้ ระบบการจัดเก็บข้อมูลต่างๆ ทั้งภาพ และเสียง ตลอดการทำงาน 24 ชั่วโมง ทั้ง 7 วันของตำรวจ ต้องมีความพร้อมทั้งระบบ และพื้นที่การจัดเก็บข้อมูล ซึ่งต้องจัดเก็บจนกว่าคดีจะสิ้นสุด แม้หน่วยงานของรัฐหลายหน่วย จะแจ้งว่าพร้อมปฏิบัติตาม แต่ในทางปฏิบัติจริงยังมีความไม่พร้อม เช่น ปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่มีอำนาจจับกุม และควบคุมตัว ก็มีความไม่พร้อมเหมือน สตช. ส่วนการใช้มือถือบันทึกภาพไม่ได้นั้น เป็นเพราะการทำงานของตำรวจทุกรูปแบบต้องใช้สองมือทำงาน เช่น การใส่กุญแจมือ ลองคิดสภาพว่าถ้าต้องมือถืออัดเทประหว่างทำงาน ก็จะไม่สะดวก ยิ่งหากมีสายเข้ามา ก็อาจทำให้ผลการบันทึกภาพไม่ต่อเนื่อง และมือถือแต่ละเครื่องก็มีคุณสมบัติแตกต่างกัน ทาง สตช. จึงแจ้งไปยังนายกฯ และนำมาสู่การออกพ.ร.ก.ฉบับนี้ ที่เป็นการเลื่อนการบังคับใช้เพียง 4 มาตรา คือ มาตรา 22-25 ซึ่งไม่กระทบกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามที่กังวลกัน

ทางด้าน นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย อภิปรายว่า มีการออกเป็น พ.ร.บ.อุ้มหายฯ เมื่อปี 2565 ไปแล้ว ไม่ใช่เรื่องตำรวจปฏิบัติงานได้หรือไม่ได้ แต่เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องดำเนินการตามกฎหมายที่ พ.ร.บ.ออกไป ข้าราชการหน่วยอื่นเขาเตรียมพร้อมหมดแล้ว รัฐบาลต้องสนองการออก พ.ร.บ.ของสภาฯ จะมาอ้าง 3 เดือน 6 เดือนไม่ได้ ถ้าไม่ทำเท่ากับรัฐบาลไม่ให้เกียรติสภาฯ ที่ออก พ.ร.บ.ให้ไปปฏิบัติ ไม่ใช่มาออก พ.ร.ก.เพื่อปิด หยุด ชะลอ การใช้ พ.ร.บ. ไม่มีสภาฯ ใดในโลกเขากระทำ สภาฯ แห่งนี้กำลังจะก้มไปเลียน้ำลายที่ตัวเองได้ถ่มไว้แล้ว พร้อมตั้งคำถามว่า ทำอะไรกันอยู่ครับ ผ่านการตั้งงบประมาณก็ผ่าน ก่อนงบจะคลอด แปรญัตติก็ทำได้ทุกอย่าง ผู้ปฏิบัติตามกฎหมายเขาทำอยู่แล้ว หากรัฐให้สิ่งอำนวยความสะดวกหรือความต้องการตามความกฎหมายให้ถูกต้อง อย่าให้สภาฯ แห่งนี้อัปลักษณ์ตั้งแต่วันแรกยันวันสุดท้าย

“ผมขอเรียกร้องว่า หลักการกฎหมายมันจะเสียหาย ผมเข้าใจว่าการปฏิบัติของตำรวจซับซ้อนแน่นอน ผมเองก็ไม่เห็นด้วย บางอย่างมีมุมมืด มุมสว่าง แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผู้กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติบกพร่อง ไม่ให้เกียรติสภาฯ แห่งนี้ กำลังจะใช้ พ.ร.ก.มาปิด พ.ร.บ. ไม่มีใครเขาทำกัน ทั้งๆ ที่ พ.ร.บ.กำลังมีผลทางกฎหมายแล้ว สภาฯ จะพิจารณาไปทำไม พ.ร.บ.อุ้มหาย เมื่อปี 65 ผ่านมาปีกว่า เรากำลังจะทำอะไรกัน หรือผู้มีอำนาจทางรัฐบาลกำลังจะใช้ตำรวจน้ำไม่ดี ตำรวจดีทุกคนครับ แต่ทุกองค์กรมีทั้งดีและไม่ดี กำลังจะใช้อำนาจของตำรวจน้ำไม่ดีเพื่อเป็นเครื่องมือรัฐบาลหรือ ในการเลือกตั้งที่จะถึงข้างหน้า

