พท. ซัดเดือด! กกต. รัฐประหารคนกรุงผ่านแบ่งเขตเลือกตั้ง

‘เพื่อไทย’ กางตำรากฎหมายจวก กกต. แบ่งเขตเลือกตั้งบิดเบี้ยว พื้นที่เดียวกันมีผู้สมัคร 3 คน เย้ยต่อไปต้องเรียก ส.ส.แขวง โวยปชช.โดนรัฐประหารผ่านการแบ่งเขต จี้ทบทวนด่วน

13 ก.พ. 2566 – ที่พรรคเพื่อไทย นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ประธานภาค กทม. พรรคเพื่อไทย นางสุภาภรณ์ คงวุฒิปัญญา ส.ส. กทม. และน.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. และโฆษกพรรค ร่วมแถลงกรณีการเสนอรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทย ในเขตพื้นที่ กทม. ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งในพื้นที่ กทม. นั้น เดิมมี 5 รูปแบบ ซึ่งมากกว่าจังหวัดอื่นๆ อยู่แล้ว ล่าสุด กกต. แบ่งออกมาเพิ่มอีกรวมเป็น 8 รูปแบบ ทำให้ประชาชนเกิดความสับสนในการเลือกตั้ง ส.ส.เขต เรียกได้ว่าเป็นการแบ่งเขตที่บิดเบี้ยว ไม่เป็นไปตามธรรมชาติของแต่ละพื้นที่ การแบ่งเขตรูปแบบที่ 6 – 8 นี้ไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พรรคเพื่อไทยและพรรคอื่นๆ ไม่เห็นด้วย เพราะจะเป็นการสร้างปัญหาให้กับประชาชน เกิดความไม่สะดวกเพราะต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ตรงกับที่อยู่อาศัย รวมถึงสร้างความลำบากต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐเอง ทำให้ไม่คุ้นเคยกับพื้นที่ซึ่งเคยทำงานมา

“การแบ่งเขตดังกล่าวยังส่งผลให้ผู้สมัครพบปัญหาว่าในเขตเดียวมีผู้สมัครถึง 3 – 4 คน ต่างพรรคต่างเบอร์กัน จะเป็นเหตุให้การเลือกตั้งครั้งต่อไปผิดพลาดบกพร่อง เกิดบัตรเสียจำนวนมาก และไม่เป็นผลดีต่อระบอบประชาธิปไตย กกต. ควรยึดตามหลักกฎหมายและความเป็นจริง ขอเรียกร้องให้ กกต. ทบทวนใหม่” โฆษกพรรคเพื่อไทย ระบุ

ด้านนายวิชาญ กล่าวว่า การแบ่งเขตรูปแบบ 6 – 8 ซึ่ง กทม.มีทั้งหมด 30 เขต จำนวนประชากรประมาณ 5 ล้านคน จากการรวบรวมความเห็นของประชาชน และพิจารณาตามหลักของ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. รวมถึงระเบียบของ กกต. เป็นเกณฑ์ เห็นว่าการแบ่งเขตแบบ 1-3 มีความชัดเจน พื้นที่มีความคาบเกี่ยวกัน การจัดรูปแบบดังกล่าวมีความสอดคล้องกว่า ไม่สร้างความสับสน มี 25 เขต จาก 30 เขต ที่ไม่ต้องแบ่งเขตเพิ่มเติมใหม่

“การแบ่งเขตแบบที่ 6 – 8 มีโอกาสสร้างความสับสนให้ประชาชนมากกว่า หากมีการแบ่งพื้นที่ตามแขวง คงเรียก ส.ส.เขต ไม่ได้ ต้องเรียกว่า ส.ส.แขวง และจะสร้างผลเสียคือบัตรเสียจะมากขึ้น จากการฟังเสียงประชาชน พรรคเพื่อไทยจึงเสนอว่ารูปแบบการแบ่งเขตแบบที่ 1-2 มีความเหมาะสมมากที่สุด เพราะเขตหลักๆ ยังอยู่ ไม่ถูกแบ่งแยก จึงมีความสะดวกต่อประชาชนมากกว่า” นายวิชาญ กล่าว

น.ส.สุภาภรณ์ กล่าวว่า อยากถามว่า กกต. ทำหน้าที่กี่วันใน 4 ปี จึงทำหน้าที่แบ่งเขตออกมาเป็นเช่นนี้ การแบ่งเขตรอบนี้ขัดต่อมาตรา 29 ซึ่งต้องยึดหลักการแบ่งเขตแบบเดิมก่อน ที่ต้องยึดถือการแบ่งเขตเลือกตั้งแบบเดิมเสียก่อน แต่ในแบบที่ 6 และ 7 มีการยกการแบ่งเขตแบบเดิมกลับมาน้อยมาก และรูปแบบที่ 8 ไม่มีการแบ่งเขตแบบเดิมอยู่เลย การแบ่งแบบคร่อมแขวงคร่อมเขตจะส่งผลเสียต่อระบบการทำงานของทางราชการ

“ส.ส.ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแก้ไขกฎหมายเท่านั้น แต่ยังต้องส่งเสียงถึงปัญหาในพื้นที่ด้วย สำหรับเขตของดิฉันคือ ภาษีเจริญ ในรูปแบบที่ 7 นั้น ถูกแบ่งเป็นถึง 3 เขตการเลือกตั้ง คือเขตเลือกตั้ง 28 30 และ 32 จึงขอตั้งคำถามว่า กกต. ยึดหลักการใดในการแบ่งเขตเช่นนี้ เชื่อว่าประชาชนกำลังถูกรัฐประหารผ่านการแบ่งเขตเลือกตั้ง แล้วระบอบประชาธิปไตยจะเดินหน้าต่อไปได้อย่างไร” น.ส.สุภาภรณ์ ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ป.ป.ช. ชง ครม.ตรวจสอบโครงการเช่ารถเก็บขยะพลังงานไฟฟ้า กทม. พบเสี่ยงทุจริต

พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ลงนามในหนังสือที่ ปช. 0008/0114 เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2567 ส่งถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่องข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตการดำเนินโครงการเช่ารถเก็บขนมูลฝอยของ

กกต. เร่งถกคำร้อง 614 เรื่อง คาดประกาศรับรอง สว.ชุดใหม่ สัปดาห์หน้า

ภายหลังการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ระดับประเทศแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา และมีผู้ได้รับเลือก เป็นสว. จำนวน 200 คน และสำรองอีก 100 คน ปรากฏว่าที่ผ่านมามีการเข้ามาร้องเรียน

เปิดภารกิจสำคัญ 'สว.ชุดใหม่' เลือกองค์กรอิสระ 12 ตำแหน่ง พ้นวาระปีนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า ก่อนที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะประกาศผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จำนวน 200 คน และบัญชีสำรองอีก 100 คนนั้น ซึ่งตามอำนาจหน้าที่ของ สว. นอกจากการกลั่นกรองพิจารณากฎหมาย และการติดตามตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลแล้ว