เสียงเตือนจาก 'ดร.โกร่ง-ผู้ล่วงลับ' พรรคเพื่อไทยจะ 'ปลุกผีจำนำข้าว'

คำเตือนจาก 'ดร.โกร่ง-อดีตนักเศรษฐศาสตร์-อดีตรัฐมนตรีผู้ล่วงลับ' โครงการรับจำนำข้าวเปิดช่องคอร์รัปชัน ทำลายโครงสร้างตลาด ระบุรัฐบาลเสียเงินมากมาย แต่ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน ไม่ได้อะไรเลย ชูประกันรายได้-จ่ายส่วนต่างส่งตรงไปยังเกษตรกร ถ้าชาวนา ผู้ใหญ่บ้าน กำนันจะโกง ก็ยังดีกว่าโรงสี ผู้ส่งออก รัฐมนตรีโกง

9 พ.ย.2564 - จากกรณีราคาข้าวตกต่ำ ส่งผลกระทบอย่างสูงต่อเกษตรกรชาวนาผู้ปลูกข้าว ทำให้ฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย เตรียมที่จะฟื้นโครงการรับจำนำข้าวที่เคยทำไว้ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั้น

ล่าสุดสังคมเริ่มมีความกังวลว่าหากมีการฟื้นโครงการรับจำนำข้าวจะเกิดการคอร์รัปชันครั้งใหญ่อีกรอบ ขณะที่โซเชียลมีการแชร์ต่อบทความเรื่อง "จำนำข้าวเปิดช่องทางทุจริต ทำลายโครงสร้างตลาด" เตือนไปยังพรรคเพื่อไทย

บทความนี้เขียนโดย นายวีรพงษ์ รามางกูร หรือ "ดร.โกร่ง" นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และอดีตประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปัจจุบัน ดร.โกร่ง ได้เสียชีวิตลงแล้วเมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา

สำหรับบทความดังกล่าวตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2555 โดยมีเนื้อหาดังนี้

นโยบายและมาตรการอันหนึ่งที่น่าห่วงเพราะใช้เงินเป็นจำนวนมากมีปัญหาทั้งทางทฤษฎีและการปฏิบัติ โครงการที่ว่านี้คือโครงการรับจำนำสินค้าเกษตร เช่นข้าว ยางพารา มันลำปะหลัง ข้าวโพด กุ้งฯลฯ

ฟังดูว่าจะใช้เงิน 4 แสนล้านบาท มาหมุนเวียนซื้อสินค้าเกษตรเหล่านี้ นโยบายรับจำนำสินค้าเกษตรนี้เป็นนโยบายที่ล้มเหลวที่สุดตั้งแต่ทำกันมา ตั้งแต่ปี 2529 สูญเสียเงินละลายน้ำไปมากมาย โดยผลประโยชน์ไม่ได้ตกถึงมือเกษตรกรอย่างที่คิด ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ตกอยู่กับโรงสีผู้ส่งออก ลานตากมัน รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องพรรคพวกของนักการเมือง จึงไม่มีใครยอมเลิกโครงการนี้

เริ่มต้นชื่อก็ผิดแล้ว การรับจำนำนี้ปกติผู้รับจำนำต้องรับจำนำในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดโดยคาดว่าผู้จำนำจะมาไถ่คืน แต่การรับจำนำสูงกว่าราคาตลาดก็ไม่น่าจะเรียกว่าการรับจำนำเพราะไม่มีใครมาไถ่คืนในราคาจำนำที่สูงแล้วเอาไปขายในราคาที่ต่ำในตลาด การตั้งซื้อว่าโครงการรับจำนำจึงเป็นการตั้งชื่อหลอกลวงประชาชนเท่านั้นเอง

ในทางทฤษฎี สินค้าเกษตรที่ส่งออกไปขายในตลาดต่างประเทศทุกตัว เรา เป็นส่วนหนึ่งของตลาดโลกของสินค้านั้นๆ ตลาดภายในของเรากับตลาดโลกเป็นตลาดเดียวกัน เชื่อมโยงถึงกันอย่างใกล้ชิด เพราะเราไม่มีโควตาการส่งออก ไม่มีภาษีขาออก

สินค้าเกษตรทุกตัว ยกเว้น ยางพารากับมันสำปะหลังเช่น ข้าว จีนเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดในโลก รองลงมา คือ อินเดียและอินโดนีเซียตามลำดับ ในกรณีข้วโพด อเมริกาเป็นผู้ผลิตมากที่สุด

ข้าวที่ขายหมุนเวียนในตลาดโลกจึงมีสัดส่วนไม่มาก มันสำปะหลังก็เหมือนกันผู้ผลิตรายใหญ่คือ อินโดนีเชียในกรณียางพาราแม้ว่าประเทศเราจะยังเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดแต่ก็ยังมีอินโตนีเซีย มาเลเชีย ศรีลังกา จีนและประเทศอื่นๆ อีกมากมาผลิตด้วย

