31 ธ.ค.2565 - นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวถึงการเมืองหลังปีใหม่ ว่า ส.ส.ในสภาจะมีการโยกย้ายพรรคและต้องดูว่าจะมีผลกระทบต่อองค์ประชุมสภามากน้อยแค่ไหน จะก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาหรือไม่ อันนี้ตอบไม่ถูก เพราะที่ผ่านมาการเมืองไทยไม่เคยเกิดสถานการณ์แบบนี้ แต่หลังปีใหม่เราจะได้เห็นความชัดเจนของหลายๆ พรรคการเมือง ทั้งที่ตั้งใหม่ ควบรวม และที่มีอยู่แล้ว เพราะมันจะชัดเจนในเรื่องการยักย้ายถ่ายเท ส.ส.และผู้สมัคร ส.ส.ของแต่ละพรรค ในส่วนของ ชทพ.มีเข้ามาเพิ่มเป็นระยะๆ อย่างที่ย้ำมาตลอดว่าจะไม่หวือหวาเหมือนพรรคใหญ่ๆ เหมือนพรรคภูมิใจไทย อย่างไรก็ตาม แม้ ชทพ.มีอายุต่อเนื่องมาจากพรรคชาติไทย รวมกันมีอายุเกือบ 50 ปี แต่การบริหารงานพรรคตั้งแต่วันที่นายบรรหาร ศิลปอาชา ไม่อยู่แล้วเปรียบเหมือนการตั้งไข่ใหม่ ดังนั้น จึงต้องพยายามรักษามาตรฐานการทำงานและแนวทางการทำงานของพรรคเอาไว้ แต่ยอมรับว่าบารมีและประสบการณ์ทางการเมืองจะต้องมาเริ่มนับกันใหม่ในฐานะหัวหน้าพรรคคนล่าสุดด้วยเช่นกัน จึงต้องค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป ไม่สามารถรีบได้ ตนยังทำงานการเมืองอีกนาน และตนรอได้
นายวราวุธ กล่าวว่า สำหรับเป้าหมายในการเลือกตั้งครั้งหน้านั้น ขอไม่ต่ำกว่า 25 ที่นั่ง ซึ่งเราคิดเช่นนั้น โดยเฉพาะ จ.สุพรรณบุรี ตนไม่อยากใช้คำว่ามั่นใจ แต่ขอใช้คำว่าไม่ประมาท ถ้าใครจะเข้ามาเราพร้อมรักษาเข็มขัดแชมป์ไว้อย่างสุดกำลังความสามารถ ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จะส่งนายยุทธนา โพธสุธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร. หลานชายนายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ และเลขาธิการพรรค ชทพ. ลงชนในเขตเลือกตั้งเดียวกับนายเสมอกัน เที่ยงธรรม ส.ส.สุพรรณบุรีนั้น
"อย่างที่ผมบอกแล้วว่า เมื่อนายบรรหารไม่อยู่ หลายคนจะมองว่า จ.สุพรรณบุรีเป็นเค้กชิ้นโตที่หลายฝ่ายอาสามาตีเมืองขึ้น จะทำให้สุพรรณบุรีแตก ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เราไม่ว่ากัน แต่ผมพูดได้แค่ว่าก็ลองกันสักตั้งหนึ่ง ถ้าคิดว่าทำสำเร็จก็เป็นสิทธิ์ของหลายฝ่ายที่จะคิด แต่สำหรับผมหน้าที่คือปกป้องพื้นที่ของตนเอง จังหวัดที่เป็นฐานสำคัญของชทพ. ยินดีเป็นทางเลือกให้กับประชาชน
ด้วยการทำงานที่ผ่านมาตั้งแต่พรรคชาติไทยถึง ชทพ. เรายังมั่นใจว่าถ้ามีใครมาเสนอตัวเพิ่มก็ต้องมาแข่งกันหน่อย ส่วน จ.นครปฐม ทางตระกูลสะสมทรัพย์เองก็ทำงานอย่างไม่ประมาท หลังจากมีประสบการณ์จากครั้งที่แล้ว ตอนนี้เปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.แล้ว ทำงานกันอย่างเข้มแข็ง เชื่อว่าจะยึดพื้นที่ได้ ส่วนจังหวัดใกล้เคียงขอให้จับตาดูในอนาคตว่าจะมีเข้ามาเพิ่มเติมอย่างไร หลังปีใหม่ไปแล้วจะได้เห็นอะไรชัดเจนกันมากขึ้น แต่ถ้าจะให้ชัดเจนที่สุดคือ วันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ประกาศยุบสภา วันนั้นฝุ่นตลบอีกทีแน่" นายวราวุธ ระบุ
