‘วุฒิสภา’ ตั้ง กมธ.ศึกษาทำประชามติแก้ รธน. พร้อมเลือกตั้ง ‘วันชัย’ เลิกเหนียมจี้ทำให้ไวก่อน ส.ว.หมดอำนาจ ‘เสรี’ อยากแก้ปมวาระนายกฯ เลิกล็อกอยู่แค่ 8 ปี
21 พ.ย. 2565 – เมื่อเวลา 09.50 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม มีวาระพิจารณาญัตติด่วน เรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการตามที่สภาฯมีมติในการออกเสียงประชามติเกี่ยวกับความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
โดยนายมณเฑียร บุญตัน ส.ว. อภิปรายว่า เห็นด้วยที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งแบบรายมาตราและแก้ไขทั้งฉบับ เพราะครรลองการเสนอถูกต้อง และเป็นการลดความตึงเครียดทางการเมือง แต่ขอเตือนไปยังผู้แก้ไขว่าต้องคำนึงถึงความพอดี ไม่สร้างเงื่อนไขให้รัฐธรรมนูญอายุสั้น เพราะการเปลี่ยนแปลงอะไรแบบถอนรากถอนโคนไม่เคยเกิดขึ้นได้ง่าย การเริ่มต้นใหม่จากศูนย์หลายครั้งจะทำให้ประเทศไทยบอบช้ำโดยไม่จำเป็น
นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ส.ว. กล่าวว่า อยากตั้งเป็นข้อสังเกตว่าเมื่อทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านแล้วจะมีกระบวนการแก้ไขอย่างไรหลังจากนั้น นอกจากนี้ยังอยากทราบว่าคำถามที่จะถามประชาชนเป็นอย่างไร เพราะตนคิดว่าจะต้องถามให้ชัดเจนว่าให้ใครเป็นผู้แก้ไข และขอบเขตการแก้ไขเป็นอย่างไร
นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. กล่าวว่า เห็นด้วยให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเร็ว เพราะถ้าประวิงเวลาอาจจะทำให้เราไม่มีส่วนร่วมในการแก้ไข ถ้าเราไม่เห็นด้วยถือว่าเรารับเผือกร้อนไว้ กลายเป็นจำเลยสังคม ดังนั้น เมื่อผ่านรัฐสภาไปแล้วเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เชื่อก่อนเข้า ครม. จะต้องส่งไปหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสียก่อน อย่างไรก็ตาม ถ้า ครม. ไม่เห็นด้วยทุกอย่างก็จบ แต่ถ้าเห็นสมควรให้ทำตามข้อเสนอของรัฐสภาต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 90 วันแต่ไม่เกิน 120 วันตาม พ.ร.บ.ประชามติ หรือใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน กว่าเรื่องนี้จะเกิดได้ แม้เราจะมีมติเห็นชอบวันนี้ แต่ด้วยข้อเท็จจริงและเงื่อนไขต่างๆ ไม่อาจเกิดขึ้นได้ใน ครม. ชุดนี้แน่นอน
“ต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้โดนแก้แน่นอน ดูได้จากเสียงของ ส.ส. ที่มีการตั้งธงว่าจะต้องแก้ทั้งฉบับเพียงแต่ว่าจะแก้ใน ส.ว.ชุดใด ถ้าทันสมัยพวกเราก็ยังต่อรองได้ แต่ถ้าแก้ไขหลัง พ.ค. ปี 67 ซึ่ง ส.ว.ชุดพวกเราหมดวาระไปแล้ว เราก็จะนั่งตาปริบๆ ดังนั้น ถ้าแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เร็วเท่าไหร่ ผมยิ่งสนับสนุน” นายวันชัย ระบุ
ขณะที่นายสมชาย แสวงการ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ จึงขออาศัยข้อบังคับการประชุม ขอเสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.)ขึ้นมา เพื่อศึกษาเสียก่อน
นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. อภิปรายแสดงความเห็นด้วยในหลักการของญัตติที่สภาฯ เสนอมา เพราะไม่เห็นเหตุผลที่จะขัดขวางการตัดสินใจโดยตรงเบื้องต้นของประชาชน ซึ่งที่ตนระบุว่า เป็นการตัดสินใจเบื้องต้น เพราะหากจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับจะใช้เวลาอีกนาน อีกทั้งยังเป็นการปฏิบัติตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 64 รวมถึงพวกเราเคารพประชามติมาตลอด เราชื่นชมรัฐธรรมนูญ 60 ว่ามาจาก 16 ล้านเสียงที่เห็นด้วย ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลที่เราจะไม่เคารพการทำประชามติอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวถ้าเลือกได้ ตนอยากให้เป็นการแก้ไขรายมาตรา แต่นี่ใจเขาใจเรา ส.ส.มีความเห็นมาแบบนี้ และการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับไม่ใช่ของใหม่ในประเทศไทย ตนจึงไม่เห็นเหตุผลอะไรที่จะไม่สนับสนุนหรือคัดค้านประชาชน ตนจึงเห็นด้วยกับญัตติดังกล่าว
