'พรรคร่วมรัฐบาล' ไม่เอาไพรมารีโหวต!

'ชินวรณ์' เผยพรรคร่วมรัฐบาลจ่อยื่นร่าง กม.ลูกประกบ ครม. เข้าสภา ธ.ค.นี้ ไม่เห็นด้วยไพรมารี่โหวต เหตุคนร่างไม่ได้เป็นนักการเมือง-ปฏิบัติไม่ได้จริง

24 พ.ย.25 - ที่รัฐสภา นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงความคืบหน้าในการจัดร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ว่า โดยหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญการเสนอกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจะทำได้โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และอีกทางหนึ่งเสนอได้โดย ส.ส.จำนวน 1 ใน 10 แต่เนื่องจากกฎหมายนี้มีความสำคัญ วิปรัฐบาลมีความเห็นว่าเราควรที่จะได้รวมกันเสนอเป็นร่างเดียวกันเพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพ เพราะเป็นกฎหมายหลักที่ประกอบรัฐธรรมนูญและเป็นกฎหมายที่ต้องเสนอเข้าสภาให้ส.ว.ร่วมพิจารณาด้วย ที่สำคัญต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 180 วัน นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศบังคับใช้

นายชินวรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้วิปรัฐบาลได้ตั้งคณะทำงานเพื่อเตรียมการยกร่างในส่วนของพรรคร่วมรัฐสภาแล้ว ซึ่งได้มีการประชุมนัดแรกไปแล้วเพื่อกำหนดกรอบสำคัญเพื่อที่จะเร่งรัดในการพิจารณากฎหมายทั้ง 2 ฉบับ โดยในสัปดาห์นี้จะให้แต่ละพรรคส่งร่างที่แต่ละพรรคไปพิจารณากันมา แต่ประเด็นคือทาง ครม.ต้องมีการเสนอร่างโดยข้อเสนอแนะของ กกต. ซึ่งขณะนี้ กกต.ได้มีการร่างมาแล้ว 17 ประเด็น และกำลังรับฟังความคิดเห็นกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องและประชาชน อย่างไรก็ตามในส่วนนี้เป็นหลักการของฝ่ายผู้ปฏิบัติคือ กกต. แต่ในฝ่ายทางการเมืองมีหลักการสำคัญ คือ 1.จะร่วมกันแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับ โดยจะเน้นประเด็นสำคัญ เพื่อเป็นไปตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบเท่านั้น ส่วนประเด็นที่เป็นการทำงานของ กกต.ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งจะมีการพิจารณาร่วมกันว่าเห็นด้วยหรือไม่ และ 2.เนื่องจากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 180 วัน คาดว่าจะนำเสนอเข้าสู่กระบวนการการพิจารณาร่วมกันของวิปรัฐบาลครั้งสุดท้ายให้เร็วที่สุด ภายในเดือนธันวาคมน่าจะเสนอต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้

เมื่อถามว่า เรื่องการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคร่วมรัฐบาลมีทั้งพรรคเล็ก พรรคใหญ่ จะเกิดปัญหาความไม่ลงรอยกันหรือไม่ นายชินวรณ์ กล่าวว่า เมื่อที่ประชุมรัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบเรื่องระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ก็เป็นที่ทราบกันดีว่ามีข้อดีคือทำให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นพรรคการเมืองเข้มแข็ง และทำให้อิทธิพลของการซื้อเสียงลดลง ที่สำคัญคือการส่งเสริมเสรีภาพในทางการเมือง ให้ประชาชนสามารถเลือกได้ทั้งคนและพรรคได้ ซึ่งเป็นโมเดลของรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่จะทำให้พรรคการเมืองใหญ่มีความเข้มแข็งขึ้น พรรคเล็กมีข้อจำกัดในการคิดสัดส่วนตามข้อกำหนดตามรัฐธรรมนูญคือ ให้คิดสัดส่วนสัมพันธ์โดยตรงกับจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อ คือเอาร้อยละมาคิดสัดส่วนที่ได้จริง เช่น ร้อยละ 60 ก็ได้ 60 คน ที่เหลือเศษสูงสุดเท่าไหร่ อีกหนึ่งพรรคก็จะได้อีกหนึ่งคน ข้อดีของระบบนี้คือจะไม่มีระบบบัตรเขย่งและไม่มี ส.ส.ปัดเศษ ฉะนั้นต้องยอมรับความจริงว่าต้องเขียนไปตามที่กฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนด นอกจากนี้ยังมีประเด็นสำคัญเรื่องต้องเป็นบัตรเบอร์เดียวกัน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนตัดสินใจลงคะแนนได้ง่ายขึ้น ระหว่างเบอร์พรรคการเมืองกับเบอร์ ส.ส.