เมื่อถามว่า การเลือกตั้งรอบหน้าจะหนักหรือไม่ เพราะดูเหมือนขณะนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยเรื่องทุนมากกว่าเรื่องอื่น นายวราวุธ กล่าวว่า มีสมัยไหนที่ไม่ใช้ปัจจัยบ้าง ตั้งแต่ที่ตนจำความได้ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งจะมีการพูดกันว่ารอบนี้หนักกว่ารอบก่อนเสมอ สรุปคือหนักทุกรอบ แต่ท้ายที่สุดแล้วคือจะมีการดึงตัว ส.ส.ด้วยปัจจัยหลายๆอย่าง ตนไม่ขอลงรายละเอียด แต่มันเป็นเรื่องเดิมๆ ไม่ใช่อะไรใหม่เลย เพราะเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินวิถีการเลือกตั้งของแต่ละคนในพื้นที่ ถึงแม้ว่ากระแสพรรคการเมืองมีความสำคัญ ความนิยมของพรรคการเมืองมีความสำคัญ แต่เป็นส่วนหนึ่ง เป็นปัจจัยที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดยเฉพาะการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ สภาพเศรษฐกิจและประชาชนเดือดร้อนหลายสิ่งหลายอย่าง ดังนั้น ปัจจัยบางอย่างก็จะมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้นเป็นเรื่องปกติ เป็นไปโดยอัตโนมัติ
ถามว่า ในการเลือกตั้งครั้งหน้า นายวราวุธจะยังเป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 หรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับที่ประชุมกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ว่าจะให้ลงลำดับที่เท่าไหร่ แต่ถึงอย่างไรก็ลงสมัครรับเลือกตั้งในบัญชีรายชื่อโดยผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมพรรคก่อน โดยเฉพาะแคนดิเดตนายกฯ ยิ่งจะต้องพูดคุยกันภายในพรรคก่อนว่าจะเสนอใคร แต่ส่วนใหญ่หลายๆ พรรคจะเสนอชื่อหัวหน้าพรรค ขอย้ำว่าต้องผ่านความเห็นชอบของที่ประชุม กก.บห.และผู้ใหญ่ของพรรคก่อน
เมื่อถามว่า จะไม่นำเสนอแข่งกับพรรคอื่นในเรื่องค่าแรงใช่หรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า เราไม่เก่งเรื่องนั้น แต่เราถนัดในการทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลก และมันเป็นประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกให้ความสนใจ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ เราอย่าไปสู้ในเรื่องที่เราสู้เขาไม่ได้ แต่ละพรรคมีความเชี่ยวชาญต่างกันไป แต่ละพรรคต้องนำเสนอแนวทางที่ดีที่สุดให้กับประเทศชาติ เรื่อง 600 บาท พรรคเพื่อไทยคงคิดมาแล้วว่าอะไรและเหมาะสมกับเขา ดังนั้น การจะทำงานร่วมกันในฐานะรัฐบาลต้องกางนโยบายมาดูร่วมกันว่าบวกกันแล้วเกิดประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชนมากน้อยแค่ไหน
ถามว่า มีเสียงวิจารณ์ประเมินว่า ชทพ.จะได้ไม่ถึง 10 ที่นั่ง นายวราวุธ กล่าวว่า ไม่อยากพูด เราจดไว้ ที่บอกว่า ต่ำสิบก็ดี เพราะการประเมินสูงเราเหนื่อย ประเมินต่ำค่อยๆ มา ค่อยๆ ไป มาเร็ว มาแรงไปแรง จะดูว่าทำได้ขนาดไหน ประเมินเท่าไรไม่เกี่ยง หลีกหนีความเป็นจริงไม่ได้ แม้จะคลุกคลีทางการเมืองมามาก แต่บารมีและพรรษาทางการเมืองสู้หลายคนไม่ได้ แต่หากพูดถึงศักยภาพการทำงาน รับประกันไม่แพ้ใคร หากเอาหัวหน้าแต่ละพรรคมาประชัน ตนทำงานไม่แพ้หัวหน้าพรรคอื่นแน่นอน แต่ปัจจัยยอื่นๆ อาจจจะเทียบเท่าไม่ได้ บางครั้งเร่งไม่ได้ ต้องให้เวลาสั่งสมประสบการณ์