ผมรับไม่ได้กับผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยตรง คือนายกฯ ผมเคารพท่าน แต่สิ่งที่ท่านทำกำลังบกพร่องอย่างมาก และกำลังใช้สภาฯ แห่งนี้ มาล้มล้างสิ่งที่ตัวเองกระทำไป ไม่ถูกต้อง หรือว่า 4 เดือน 5 เดือน 7 เดือนนี้ ท่านกำลังจะใช้อำนาจหน้าที่ในทางไม่ถูกต้องหรือเปล่า ผมมีสิทธิ์ระแวงได้ ผมว่าไม่ต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญหรอก มันชัดเจน สภาฯ แห่งนี้อยากเป็นสภาฯ ที่ประชาชนเคารพนับถือก็ว่าไป แต่ไม่ใช่มาทำงานแบบนี้มันน่าอดสู”.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘สมคิด’ โวผลเลือกตั้งอยู่ที่ผลงานรัฐบาล เชื่อสนามอบจ. เพื่อไทยชนะรวด

นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกฯฝ่ายการเมือง กล่าวถึงถึงผลสำรวจความคิดเห็นของนิด้าโพล ที่คะแนนของพรรคเพื่อไทย และน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ มาเป็นอันดับสองทั้งคู่ว่า

'สมศักดิ์' ฟุ้งปีหน้า 'รัฐบาลอิ๊งค์' ฉลุย อีก 2 ปีครึ่ง พท. กลับมายิ่งใหญ่

'สมศักดิ์' มองทิศทางการเมืองปี 68 มั่นใจรัฐบาลแพทองธาร เดินไปได้ไร้ปัญหาสะดุดล้ม พรรคร่วมไม่ถึงขั้นแตกหัก ฟุ้งอีก 2 ปีครึ่ง เพื่อไทยกลับมายิ่งใหญ่

'บัญญัติ' ร่ายกลอนสะท้อนการเมือง อวยพรปีใหม่คนไทย

นายบัญญัติ บรรทัดฐาน สส. แบบบัญชีรายชื่อ และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้แต่งกลอนร้อยกรองสะท้อนภาพการเมืองไทย เพื่อส่งความสุข (ส.ค.ส.) ต้อนรับปีใหม่ 2568 ให้แก่พี่น้องประชาชน มีใจความว่า

'ชวน' ชี้การเมืองปี 68 สภาแข็งโป๊กไม่มีล่ม เตือนรบ.อย่าประมาทนักร้อง ระวังซ้ำรอยเศรษฐา

'ชวน' ชี้การเมืองปี 68 เสียงรัฐบาลในสภาแข็งเป๊กไม่มีล่ม ใครโดดประชุมโดนหักเงินครั้งละ2หมื่น เตือนอย่าประมาทนักร้องเรียน ยอมรับ ‘ปชป.’ มีทั้งเป๋-ไม่เป๋ เผยไม่มีกำหนดวางมือ ปัดตอบลง สส.สมัยหน้าต่อ

'มท.หนู' ลั่นมหาดไทยยุคนี้ ไร้อำนาจเก่าไม่แตกแถว ผู้ว่าฯ ทำงานเกียร์ 10

'มท.หนู' ลั่นมหาดไทยยุคนี้ไม่แตกแถว ไร้ปัญหาฝ่ายการเมืองปะทะขรก.ประจำ ยันผู้ว่าฯ เข้าเกียร์ 10 ชี้ใครไม่สนองงานชาวบ้าน มีวิธีจัดการร้อยแปดพันเก้า

สวมบท'อินฟลูอาเซียน' จุดเสี่ยงใช้ประเทศเดิมพัน?

ยืนยันชัดเจนจาก นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย หลังโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Anwar Ibrahim พร้อมรูปภาพคู่กับ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี