28 ก.ย.2565 - จากกรณี คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เผยแพร่แนวทางการปฏิบัติและข้อควรระวังในช่วงระยะเวลาการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้สมัครและพรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและหน่วยงานของรัฐนั้น
ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม นักฎหมายมหาชน ได้ให้ความเห็นว่าการที่ กกต.ได้ออกระเบียบกติการวิธีการหาเสียงล่วงหน้าตามมาตรา 68 แห่ง พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.เพราะกฎเหล็ก 180 วันนั้น ถือได้ว่าเป็นการเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง 100% แต่ที่เคยให้สัมภาษณ์ที่ผ่านมามีข้อยกเว้น คือ การยุบสภา ไม่นับช่วงระยะเวลา 180 วัน กฎหมายบัญญัติให้การหาเสียงนับหนึ่งนับแต่วันยุบสภา ตามมาตรา 68(2) ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน
ส่วนที่ว่าการเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง ส.ส.ในกฎหมายเลือกตั้งฉบับใหม่นี้ เพิ่งจะมีครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่กำหนดกรอบเวลา 180 วัน มาตรา 68(1) โดยมีข้อห้ามในมาตรา 73 หากอ่านเอกสารที่เผยแพร่ โดยสำนักกฎหมายและคดี สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง แนวทาง การดำเนินการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อันเนื่องมาจากการครบอายุของสภา ผู้แทนราษฎร ซึ่งให้กระทำได้ตั้งแต่ 180 วันก่อนวันครบอายุ จนถึงวันก่อนวันเลือกตั้ง (เริ่มวันที่ 24 กันยายน 2565) หน่วยงานของรัฐ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้สมัครและพรรคการเมือง
โดยเฉพาะข้อ 1.5 เป็นข้อห้าม ผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมือง ไม่สามารถมอบสิ่งของช่วยเหลือประชาชน ในสถานการณ์ต่างๆ ได้ ซึ่ง การมอบสิ่งของช่วยเหลือประชาชน ซึ่ง กกต.จะต้องควบคุมและจัดการเลือกตั้ง ส.ส.โดยสุจริตและเที่ยงธรรม ตามความในมาตรา 224 (1)(2) แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ตั้งข้อสังเกต ดังนี้
(1)การมอบสิ่งของช่วยเหลือประชาชนคาบเกี่ยวกับการให้ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใด เป็นข้อห้ามตามมาตรา 73(1)(2)(3)(4) ถือว่าทุจริตในการเลือกตั้ง บทกำหนดโทษตามมาตรา 158,159 ระวางโทษจำคุก ตั้งแต่ 1 ถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 ถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น 20 ปี ส่งผลให้การเลือกตั้งไม่สุจริตและเที่ยงธรรม หากก่อนประกาศผลเลือกตั้ง กกต.อาจแจกใบส้ม ระงับสิทธิสมัครเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 225 ประกอบมาตรา 224(4) ภายหลังประกาศผลเลือกตั้ง กกต.อาจแจกใบแดง มีผลเป็นใบดำ มาตรา 235 วรรคสี่ โดยอัตโนมัติ ประหารชีวิตทางการเมือง
สำหรับ กก.บห.พรรคการเมือง หากมีส่วนรู้เห็นหรือสนับสนุน เป็นเหตุถูกยุบพรรคได้ หากพิจารณาถึงแนวทางฯ ผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง ยังสามารถช่วยเหลือประชาชนได้โดยไม่ต้องมอบหรือแจกสิ่งของถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน เพราะการมอบสิ่งของ เป็นการหาเสียงล่วงหน้า เข้าหลักเกณฑ์คือ การให้ทรัพย์สิน อันเป็นข้อห้ามตามกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 73 หากพิจารณาหลักความเท่าเทียม ทำให้ทุกพรรคการเมือง ไม่ว่า พรรคการเมืองขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก หรือพรรคการเมืองที่จดจัดตั้งใหม่ มีความเสมอภาคเท่าเทียมกันในแง่การหาเสียง
(2)แนวทาง ข้อ 1.5 จะเกิดขึ้นกับทุกพรรคการเมือง เพราะหากไม่สามารถช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์ ต่างๆ ได้ เช่น การมอบสิ่งของช่วยเหลืออุทกภัย วาตภัย เหตุอัคคีภัย และโรคระบาด หรือเหตุ อันเกิดขึ้นในลักษณะทำนองเดียวกัน เป็นข้อจำกัดของผู้สมัครและพรรคการเมืองฝ่ายค้าน หรือพรรคการเมืองที่ไม่มี ส.ส.ในสังกัด
