สภาที่ 3 เปิดเวทีชำแหละ ส.ว.-ประยุทธ์


26 ม.ค.2566 - ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ร่วมจัดเวทีอภิปรายสภาที่ 3 ในหัวข้อการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ยกเลิกอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ โดยมี นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ผศ.ดร.วันวิชิต บุญโปร่ง มหาวิทยาลัยรังสิต ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และนายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ร่วมอภิปราย

นายอดุลย์ เปิดการอภิปรายว่า วันนี้หลายพรรคการเมืองเริ่มมีนโยบายปรองดองเพื่อสร้างสันติสุขให้บ้านเมืองจากความขัดแย้งที่ผ่านมา เพื่อเป็นทางออกจากความรุนแรง ปัจจุบันหลายพรรคการเมืองแข่งขันทางนโยบายมากขึ้นรวมถึงพรรครวมไทยสร้างชาติเอง ในอนาคตควรส่งเสริมให้เกิดประชาธิปไตยทางตรง เพราะบ้านเมืองควรจะเดินหน้าต่อไป ไม่ใช่ถอยหลังแบบในปัจจุบัน

ตนไม่อยากให้รัฐบาลสืบทอดอำนาจต่อไป เพราะหลอกลวงประชาชนมาโดยตลอด แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ประชาชนจะสั่งสอนพวกเขาเอง โดยประชาชนควรมองไปที่นโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ ในการเลือกที่ถูกต้อง ไม่ใช่บุคคลที่อ้างว่าเป็นคนดีแต่มีตำหนิและชำรุดแล้ว

ผศ.ดร.วันวิชิต กล่าวว่าไม่อยากให้สังคมไทยมีความทรงจำสั้นทางการเมือง ผู้มีอำนาจที่เติบโตมาจากอำนาจนิยมมักคิดเอาเองว่าประชาชนยังไม่แข็งแรง เขาจึงออกแบบการเลือกตั้งเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง และคัดเลือกคนของตนเองและกฎหมายต่างๆ เพื่อให้ประชาชนปฏิบัติตาม โดยเฉพาะปัญหาของ ส.ว.ในปัจจุบันที่ถูกแต่งตั้งมาออกแบบการเมืองไทย ซึ่งเป็นการดูถูกประชาชน

ที่ผ่านมาตนเคยร่วมลงชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิกอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ แต่ก็ถูกคว่ำอย่างบรรจงจากวุฒิสภา ประเด็นนี้สังคมไทยควรตั้งคำถามอย่างกว้างขวางว่าเหมาะสมหรือไม่และสมควรยกเลิกได้แล้วหรือยัง การรัฐประหารในอดีตถูกออกแบบโดยตะวันตกโดยอ้างว่ารัฐประหารเพื่อประชาธิปไตย แต่เรื่องนี้ถูกลบล้างในทางปฏิบัติเพราะเป็นเครื่องมือมหาอำนาจและผู้รัฐประหารมักออกแบบกฎหมายใหม่เพื่อผลประโยชน์ทางอำนาจของตนเอง โดยเฉพาะประเทศไทยที่บั่นทอนประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง

"ส.ว. จะหมดอายุในกลางปี 2567 ที่มีอำนาจเลือกนายกฯ ซึ่งไม่รู้ว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายและรัฐธรรมนูญอะไรอีกบ้างเพื่อรักษาอำนาจ ซึ่งนักวิชาการควรเป็นแสงไฟสว่างของสังคมออกมาติดตามและวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การเมืองไทยมีฉันทามติที่ชัดเจน และขึ้นกับเจตจำนงค์ของประชาชนอย่างแท้จริง"

ขณะที่ ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า คำถามพ่วงในการประชามติรัฐธรรมนูญ 2560 ให้เลือกนายกฯ จากที่ประชมรัฐสภาเป็นการแอบแฝงคำถามเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ คสช. เป็นนายกฯ ต่อ เพราะการให้ ส.ว.เลือกนายกฯ ไม่เคยมีมาก่อนในการเมืองไทย ทำให้ ส.ว.ที่ คสช.เลือกมากลับมาเลือกตนเองเป็นนายกฯ ต่อไป

