สภาฯ จัดเสวนา “กติกาเลือกตั้งใหม่ ใครได้ประโยชน์” “มาร์ค” เชื่อ ศาลรธน.ให้ผ่านร่างกม.ลูกเลือกตั้งส.ส. ไม่เห็นด้วยหากต้องออกพ.ร.ก.คุมเลือกตั้ง ด้าน “จารย์เจษฎ์” เผย รากเหง้าปัญหาโยงจากคสช. ลั่น ใครจะกล้าแข่งกับส.ว. 250 คน
29 พ.ย.2565 - เมื่อเวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ผู้กำกับมูลนิธิคอนราด อาดดนาวร์ประเทศไทย จัดโครงการพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมและการสื่อสารทางการเมืองเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อสถาบันนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นการเสวนาในเรื่อง กติกาเลือกตั้งใหม่ ใครได้ประโยชน์ โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี, นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และนายเจษฎ์ โทณะวณิก ประธานคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย เข้าร่วมเสวนา
โดยนายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ตนมองว่ายังไกลเกินไปที่จะบอกว่าคำวินิจฉัยจะออกมาอย่างไร แต่ในกรณีที่ชี้ว่าขัดต้องมีการชี้ให้เห็นว่าขัดตรงไหน ฉะนั้น ตนจึงเชื่อว่าอาจจะมีการให้ผ่านและมาตราที่มีการพูดถึงส.ส.พึงมีก็เสมือนกับว่าไม่ได้ใช้ ทิ้งไว้เช่นนั้น ซึ่งน่าจะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด แต่หากอยากจะเปลี่ยนมาเป็นอย่างที่ต้องการคือส.ส.เขต 400 คนและส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน และหารด้วย 100 ก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญและทำกฎหมายลูกให้เสร็จให้ทัน ถ้ากฎหมายลูกเสร็จไม่ทัน ก็ต้องมีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการจัดการเลือกตั้ง ก็ต้องจัดให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญด้วยวิธีการออกกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้
“ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับความคิดที่บอกว่าถ้าทำกฎหมายไม่ทันก็ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพราะ เห็นว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจฝ่ายบริหารในการออก พ.ร.ก.มาแทนพ.ร.ป.รัฐธรรมธรรมนูญให้อำนาจเฉพาะออกพ.ร.ก.มาแทนพ.ร.บ.เท่านั้น ในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ทั้งนี้ มีปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นคือเราไม่ได้มีการกลับมาถกเถียงกันตั้งแต่เริ่มต้นว่าเราต้องการระบบเลือกตั้งแบบใด เพราะอะไร ทั้งนี้ ไม่ว่าพรรคเล็กหรือพรรคใหญ่จะได้เปรียบหรือเสียเปรียบ เราก็ยังมีมรดกที่ตกค้างคือมาตรา 272 ที่ให้ส.