'ไทยสร้างไทย' ดัน 'บึงกาฬ' ศูนย์กลางส่งออกอีสานเหนือ เที่ยวสายมู

‘สุดารัตน์ – สุพันธุ์’ ดัน ‘บึงกาฬ’ ศูนย์กลางส่งออกอีสานเหนือ พัฒนาท่องเที่ยวสายมู ประกาศยางพาราราคาต้องไม่ต่ำกว่ากิโลละ 45 บาท

24 ต.ค. 2565 – คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย นายสุพันธุ์ มงคลสุธี รองหัวหน้าพรรค และประธานคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจพรรคไทยสร้างไทย นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย นาย ธนวณิช ชัยชนะ ว่าที่ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคไทยสร้างไทย จังหวัดบึงกาฬ เข้าพบปะพูดคุย กับ นาย บุญเพ็ง ลามคำ ประธานสภาหอการค้า สมาชิกสภาหอการค้า สมาชิกสภาอุตสาหกรรม ประชาชน นักธุรกิจ และ ภาคเอกชน ที่ ตำบลหอคำ อำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ เพื่อพูดคุยรับฟังความคิดเห็นและปัญหาของประชาชนในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ

นายสุพันธุ์ เสนอว่า ปัจจุบันจังหวัดบึงกาฬเป็นจังหวัดที่ยากจนติดอันดับต้นๆ ของประเทศ ทั้งๆ ที่มีภูมิประเทศและทรัพยากร ที่มีความสามารถที่จะพัฒนาต่อไปได้หลากหลายด้าน แต่ยังขาดความเอาจริงเอาจังจากภาครัฐ และ การแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุด ตอนนี้เริ่มมีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานหลายอย่างขึ้น เพื่อที่จะพัฒนาต่อในอนาคต ทั้งสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 การตัดถนนคู่ขนาน การเตรียมการก่อสร้างรถไฟ และ สนามบินที่อาจจะมาถึงในอนาคต ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่จะเกิดขึ้นเหล่านี้ ทำให้จังหวัดบึงกาฬมีโอกาสที่จะพลิกฟื้นจากพื้นที่ยากจนเป็นพื้นที่เศรษฐกิจดีขึ้นกว่านี้ได้ อย่างน้อยใน 3 ด้าน

ด้านแรกคือด้านการท่องเที่ยว ที่ในปัจจุบันนั้นมีการค้นพบแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญใหม่ๆ เช่น ถ้ำนาคา ที่สามารถพัฒนาเป็นการท่องเที่ยวแบบ มูเก็ตติ้ง หรือการท่องเที่ยวสายมู หรือบริเวณริมแม่น้ำโขงที่สามารถสร้างเป็นแลนด์มาร์กสำคัญ ให้คนมาเที่ยวชม ล่องเรือไหว้พระ เป็นเส้นทางบุญได้ รวมทั้งประเพณีต่างๆ เช่น บุญบั้งไฟ ที่ต้องจัดให้ยิ่งใหญ่ขึ้นเพื่อที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยว ให้เที่ยวไทยยาวนานขึ้น ให้เป็นหนึ่งในจุดมุ่งหมายต่อไปๆ

ด้านต่อมาคือ ด้านอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการเกษตร เพราะบึงกาฬเป็นจังหวัดที่มีการปลูกยางมาก แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือราคายางที่ตกต่ำ และ ขาดการแปรรูป รัฐจึงจำเป็นต้องส่งเสริมให้เกิดการแปรรูปมากขึ้น ทั้งในด้านนวัตกรรม การวิจัยผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยี และ เงินทุน เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลผลิต นายสุพันธุ์ได้เสนอเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันประเทศที่ส่งออกยางมากเป็นอันดับโลก คือ ไทย อินโดนีเซีย และ มาเลเซีย แต่ทั้งสามประเทศไม่เคยพูดคุยเพื่อที่จะรวมตัวกัน ต่างคนต่างขาย ถ้าหากรวมตัวกันจะทำให้เราสามารถกำหนดราคาในตลาด และมีอำนาจต่อรองมากขึ้น

และสุดท้ายคือ ด้านการขนส่ง ที่สามารถเป็นศูนย์กลางการส่งออกเพื่อหนุนเสริมอีกทั้งสองด้าน เพราะในอนาคตจะมี สะพานมิตรภาพแห่งใหม่ มีทางรถไฟ และ สนามบิน ที่จะเปิดโอกาสให้บึงกาฬเป็นศูนย์กลางการส่งออกสินค้าไปยังจีน โดยที่ไม่ต้องอ้อมไปถึงท่าเรือแหลมฉบังเหมือนปัจจุบัน

ขณะที่ คุณหญิงสุดารัตน์ ให้ความเห็นว่า ตอนนี้พรรคไทยสร้างไทยมีแนวคิดที่จะดันให้ภาคอีสานตอนเหนือเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ประกอบด้วย อุดร หนองคาย และ บึงกาฬ โดยจะผลักดันเพื่อให้เกิดนวัตกรรมต่างๆ เพื่อจะสนับสนุนการแปรรูปยางพารา สร้างอุตสาหกรรมในพื้นที่ แต่ในขณะเดียวกัน ก็จะต้องมีการจัดโซนนิ่ง ระหว่างพื้นที่ต่างๆ เพราะจะดันให้เป็นทั้งเขตอุตสาหกรรม และ ในขณะเดียวกันก็จะผลักดันการท่องเที่ยว จึงต้องมีการสร้างอุตสาหกรรมที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม จะจัดสรรระบบชลประทานใหม่ รวมทั้งให้คำมั่นว่า จะต้องทำให้ยางพารามีราคาไม่ต่ำกว่ากิโลละ 45 บาท เพื่อแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกรชาวสวนยาง

นอกจากนี้ คุณหญิงสุดารัตน์ ย้ำว่า ในด้านการท่องเที่ยว ประเทศไทยมีกฎหมายอีกหลายฉบับที่เป็นอุปสรรคต่อการทำมาหากิน ทางพรรคจึงมีนโยบายที่จะแขวนกฎหมายเหล่านี้ไว้ ด้วยการออกพระราชกำหนดมาหนึ่งฉบับ พักการใช้กฎหมายที่ซ้ำซ้อนและเป็นอุปสรรคต่อการทำกินของพี่น้องประชาชน เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาลืมตาอ้าปากได้โดยเร็ว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นักวิชาการแนะทางแก้ 'ปลาหมอคางดำ' เชื่อแพร่พันธุ์ภาคอีสานยาก

ผศ.ดร.พรเทพ เนียมพิทักษ์ หัวหน้าสาขาวิชาประมง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข. เปิดเผยว่า แม้ขณะนี้ยังคงไม่พบการแพร่พันธุ์ของปลาหมอคางดำในภาคอีสาน

'กรมการท่องเที่ยว' จัด 'Trust Me' ลุยเส้นทาง กทม.-ปริมณฑล ดูสถานประกอบการผ่านมาตรฐานการท่องเที่ยวไทย

นายจาตุรนต์ ภักดีวานิช อธิบดีกรมการท่องเที่ยว เปิดเผยว่า กรมการท่องเที่ยวเดินหน้ากระตุ้น สนับสนุนภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ภาย