นักกฎหมาย ระบุร่างกฎกระทรวงคนต่างชาติถือครองที่ดิน ยังไม่มีผลบังคับใช้ 'เต้' ยื่นผู้ตรวจฯ แค่สร้างกระแส

'ดร.ณัฎฐ์' ปรมาจารย์ทางกฎหมายมหาชน ชี้ ร่างกฎกระทรวงคนต่างชาติถือครองที่ดิน ยังไม่มีผลบังคับใช้ กรณี 'เต้ มงคลกิตติ์' ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดิน แค่สร้างกระแสทางการเมือง

1 พ.ย.2565 - จากกรณีกระแสข่าว นายสิระ เจนจาคะ อดีต ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ คณะแกนนำกลุ่มหลอมรวมประชาชน จะยื่นคัดค้านร่างกฎกระทรวงดังกล่าวต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้ตรวจการแผ่นดิน และล่าสุดวานนี้ นายมงคลกิตต์ ได้ยื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อคัดค้านร่างกฎกระทรวงดังกล่าว

ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม นักกฎหมายมหาชน กล่าวถึงเรื่องนี้ว่าเป็นกระแสการเมือง ไม่ใช่ปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายของ กฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดของหน่วยงานรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะอธิบายกระบวนการตรากฎและมติคณะรัฐมนตรี เพื่อเป็นข้อมูลให้ประชาชนอีกด้านหนึ่ง โดยใช้วิจารณญาณในการรับฟังอย่างมีสติ ดังนี้

(1)กฎกระทรวง มีสถานะเป็นกฎหมาย ที่มีลำดับศักดิ์ ต่ำกว่าพระราชบัญญัติ ในการตรากฎหมาย แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง เป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร คือ เจ้ากระทรวง สรุปง่ายคือกฎกระทรวงไม่ใช่พระราชบัญญัติ ไม่ต้องผ่านการออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติ(รัฐสภา) ให้อำนาจฝ่ายบริหารสามารถออกได้แต่กฎกระทรวงที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง เศรษฐกิจหรือเกี่ยวกับเงิน ต้องผ่านมติความเห็นชอบคณะรัฐมนตรี สถานะกฎกระทรวง ภาษากฎหมาย เรียกว่า “กฎ”

(2)ปัจจุบัน กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข การได้มาซึ่งที่ดินสำหรับที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าวพ.ศ.2545 ลงนาม(ประกาศราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 119 ตอนที่ 7 ก วันที่ 18 มกราคม 2545)ออกตามความในมาตรา 96 ทวิ 96 ตรีโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน(ฉบับที่ 8) พ.ศ.2542

ตราบใด ร่วงกฎกระทรวงฉบับใหม่ยังไม่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาอันมีผลบังคับใช้ กฎกระทรวงฉบับปี 2545 ดังกล่าวยังมีผลบังคับใช้อยู่

(3)รัฐธรรมนูญมาตรา 5 วรรคหนึ่ง รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้น เป็นอันใช้บังคับมิได้

คำว่า การกระทำใด เป็นการบัญญัติขึ้นใหม่ แต่เดิมคำว่า “การกระทำใด” เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญ 2492 ในอดีต อำนาจตีความ เป็นอำนาจฝ่ายสภา ไม่ใช่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ บังคับไว้ ก่อนตรากฎหมายทุกฉบับจะต้องรับฟังความเห็น วิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้นให้รอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลความคิดเห็นและการวิเคราะห์ต่อประชาชนและนำมาประกอบในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว ให้รัฐจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกรอบระยะเวลาที่กำหนดโดยให้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนให้เหมาะสมกับบริบทต่างๆที่เปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ ตามมาตรา 77 วรรคสอง

“กฎกระทรวง” แม้ลำดับศักดิ์ต่ำกว่า พระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา ถือว่า เป็นกฎหมาย จะต้องปฎิบัติตามเงื่อนไขมาตรา 77 ประกอบมาตรา 258

(4) อำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดิน องค์กรอิสระ องค์กรหนึ่งตามรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 231 (2) ให้อำนาจผู้ตรวจการแผ่นดิน หากเห็นว่า กฎ คําสั่ง หรือการกระทําอื่นใดของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครอง และให้ศาลปกครองพิจารณาวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง

ปัญหาว่า ร่างกฎกระทรวงอยู่ในขั้นตอน ส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อพิจารณาตรวจสอบและรับฟังความคิดเห็น ก่อนที่จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง ตามที่ ศ.ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ไว้ เท่ากับร่างกฎกระทรวงที่ ครม.อนุมัติ เป็นเพียงหลักการเบื้องต้นเท่านั้น จะต้องนำมาเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อมีมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ประชาชน เห็นต่าง ย่อมสามารถคัดค้านได้ มีระยะเวลาก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี

(5)กรณีกฎกระทรวง มีสถานะเป็นกฎ แต่หากว่า เป็นคดีพิพาทความชอบด้วยกฎหมายที่กฎ ออกโดยมติคณะรัฐมนตรีหรือความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 11(2) ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ให้คดีดังกล่าวอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาศาลปกครองสูงสุด

มี 2 ช่อง คือ ประชาชนได้รับเดือนร้อนหรือเสียหาย ไม่ต้องอุทธรณ์คำสั่ง เพราะสภาพกฎใช้บังคับทั่วไป สามารถฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดได้ภายใน 90 วันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน อาศัยมาตรา 231(2)

ส่วนกรณีคัดค้านร่างกฎหมาย ต่างชาติถือครองที่ดิน ใช้ช่องทางผู้ตรวจการแผ่นดินได้หรือไม่ อย่างไร ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า สถานะการแก้ไขกฎกระทรวง จะมีความแตกต่างกรณีการแก้ไขร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีกลไกให้ ส.ส.หรือ สว.เข้าชื่อกันตรวจสอบส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

ยกตัวอย่างร่าง พรป.พรรคการเมือง ร่าง พรป.สส. เป็นต้น แต่ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข การได้มาซึ่งที่ดินสำหรับที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว พ.ศ….ฉบับนี้ ยังต้องเสนอให้มติ ครม.พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง แตกต่างกฎกระทรวงอื่น หากมติ ครม.เห็นชอบ ไม่ต้องนำมาเสนอซ้ำอีก หากผ่านมติ ครม.ยังมีกระบวนการลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เจ้ากระทรวง และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้ ให้ประชาชนดู กฎกระทรวงปี 2545

ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า กรณี ส.ส.เต้ มงคลกิตติ์ รีบยื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เฉพาะการยื่นคำร้องขอให้ตรวจสอบสามารถกระทำได้ ไม่มีกฎหมายห้าม แต่จะมีมติรับคำร้อง ส่งให้ศาลปกครองพิจารณา และเข้าเงื่อนไขการฟ้องคดีปกครองหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง กรณียกขึ้นอ้างว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 1 ต้องศึกษาก่อนว่าคำว่าประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกไม่ได้ ในเชิงรัฐศาสตร์ National State หมายถึง ดินแดน พลเมือง อำนาจอธิปไตย และรัฐบาล แต่ในทางกฎหมายมหาชน คำว่า แบ่งแยก หมายถึง ทำให้ขาดออกจากกัน อาทิ ขบวนการโจรแบ่งแยกดินแดง หรือการขุดผืนแผ่นดินให้ขาดจากกัน เช่น แนวคิดขุดคลองคลอดกระ เป็นต้น

แต่การได้กรรมสิทธิ์โดยการซื้อที่ดินของคนต่างด้าวมีมาตรา 96 ทวิ และหลักเกณฑ์ควบคุมมาตรา 96 ตรี ตามกฎหมายที่ดิน ส่วนกฎกระทรวงเพียงกำหนดรายละเอียด เงื่อนไขการเพิ่มเงื่อนไขในกลุ่มที่มีศักยภาพ และควบคุมเฉพาะที่อยู่อาศัย ทั้งสร้างกลไกให้อธิบดีกรมที่ดินควบคุมและรมต.ว่าการกระทรวงมหาดไทยอนุญาตเฉพาะราย

"หากเทียบเคียงการซื้อขายที่ดิน คนต่างชาติให้นอมินีถือครองในประเทศไทยมีมาตั้งนานแล้ว โดยอาศัยเลี่ยงข้อกฎหมาย ยกตัวอย่าง คนไทยเมียเช่า คนไทยเมียต่างชาติ ถือครองแทนสามีต่างชาติ หรือจดทะเบียนการเช่าที่ดิน 30 ปี ย่อมไม่แตกต่างกัน เวลากลับไปประเทศไม่สามารถหนีบที่ดินกลับไปได้" ดร.ณัฐวุฒิ ระบุ

ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่าในมาตรา 231(2) รัฐธรรมนูญบัญญัติว่า กฎ คำสั่ง การกระทำอื่นใด”ของหน่วยงานรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ตรงนี้ต้องถามว่า ส.ส.เต้ มงคลกิตติ์ไปร้องผู้ตรวจการ ร้องประเด็นไหนหากร้องเฉพาะร่างกฎกระทรวงฯที่ยังไม่มีสถานะเป็นกฎกระทรวง คำร้องนั้นย่อมตกไป เพราะยังไม่เข้าหลักเกณฑ์คดีพิพาทความชอบด้วยกฎหมายของกฎที่ออกโดยคณะรัฐมนตรี หรือออกตามมติคณะรัฐมนตรี ตามมาตรา 11(2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ประกอบกับ “กฎ”ตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฎิบัติราชการทางปกครอง มีผลบังคับใช้เป็นการทั่วไป ตราบใดที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยยังไม่ลงนามและประกาศใช้ ยังไม่เข้าเงื่อนไขเป็นบุคคลที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน

"ตั้งข้อสังเกตว่า หากเห็นว่า กฎกระทรวงฉบับปี 45 มีผลบังคับใช้อยู่ ที่ออกตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน(ฉบับที 8) พ.ศ.2542 เท่าที่เห็น ยังไม่มีบุคคลใดออกมาคัดค้านว่า การได้มาซึ่งที่ดินคนต่างด้าว เป็นการเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต เสียดินแดน หรือขายชาติ แต่กลับนิ่งเงียบโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย นายจตุพร พรหมพันธุ์ เป็นส.ส.และรองโฆษกพรรคพลังประชาชน จัดรายการทีวี ความจริงวันนี้ ในปี 2551 ไม่เห็นคัดค้าน หรือพูดถึงแม้แต่น้อย แต่วันนี้ มาเป็นแกนนำหลอมรวมประชาชน กลับมาร้องโวยวาย ซึ่งการได้มาโดยการซื้อขายที่ดินกรรมสิทธิ์ชาวต่างชาติถือครองเช่นกัน"

นักกฎหมายผู้นี้ กล่าวว่าจะเห็นได้ว่าช่องทางยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน อาศัยช่องมาตรา 231(1) เห็นว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมาย ป.ที่ดิน มาตรา 96 ทวิ มาตรา 96 ตรี ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ข้ออ้างว่า เสียดินแดนบ้าง ขายชาติบ้าง อ้างถึงรักษาแผ่นดินบรรพบุรุษสมัยอยุธยาโน่น แก้ง่ายๆ เพื่อตัดไฟแต่ต้นลมกลับไม่ทำกัน คือยกเลิกกฎหมาย 2 มาตรานี้ เพราะกฎกระทรวงเป็นเพียงกลไกเครื่องมือสร้างหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่รัฐกำกับควบคุมเท่านั้น

"จุดอ่อนรัฐบาลต้องการฟื้นฟูประเทศ กระตุ้นเศรษฐกิจสร้างแรงจูงใจต่างชาติ จึงเป็นการง่าย ต่อการหยิบยกเพื่อโจมตีรัฐบาลว่า ขายชาติ ไม่ต่างจากรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัน ที่โดนกระแสในปี 2531 จึงล้มเลิกไป การแก้ไขกฎหมายที่ดินในปี 2542 สมัยชวน หลีกภัย แค่ตั้งแท่น แต่ขาดกฎกระทรวง จึงมาเกิดในยุคสมัยนายทักษิณ ชินวัตร ปี 2545 นั่นเอง" ดรณัฐวุฒิ กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประธาน กกต.แสลงคำว่า 'เลื่อน' บอกยังไม่ประกาศชื่อ สว.เพราะยังไม่เสร็จ!

ประธาน กกต.รับ ยังไม่ประกาศรับรอง สว.วันนี้ชี้ไม่ใช่การเลื่อนแต่ต้องพิจารณาคำร้องให้แล้วเสร็จ ย้ำหากสุจริตเที่ยงธรรมก็ประกาศได้

รทสช. เตรียมดัน กม.ปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเข้าสภา จ่อเรียกถก สส. 2 ก.ค.นี้

พรรครวมไทยสร้างชาติได้เตรียมร่างกฎหมายที่จะเสนอไปเข้าสู่การพิจารณาของสภาหลายฉบับ ซึ่งเป็นกฎหมายที่จะแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้พี่น้องประชาชนในหลายเรื่อง