โจทย์ให้ ส.ว.เลือกนายกฯ เคยมีตั้งแต่ปี 2534 ที่อาจารย์มีชัย ฤชพันธ์ ก็เคยยัดไว้เพื่อให้คณะรัฐประหาร รสช. สืบทอดอำนาจแต่ทำไม่สำเร็จ ในปี 2534 แต่มาสำเร็จในปี 2560 โดยครั้งนี้ทำสำเร็จโดยแอบยัดซ่อนไปในคำถามพ่วงในการประชามติ ซึ่งเป็นการอำพรางหลอกลวงประชาชน

"ผมขอเรียกร้อง พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้าคณะรัฐประหาร คสช. ที่ท่านเคยสัญญาว่าขอเวลาอีกไม่นานจะคืนความสุขให้ประชาชน ถามว่าตอนนี้บ้านเมืองถูกแก้ไขสำเร็จมากน้อยเท่าไหร่แล้ว การเมืองไทยวันนี้แตกต่างกันหรือไม่กับการเมืองไทยก่อนท่านยึดอำนาจ ท่านทำการเมืองไทยซ้ำรอยการเมืองเก่า และทำให้ระบบตรวจสอบทั้งประเทศแย่ไปกว่าเก่า"

ผศ.ดร.ปริญญา กล่าว่า 5 สิงหาคม 2559 ก่อนประชามติรัฐธรรมนูญ 60 เพียง 2 วัน ท่านออกทีวีขอให้รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้และสัญญาว่าจะไม่สืบทอดอำนาจ แต่ปัจจุบันท่านสืบทอดอำนาจมาอย่างยาวนาน และรับผิดชอบการเมืองที่ล้มเหลวอย่างไร แม้กระทั่งเรื่องทุนจีนสีเทาท่านรับผิดชอบอย่างไร แม้แต่เรื่องกติกาการเมือง 8 ปีท่านยังไม่ปฏิบัติและพยายามจะขยายเวลาออกไปอีกให้ไม่จำกัด 8 ปี ซึ่งในทางกฎหมายไม่สามารถทำได้ เพราะถ้าแก้ไขต้องเขียนว่าสำหรับนายกฯ คนต่อไปเท่านั้น ไม่ใช่สำหรับคนเก่าซึ่งจะเป็นการสืบทอดอำนาจ

"ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ผมเรียกร้องให้อย่าเอาเสียง ส.ว.มาเลือกตนเองและต่ออายุนายกฯ ต่อไป เรื่องเหล่านี้อาจเป็นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันหรือไม่ เพราะถ้าแก้รัฐธรรมนูญให้พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ต่อได้ ก็เท่ากับว่าจะสามารถไปแก้ไขอายุ ส.ว.ให้อยู่ต่อเกิน 5 ปีได้เช่นกัน ซึ่งจะหมดอายุลงในวันที่ 11 พ.ค.67 ซึ่งปาฏิหาริย์ทางกฎหมายทำให้การเมืองไทยไม่เริ่มต้นใหม่เสียที

ผมขอเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ ตอนเปิดตัวกับพรรคการเมือง ต้องแถลงว่า ท่านจะเป็นนายกฯ จากประชาชนเท่านั้น ไม่ใช่มาจากเสียง ส.ว. เพื่อไม่ให้เอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น เพื่อให้การเลือกตั้งมีความเสมอภาคกัน พรรคการเมืองทุกพรรคต้องเลิกคิดสูตรที่ไปรวมกับ ส.ว. และ ส.ว.อย่ามายุ่งเกี่ยวกับการตัดสินใจของประชาชนในการเลือกนายกฯ อย่างสันติ โดย ส.ว.งดออกเสียงได้ ให้การเลือกตั้งครั้งนี้แตกต่างจากการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 โดยเครือข่ายนักวิชาการ และคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 เสียงประชาชนปิดสวิตซ์ ส.ว. อีกครั้งหนึ่งก่อนการเลือกตั้ง

