‘หญิงหน่อย’ ฝาก 3 ประเด็นหลัก ไทยเป็นเจ้าภาพประชุมเอเปก 2022

7 พ.ย.2565-คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย โพสต์เฟสบุ๊กส่วนตัวว่า ในเดือนพฤศจิกายนนี้ จะมีการประชุมระดับโลกเกิดขึ้นในอาเซียนของเรา 3 การประชุมคือวันที่ 12-13 พฤศจิกายน จะมีการประชุมสุดยอดอาเซียน ที่กรุงพนมเปญ วันที่ 15-16 พฤศจิกายน จะมีการประชุม G20 ที่บาหลี อินโดนีเซีย และปิดท้ายด้วยการประชุม APEC 2022 ที่กรุงเทพมหานคร ช่วงวันที่ 18-19 พฤศจิกายน การประชุมระดับโลกที่กำลังจะเกิดขึ้นในอาเซียนทั้ง 3 ครั้ง  ในช่วงเวลาที่ติดต่อกันเช่นนี้ ดิฉันคิดว่าเป็นโอกาสดียิ่งของประเทศไทย และประชาคมอาเซียนจะได้แสดงศักยภาพของพวกเราให้โลกได้รับรู้ภาวะเศรษฐกิจและสังคมโลกหลังจากเกิดการระบาดโควิด-19 สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรง ห่วงโซ่อุปทานเกิดปัญหา ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะงักงันอย่างที่ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ และแน่นอนว่าประเทศไทยของเราและอาเซียนก็ย่อมจะหนีไม่พ้นผลกระทบดังกล่าวด้วยเช่นกัน  

เมื่อเราดูตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยเปรียบเทียบกับประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุด 5 อันดับในอาเซียนด้วยกันคือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์และประเทศไทย รวมถึงดาวรุ่งอย่างเวียดนาม ก็จะพบว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยนั้น ต่ำที่สุด ในกลุ่มประเทศเหล่านี้ มาตั้งแต่ก่อนจะเกิดการระบาดของโควิด-19 สงครามการค้าและสงครามยูเครนเสียอีก  ซึ่งนั่นสะท้อนถึงโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่อ่อนแอ และความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยที่ลดต่ำลงนั่นเอง ซึ่งการเป็นเจ้าภาพเอเปค 2022 ของประเทศไทยนั้นเป็นโอกาสสำคัญที่จะช่วยให้เราแก้ปัญหาสำคัญเหล่านี้ 

การประชุมสุดยอดอาเซียนที่กรุงพนมเปญนั้น นอกจากประเทศสมาชิกทั้งสิบประเทศที่จะเข้าร่วมประชุม และประเทศคู่เจรจาสำคัญๆ อาทิ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เข้าร่วมแล้ว ก็จะยังมีการประชุม US-ASEAN summit และ East Asia Summit ซึ่งจะมีผู้นำจากสหรัฐฯและรัสเซีย เข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งปีนี้ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้ตอบรับที่จะมาเข้าร่วมประชุมที่กรุงพนมเปญ ขณะที่ยังไม่มีการยืนยันว่าประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน จะเข้าร่วมประชุมด้วยหรือไม่ หากผู้นำทั้งสามประเทศคือ จีน สหรัฐฯและรัสเซียมาประชุมกันพร้อมหน้า ก็คงจะเป็นเรื่องที่โลกจะต้องจับตามองกันอย่างใกล้ชิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างในช่วงเวลานั้น

หลังจากการประชุมสุดยอดอาเซียนแล้ว ผู้นำของประเทศยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจ 20 ประเทศของโลก (G20) ก็จะไปร่วมประชุมกันที่บาหลี ซึ่งในปีนี้ผู้นำทั้งทางตะวันตกเช่นสหรัฐฯ  เยอรมนี อังกฤษ และยุโรป น่าจะมากันครบ ส่วนทางตะวันออก เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ก็คงจะมาร่วมกันครบเช่นเดียวกัน ทำให้ อินโดนีเซียเจ้าภาพซึ่งเป็นประเทศอาเซียนเพียงประเทศเดียวที่เป็นสมาชิก G20 ได้รับความสนใจอย่างยิ่งจากสื่อมวลชนโลกอย่างแน่นอน และจะส่งเสริมให้อินโดนีเซียมีภาพลักษณ์ที่โดดเด่นยิ่งขึ้นไปอีก

หลังจากกรุงพนมเปญ และบาหลี ผู้นำระดับโลกก็จะมาร่วมประชุมกันใน APEC 2022 ที่กรุงเทพฯของเรา แม้ว่าประธานาธิบดี โจ ไบเดน จะไม่มาร่วมการประชุม โดยส่งระดับรองประธานาธิบดี คามาลา แฮร์ริส เข้าร่วมประชุมแทน ทำให้ความโดดเด่นของการประชุมลดลงไปบ้างก็ตามที แต่ส่วนมากผู้นำเขตเศรษฐกิจทั้ง 21 เขตก็ยังมาร่วมประชุมด้วยตนเอง

