“สุทิน” เชื่อคนใน 16 ล้านเสียงอยากให้แก้รัฐธรรมนูญ วอนทุกฝ่ายรับหลักการ “ปิยบุตร” ยันไม่ได้ล้มล้างระบอบการปกครอง
17 พ.ย.2564 - เมื่อเวลา 01.00 น.ในการประชุมร่วมรัฐสภา ครั้งที่ 2 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....ฉบับภาคประชาชน นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) เป็นผู้อภิปรายคนสุดท้ายกล่าวตอนหนึ่งว่า มีการกล่าวหาทั้งวันว่าพวกเราไม่เคารพ 16 ล้านเสียงที่ผ่านร่างประชามติมา คิดว่าจะต้องทบทวนและคิดใหม่ว่าใครกันแน่ที่ไม่เคารพ ผ่านมาแล้ว 5 ปีวันนี้ เขาอาจอยากแก้รัฐธรรมนูญแทบตายก็ได้ จะไปคิดได้อย่างไรว่าเขาไม่อยากแก้ ดีหรือไม่ดี 16 ล้านเสียงอาจจะมีชื่ออยู่ในกว่า 100,000 คนที่ลงร่วมลงชื่อแก้ไขในวันนี้ก็ได้ เรื่องนี้ง่ายนิดเดียว หากเคารพ 16 ล้านเสียง ขอให้ลองผ่านวาระหนึ่ง วาระสอง และวาระสามร่างนี้ดู เพื่อให้ 16 ล้านเสียงได้พิจารณาอีกครั้ง ถึงอย่างไรก็ต้องกลับไปทำประชามติอยู่ดี แต่ถ้าปิดโอกาสลงมติตกตั้งแต่วาระแรกถือว่าไม่เคารพ 16 ล้านเสียง
“เหตุผลที่พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้านต้องรับหลักการในวาระแรก เพื่อตอกย้ำและแสดงจุดยืนของพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้านว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ไม่ดีและมีข้อบกพร่อง จึงต้องแก้ไข รัฐธรรมนูญที่ดีต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนยอมรับโดยให้ประชาชนเขียนหรือมีส่วนร่วมมากที่สุดด้วยการตั้ง ส.ส.ร. แต่ครั้งนั้นร่างกฎหมายถูกตีตกไป จึงเห็นด้วยกับร่างของประชาชน แม้ว่าจะไม่ได้ตั้ง ส.ส.ร. แต่ก็เป็นร่างที่ประชาชนยื่นเข้ามา ก็ต้องรับเพราะเชื่อว่าการจะเขียนรัฐธรรมนูญที่ดีนั้นเราเป็นคนใช้ เราเป็นผู้รับเหมา คนเขียนสเปกต้องเป็นประชาชน”
จากนั้นเวลา 01.18 น. นายปิยบุตร แสงกนกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้าในฐานะผู้เสนอร่าง อภิปรายสรุปว่า กระบวนการในวันนี้คือการสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้เข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ในขณะเดียวกันก็เป็นกระบวนการที่นำความต้องการเสียงเรียกร้องของประชาชนที่อยู่ด้านนอกของสภาเข้ามาถกเถียงอภิปรายกันในสภาตามระบบครรลองอย่างมีอารยะ หลายความเห็นของเพื่อนสมาชิกเป็นประโยชน์มาก ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยก็จะเป็นผู้ฟังและนำไปชั่งน้ำหนักเหตุผลว่าเหตุผลของใครฟังได้ และเหตุผลของใครฟังไม่ขึ้น ร่างฉบับนี้ถูกตั้งฉายาต่างๆ นาๆ ว่ารวมศูนย์อำนาจ บั่นทอน ควบคุม ล่วงเกิน ล่วงล้ำ ลวงลูก ลงเหว บ้างก็ว่าถูกยกร่างมาด้วยความเกลียด ความกลัวและความเกิน ยืนยันว่าร่างนี้ไม่ได้มีลักษณะแบบที่ตั้งสมญานามมาแต่ประการใด ตรงกันข้ามการอภิปรายในบางท่านอาจจะซับซ้อนมีทัศนคติของการเกลียดนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งมากจนเกินไป และสะท้อนทัศนคติของความโกรธที่ร่างแบบนี้เข้ามาสภาได้อย่างไร อาจจะมาจากการกลัวที่ตัวเองต้องสูญเสียอำนาจลงไปบ้างหรืออาจจะคิดเกินไปหมดว่าคนเสนอร่างต่างๆ เหล่านี้มีความไม่สุจริตต้องการมาล้มล้างหรือมาปั่นป่วน แต่จริงๆแล้วร่างฉบับนี้ยกร่างขึ้นมาจากสมมุติฐานที่ว่าระบบรัฐธรรมนูญไทย และระบบการเมืองการปกครองของประเทศไทยผิดเพี้ยนไปจากระบบปกติ เฉไฉออกนอกลู่นอกทางประชาธิปไตยมากขึ้นนับตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ดังนั้นร่างฉบับนี้มีเพียงความต้องการที่จะปรับปรุงเข้าสู่จุดสมดุลมากยิ่งขึ้นเท่านั้นเอง
“ยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องสุดโต่งแต่ประการใดแต่เป็นเพียงการทำให้กติกากลับมาเป็นการอีกครั้งจากที่เอนเอียง มีฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์มากกว่าฝ่ายหนึ่ง เป็นกลางมากขึ้นและแข่งขันกันอย่างเสรีและเป็นธรรมภายใต้กติกานี้ร่วมกัน เป็นการคืนความปกติ เพราะเราอยู่กับรัฐธรรมนูญที่ผิดปกติ และระบบการเมืองที่ผิดเพี้ยนมานานเกือบสองทศวรรษแล้ว ดังนั้นร่างนี้คือการคือความปกติให้กับสังคมการเมืองไทยหากใครคิดว่าสุดโต่ง เพราะท่านอาจใส่แว่นสายตาที่สุดโต่ง ร่างฉบับนี้มุ่งแก้ไขสี่ประเด็นหลักท่านอาจจะไม่พอใจ”
