สภาไฟเขียว พ.ร.ก. กู้เงินอุ้มกองทุนน้ำมันฯ "สุพัฒนพงษ์"อ้างสถานการณ์โควิด- สงคราม ทำเศรษฐกิจ-ค่าครองชีพอ่วม ทำกองทุนน้ำมันติดลบ จำต้องกู้เร่งเสริมสภาพคล่อง ฝ่ายค้านรุมสับบริหารห่วยแตกขอกู้แสนกว่าล. มีเอกสารแค่2 หน้า ไร้แผนรองรับ จี้ รมต.คลัง แจงภาษีหายไปเท่าไหร่" ด้านปชป.บี้เก็บภาษีลาภลอยโรงกลั่น
วันนี้(9 พ.ย.2565 )ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณาพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)ผ่อนผันให้กระทรวงการคลัง ค้ำประกันการชำระหนี้ ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2565 โดยนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน กล่าวรายงานว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจ และสถานการณ์ น้ำมันโลกในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เกิดจากการเปลี่ยนแปลงหลายประการ ทั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ ทำให้กองทุนน้ำมันต้องอุดหนุน เพื่อเข้าช่วยเหลือลดค่าใช้จ่าย ค่าครองชีพของประชาชน จนปัจจุบันสถานะของกองทุนน้ำมันฯ ติดลบกว่า 1.3 แสนล้านบาทซึ่งยังคงอุดหนุนเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนมากนัก โดยควบคุมราคาน้ำมันไว้ไม่ให้เกิน 35 บาทต่อลิตร หากไม่อุดหนุนจะอยู่ที่ 38-39 บาทต่อลิตร และควบคุมราคาแก๊สหุงต้มไม่เกิน 400 บาท หากไม่อุดหนุนก็จะอยู่ที่ 592 บาท นอกจากนี้ ยังมีสงครามระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครน ที่ทำให้เกิดวิฤติซ้อนวิกฤติ และปัจจุบันสถานการณ์โลกยังไม่คลี่คลาย ทำให้สถานการณ์ติดลบไปเรื่อยๆ ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด กองทุนน้ำมันยังต้องรักษาเสถียรภาพในระดับราคาที่เหมาะสม จึงจำเป็นต้องเสริมสภาพคล่องอย่างเร่งด่วน เพื่อเพิ่มความมั่นใจต่อการกู้ยืมเงินจากสถาบันทางการเงิน ซึ่งการค้ำประกันเงินกู้ของกระทรวงการคลัง เป็นสิ่งที่จะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจต่อสถาบันการเงินที่จะอนุมัติเงินกู้ให้กับกองทุนน้ำมัน เพื่อเสริมสภาพคล่องและให้ระบบเศรษฐกิจสามารถฟื้นตัว ขณะที่แผนชำระหนี้นั้น ทางกองทุนน้ำมันก็ได้วางแนวทางไว้แล้ว ทั้งนี้มีสมาชิกอภิปรายอย่างกว้างขวาง โดนส่วนใหญ่แสดงความกังวลในเรื่อง การหาเงินมาชำระหนี้กองทุนน้ำมัน เพราะยังไม่มีแนวโน้มที่ราคาพลังงานจะลดลงมา และอาจจะกระทบต่อวินัยการเงินคลังของประเทศได้ อาทิ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า เราอาจจะลืมพูดเรื่องที่เป็นพื้นฐานที่สุดคือการขอให้กระทรวงการคลังมาค้ำเงินกู้ ซึ่งหมายถึงการขอให้ประชาชนค้ำเงินกู้ด้วย และเงินกู้ครั้งนี้มีวงเงินสูงถึง 150,000 ล้านบาท แต่รมวงพลังงาน กลับไม่มีการชี้แจงว่า กู้ไปทำอะไร ดอกเบี้ยเท่าไหร่ รวมถึงแผนการการใช้หนี้ โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาตนได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมวิปฝ่ายค้าน ซึ่งมีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง ตนได้สอบถามถึงแผนงาน ซึ่งหน่วยงานได้ชี้แจงผ่านเอกสารไม่ถึง 2 หน้า โดยระบุว่ากู้วงเงินแรก 30,000 ล้านบาท วงเงินที่เหลือจะทยอยกู้ 6 ครั้ง แต่ไม่ได้บอกว่าจะคืนเมื่อไหร่ และดอกเบี้ยจะเป็นอย่างไร แผนการใช้ยิ่งยากใหญ่ บอกแค่ว่าจะใช้จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ โดยไม่ได้แจ้งว่าการใช้เงินจะใช้ไปมากเท่าไหร่ น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า