ดิฉันคิดว่าการเป็นเจ้าภาพเอเปค 2022 ครั้งนี้ เป็นโอกาสสำคัญของประเทศเราในการที่จะแสดงให้โลกเห็นศักยภาพของประเทศไทย เพื่อที่จะพลิกฟื้นประเทศไทยให้กลับมาแข็งแกร่ง และเป็นผู้นำในภูมิภาคนี้อีกครั้งหนึ่ง เพราะด้วยปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ปัญหาความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่ลดลง และปัญหาของการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศที่ลดลงอย่างมาก ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถที่จะพลิกฟื้นกลับมาแข็งแรงได้ด้วยประเทศเราเองอย่างลำพัง โดยปราศจากการเข้ามาลงทุน ค้าขายและท่องเที่ยวของประเทศต่างๆอย่างแน่นอน

ดังนั้น ในการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค 2022 ของประเทศไทย ดิฉันจึงอยากจะฝากประเด็นสำคัญ 3 ประเด็น ให้รัฐบาลได้พิจารณา ดังนี้ 1)รัฐบาลควรใช้โอกาสในการเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ แสดงตำแหน่งทางการแข่งขันของประเทศและยุทธศาสตร์ชาติที่ชัดเจนให้ประชาคมโลกได้รับรู้ เพราะในช่วงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ตำแหน่งของประเทศไทยบนแผนที่การแข่งขันโลกนั้นดูเลือนลางลงไปทุกปี มีเพียงเรื่องการท่องเที่ยวเท่านั้นที่ยังมีความแข็งแรง สร้างรายได้เข้าประเทศได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ในทางตรงกันข้ามเสน่ห์ในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ FDI กลับลดลงอย่างน่าตกใจ ในช่วงปี 2544-2548 จากที่ประเทศไทยเคยสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้เป็นสัดส่วน 44 % เมื่อเปรียบเทียบกับ FDI ที่เข้ามาลงทุนในห้าประเทศอาเซียนคือไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ในช่วงปี 2562-2564 ไทยเรากลับสามารถดึงดูดการลงทุนได้เพียงแค่ 4 % FDI ที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญนี้ส่งผลอย่างมากต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย

ตำแหน่งการแข่งขันของประเทศบนแผนที่การแข่งขันโลก และยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนที่นำพาประเทศไปสู่ตำแหน่งนั้น มีความสำคัญในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศไม่น้อยไปกว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ศักยภาพของคนในประเทศและปัญหาอุปสรรคในกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน ดังนั้นถ้ารัฐบาลใช้โอกาสนี้ทำให้ผู้นำทั้งทางภาครัฐและภาคเอกชนจาก 21 เขตเศรษฐกิจเกิดความเข้าใจตำแหน่งการแข่งขันของประเทศไทยและยุทธศาสตร์ให้ชัดเจนได้มากเท่าใด โอกาสที่ไทยจะสามารถดึงดูดการลงทุนจาก 21 เขตเศรษฐกิจก็จะมากยิ่งขึ้นเท่านั้น

2) การเป็นเจ้าภาพเอเปค 2022 ของไทยในครั้งนี้ เกิดขึ้นในช่วงที่โลกกำลังครุกรุ่นไปด้วยการเผชิญหน้ากันระหว่างมหาอำนาจโลกเช่น สหรัฐฯและจีน ด้านสงครามการค้า รวมไปถึงการเผชิญหน้าระหว่าง สหรัฐฯ พันธมิตร และรัสเซีย ซึ่งการเผชิญหน้าระหว่างประเทศมหาอำนาจเหล่านี้ ย่อมจะส่งผลให้ภูมิรัฐศาสตร์โลกในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ 