ว.250 คนสามารถเลือกนายกฯ ได้อยู่ ซึ่งการทำรัฐธรรมนูญปี 60 ขึ้นมาเขาจงใจให้พรรคการเมืองเป็นเบี้ยหัวแตก ไม่มีพรรคไหนมีโอกาสได้เสียงข้างมาก แต่ข้อดีของรัฐธรรมนูญแบบเก่าคือ เป็นระบบที่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนได้ดีที่สุด แต่บังเอิญว่าการเลือกตั้งครั้งที่แล้วมีการใช้สูตรคำนวณส.ส.แบบพิสดารมาก ที่ให้พรรคการเมืองที่มีคะแนนไม่กี่หมื่นคะแนนสามารถมีส.ส.ได้ ในขณะที่พรรคการเมืองที่เหลือเศษอีกเป็นแสนคะแนนไม่สามารถมีส.ส.เพิ่มได้” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ฉะนั้น จริงๆ ตนไม่ได้มองว่าเรื่องนี้เป็นประโยชน์กับพรรคนั้นหรือพรรคนี้ เท่ากับว่าเมื่อไหร่เราจะทำระบบ ของเราให้ชัดเจนว่าเราต้องการแบบไหน อย่างไร สิ่งที่ตนเป็นห่วงคือเราเลือกตั้งไปทำไม เราเลือกบ้างเพื่อที่จะให้ประชาชนกำหนดทิศทางของประเทศได้ แต่ถ้าระบบเลือกตั้งสับสนเช่นนี้ ก็ไม่ทราบว่าเลือกไปแล้วสุดท้ายเจตนารมณ์ของประชาชนคืออะไร ทั้งนี้ ตนอยากให้ช่วยกันคิดมากกว่าว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนและประเทศชาติได้อะไรจากการเลือกตั้ง
ด้านนายเจษฎ์ กล่าวว่า คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เขียนมาแล้วเมื่อปี 60 ถ้าจะแก้ระบบจัดสรรปันส่วน ก็ต้องไปดูว่าระบบจัดสรรปันส่วนผสมอยู่ในรัฐธรรมนูญมาตราใดบ้าง ถ้าจะแก้ก็ยกยวงออก ในสภาร่างที่ยกยวงออกคือร่างของพรรคเพื่อไทย และพรรคพลังประชารัฐ โดยร่างของพรรคประชาธิปัตย์ มีวิธีคิดแต่ตนไม่เข้าใจว่าทำไมเขียนไปแบบนั้น ซึ่งการที่ไม่สมบูรณ์เป็นเรื่องของสภา ตนไม่ได้โทษพรรคประชาธิปัตย์ แต่ต้นตอร่างของพรรคประชาธิปัตย์ที่เขียนมาในแบบที่ท่านไปคิดกัน สภาต้องแก้ปัญหานี้ ถ้าเห็นว่าร่างนั้นไม่สมบูรณ์ ท่านก็ต้องตีตกไปเริ่มกันใหม่ จะไปโทษพรรคไม่ได้ เพราะพรรคมีสิทธิ์จะเสนอแบบไหนก็ได้ สภาต้องแก้ไข แต่สภาไม่แก้ไข ซึ่งสภาแก้แค่มาตรา 91 ก็เหมือนกับมาตรา 91 เดิมคือหาร 500 มาตรา 91 ใหม่คือหาร 100 การแก้แบบนี้ใครต่อใครก็พูดกันว่าแก้แบบนี้มีปัญหาแน่นอน แต่สภาไม่ทำอะไร เมื่อมาถึงกลางทางสภาทำให้เกิดปัญหาอีก วาระ 1 เอาหาร 100 วาระ 2 เอา 500 วาระ 3 ตัดสินใจไม่ได้ไม่มาทำงาน ซึ่งเป็นปัญหาของการยกร่างรัฐธรรมนูญ คือ สภาไม่รู้จะเอาอะไร และมาถึงปัญหาการทำงานของสภาอีก เมื่อคิดไม่ได้ก็ตีกลับไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ และมีคนไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญว่าหาร 100 ไม่ได้ หากจะเดาใจศาลรัฐธรรมนูญง่ายๆ วิธีที่จะออกจากตรงนี้คือคำว่าพึ่งมี พึ่งได้ ไม่มีแล้วในมาตรา 91 ที่แก้ไขใหม่ อยู่ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 1 เขาใช้คำว่า ที่จะได้รับเลือกตั้ง และที่จะได้รับเลือก ก็สามารถทำได้ว่าที่จะได้รับเลือกคือพึ่งมี ที่จะได้รับเลือกตั้งคือพึ่งได้