ด้าน นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. อภิปรายว่า เหตุผลในญัตติดังกล่าว มีการระบุว่า รัฐธรรมนูญเป็นต้นตอความขัดแย้ง ทั้งที่ความเป็นจริงความขัดแย้งในบ้านเมืองช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หรือก่อนหน้านี้ ไม่ใช่ปัญหาของรัฐธรรมนูญ แต่เป็นปัญหาของนักการเมืองแล้วไปโทษรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญ 60 ไม่ได้มาจากรัฐประหาร แต่มาจากการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แล้วผ่านการทำประชามติ นอกจากนี้ ยังมีการระบุถึงเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ 60 ว่าสร้างความถดถอยทางประชาธิปไตย ขยายอำนาจให้สถาบันทางการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งตนเข้าใจว่าหมายถึง ส.ว. เป็นความไม่เข้าใจว่าระบบทางการเมืองไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งทุกสถาบัน ทุกองค์กร ไม่ใช่ว่ามาจากการเลือกตั้ง แล้วอยากจะพูดอะไรทำอะไรเป็นผู้วิเศษ บางครั้งช่วงไม่มีการเลือกตั้ง บ้านเมืองเจริญกว่าช่วงที่มีการเลือกตั้งก็เยอะ จึงไม่ค่อยเห็นด้วยกับเหตุผลที่ท่านเสนอเท่าไหร่
“ยอมรับว่ารัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ควรมีการแก้ไข ซึ่งมีเรื่องสำคัญหลายเรื่องที่ต้องทำใหม่ เช่น ประเด็นการบัญญัติว่านายกรัฐมนตรีต้องมีวาระ 8 ปี ซึ่งทำให้เกิดวิกฤตความเป็นผู้นำประเทศ ตนไม่ได้พูดถึงตัวนายกฯปัจจุบัน แต่ถ้ารัฐธรรมนูญเขียนไว้แบบนี้ หากบ้านเมืองไปเจอคนดีมีความรู้ความสามารถสร้างความเจริญให้ประเทศได้ เขาจะถูกจำกัดด้วยระยะเวลา 8 ปี ถ้ามีคนดี 8 ปีก็ไม่จำเป็น อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลในเนื้อหาบางส่วน ซึ่งญัตติที่เสนอมาเราต้องให้วุฒิสภายืนอยู่บนความชอบธรรมในหลักการ” นายเสรี ระบุ
ต่อมาเวลา 12.30 น. ที่ประชุมวุฒิสภา มีมติเสียงข้างมากให้ตั้งคณะกมธ.ศึกษาก่อนที่ที่ประชุมวุฒิสภาจะลงมติในญัตติด่วนดังกล่าว จำนวน 26 คน ด้วยคะแนน 151 ต่อ 26 งดออกเสียง 15 เสียง โดยกำหนดระยะเวลา 30 วัน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดชื่อผู้สมัคร ป.ป.ช. 3 เก้าอี้ คนดังเพียบ ผู้พิพากษา อัยการ บิ๊กทหาร-ตำรวจ อดีตผู้ว่าฯ
สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เปิดรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรณีแทนตำแหน่งที่ว่าง (พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช.
'ปชน.' ตีปี๊บ! 1 ปีฝ่ายค้านผลงานเพียบ เมินเรตติ้งร่วง โต้ฮั้ว พท.
'พรรคประชาชน' โวผลงานฝ่ายค้าน 1 ปี' เสนอกฎหมาย 84 ฉบับ ตั้งเป้าทำงานผสมผสานได้ทั้ง 'รุก-รับ' ปัดฮั้ว 'เพื่อไทย' เมินผลโพลคะแนนร่วง เปรียบ 'เตะบอล' ต้องรอจบ 90 นาที
ประธานวิปรัฐบาล โทษเงื่อนประชามติทำรธน.สะดุด
“วิสุทธิ์" รับ หากกมธ.ตกลงไม่ได้เงื่อนไขประชามติ 2 ชั้น เสี่ยงแก้รธน.ไม่ทัน ยันไม่ใช่ความรับผิดชอบทำสะดุด
'นายกฯอิ๊งค์' กุมขมับ เรียกพรรคร่วมสุมหัวปมร้อนโหมใส่รัฐบาล
“แพทองธาร” เรียกพรรคร่วมถก 2 ปมร้อน เกาะกูด เรียกร้องยกเลิกเอ็มโอยู 2544 - แก้รธน. ที่ทำเนียบฯพรุ่งนี้
กระจ่าง! ดร.ณัฏฐ์ นักกฎหมายมหาชน ชี้กรณีคุณสมบัติ 'สว.หมอเกศ'
“ดร.ณัฏฐ์” นักกฎหมายมหาชน ชี้ กรณี สว.หมอเกศ ปริญญาเอกและตำแหน่งศาสตราจารย์ หากไม่จริง เป็นการโชว์เหนือ หลอกลวงเพื่อจูงใจให้ผู้สมัคร สว.ด้วยกัน เข้าใจผิดในคุณสมบัติ ความรู้ ความสามารถของตนเอง
สอน 'เพื่อไทย' หัดเอาอย่าง 'อภิสิทธิ์' นักการเมืองรักษาสัจวาจา
นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เพื่อไทย ไม่นิรโทษ มาตรา 112 ไม่แคร์มวลชน แต่แคร์พรรคร่วม