นอกจากนั้น สินค้าเกษตรทุกตัวยังมีของทดแทนกันได้เป็นคู่แข่ง เช่น ข้าว ก็มีข้าวสาลีข้าวโพดและธัญพืชอื่น ๆ เป็นคู่แข่ง เพราะถ้าข้าวราคาแพงผู้บริโภคในจีน อินเดีย และที่อื่นก็หันไปบริโภค หม่านโถว จาปาตี บะหมี่ แทนข้าวได้ ยางพาราที่ใช้ผลิตยางรถยนต์ก็มียางเทียมที่ผลิตจากน้ำมันปีโตรเลียมเป็นคู่แข่ง มันสำปะหลังก็มีพืชจำพวกแป้งอื่นๆเป็นคู่แข่ง

ด้วยเหตุนี้สินค้าเกษตรทุกตัว ราคาจึงถูกกำหนดโดยตลาดโลก รวมทั้งมันสำปะหลังซึ่งเราเป็นผู้ส่งออกสำคัญเพียงรายเดียวของโลก เราจึงเป็น "ผู้รับราคา" หรือ "price taker" ไม่ใช่ผู้กำหนดราคา หรือ "price maker"

นอกจากนั้นสินค้าเกษตรทุกตัวมีปริมาณออกสู่ตลาดโลกตลอดเวลา การกักตุนเพื่อเก็งกำไรไม่สามารถทำได้ หรือการกักตุนของเราก็ไม่ทำให้ราคาตลาดโลกเปลี่ยนแปลงเพราะจะมีผู้ผลิตรายอื่นเสนอขายในตลาดโลกแทนเราและถ้าเราเก็บไว้นาน 3-4เดือน ก็จะมีผลผลิตใหม่ออกมาแทนที่ พอเราจะขายราคาก็จะตกทันที การกักตุน จึงมีแต่ขาดทุน นอกจากมีไว้เพื่อค้าขายปกติ

ด้วยเหตุนี้ โครงการมูลภัณฑ์กันชน ระหว่างประเทศ หรือ "International BufferStocks" ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมูลภัณฑ์กันชนดีบุก หรือแนวคิดเรื่องมูลภัณฑ์กันชนสินค้าประเภทอาหาร โดยข้อเสนอขององค์การการค้าและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือUNCTAD ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2จึงประสบความลัมเหลว ใครเก็บกักข้าวไว้ก็เท่ากับช่วยให้คู่แข่งขายได้ก่อน ราคาอาจจะดีกว่าตอนที่เราขายทีหลัง เพราะถ้ามีใครกักเก็บ ผู้ซื้อผู้ขายก็รู้ว่ายังมีข้าวรอขายอยู่ก็จะไม่ยอมซื้อในราคาแพง

ฟังว่าจะใช้เงิน 4-5 แสนล้านบาทหมุนเวียนซื้อสินค้าเกษตรมากักตุน ก็เท่ากับคิดจะปั่นราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก หรือที่ภาษาฝรั่งเขาเรียกว่าจะ "corner the market"ตลาดโลกข้าวมันสำปะหลัง ยางพารา ข้าวโพดจึงเป็นไปไม่ได้ คนเคยทำแล้วล้มละลายก็มีมาก ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ ที่ส้มก็สืบเนื่องมาจากการพยายามปั่นตลาด หรือจะ corner ตลาดใบยาสูบ ดังนั้น เมื่อผลิตได้เท่าไร รีบส่งออกได้มากเท่าไรยิ่งดี แล้วก็ปลูกใหม่

ในทางปฏิบัติยิ่งมีปัญหา วิธีทำก็คือ การเลือกโรงสีเข้าร่วมโครงการ โรงสีไหนได้รับเลือกก็เหมือนถูกหวย

เมื่อรัฐบาลตั้งราคารับจำนำไว้สูงกว่าราคาตลาด สมมติ 10 เปอร์เซ็นต์ โรงสีก็จะซื้อข้าวเปลือกในราคาตลาด หรือไม่ก็ไม่ซื้อเลย แล้วทำใบประทวน สินค้าปลอมว่าซื้อข้าวใส่โกดังแล้วให้ชาวนาหรือลูกจ้างของตนมาลงชื่อว่าเอาข้าวมาจำนำเท่านั้นเท่านี้เกวียน แล้วเอาค่าลงชื่อไป 50 บาท 100 บาท อาจจะซื้อข้าวจากชาวนาที่มีอิทธิพลบางรายในราคาที่รัฐบาลประกาศบ้าง เวลาทางการมาตรวจเช็คก็จะให้เอาชาวนา 5-6 คนนี้มายืนยัน

เวลาทางการมาตรวจสต็อก ก็เอา สต็อกข้าวของตนเองมาแสดงพอเป็นพิธี ชาวนาโดยทั่วไปเมื่อขายข้าวให้โรงสีก็ขายในราคาตลาดนั่นเอง นี่คือ การฉ้อราษฎร์บังหลวงในรอบแรก

ต่อมาเมื่อข้าวเปลือกที่นำมาจำนำเป็นของรัฐบาล อาจจะมีข้าวจริงบ้าง ข้าวลมบ้างกระทรวงพาณิชย์ก็เอาไปขายเป็นข้าวรัฐบาลโดยจะมีบริษัทส่งออกที่รู้กันกับรัฐมนตรี ไปเร่ขายในตลาดต่างประเทศ และกล้ารับคำสั่งซื้อเพราะรู้กันกับรัฐมนตรีว่าจะสามารถซื้อข้าวจากรัฐบาลได้ในราคาเท่าใด รายอื่นไม่กล้ารับคำสั่งซื้อ เพราะไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะขายให้หรือไม่ในราคาเท่าใด ผู้ส่งออกรายอื่นๆจึงไม่อาจจะรู้ต้นทุนของตน ยกเว้นรายที่ทำมาหากินกับรัฐมนตรีพาณิชย์หรือนายกรัฐมนตรีประเทศเราส่งออกปีละ 9-10 ล้านตันบางปีข้าวรับจำนำของรัฐบาลมีปริมาณถึง3.5 ล้านต้น

โครงการนี้จึงเป็นโครงการทำลายโครงสร้างตลาดข้าวภายในประเทศ โรงสีที่ไม่มีเส้นสายเข้าร่วมโครงการก็ล้มละลายไป เพราะไม่มีข้าวส่งออก ทำให้โรงสีมีน้อยลง โรงสีที่เคยมีการแข่งขันก็กลายเป็นการผูกขาดโดยโรงสีที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้เท่านั้น

เป็นการเพาะศัตรูให้กับพรรครัฐบาลอย่างตรงไปตรงมาเพราะโรงสีที่ไม่ได้ร่วมโครงการหรือผู้ส่งออกที่ไม่ใช่พวกรัฐมนตรี มีมากกว่าที่เป็นพวกรัฐมนตรี

ในกรณีรับจำนำมันสำปะหลังก็ดี ยางพาราก็ดี หรือแม้แต่ลำไยก็มีลักษณะเดียวกัน กล่าวคือ โรงมัน โรงเก็บยางแผ่น ซื้อมัน ซื้อน้ำยางยางแผ่นในราคาตลาด ให้ชาวไร่ชาวสวนยางลงชื่อเพื่อรับเงินค่าลงชื่อ แล้วก็เอามาจำนำกับรัฐบาลในราคาสูงกว่าราคาตลาด เมื่อรัฐบาลจะขายก็ขายในราคาต่ำกว่าราคาตลาดให้กับผู้ส่งออกที่หาเงินให้รัฐมนตรีไป ขายในตลาดโลกตัดราคาผู้ส่งออกรายอื่นเอาคำสั่งซื้อไป เพราะตนรู้อยู่คนเดียวว่าจะลามารถซื้อจากรัฐบาลได้ในราคาเท่าใด

เมื่อรัฐบาลจะขายข้าว ขายมัน ขายยางโดยรับคำสั่งซื้อแล้วก็จะไม่ส่งออกเอง แต่มอบให้พ่อค้าผู้ส่งออกประมูลไป การประมูลก็ทำหลอกๆ เพราะมีการกำหนดเงื่อนไขคุณสมบัติให้ตรงกับผู้ส่งออกที่รัฐมนตรีกำหนดตัวไว้แล้วแบ่งกำไรกินกัน

นี่คือ การฉ้อราษฎร์บังหลวงหรือคอร์รัปชันจากโครงการจำนำสินค้าเกษตรรอบสอง รัฐบาลเสียเงินขาดทุนมากมายส่วนเกษตรกรไม่ได้อะไรเลย ขายของได้ในราคาตลาดเท่านั้นเอง ที่ประชาธิปัตย์ทำไว้โดยการประกันรายได้นั้นดีแล้ว จ่ายส่วนต่างระหว่างราคาตลาดกับราคาประกันตรงให้ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวนเลย ถ้าชาวนา ผู้ใหญ่บ้าน กำนันจะโกง ก็ยังดีกว่าโรงสีผู้ส่งออก รัฐมนตรีโกง

ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวนที่เคยได้ประโยชน์จากโครงการชดเชยส่วนต่างของราคาตลาดกับราคาประกัน ซึ่งมีจำนวนมากกว่า ก็จะโวยวายถ้าหันกลับไปใช้โครงการรับจำนำอีก แต่ถ้าไม่ทำ โรงสี โรงมัน ผู้ส่งออกก็คงจะจัดคนมาเดินขบวน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภูมิธรรม สุดปลื้มโพสต์ปิดตำนานจำนำข้าว สมัยยิ่งลักษณ์สำเร็จ คุยโกยเงินเข้ารัฐ

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว แสดงความยินดี

'ภูมิธรรม' ยันยังไม่เลิก 'ไร่ละพัน' แจง 'ปุ๋ยคนละครึ่ง' หวังช่วยชาวนาอีกทาง

'ภูมิธรรม' แจงไม่ได้ยกเลิกไร่ละพัน พร้อมดึงกลับมาใช้ถ้าราคาข้าวตก ย้ำคนละส่วนกับปุ๋ยคนละครึ่ง ชี้ สส. รุมค้าน เหตุไม่เข้าใจถ่องแท้ไปฟังเกษตรกรมา