นายปิยบุตรกล่าวว่า ส่วนที่กังวลว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองนั้น ไม่มีตรงไหนล้มล้างเลย ประเทศนี้ยังคงปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประเทศนี้ยังคงมีอำนาจนิติบัญญัติโดยสภาผู้แทนราษฎร ยังมีอำนาจบริหารโดยคณะรัฐมนตรี และยังมีอำนาจตุลาการโดยศาลที่ตัดสินในพระปรมาภิไธยต่างๆ ระบบรัฐสภายังคงดำรงอยู่ต่อไป พระมหากษัตริย์ก็ยังคงเป็นพระประมุขอยู่ต่อไป นายกรัฐมนตรีก็เป็นคนรับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดินต่อไป ผู้พิพากษาก็ยังคงตัดสินคดีความตามอำนาจหน้าที่และกฎหมายรัฐธรรมนูญต่อไป หากร่างฉบับนี้จะเป็นการล้มล้างเราไม่มีความจำเป็นใดที่จะต้องใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญกำหนดผลักดันความคิดภายใต้กระบวนการ ดังนั้นอย่ากังวลและอย่ากลัวกับเราจนเกินไป ให้ประชาชนได้แสดงออกถึงการใช้อำนาจของเขาบ้าง
“ผมยืนยันว่าไม่ได้ยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วยความอคติ ขอให้ทุกคนช่วยพิจารณาร่างนี้ด้วยความไม่อคติเช่นกัน ขอให้ดูบทบัญญัติหลายมาตรา อย่าดูหน้าผม ท่านไม่ชอบหน้าผม ไม่เป็นไร เห็นไม่ตรงกันไม่เป็นไร ขอให้ดูเหตุการณ์และตัวบทรัฐธรรมนูญ อย่ามองหน้าผมเป็นสำคัญ ความคิดแบบพวกเรานี่แหละจะรักษาประชาธิปไตยได้ และจะรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ให้มั่นคงต่อไปได้ในศตวรรษนี้” นายปิยบุตร กล่าว
จากนั้นนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมได้สั่งปิดการประชุมในเวลา 01.39 น. และนัดลงมติร่างดังกล่าวในเวลา 10.00 น.วันที่ 17 พ.ย.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'พริษฐ์' ชักแม่น้ำทั้งห้าชวนรัฐบาลยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประกบ
'พริษฐ์' แนะ 'รัฐบาล' ควรยื่นร่างแก้ไข รธน.เกี่ยวข้องกับ ส.ส.ร. ประกบฝ่ายค้าน มอง มี 2 ด่านต้องผ่าน ชี้ 'นายกฯ' ต้องเป็นผู้ยุติร้อยร้าว เชื่อยิ่งร่วมมือฝ่าฟันเท่าไหร่ โอกาสสำเร็จมากขึ้นเท่านั้น
'ประเสริฐ' มั่นใจ 'เพื่อไทย' ไม่โดนปฏิวัติรอบ 3 ร่างกม.ยังไม่ผ่านที่ประชุมพรรค
'ประเสริฐ' มั่นใจ 'เพื่อไทย' ไม่โดนปฏิวัติรอบ 3 เหตุ สังคมโลกเปลี่ยนไป ชี้ ร่างกฎหมายของ 'ประยุทธ์' ยังไม่ผ่านที่ประชุมพรรค
'ปิยบุตร' ท้านักการเมืองเขียนไว้ในรธน. 7 แนวทาง สกัดรัฐประหาร สำเร็จหรือไม่ต้องลองดู
นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ความคิดของนักการเมืองที่เชื่อว่ากฎหมายไม่สามารถป้องกันรัฐประหารได้ ก็ไม่ได้หมายความว่า นักการเมืองไม่จำเป็นต้องตรากฎหมายเพื่อป้องกันรัฐประหาร
'ธนกร' ดีดปาก 'ปิยบุตร' เลิกเสี้ยมปม กม.จัดระเบียบกลาโหม
'ธนกร' สวน 'ปิยบุตร' หยุดเสี้ยมปม กม.จัดระเบียบกลาโหม ยัน สส.ฟังเสียงประชาชน ปัดมีใบสั่งจากชนชั้นนำ ย้ำชัด กองทัพเป็นความมั่นคงของชาติทุกมิติ ชี้หากทำผิดก็อยู่ยาก ป้องกันรัฐประหารไม่ได้
ปลื้ม'มวยไทย ซอฟต์ พาวเวอร์ เฟสติวัล' ประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่
ปิดฉากประทับใจศึก "มวยไทย ซอฟต์ พาวเวอร์ เฟสติวัล 2024" ชิงถ้วยพระราชทาน "ในหลวง-ราชินี" ที่ริเวอร์ พาร์ค ไอคอนสยาม ประชาชนร่วมจุดเทียนชัยรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในหลวงรัชกาลที่ 9 เนื่องในโอกาส "วันชาติ 5 ธันวาคม"
'ปิยบุตร' กังขาเพื่อไทย 'ยอมไปก่อน' เพื่อมีอำนาจแก้โครงสร้าง หรือ แก้ไขปัญหาตนเองกันแน่
นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า คณะปัญญาชนผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย มักหยิบยกเหตุผลความจำเป็นว่า เราต้องยอม