นักข่าวถามว่า ช่วงเลือกตั้งกังวลอะไรบ้าง เช่น กติกาใหม่ ที่ใช้เลือกตั้งครั้งหน้า นายวราวุธ กล่าวว่า เราเคยเจอมาแล้ว ทั้งการเลือกตั้งปี 44 และเลือกตั้งปี 48 ที่ใช้รัฐธรรมนูญ 40 ก็ใช้แนวทางการลงคะแนนแบบนี้ บัตรสองใบ คนกับพรรค จะมีความกังวลว่าบางพื้นที่ที่ไม่ได้ส่งผู้สมัคร จะต้องหาวิธีเพื่อให้ได้คะแนนพรรค ซึ่งจะซับซ้อนมากขึ้น การใช้บัตรเลือกตั้งสองใบทำให้ต้องใช้คะแนนเสียง 3.5 แสน - 3.7แสนคะแนนเพื่อให้ได้ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน จะมีความท้าทายการทำงาน ก็เป็นกังวลเหมือนกัน
เมื่อถามถึงการส่งผู้สมัคร ส.ส.ในครั้งนี้ นายวราวุธ กล่าวว่า พรรคจะส่งไม่ครบ 400 เขต เพราะเปลืองเงินทุน เพราะคราวที่แล้วส่งยิ่งเยอะเพื่อหวังโอกาสได้คะแนน แต่ได้เรียนรู้ว่าบางเขตส่งไป หมดเงินค่าสมัคร ทำป้ายหาเสียง แต่ได้คะแนนหลักสิบ สู้ไม่ส่งเขต ประหยัดเงินไว้เอาไว้หาเสียงเขตอื่น ทำป้ายเขตอื่นดีกว่า ดังนั้น ครั้งนี้คัดให้ละเอียดมากขึ้น เพราะไม่จำเป็นส่งทุกเขตก็มีสิทธิได้คะแนนทั่วประเทศเช่นกัน โดยการทำรายละเอียดของการส่งผู้สมัครขณะนี้ คืบหน้า 60- 70% ที่จะส่งลงสมัคร ส่วนที่เหลือนั้นต้องรอให้ฝุ่นหายตลบ หรือพ้นโค้งสุดท้ายอีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวถามถึงการเปิดตัวผู้สมัคร ส.ส.ของ ชทพ. นายวราวุธ กล่าวว่า มีแน่นอนแต่ไม่ใหญ่เท่าพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเหมือนทุกพรรคที่จะเปิดตัวในช่วงปฐมนิเทศ ทั้งนี้ การทำงานของพรรคตั้งแต่สมัยนายบรรหาร เน้นการทำงานไปเรื่อยๆ ไม่อยากคุยก่อน เพราะคุยก่อนไม่เป็นไปอย่างที่คุยก็เสียหาย บางพรรคอาจมีศักยภาพทำงาน เป็นสิ่งที่จะทำ แต่ ชทพ.ทำงานอีกสไตล์
ถามถึงการดึงคนเก่าที่เคยอยู่กับพรรคชาติไทยมาอยู่กับ ชทพ. นายวราวุธ กล่าวว่า จะมีหรือไม่ ท้ายที่สุดจะมี แต่รอบนี้ไม่มีเพราะไม่ทัน การที่คนเก่ากลับมาอาจต้องพิจารณาหลายปัจจัย ทั้งหัวหน้าพรรค ตนก่อร่างสร้างพรรคให้ยิ่งใหญ่เหมือนสมัยนายบรรหารหรือไม่ ไม่ได้แปลว่าจะไม่กลับ แต่อาจรอเวลา ดูว่าหัวหน้าพรรคที่ชื่อวราวุธ ทำเหมือนคนชื่อบรรหารทำหรือไม่ วันนี้อาจอยู่อีกพรรค วันหน้าอาจจะเวียนกลับมาก็ได้ เพราะยอมรับว่าส.ส.ในสภาตอนนี้เกินครึ่งเป็นศิษย์เก่าพรรคชาติไทยทั้งนั้น เขาอาจจะวนกลับมาก็ได้ ไม่แปลก รอบนี้อาจไม่ทัน เพราะแต่ละคนล้วนเป็นส.ส.อาวุโสทางการเมือง แต่หัวหนน้าพรรคอาจอาวุโสไม่พอ อาจจะยังไม่ถึงเวลา เพราะกระดูกไม่ถึงเบอร์ แต่พอผ่านไปอีกสมัย กระดูกมีเบอร์ มีความเข้าใจมากขึ้น อาวุโสมากขึ้นอาจได้รับความเชื่อมั่นกลับมา