ในอดีตความขัดแย้งทางการเมืองไทยไม่เคยลามไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ปัจจุบันกลายเป็นผลงานของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ทำให้ปัญหาเรื่องนี้เกิดขึ้น สุดท้ายตนไม่เห็นด้วยที่พล.อ.ประยุทธ์ ไปตั้งคนของพรรครวมไทยสร้างชาติมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อช่วยในการเลือกตั้ง ไม่ได้ช่วยงานในฐานะนายกฯ ซึ่งขัดต่อหลักการเมืองในระบอบประชาธิปไตย" ผศ.ดร.ปริญญา กล่าว

ด้าน รศ.ดร.พิชาย กล่าวว่าตนเพิ่งทราบว่า ส.ว.มีคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงประหลาดใจว่า ส.ว.มีกรรมาธิการชุดนี้ด้วยและมีข้อเสนอให้รัฐจ่ายให้ประชาชนคนละ 500 บาทเพื่อไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งโดยไม่ขายเสียงและรู้คุณแผ่นดิน ซึ่งแสดงถึงวิธีคิดของ ส.ว. ที่คิดว่านักการเมืองเป็นต้นตอของปัญหา ขณะที่ประชาชนคิดว่า รัฐประหารและ ส.ว.เป็นต้นตอของปัญหาการเมืองไทยในปัจจุบัน

"ผมอยากให้การศึกษาแก่ ส.ว. ว่า การซื้อเสียงเป็นเรื่องทั่วไปที่เกิดขึ้นทั่วโลกในประเทศที่เริ่มต้นระบอบประชาธิปไตย บางประเทศใช้เวลาแก้ไขเป็น 100 ปี เช่น อังกฤษ แต่มาตรการทางกฎหมายไม่มีประสิทธิผลในการแก้ไขปัญหาการซื้อเสียงแต่อย่างใด ไทยมีกฎหมายลงโทษเรื่องเหล่านี้มาตั้งแต่สมัย พล.อ.เปรม แต่ปัจจุบันก็ยังมีมากยิ่งขึ้น ซึ่งการแก้ปัญหาเหล่านี้ต้องใช้จิตสำนึกทางการเมือง ไม่ใช่กฎหมาย"

รศ.ดร.พิชาย กล่าวว่า อังกฤษแก้ไขเรื่องนี้ได้เพราะจิตสำนักในการเลือกตั้ง หลังจากการตั้งพรรคกรรมกร อินเดียมีคนมากกว่าแต่มีการซื้อเสียงน้อยกว่าไทย เพราะที่ใดมีจิตสำนึกทางการเมืองเข้มข้นจะไม่มีปัญหาการซื้อสิทธิ์ขายเสียงทางการเมือง เพราะประชาชนรู้ว่าถ้าลงคะแนนเลือกใครจะเกิดผลอย่างไรต่อประเทศ และกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมส่งผลอย่างมาก

วันนี้รัฐบาลบริหารประเทศล้มเหลวจนเกิดเศรษฐกิจผูกขาดและการเอาเปรียบทางเศรษฐกิจแก่ประชาชน จนเกิดความเหลื่อมล้ำและความยากจน วันนี้ประชาชนจำนวนมากสิ้นหวังและเห็นแล้วว่า ชนชั้นนำทางการเมืองและเศรษฐกิจไทยกระทำอะไรกับการเมืองไทยบ้าง และพร้อมเลือกพรรคการเมืองที่ตอบโจทย์กับชีวิตมากกว่า

ตนเห็นว่า อำนาจ ส.ว.ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน จึงไม่มีสิทธิ์เลือกนายกฯ เพราะขัดหลักการและจิตสำนึกประชาธิปไตย มี ส.ว. เพียง 23 คนเท่านั้นที่ร่วมโหวตตัดอำนาจตนเองในร่างแก้ไขรัฐธรรมที่ผ่านมา แต่ส่วนใหญ่ติดกับดักอำนาจรัฐประหาร ในการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคร่วมฝ่ายค้านจะได้เกิน 300 เสียง แต่พรรคร่วมรัฐบาลในปัจจุบันจะได้เสียงไม่ถึง 200 เสียง

นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่ามีเรื่องที่ประชาชนต้องจับตา 5 เรื่องที่ฝ่ายรัฐบาลได้ประโยชน์และเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่นในการเลือกตั้งครั้งนี้ 1. กลไกตามรัฐธรรมนูญ 60 ที่ได้เปรียบ จากการประชามติจอมปลอมที่ยังไม่ได้แก้ไขให้เป็นประชาธิปไตย รวมทั้งกฎหมายการเลือกตั้งและกฎหมายพรรคการเมืองยังไม่เป็นประชาธิปไตย การแบ่งเขตเลือกตั้งก็ยังคลุมเครือ และยังจะมีความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจภาค 2

2. อำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ 60 ที่เป็นหัวใจหลักของรัฐบาล คสช. เพื่อสืบทอดอำนาจต่อ ซึ่งภาคประชาชนจะต้องเคลื่อนไหวคัดค้านต่อไป 3. ปัจจุบันพรรคร่วมรัฐบาลได้เปรียบ เพราะเอาอำนาจรัฐที่ได้เปรียบไปช่วยในการหาเสียงเลือกตั้ง โดยมีการแต่งตั้งบุคคลในพรรครวมไทยสร้างชาติดำรงตำแหน่งทางการเมืองในสำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงมหาดไทย

4. ขอให้ร่วมจับตางบประมาณของรัฐบาลที่จะเทลงไปในสนามการเลือกตั้ง และ 5. การลงแคนดิเดตนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.ประวิตร เป็นละครตบตาประชาชนประชาชนหรือไม่ เพราะมีความพยายามทำให้ทางเลือกของการเมืองไทยมีแค่ 2 ป. เท่านั้น แต่ทั้ง 2 ป. ไม่ใช่ทางเลือกของประชาชน เพราะ ส.ว. จะเลือกใครก็ได้ทั้ง 2 คน ทั้ง 2 คนก็ได้ประโยชน์เท่ากัน ระบอบ 3 ป.ก็สืบทอดอำนาจต่อไป โดยประชาชนต้องมีทางเลือกที่ 3 เพื่อไม่ให้ทั้ง 3 ป.ได้ไปต่อ และประชาธิปไตยเดินหน้า

"สุดท้าย ขอเรียกร้อง กกต. อนุญาตให้นานาชาติร่วมสังเกตการณ์เลือกตั้ง และให้มีอาสาสมัครจากประชาชนร่วมสังเกตการณ์เลือกตั้งโดยการสนับสนุนงบประมาณ เพื่อความโปร่งใส สุจริต ยุติธรรม ในการเลือกตั้งครั้งนี้" นายเมธากล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แฉอีโม่ง วิ่งเต้นล้มปมชั้น 14 เตือนหยุดทำเถอะ

นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊คไลฟ์ว่า นับตั้งแต่ต้นปี 2568 ให้จับตาดูวันที่ 15 ม.ค.ที่แพทยสภาขีดเส้นตายให้แพทย์รักษาทักษิณ ชินวัตร ชั้น 14 ส่งรายงานการรักษามาตรวจสอบการเอื้อหนีติดคุก แล้วยังต้องติดตามผลตรวจสอบของ ป.ป.ช.กรณีชั้น

พ่อนายกฯ ลั่นพรรคร่วมรัฐบาลต้องอยู่ด้วยกันจนครบเทอม

นายทักษิณ​ ชิน​วัตร​ อดีต​นายก​รัฐมนตรี​ ให้สัมภาษณ์ถึงการประเมินสถานการณ์การเมืองในปี 2568​ ว่า​ การเมืองคงไม่มีอะไร ยังเหมือนเดิม พรรคร่วมรัฐบาลก็เหมือนเดิม การที่ไม่เห็นด้วยกับอะไรกันบ้าง ก็เป็น

เทวดาแม้วของขึ้น! เปิดศึกขาประจำกว่า 10 คน รวม ‘แก้วสรร-แฝดน้อง‘

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พ่อน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงฉายา “ทวีไอพี” ของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการ

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 41): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น