ไทยเสนอ 4 แนวทางส่งเสริมการพัฒนา เวทีประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 25

11 พ.ย.2565 - เวลา 14.00 น. ณ กรุงพนมเปญ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 25 โดยเป็นการประชุมแบบเต็มคณะ (plenary) โดยมีสมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโชฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาเป็นประธานการประชุม มีผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ (เมียนมาไม่เข้าร่วม) นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน และเลขาธิการอาเซียน เข้าร่วมการประชุม ซึ่งในการประชุมครั้งนี้วัตถุประสงค์เพื่อทบทวนความร่วมมือระหว่างกัน กำหนดทิศทางความสัมพันธ์อาเซียน-จีน และเพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างกระเทศร่วมกัน ในโอกาสนี้ นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญของถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรี ดังนี้

นายกรัฐมนตรีต้อนรับท่านนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ยินดีต่อความสำเร็จในการจัดการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 20 และขอชื่นชมในผลงานของคณะกรรมการกลางของพรรคฯ สมัยที่ 19 นำจีนสู่การเป็น “ประเทศมหาอำนาจที่มีความรับผิดชอบ” เชื่อว่าบทบาทที่สร้างสรรค์และแข็งขันของจีนท่ามกลางความท้าทายใหม่ ๆ ได้ช่วยขับเคลื่อนความสัมพันธ์อาเซียน-จีนให้มีพลวัตและครอบคลุม โดยเฉพาะเป็นปีแรกของ “ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน” ความเป็นหุ้นส่วนของเราจะเติบโตบนพื้นฐานของหลักการเรื่องความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ความเคารพซึ่งกันและกัน และผลประโยชน์ร่วมกัน

นายกรัฐมนตรีได้นำเสนอแนวทาง 4 ประการเพื่อส่งเสริมการพัฒนาของภูมิภาคที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ดังนี้

1.ไทยสนับสนุนการเสริมสร้างหุ้นส่วนที่เข้มแข็งในด้านต่าง ๆ ได้แก่ สันติภาพความมั่นคง ความเจริญรุ่งเรือง การพัฒนาที่ยั่งยืน และมิตรภาพ สอดคล้องกับข้อเสนอ 5 ประการของประธานาธิบดีจีน ยึดมั่นต่อพหุภาคีนิยม ภูมิภาคนิยม ความเป็นแกนกลางของอาเซียน และสถาปัตยกรรมภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นแกนกลาง เพื่อก้าวเดินไปสู่ “อนาคตร่วมกัน” ไทยมุ่งหวังที่จะให้การสอดประสานความร่วมมือระหว่าง AOIP กับข้อริเริ่ม BRI ของจีน นำมาซึ่งผลประโยชน์ร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม

2. มุ่งเน้นแนวทางการพัฒนาที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน มุ่งลดช่องว่างด้านการพัฒนา โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งแนวทางดังกล่าวสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ข้อริเริ่มการพัฒนาแห่งโลก หรือ Global Development Initiative GDI ของจีน ยึดหลักการของการมีส่วนร่วม การพัฒนาร่วมกัน และการเสริมสร้างหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา ไทยชื่นชมความมุ่งมั่นของจีนในการส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมภายใต้ GDI รวมถึงการจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาแห่งโลกและความร่วมมือใต้-ใต้

3. แสวงหาแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน ไทยมีนโยบายพลิกโฉมประเทศและปรับโครงสร้างไปสู่ “เศรษฐกิจใหม่” ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ ในฐานะที่อาเซียนและจีนเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของกันและกัน ไทยสนับสนุนการยกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน ซึ่งรวมถึงเศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเศรษฐกิจสีเขียว ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพของ MSMEs และ start-ups ไทยส่งเสริมการลงทุนในเทคโนโลยีล้ำสมัยและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ควบคู่กับการเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์บนพื้นฐานของหลักการร่วมกัน

4. เสถียรภาพและสันติภาพที่ยั่งยืน เป็นเงื่อนไขพื้นฐานสำหรับสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการฟื้นตัวและการพัฒนาร่วมกัน ยินดีต่อวาระครบรอบ 20 ปีของ ปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea : DOC) ตลอดจนยินดีที่การเจรจาจัดทำระเบียบปฏิบัติ (Code of Conduct : COC) มีความคืบหน้า และพร้อมที่จะร่วมมืออย่างเต็มที่เพื่อให้การจัดทำ COC ที่มีประสิทธิภาพ มีเนื้อหาครอบคลุม และสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ แล้วเสร็จในโอกาสแรกที่สุด เพื่อให้ทะเลจีนใต้เป็นทะเลแห่งสันติภาพ เสถียรภาพ และการพัฒนาที่ยั่งยืน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ อิ๊งค์ฝากติดตามแถลง 12 ธ.ค.ผลงานรัฐบาล 90 วัน

นายกฯอิ๊งค์ ลั่นรัฐบาล มุ่งสร้างโอกาสจับต้องได้ให้ประชาชน ปากท้องอิ่ม ดึงศักยภาพคนไทย ลั่นปรับสมดุลการค้าสหรัฐ-จีน ย้ำ รบ.อยู่ครบเทอม ฝากติดตามแถลงผลงานรัฐบาล 12 ธ.ค.นี้

เปิดโปรแกรมทัวร์ 'ครม.สัญจรอิ๊งค์' นัดแรกที่เมืองเหนือ

เปิดโปรแกรม 'ครม.สัญจรอิ๊งค์' นัดแรก จัดที่แม่ริม เชียงใหม่ 29 พ.ย. ก่อนถก 'คลังสัญจร' เชียงราย ฟื้นฟูพื้นที่เศรษฐกิจ พร้อมพบประชาชน

'ธนกร' ชี้หลัง 22 พ.ย.ประเทศก็ยังเดินหน้าต่อ!

'ธนกร' มองทุกคดีศาล รธน.ยึดตามหลักกฎหมาย เชื่อการเมืองหลัง 22 พ.ย.นี้ประเทศต้องเดินหน้าต่อ ขอทุกฝ่ายอย่าคาดเดาจนอาจก้าวล่วงอำนาจ ฝากรัฐบาลเร่งทำผลงาน