ประเทศไทยในฐานะประเทศหลักประเทศหนึ่งในประชาคมอาเซียนซึ่งจีนและสหรัฐต่างก็กำลังพยายามเข้ามาช่วงชิงการมีบทบาทนำในภูมิภาคนี้ โดยบางประเทศเลือกที่จะให้ความสำคัญกับสหรัฐฯมากกว่า ในขณะที่บางประเทศกลับเลือกที่จะให้ความสำคัญกับจีนมากกว่า และในฐานะที่ประเทศไทยเรามีตำแหน่งประเทศอยู่ตรงกลางระหว่างกลุ่มประเทศ CLMV กัมพูชา เมียนมาร์ สปป.ลาวและเวียดนาม ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับจีนตอนใต้ที่เรียกว่า “ภูมิภาคลุ่มน้ำโขง” ไทยจึงควรที่จะวางตำแหน่งประเทศบนภูมิรัฐศาสตร์โลกใหม่นี้ให้ดี โดยวางเป้าหมายให้ทั้งสองมหาอำนาจต้องร่วมมือกับไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศไทยและอาเซียนให้ได้ ในทุกวิกฤตย่อมจะมีโอกาสอยู่เสมอ ดังนั้นภายใต้วิกฤตภูมิรัฐศาสตร์โลกใหม่ หากรัฐบาลวางตำแหน่งประเทศไทยได้ดี สร้างความสัมพันธ์กับอาเซียนและมหาอำนาจของโลกได้อย่างถูกต้องเหมาะสม โอกาสที่เราจะพลิกวิกฤตโลกให้เป็นโอกาสของประเทศไทยก็มีความเป็นไปได้อย่างสูง 

3)รัฐบาลควรที่จะแสดง “จุดแข็ง” ของประเทศไทยที่มีมาโดยตลอดซึ่งก็คือ พลังความสามัคคีของคนไทย ความอ่อนน้อมและความมีน้ำใจของคนไทย แต่เพราะในช่วงเกือบยี่สิบปีที่ผ่านมา ไทยเราต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งการเมืองสองขั้ว ปัญหาความแตกต่างทางความคิดของคนต่างกลุ่มต่างวัย ทำให้ภาพความขัดแย้งของไทยถูกนำไปเผยแพร่ทั่วโลก ดังนั้นระหว่างการประชุมเอเปค 2022 รัฐบาลควรจะได้นำเอาภาพความสามัคคี ความมีน้ำใจของคนไทยโดยเฉพาะในช่วงที่โควิด-19 ระบาด ที่คนไทยทุกหมู่เหล่าได้ออกมาแสดงน้ำใจ ช่วยเหลือกันและกันอย่างเต็มที่ อย่างที่ไม่มีประเทศใดจะทำได้ มาแสดงให้ผู้เข้าร่วมประชุมและสื่อมวลชนทั้งโลกได้เห็นจุดแข็ง ของประเทศไทยให้ชัดเจน

ในขณะเดียวกันดิฉันก็อยากจะเชิญชวนนักการเมืองทุกขั้วทุกพรรค และพี่น้องประชาชนทุกหมู่เหล่า ได้ให้ความร่วมมือกันอย่างเต็มที่ในการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค 2022 และช่วยกันแสดงจุดแข็งของประเทศไทยให้โลกได้เห็นร่วมกัน ทั้งนี้เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ และพี่น้องประชาชนไทยทุกคน ดิฉัน และสมาชิกพรรคไทยสร้างไทยทุกคน พร้อมให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประเทศไทยจะประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง ในการจัดประชุมครั้งนี้  

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘อิ๊งค์’ โชว์30บ. เวทีผู้นำเอเปก

นายกฯ อิ๊งค์โชว์ผลงาน 30 บาทรักษาทุกที่ บนเวทีผู้นำภาคเอกชนเอเปก พร้อมชวนลงทุนด้านธุรกิจดูแลสุขภาพในไทย มั่นใจหลังให้นโยบาย “บีโอไอ”

นายกฯแพทองธาร สวมชุดผ้าไหมไทย ร่วมงานเลี้ยงผู้นำเอเปก

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สวมชุดผ้าไหมไทย ซึ่งเป็นผ้าไหมผสมผสานผ้าปักชาวเขา เข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำ เพื่อเป็นเกียรติ

นายกฯอิ๊งค์ โชว์ 30 บาทรักษาทุกโรค บนเวทีสุดยอดผู้นำภาคเอกชนเอเปก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อ 15 พ.ย. 2567 เวลา 16.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงลิมา ซึ่งช้ากว่ากรุงเทพฯ 12 ชม.) ณ the Grand National Theater of Peru กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมน

'นายกฯอิ๊งค์' อวยพรคนไทย สุขสันต์ 'วันลอยกระทง' ฉลองปลอดภัย

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ส่งคำอวยพร และเชิญชวนคนไทยร่วมลอยกระทงว่า “สวัสดีพี่น้องประชาชนคนไทยทุกท่าน สวัสดีจากประเทศเปรู

'นายกฯอิ๊งค์' สวมผ้าไหมไทย ถก 'ปธน.เปรู' ผลักดัน FTA ให้เสร็จปี 68

นายกฯ สวมผ้าไหมไทยศูนย์ศิลปาชีพ ถก 'ประธานาธิบดีเปรู' ผลักดันการเจรจา FTA ให้เสร็จภายในปี 68 ปลี้ม Softpower หนังไทย เพลงไทย ฮิตในเปรู