นายเจษฎ์ กล่าวต่อว่า ท้ายที่สุดหากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าขัด จะตีตกแบบไหน ตีตกเฉพาะรายมาตรา หรือตีตกทั้งฉบับ แต่หากจะตีตกทั้งฉบับ เมื่อจะไปทำใหม่ปัญหาอยู่ที่รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่กฎหมายลูก ทั้งนี้ ถ้าดูรากเหง้าของปัญหาปัญหาแรกคือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และผู้สนับสนุน คสช. เพราะระบบจัดสรรปันส่วนผสม กรธ. คิดโดยปรับมาจากระบบสัดส่วนผสมของเยอรมัน ที่มาจากร่างของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เดิม แต่ท่านมาคิดเพิ่มว่าจะทำอย่างไรดีให้มันสะท้อนความต้องการของประชาชนให้มากที่สุด และอยากให้พรรคเล็ก กลาง ใหญ่ เข้ามาแข่งได้หมด ไม่อยากให้คะแนนเสียงตกน้ำ ซึ่งวิธีการคำนวณคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทราบเป็นอย่างดี เพราะนั่งร่วมกันร่างอยู่ ก็ได้มีการอภิปรายกันว่าอยากจะให้พรรคเล็กเข้าได้ด้วย แต่กกต.ที่นั่งอยู่ในห้องไม่อธิบายว่าการคำนวณจะเป็นแบบนี้ ปัญหาที่สองคือ กรรมการร่างรัธรรมนูญไม่ยอมเขียนเรื่องนำส.ว.มาเลือก ถ้ายอมเขียนจะอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่แรก ไม่ต้องทำคำถามเพิ่มเติม ซึ่งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเขียนว่าในวาระแรก ศาลรัฐธรรมนูญไปบอกว่าในวาระแรกหมายความตลอด 5 ปี จะเลือกกี่ครั้งก็เลือกไป แต่ในกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเขียนในวาระแรกแปลว่า ได้ครั้งเดียว และปัญหาที่สามคือคสช.มาตั้งพรรค ซึ่งตามธรรมเนียมระบบรัฐสภา พรรคที่ได้คะแนนมากที่สุดลำดับแรก มีสิทธิ์ลำดับก่อนในการจัดตั้งรัฐบาล ไม่มีการจัดแข่ง
“พรรคพลังประชารัฐไปจัดแข่งกับเขา เลยเกิดปัญหาว่าไปเขียนคำถามเพิ่มเติมให้ส.ว. มาเลือกนายกฯ ใครจะจัดแข่งกับท่านได้ ท่านเล่นเอา ส.ว.250 คน ซึ่งพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นคนเดียวที่คนในโลกนี้รู้ว่าเป็นคนเลือก นอกนั้นคนอื่นอยู่ไหน และผมไม่รู้ว่าใครได้ประโยชน์ แต่ผมรู้ว่าใครก่อปัญหา ก็ต้องรอดูต่อไป” นายเจษฎ์ กล่าว
ขณะที่ นายสมชัย กล่าวว่า วันพรุ่งนี้ (30 พ.ย.) ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินเหมือนการตัดสิน พ.ร.ป. พรรคการเมือง คือเป็นไปได้ทั้งผ่านและไม่ผ่าน หากผ่านก็จะเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งอย่างสบายใจ แต่สิ่งที่หลายคนคาดการณ์ไว้คือพรรคการเมืองขนาดใหญ่จะได้เปรียบจากการเลือกตั้งในครั้งนี้จะเป็นจริง นั้นคือระบบการคำนวณส.ส. ที่เป็นระบบคู่ขนานคือหากชนะในเขตก็จะได้ส.ส.ในเขตไป และยังมีโอกาสลุ้นได้ส.ส.