(3) เกณฑ์กำหนดกรอบเวลาหาเสียง 180 วัน ตาม พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นกฎเหล็ก หลุมพราง ข้อห้ามหยุมหยิมและมีบทลงโทษ รวมทั้งนำไปคำนวณค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่ในขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญเปิดช่อง ตาม มาตรา 105 วรรคหนึ่ง(1) กรณีตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งว่างลง ตั้งจัดเลือกตั้งใหม่เว้นแต่อายุของสภาผู้แทนราษฎรจะเหลืออยู่ไม่ถึง 180 วัน นับแต่นี้ไป จะเห็น ส.ส.ที่ประสงค์ย้ายพรรค หรือพวกงูเห่าทั้งหลาย จะลาออกจาก ส.ส.และย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองใหม่ และไม่ต้องจัดเลือกตั้งใหม่ให้เสียงบประมาณ ประกอบเป็นเงื่อนไขในสิทธิสมัคร ส.ส.ตามมาตรา 97(3) เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใด พรรคการเมืองเดียว เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 90 วันนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ยุบสภา ระยะเวลา 90 วันให้ลดลงเหลือ 30 วัน
เมื่อถามว่า ในการทำพื้นที่ ของ ผู้สมัคร ส.ส.เขต โดยเฉพาะงานแต่งงาน งานบวช งานศพ ตามแนวทางฯ มีหลักเกณฑ์ อย่างไร ดร.ณัฐวุฒิ อธิบายว่า ตามที่กำหนดแนวทางไว้ ข้อ 1.1 ผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมือง สามารถไปร่วมงานประเพณีต่างๆ เช่น งานแต่งงาน งานบวช งานศพ และมอบพวงหรีดดอกไม้สดได้ แต่ต้องไม่มีการให้เงินหรือทรัพย์สินต่างๆ ยกเว้น กรณีที่ฝ่ายเจ้าภาพได้จัดเตรียมสิ่งของตามพิธีการไว้ให้มอบในงานด้วย เช่น ผ้าบังสุกุล ปัจจัย เป็นต้น หรือการระบุชื่อไว้เป็นประธานในงานกฐิน โดยผู้สมัครและ/หรือพรรคการเมืองไม่ได้มอบเงินหรือทรัพย์สินของตนเอง สามารถกระทำได้
แต่ทั้งนี้ เจ้าภาพงานจะประกาศชื่อ หมายเลขสมัครของผู้สมัครและ/หรือพรรคการเมือง ในลักษณะช่วยผู้สมัครหรือพรรคการเมืองนั้นหาเสียงเลือกตั้งไม่ได้ สรุปง่ายๆ คือ ไปร่วมงานของประชาชนในพื้นที่ได้ แต่ห้ามนำเงินใส่ซองทำบุญ อย่าลืมว่าในกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 73(2) ให้ทรัพย์สินแก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด สถานศึกษา สถานสงเคราะห์หรือสถาบันอื่นใด ย่อมทำไม่ได้เช่นกัน เพราะถือว่าเป็นการให้เงินหรือทรัพย์สิน อันเป็นการจูงใจผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น อีกมุมหนึ่ง ในทางการเมือง กฎเหล็กกติกากรอบระยะเวลา 180 วัน ในสนามเลือกตั้ง ส.ส.คำว่า “แลนด์สไลด์” อาจเกิดขึ้นยาก เพราะผู้สมัครและพรรคการเมืองถูกจำกัดโดยกติกา กฎเหล็ก ของ กกต.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มองต่างมุม 'ดร.ณัฏฐ์' เชื่อศาลรธน.ตีตกคำร้อง 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ล้มล้างฯ
สืบเนื่องจากกรณีนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญใน 6 ประเด็น เพื่อวินิจฉัยสั่งการให้ นายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย เลิกการก
'พงษ์ศักดิ์' แชมป์เก่า 6 สมัย ร้องประธาน กกต. สั่งระงับรับรองผลเลือกตั้งนายก อบจ.ขอนแก่น
นายพงษ์ศักดิ์ ตั้งวานิชกพงษ์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น หมายเลข 2 ได้ทำหนังสือเข้าร้องเรียน ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หลังตรวจพบว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น หมายเลข 1 ได้หาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านเฟสบุ๊ค จ
‘สนธิญา’ ยื่น กกต.สอบ ‘ทักษิณ’ ถือสัญชาติไทย-มอนเตฯ หรือไม่ เสี่ยงผิดกม.เลือกตั้งท้องถิ่น
สนธิญา ยื่น กกต.สอบ ทักษิณ ถือสัญชาติไทย-มอนเตฯ หรือไม่ เสี่ยงผิดกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น-พรรคการเมือง-รธน. ห้ามคนต่างชาติเอี่ยวการเลือกตั้งทุกระดับ พ่วงร้องสอบหาเสียงหยาบคาบ เป็นเท็จ อาจทำเลือกตั้ง อบจ.อดุรฯ โมฆะ
ฟิล์ม-รัฐภูมิ ยื่น กกต.ไขก๊อกพ้นสมาชิก พปชร. ‘ไพบูลย์’ ชี้เรื่องส่วนตัวไม่กระทบพรรค
เรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนตัว ที่ยังไม่รู้ว่าเขาผิดหรือเขาถูก เพราะเราไม่เกี่ยวข้อง และเรื่องนี้ไม่กระทบกับภาพลักษณ์พรรค ไม่ทำให้เรามีปัญหา
ดร.ณัฏฐ์ ชี้เลือกนายกอบจ.อุดร เพื่อไทยชนะไม่ขาดจะกระทบสนามใหญ่ เตือน 'ทักษิณ' ปากพาซวย!
“ดร.ณัฏฐ์” มือกฎหมายมหาชน ชี้ 'ทักษิณ ชินวัตร' ยกทัพไปช่วยหาเสียงนายกอบจ.อุดรธานี แม้เกณฑ์คนไปฟังเยอะ คะแนนสวนทาง หากไม่ชนะขาด กระทบต่อสนามใหญ่ ยกวาทะ 'ถ้าจะเลือกทักษิณ ให้เลือกเบอร์ 2' ระวังทำคนหลงผิดโทษถึงคุก!
'แก้วสรร' แพร่บทความ 'นิติสงคราม' คืออะไร?
นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ออกบทความเรื่อง “นิติสงคราม” คืออะไร???