กองทุนน้ำมันไม่ได้ระบุว่าจะหารายได้จากที่ใดมาใช้หนี้ ตอนนี้ไม่มีธนาคารใดให้กู้เพราะสภาพคล่องของกองทุนมีปัญหาและเกิดความสุ่มเสี่ยงว่าจะใช้หนี้ไม่ได้ในอนาคต ที่ผ่านมาหากใช้ข้อมูลย้อนหลัง ค่าเฉลี่ยของการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน 2 ปี เพื่อจะใช้คืนหนี้ จำเป็นต้องใช้ระยะเวลากว่า 30 ปีถึงจะใช้หนี้ได้ครบทุกบาททุกสตางค์ และยังภาษีสรรพสามิตที่หายไป แต่ไม่มีการชี้แจงไว้ที่ส่วนใดเลยวันนี้ขอเรียกร้องประธานผ่านไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงให้ทราบว่า ภาษีสรรพสามิตหายไปทั้งหมดเท่าไหร่ นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า ในภาพใหญ่หนี้สาธารณะของประเทศไทยจะเป็นเท่าไหร่ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าหากกองทุนน้ำมันกู้เงินและกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำหรือไม่ค้ำก็จะตกไปเป็นหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 150,000 ล้านบาท จาก 10 ล้านล้านบาท และภาระหนี้ของคนไทยจะเป็นเท่าไหร่ในอนาคต ส่วนการเก็บภาษีลาภลอย โดยระบุว่า หากเป็นกลไกตลาดจริงและถูกกำหนดโดยตลาดโลกจริงการเก็บภาษีลาบลอยแบบนี้ย่อมไม่ส่งผลกระทบไปที่ผู้บริโภค ด้านนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ตนไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.ก. นี้ เพราะปัญหาเกิดจากการบริหารงานของรัฐบาลเอง ไม่ควรเอาเงินประเทศไปแบกรับ ฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยเพราะรัฐบาลนี้เข้ามาแล้วมีแต่กู้ และ แจก ตอนนี้เปลี่ยนมาให้ดูคลาสลิคเป็นค้ำประกันการกู้ ซึ่งหากใครไม่เข้าใจเศรษฐกิจของประเทศก็จะฟังแล้วดูดี ว่าเพื่อช่วยเหลือประชาชน ให้ค่าน้ำมันถูกลง แต่หากดูการบริหารแผ่นดินรัฐบาลชุดนี้เรียกว่า "หนี้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด" ตอนนี้ปลายเทอมรัฐบาลแล้วยังมีหน้ามาขอกู้อีก1.5 แสนล้านบาท รมต.เคยอยู่ปตท.มาต้องรู้ว่าเกิดความผิดพลาดอะไร ต้องเอาความจริงมาพูดว่านโยบายพลังงานผิดพลาดเพราะอะไร "เท่าที่ฟังการชี้แจงของรมต.เหมือนแผ่นเสียงตกร่อง โดยอ้างเหตุผลสารพัด การจะไปคำ้ประกันต้องใช้เงินของประชาชน ต้องถามตัวเอง และเอากระจกส่องด้วยว่าบริหารห่วยแตก ผิดพลาดใช่หรือไม่ หากไม่มีสงครามรัสเชีย ยูเครน ก็คงต้องโทษไอ้จุกไอ้แกะ อย่างเดียว " นายจิรายุกล่าวว่า ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา นายกฯชี้แจงว่าจะลดค่าโรงกลั่นและไปเจรจา ตนอยากถามว่าไปเจรจาแล้วหรือยัง และได้ข้อสรุปอย่างไร และที่บอกว่าจะลดค่าการตลาดนั้นมีการทำหรือยัง ได้ผลอย่างไร นโยบายการใช้พลังงานทั้งLPG NGV รัฐบาลได้ทำหรือยัง ก่อนหน้านี้มีการรณรงค์ให้ประชาชนใช้ แต่ช่วงหลังทางปั๊มแจ้งว่าปิดแล้วเพราะรัฐบาลไม่ชดเชย และราคาเท่ากับดีเซล ยังแนะนำให้เอาถึงแก๊ซที่ติดในรถยนต์ออกด้วย ซึ่งราคาแก๊สแพงเพราะค่าการตลาด ตั้งแต่ก.ค. ราคาขาย 34.84 บาท ใช้เงินกองทุน 3.82 บาท ตอนนี้มาขอกู้อีก1.5 แสนล้านบาท ตนเชื่อว่าไม่พอแน่นอน เพราะในช่วง4-5 เดือนนี้จะมีการใช้พลังงานสูงมาก ราคาต้นทุนพลังงานก็สูงขึ้น แม้จะไม่มีสงครามยูเครน-รัสเซีย ก็ตาม "วันนี้มาประชุมแต่เช้านึกว่าจะเจอเรื่องดีว่าเศรษฐกิจปีหน้ารัฐบาลประยุทธ์จะโชดช่วง เปิดมาเจอขอเงินกู้อีกแล้ว คุณพระช่วยจริงๆ!!!! บอกเลยว่า เซ็ง .!!!ตอนนี้หนี้สาธารณะอยู่ที่60 .58 ยังไม่รู้ตัวเลขล่าสุดอยู่ที่เท่าไหร่ แต่ชนเพดานไปแล้ว โดยหลักเรื่องกองทุนน้ำมันรมว.