ในสัดส่วนบัญชีรายชื่ออีกด้วย แต่หากไม่ผ่านเนื่องจากรัฐธรรมนูญมีการขัดกัน การที่จะเขียนให้ไม่ขัดกันมาตราที่เกี่ยวข้องต้องแก้ทั้งหมด 6 มาตราเป็นอย่างน้อยแต่ขณะนี้แก้เพียง 3 มาตรา เช่นการไม่แก้มาตรามาตรา 90 จะส่งผลให้เบอร์ของพรรคการเมืองกับเบอร์ของผู้สมัครเขตไม่ตรงกัน แต่ละเขตก็คนละเบอร์ เนื่องจากมาตรา90ระบุว่าต้องสมัครส.ส.เขตเสร็จก่อนถึงจะสมัครบัญชีรายชื่อได้สำหรับการแบ่งเขตเลือกตั้งจะเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับกกต. ว่าจะแบ่งเขตอย่างไร เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมเพราะถือว่าเป็นการชี้เป็นชี้ตายว่าใครจะชนะเลือกตั้ง ซึ่งในร่างพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส. ก็มีกฎเกณฑ์ระบุไว้ถึงการแบ่งเขตแต่ภายในกฎเกณฑ์ก็สามารถดิ้นได้
“ถ้าไม่ผ่านกกต.จะอ้างว่าไม่มีกฎหมายที่ใช้ในการจัดการเลือกตั้ง กกต.อาจจะออกคำสั่งประกาศ ซึ่งมีโอกาสที่จะขัดรัฐธรรมนูญ และมีโอกาสที่จะถูกฟ้องว่าทำผิดรัฐธรรมนูญเหตุให้การเลือกตั้งทั้งหมดเป็นโมฆะในภายหลัง โดยในร่างพ.ร.ป.พรรคการเมืองมีการเปลี่ยนสาระในสาระสำคัญเพื่อให้พรรคการเมืองทำงานง่ายขึ้น พรรคเล็กได้เปรียบมากขึ้นเช่น ค่าสมัครสมาชิกพรรคลดลง การทำไพรมารีโหวตหนึ่งจังหวัดทำครั้งเดียว ที่เขตเดียว ใช้แค่ 50 คนขึ้นไป ส่งมาที่ทำการบริหารพรรค โดยไม่มีสิทธิตีโต้ใดๆ ทั้งสิ้น ดังนั้น ถือเป็นการแก้ร่างพ.ร.ป.พรรคการเมืองเพื่อให้พรรคเล็กได้เปรียบ” นายสมชัย กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'วรชัย' พูดเต็มปาก! 'ชวน' ไม่ควรว่าทักษิณ ถ้ายังกวาดบ้านตัวเองไม่สะอาด
นายวรชัย เหมะ อดีตสส.สมุทรปราการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ทำนองว่า ตัวเองเป็นนักการเมืองรุ่นเก่าที่ไม่โกง
ดิเรกฤทธิ์ : ปัญหาประชาธิปไตยสุจริตวันนี้
ดร.ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ประธานสถาบันสุจริตไทย และ อดีตสมาชิกวุฒิสภา(สว.) โพสต์เฟซบุ๊กว่าปัญหาประชาธิปไตยสุจริตวันนี้(11 มกรา
แม่หมอ..มองทะลุ ปี 68 เปลี่ยนนายกฯ ..ยุบสภา-ลาออก!!.. I อิสรภาพแห่งความคิด กับ..สำราญ รอดเพชร
อิสรภาพแห่งความคิด กับ..สำราญ รอดเพชร : วันเสาร์ที่ 11 มกราคม 2568
'อิ๊งค์' ยัน ทักษิณ-เพื่อไทย หาเสียงเลือกตั้งอบจ. เป็นไปตามกฎหมาย
ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ในฐานะหัวหน้
หนาว! คำร้องยุบพรรคเพื่อไทย อยู่ระหว่างรวบรวมข้อเท็จจริง
นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กล่าวถึงคำร้องยุบ 6 พรรคการเมืองว่
'สุริยะ' ชี้ 'วิโรจน์' พูดให้ดูดี ไม่สนนามสกุลเดียวกับ 'ธนาธร' ก็จะตรวจสอบ
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม กล่าวกรณีฝ่ายค้านออกมาระบุว่าเตรียมจองคิวอภิปรายไม่ไว้วางใจกระทรวงคมนาคมว่า เป็นการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านที่จะตรวจสอบรัฐบาลถือว่าเป็นเรื่องปกติ