เมื่อถามถึง เรื่องไพรมารีโหวต พรรคร่วมรัฐบาลจะเสนอปรับแก้อะไรบ้าง นายชินวรณ์ กล่าวว่า เรื่องนั้นเป็นเรื่องพ.ร.ป.ว่าด้วยเรื่องพรรคการเมือง ซึ่งมีความคิดเห็นร่วมกัน ดังนี้ การส่งเสริมให้พรรคการเมืองสามารถแสวงหาสมาชิกของพรรคการเมืองได้ง่ายขึ้นภายใต้บริบทของพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตย คือไม่จำเป็นต้องเก็บค่าธรรมเนียมในการเข้าเป็นสมาชิก หรือหากจำเป็นต้องเก็บก็ขอให้น้อยที่สุด และ 2.จะมีการแก้ไขเรื่องการดำเนินการจัดทำไพรมารีโหวตที่เคยมีมาตามรัฐธรรมนูญปี 60 คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องตกค้างจากรัฐธรรมนูญปี 60 ซึ่งร่างโดยคนที่ไม่ได้เป็นนักการเมือง

“ฉะนั้นหากอยากให้มีพรรคการเมืองที่เข้มแข็งในระบบประชาธิปไตย ควรจะให้อำนาจพรรคการเมืองมีส่วนร่วมกับประชาชน เนื่องจากระบบไพรมารีโหวตเป็นระบบของซากรัฐธรรมนูญปี 60 ที่สร้างขึ้นมาโดยไม่จำเป็นและปฏิบัติไม่ได้จริง รวมถึงพรรคการเมืองและประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างจริงจัง จึงอยากเห็นประชาชนมีส่วนร่วมมาจากรากฐานของพรรคการเมืองตามหลักการ พรรคเลือกคน ประชาชนเลือกพรรค”นายชินวรณ์ กล่าว

นายชินวรณ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของคำสั่ง คสช.ยังเป็นหลักคิดแบบระบบ ไม่ใช่ฐานความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง คิดว่าควรส่งเสริมให้พรรคการเมืองได้มีบทบาทที่ขัดเจนในการสร้างประชาชนให้มีส่วนร่วม ยืนยันว่าการทำไพรมารีโหวต โดยการทำระบบแบบตัวแทนเขตตามคำสั่ง คสช.ในบทเฉพาะกาลเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้จริง เป็นหลักคิดที่ผิด ที่พื้นฐานในการส่งเสริมให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อนุทิน' ย้ำพรรคร่วมมีเป้าเดียวทำเพื่อประชาชนส่วนจะอยู่ได้แค่ไหนก็แค่นั้น

'อนุทิน' ย้ำพรรคร่วมรัฐบาลมีเป้าหมายเหมือนกัน ทำประโยชน์ให้ประชาชน - ประเทศ หลังทักษิณชมพรรคร่วมสามัคคีกันดี

ยุ่งแล้ว! ‘สนธิญา’ ชี้ ‘ทักษิณ’ รับเองแกนนำพรรคร่วมหม่ำมาม่า เข้าทางร้องยุบ พท.

‘สนธิญา’ ชี้ ทักษิณรับเองแกนนำพรรคร่วมหม่ำมาม่า มัดตัวเข้าหายอมให้ครอบงำ ชี้นำเข้าทางคนร้องเรียนยุบพรรคเพื่อไทย เห็นใจนายกฯอิ๊งค์ ปัญหารุมเร้า เชื่อหาก แม้ว หยุดจ้อ-รัฐบาลพูดน้อย เน้นทำงานน่าจะดีกว่า  

'จตุพร' ฟาดกลับรัฐบาลตกลงผลประโยชน์เชฟรอนก่อนเจรจาเขตแดน สุ่มเสี่ยงสูญเสียดินแดน

นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊คไลฟ์ถึงรัฐบาลปลุกปั่นโยง MOU 44 และการเจรจาผลประโยชน์แหล่งพลังงานกับกัมพูชา เพราะต้องการล้มรัฐบาลอุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร

นายกฯ นำพรรคร่วมรัฐบาล แถลงเดินหน้า MOU ปี 44 ถามยกเลิกแล้วได้อะไร

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เรียกแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลเข้าหารือ โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายไชยชนก ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย นายพิชัย ชุนหวชิร