พลังงานต้องคิดวางแผนแก้ไขล่วงหน้าอนาคต เพราะสถานการณ์ทั่วโลกมีการเล็งเห็นกันอยู่แล้ว ไม่ใช่ตอนนี้ " นายจิรายุกล่าวว่า แม้ร่างพ.ร.ก.ฉบับนี้มีไม่กี่มาตรา แต่มีราคามาตราละประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาท หรือ 1.5 แสนล้านบาทใน1 ปี หากรัฐบาลนี้บริหารค่าการตลาดดีๆ ลดลงแล้วเท่าไหร่ ค่ากำไร ค่าโรงหลั่นต้องพูดให้เคลีร์ และที่สำคัญกรณีพิพาทระหว่างบ.โททาวน์ และเชฟร่อน เรื่องแท่นขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญที่จะทำการผลิตกระแสไฟฟ้ามีการแก้ไขปัญหาอย่างไร ดังนั้น หากรัฐบาลแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ก็อาจจะกู้แค่6 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ในส่วนของเรื่องต้นทุนความพร้อม ซึ่งตนทราบมาว่าขณะนี้รัฐบาลกำลัง ประเคนให้กับเอกชน ทั้งในลาว ภาคใต้ ศอบต. เป็นเงินจำนวนมาก หากไม่ซื้อเขาก็ต้องจ่ายค่าความพร้อม เพราะGDP ต้องเติบโต ซึ่งวันนี้เราจ่ายปีละ1แสนล้านบาท หากเอาเงินส่วนนี้มาจ่ายเป็นค่าค้ำประกัน ก็ไม่ต้องไปกู้มาอีก ตนจึงบอกว่ารัฐบาลนี้ไร้น้ำยาจริงๆ ด้านนายสุพัฒนพงษ์ชี้แจงประเด็นเรื่องค่าการกลั่นว่า หากจะเก็บเงินจากโรงกลั่นเข้ากองทุนฯต้องพิจารณาให้ดี เพราะอาจจะกระทบต่อกำลังการผลิต ซึ่งมีหลายประเทศ เช่นเวียดนามที่ได้รับผลกระทบจนน้ำมันมีไม่เพียงพอใช้ในประเทศมาแล้ว ขณะที่นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานชี้แจงแนวทางการเก็บ ค่าการกลั่นกับโรงกลั่นเข้ากองทุนฯว่า เรื่องนี้เคยมีการหารือมาแล้ว และได้หารือกับสำนักงานกฤษฏีกาว่า หากมีการเก็บภาระการเก็บอาจตกไปอยู่กับประชาชนในรูปแบบการเพิ่มราคาน้ำมันอีกทอดหนึ่งได้ เรื่องนี้ต้องพิจารณาและเตรียมวางแผนให้รอบคอบเกี่ยวกับแนวทาง ขณะนี้ค่าการกลั่นจากที่เคยอยู่ที่ลิตรละ5บาท ตอนนี้อยู่ที่2-3 บาท ทางกระทรวงฯจะหารือและวางมาตรการรองรับเกี่ยวกับค่าการกลั่น หากมีแนวโน้มกลับมาสูงขึ้นอีกครั้ง นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ต้นทุนค่าการกลั่นที่เป็นกำไรให้โรงกลั่นตอนนี้อ้างอิงมาจากต้นทุนต่างประเทศ จึงถามว่าต้นทุนค่าการกลั่นที่แท้จริงในประเทศอยู่ที่ลิตรละเท่าไหร่ ไม่เช่นนั้นข้อกล่าวหาที่ว่ามีการอุ้มนายทุนก็จะเป็นจริงตามที่สงสัย และที่เคยรับปากว่าจะนำเงินกำไรส่วนเกินของโรงกลั่นมาให้กองทุนฯเพื่อชดเชยให้กับประชาชน วันนี้ยังไม่เห็นสักบาท และที่ปลัดพลังงานชี้แจงว่าหากเก็บค่าการกลั่นอาจจะเพิ่มภาระให้ประชาชน โดยจะทำให้ราคาน้ำแพงขึ้นไปอีก ถามว่าในเมื่อใช้มีอำนาจในมือออกพรก.อุ้มโรงกลั่นได้เป็นแสนล้านบาท ทำไมไม่ใช้อำนาจออกพรก.เก็บภาษีลาภลอยโรงกลั่นเข้ากองทุนน้ำมัน อย่างไรก็ตามที่ประชุมมีมติเห็นชอบต่อพ.ร.ก. ด้วยคะแนนเสียง 239 เสียง ต่อ166 เสียง งดออกเสียง 3 เสียงข่าวที่เกี่ยวข้อง
รัฐบาลจัดเต็มลุย 'พักดอกเบี้ย' นาน 3 ปี ช่วยลูกหนี้ 3 กลุ่มใหญ่
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน
พิลึก! 'รมว.คลัง' อ้างยังไม่ได้รายชื่อ 'ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ' คนใหม่
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปฎิเสธให้สัมภาษณ์ กรณีจะนำรายชื่อ นายกิตติรัต
'อดีตรมว.คลัง' ร่อนจม.ถึง 'รมว.คลัง' จี้ตรวจคุณสมบัติ 'โต้งไวท์ไล'
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ส่ง จดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีคลังเรื่องแต่งตั้งประธานบอร์ดแบงค์ชาติ