'หมอระวี' ยื่นกม.นิรโทษกรรมแล้วหวังจบก่อนสิ้น ก.พ.2566

'หมอระวี' ยื่นแล้วร่างนิรโทษกรรม ย้ำไม่ยกเว้น 3 ข้อ โกง-มาตรา 112-คดีร้ายแรง หวังให้ผ่านก่อน 28 ก.พ.2566 ให้เวลา 10 เดือนรัฐมนตรียุติธรรมปล่อยผียกเข่ง

22 ธ.ค.2565 – นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ แถลงว่าได้ยื่นร่างพระราชบัญญัติสร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. .... โดยมีหลักการคือ ให้มีกฎหมายว่าด้วยการสร้างเสริมสังคมสันติสุขโดยให้มีการนิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน

นพ.ระวียังกล่าวถึงเหตุผลของร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า ตลอดระยะเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมา สังคมไทยเกิดการแตกแยกความคิดทางการเมือง แบ่งแยกเป็นฝักเป็นฝ่ายอย่างรุนแรง และกระจายไปทั่วประเทศ มีการชุมนุมทางการเมืองต่อต้านรัฐบาลอย่างต่อเนื่องหลากหลายรูปแบบ ฝ่ายรัฐบาลได้ประกาศและบังคับใช้กฎหมายควบคุมการชุมนุมอย่างเข้มงวด เพื่อควบคุมและยุติการชุมนุมทางการเมือง ส่งผลให้การชุมนุมทางการเมืองของประชาชนเกิดการกระทำผิดต่อกฎหมายที่ภาครัฐประกาศและบังคับใช้อย่างเคร่งครัด ขาดการยืดหยุ่นจนเกินความจำเป็น บางครั้งก็มีการสลายการชุมนุมโดยใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่และประชาชนจำนวนมากเกิดการบาดเจ็บล้มตาย ผู้ร่วมชุมนุมจำนวนมากถูกดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญา ลงท้ายด้วยการจำคุกและชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่ง ก่อให้เกิดปัญหาที่ร้าวลึกปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อประเทศชาติทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคงและวัฒนธรรม

“การกระทำต่างๆ ของผู้ร่วมชุมนุมและประชาชน ล้วนแต่ได้กระทำไปเพื่อ แสดงออกทางความคิดเห็นทางการเมือง เพื่อเรียกร้องต่อรัฐบาล ไม่ใช่แสดงออกเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ จึงสมควรให้มีการนิรโทษกรรมแก่ประชาชนทุกกลุ่มที่ได้กระทำผิดจากการชุมนุมทางการเมืองและจากการแสดงออกทางการเมือง เพื่อเป็นการให้โอกาสกับประชาชนในการแสดงออกทางการเมือง เป็นการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตยเป็นการรักษาคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งจะส่งผลต่อการสร้างเสริมสังคมสันติสุข ลดความขัดแย้งและสร้างความสามัคคีปรองดองของคนในชาติ เพื่อให้สังคมไทยและประเทศชาติกลับมาสู่ความสงบสุข สมัครสมานสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาประเทศให้มีความเจริญยั่งยืนต่อไป จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”

สำหรับพระราชบัญญัติดังกล่าวมีข้อยกเว้น 3ประการคือ 1.ไม่นิรโทษกรรมคดีทุจริตคอร์รัปชัน 2.คดีมาตรา 112 และ 3.ความผิดอาญาที่รุนแรงที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต รวมทั้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองคดีนิรโทษกรรม จำนวน 7 คน ภายใน 60 วันหลังจากที่พ.ร.บ.ดังกล่าวผ่าน โดยมีระยะเวลาในการดำเนินการ 10 เดือน หากผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรมผ่านไปแล้วกลับมาทำผิดอีกครั้ง ศาลยุติธรรมจะไม่มีการรอการลงอาญา หรือรอการลงโทษใดๆทั้งสิ้น คาดว่าจะมีการประสานกับ ส.ส.พรรคต่าง ๆ เพื่อผลักดันร่าง พ.ร.บ.นี้ให้พิจารณาได้ทันในสมัยการประชุมนี้ก่อนวันที่ 28 ก.พ.2566

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไปไกล! ทวียกเด็กเคยทำผิดยังเป็นผู้พิพากษาได้ปมแก้ไขมาตรฐานจริยธรรม

'ทวี' เห็นด้วยวางกรอบจริยธรรมให้ชัดเจน ขณะที่อำนาจองค์กรอิสระควรอยู่ในจุดสมดุล ยกเด็กเคยทำผิดโตมายังเป็นผู้พิพากษาได้

'ทวี' โวอีก 3 ปียาเสพติดจะไม่ใช่วาระชาติแต่เป็นวาระภูมิภาค!

'ทวี' สวมบทรัฐมนตรีลุกแจงคนแรก ประกาศ 'ยาเสพติด' เป็นวาระแห่งภูมิภาค เหตุทำลายคนทั้งโลก ยัน รัฐบาลให้ความสำคัญ ลั่น รบ.ฝ่ายเดียวแก้ปัญหาไม่ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือทุกฝ่าย