นายวราวุธ กล่าวว่า เหมือนตอนแรกที่คุยกันปี 61 ที่จะเปลี่ยนหัวหน้าพรรค หากเปลี่ยนเป็นตนคงพังไปแล้ว เพราะคนในพรรคเองยังไม่มั่นใจ แต่เวลาผ่านไป 3 ปีทำงานมาแล้วทุกคนเห็นว่าทำงานได้ ได้รับการยอมรับมากขึ้น เมื่อเลือกหัวหน้าพรรคล่าสุดผู้ใหญ่ในพรรคให้ความยอมรับ และสมาชิกพรรคให้การยอมรับ ในพรรคให้การยอมรับแล้ว ต้องขอเวลาสั่งสมประสบการณ์ ว่าจะฝากผีฝากไข้ได้หรือไม่
เมื่อถามถึงแนวทางการตลาดเชิงรุก การเจาะกลุ่มตลาดวัยรุ่น นายวราวุธ กล่าวว่า ทำไปแล้ว แต่ได้เรียนรู้ทางการเมืองว่า อย่าทำฉาบฉวย หรือไฟไหม้ฟาง หรือดังข้ามคืน เริ่มทำไปเมื่อ 5-6 เดือนที่ผ่านมา เพราะตนเพิ่งเข้ามา การไปทำกิจกรรม หรือปฏิสัมพันธ์กับเจนใหม่ค่อยเริ่มทำ รอบนี้อาจจะยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง แต่เชื่อว่ากาลเวลาผ่านไป พูดคุย เข้าใจมากขึ้น การเลือกตั้งครั้งถัดไปจะเห็นความเปลี่ยนแปลง รอบนี้อาจเห็นการเปลี่ยนแปลงบางส่วน เพราะไม่ได้แพลนแค่การเลือกตั้งรอบนี้ แต่มองถึงการเลือกตั้งต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร
เมื่อถามว่า จะลุยดีเบตเองหรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า จะให้บทบาทของคนรุ่นใหม่ในพรรคเข้ามาช่วยด้วย เพราะการขับเคลื่อนพรรคไม่มีเฉพาะตนเท่านั้น พรรคมีบุคลากรคนรุ่นใหม่มีศักยภาพ ต้องดันให้มาช่วยงาน เรื่องดีเบตไม่ต้องพูดถึง ตนรับทุกเวที แต่ต้องผลักดัน สนับสนุนน้องๆ ให้มีเวทีทางการเมืองแสดงออกด้วยเช่นกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สส.เพื่อไทย ดี๊ด๊า ประเทศไทยมีระบบที่เป็นมาตรฐาน!
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่าประชาชนที่ติดตามเรื่องนี้คงสบายใจขึ้นที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับ
'อิ๊งค์' ยิ้มรับ 'พ่อ-เพื่อไทย' รอดล้มล้างปกครอง ชาวเน็ตชี้จากนี้ไป 'ทักษิณ' ใส่เกียร์เหลิง
จากกรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติไม่รับไว้พิจารณาวินิจฉัย คำร้องที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ
ระทึกสุดขีด! 22 พ.ย. ศาลรธน.ลงมติ 'รับ-ไม่รับ' คำร้อง 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ล้มล้างการปกครอง
คอนเฟิร์ม ศุกร์นี้ 22 พ.ย. 9 ตุลาการศาลรธน.นัดประชุมวาระพิเศษ หลังงดมาสองรอบ เตรียมนำหนังสือ-ความเห็นอัยการสูงสุด กางบนโต๊ะประชุม ก่อนลุ้นโหวตลงมติ”รับ-ไม่รับคำร้อง”คดีทักษิณ-เพื่อไทย โดนร้องล้มล้างการปกครองฯ
'แพทองธาร' โชว์วิชั่น การเมืองมีเสถียรภาพ ประเทศไทยจะดีขึ้น!
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ไทยสงบ สันติ หวังรัฐบาลเปลี่ยน นายกฯเปลี่ยน แต่นโยบายเพื่อปชช.เดินหน้า บอกต่างชาติเจอคำถามแรกถามพ่อ-อาเป็นอย่างไร ย้ำการเมืองมั่นคง มีเสถียรภาพแน่นอน
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476
รู้ไว้ซะ 'ปิยบุตร' เผย 'ทักษิณ' ได้กลับบ้าน เพราะก้าวไกลชนะเลือกตั้ง!
นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเรื่องหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาถกเถียงกันอีกครั้ง