'โรม' เหน็บ 'มีชัย' มี 2 ร่าง ซัดตีความ 8 ปี นับตั้งแต่ 6 เม.ย.60 ขัดแย้งเจตนารมณ์รธน.

'โรม' เหน็บ 'มีชัย' มี 2 ร่าง ซัดตีความ 8 ปี นับตั้งแต่ 6 เม.ย.60 ขัดแย้งเจตนารมณ์รธน. รับกังวลคำวินิจฉัยศาลเปลี่ยน จี้ 'บิ๊กตู่' ลาออก ชี้ เป็นนายกฯมานาน 8 ปี เป็นเรื่องมหัศจรรย์แล้ว

7 ก.ย. 2565 - ที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวถึงกรณีที่มีเอกสารปม 8 ปีนายกรัฐมนตรีหลุด ว่า เมื่อวานนี้(6ก.ย.) ได้มีเอกสารในเรื่องของวาระ 8 ปีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเอกสารระบุว่านายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ปี 60 ได้มีการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เบื้องต้นขอเรียนว่าหากเอกสารเป็นฉบับนั้นจริง หมายความว่ามีนายมีชัย 2 คนในเวลานี้ ซึ่งคนเก่าคือนายมีชัย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ มีความเห็นต่อกรณี 8 ปีอีกแบบหนึ่ง แต่คนใหม่วันนี้ให้เป็นอดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และให้ความเห็นทางกฎหมายต่อกรณี 8 ปีตรงกันข้าม ซึ่งตนมีความเห็นด้วยกับนายมีชัยคนเก่า และขอยืนยันว่าหากจะนับในเรื่อง 8 ปีพล.อ.ประยุทธ์ มีความจำเป็นที่จะต้องนับต่อเนื่องกัน โดยตัวบทเฉพาะกาลได้เขียนเอาไว้อย่างชัดเจน ว่าการนับระยะเวลาก่อนที่รัฐธรรมนูญ 60 บังคับใช้นั้นหมายความว่าจะต้องนับคณะรัฐมนตรีก่อนรัฐธรรมนูญปี 60 ต่อเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน

"ดังนั้นไม่มีเหตุผลอะไรที่จะตีความว่าการดำรงตำแหน่งของพล.อ.ประยุทธ์ จะไม่ครบ 8 ปี ทั้งนี้ เมื่อวาน (6 ก.ย.) ได้มีเอกสารหลุดมาอีก 1 ฉบับ ซึ่งเป็นบันทึกการประชุมของกรธ.ครั้งที่ 501 ซึ่งมีความชัดเจนว่า ทางกรธ. ได้รับรองเอกสารการประชุมครั้งที่ 500 นั้นหมายความว่าสิ่งที่คุณมีชัย หากเป็นไปตามที่เอกสารหลุดออกมาเป็นความจริงที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ก็เป็นการแสดงให้เห็นว่า ถ้อยคำที่ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ที่บอกว่า การจดการจดของชวเลข เป็นการจดที่คลาดเคลื่อน หรือแม้กระทั้งบอกว่าเป็นการจดที่ไม่ครบ ก็จะโต้แย้งประโยคเหล่านี้ และทำให้เห็นว่าน้ำหนักของเอกสารหากยื่นไปที่ศาลรัฐธรรมนูญมีน้ำหนักไม่มาก ถึงที่สุดความเห็นตามเจตนารมณ์ของกฎหมายมีความชัดเจน และคำพูดใดๆที่มีการสนทนาในการประชุม ได้เป็นนายไปแล้ว " นายรังสิมันต์ กล่าว

นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า และการตีความอื่นๆของนายมีชัย ก็ไม่สามารถฟังได้ตามหลักการ และต้องยืนยันอีกครั้งว่า ถ้าเจตนารมณ์ของความมุ่งหมาย ของรัฐธรรมนูญคือการป้องกันการผูกขาดอำนาจ และการป้องกันไม่ให้มีนายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งที่ยาวนานเกินไปอันจะนำไปสู่วิกฤตทางการเมือง ถ้าเราตีความให้พล.อ.ประยุทธ์ต้องนับวันแรกของการเป็นนายกรัฐมนตรี คือ 6 เม.ย. 60 เรากำลังตีความขัดแย้งต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งตนคิดว่าวิกฤตทางการเมืองต่อไปจะเกิดขึ้นจากตรงนี้ ไม่ใช่เกิดขึ้นจากการตีความว่าพล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มาตั้งแต่ปี 57 และหวังว่าการให้ความเห็นนี้จะเป็นประโยชน์ และผู้มีอำนาจที่วินิจฉัยในเรื่องนี้จะรับฟังและนำไปสู่การตีความที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญทั้งหมด

เมื่อถามว่า การปล่อยเอกสารดังกล่าวมีการจงใจให้เห็นว่าอาจจะต้องเป็นไปตามนั้นเลยหรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าว ตนคิดว่า 1.อาจจะเป็นการโยนหินถามทาง ว่าหากโยนออกมาเป็นแบบนี้สังคมไทยจะตีความเรื่องนี้ว่าอย่างไร 2.อาจจะต้องมองมิติทางการเมือง คือระหว่างความสัมพันธ์ภายในรัฐบาลหลังจากที่พล.อ.ประยุทธ์ ดูแล้วมีโอกาสไม่ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ซึ่งนั้นอาจจะทำให้องคาพยพ เริ่มสูญเสียความเชื่อมั่น และเริ่มจะตีตัวออกห่างจากพล.อ.ประยุทธ์ได้ ซึ่งการที่ส่งเอกสารแบบนี้ และอ้างว่าเป็นเอกสารที่มาจากนายมีชัย มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้กำลังใจ และความมั่นใจกับองคาพยพ ที่อาจจะมีความรู้สึกว่าต้องรอ พล.อ.ประยุทธ์ แต่อย่างไรก็ตาม ต้องเน้นย้ำว่าเรายังไม่มั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ ว่าเอกสารฉบับนั้นจะเป็นเอกสารของนายมีชัย จริงหรือไม่ ซึ่งอาจจะเป็นเอกสารที่ใครทำมาก็ได้

เมื่อถามถึงกรณี หากเอกสารดังกล่าวเป็นจริง นายรังสิมันต์ กล่าวว่า อาจเป็นการชี้นำได้ ซึ่งตอนนี้ต้องยอมรับว่าด้วยสัดส่วน 5 ต่อ 4 หากพลิกแค่คนเดียวการตีความกฎหมายก็อาจจะเป็นอีกแบบหนึ่งได้เลย และการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็อาจจะออกมาอีกแบบหนึ่งเช่นกัน และหลังจากที่เอกสารดังกล่าวหลุดออกมาตนกังวลใจว่า แนวทางการตีความของศาลรัฐธรรมนูญจะเปลี่ยนไป เพราะในตอนแรกตนเชื่อว่าเป็นเรื่องที่ไม่ได้ซับซ้อน และเป็นเรื่องที่วินิจฉัยบนข้อกฎหมาย แต่เมื่อมีความเห็นของนายมีชัย จึงทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีโอกาสที่ธงจะเปลี่ยนไป ดังนั้นหากการวินิจฉัยออกมาแตกต่างจากคำสั่งชั่วคราวที่ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ตนคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญต้องมีคำอธิบายที่หนักแน่นต่อเรื่องดังกล่าว

นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่สังคมอยากเห็นพล.อ.ประยุทธ์ ลาออก และจากนั้นเปิดทางให้สภาผู้แทนราษฎรเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งอยู่บนเงื่อนไขของการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จะปิดสวิตช์สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เลือกนายกรัฐมนตรี รวมถึงการคืนอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีกลับสู่ประชาชนผ่านสภาผู้แทนราษฎร เตรียมสู่การเลือกตั้งต่อไป

“พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกดีกว่า ท่านอยู่มานานพอแล้ว ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีท่านได้มาทุกอย่างแล้ว 8 ปี เป็นเรื่องมหัศจรรย์แล้ว ดังนั้นถึงเวลา พอได้แล้ว เพื่อเปิดทางให้สภาเลือกนายกรัฐมนตรีที่มีความเหมาะสมที่ยึดโยงกับประชาชน ” นายรังสิมันต์ กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กมธ.มั่นคงฯ ขอดูลาดเลาปม MOU44 ให้รอบด้าน

'กมธ.มั่นคง' ขอฟังข้อมูลปม MOU 44 รอบด้าน หลังหลายฝ่ายมีความเห็นต่าง 'โรม' ยันยึดประโยชน์ประเทศชาติเป็นหลัก เล็งใช้กลไกสภาเดินหน้าตรวสอบ เหตุเรื่องรื้อรังมานาน

'เสรีพิสุทธ์-โจ๊ก' เบี้ยวแจง กมธ.ปมทักษิณนอนชั้น 14 อดีตรองแพทย์ใหญ่ชิ่งบอกอยู่ช่วงเออรี่รีไรท์

'กมธ. ความมั่นคงฯ' ถกปม 'ทักษิณ' รักษาตัวชั้น 14 ด้าน 'บิ๊กโจ๊ก-เสรีพิศุทธ์' ไม่มา ขณะที่ 'ผอ.ราชทัณฑ์' ยัน เป็นไปตามกฎกระทรวง ส่วนอดีตรองแพทย์ใหญ่ ไม่ทราบเรื่องการรักษา อ้างอยู่ช่วงเออรี่รีไรท์-ลาพักร้อน