'ชวน' ย้ำเตือน อย่าทำให้การเมืองเป็นธุรกิจ แนะผู้กู้กยศ.คืนเงิน เพื่อรุ่นต่อไป

'ชวน' เปิดงานโครงการส่งเสริมและปลูกฝังแนวคิดบ้านเมืองสุจริตไปสู่เยาวชน พร้อมบรรยายพิเศษ 'ประเทศรุ่งเรือง เมื่อบ้านเมืองสุจริต' ย้ำเตือนอย่าทำให้การเมืองเป็นธุรกิจ แนะผู้กู้กยศ.คืนเงิน เพื่อรุ่นต่อไป

2 ก.ย.2565 - เมื่อเวลา 09.00 น. ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานเปิดงานโครงการส่งเสริมและปลูกฝังแนวคิดบ้านเมืองสุจริตไปสู่เยาวชน เพื่อสร้างการเรียนรู้ และเกิดความตระหนักถึงความสำคัญของการประพฤติปฏิบัติตนเป็นสุจริตชนของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และครูอาจารย์ พร้อมทั้งบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ประเทศรุ่งเรือง เมื่อบ้านเมืองสุจริต” โดยมีนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย นิสิต นักศึกษา และครูอาจารย์ในกทม. ภาคกลาง ภาคใต้และภาคเหนือ ประมาณ 200 คนเข้าร่วมงาน

ทั้งนี้นายชวน กล่าวบรรยายพิเศษตอนหนึ่งว่า ตนเป็นนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง โดยได้รับการเลือกตั้งต่อเนื่องมาถึง 16 สมัย จึงได้เห็นบ้านเมืองด้วยตาตนเองและประจักษ์ว่าบ้านเมืองเป็นอย่างไร หรือการเมืองเป็นเช่นไร มิใช่การรู้จากคำบอกเล่าของผู้อื่น โดยเมื่อปี 2512 ตนได้รับการเลือกตั้งครั้งแรก ซึ่งสมัยนั้นเท่าที่ทราบยังไม่มีการใช้เงินเพื่อซื้อเสียงเลือกตั้ง แต่พบว่ามีผู้ลงสมัครเลือกตั้งบางคน บางจังหวัดแจกอาหารข้าวของให้ประชาชน ในฐานะที่ตนอยู่บนเส้นทางการเมืองมานานกว่า 50 ปี เคยดำรงตำแหน่งทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ตนจึงเป็นห่วงบ้านเมืองว่านักการเมืองทำการเมืองแบบไม่สุจริต โดยเฉพาะในลักษณะของธุรกิจการเมือง คือการใช้เงินปูทางขึ้นมาสู่อำนาจ ซึ่งถือเป็นการทุจริตอย่างหนึ่ง และการทุจริตในลักษณะเช่นนี้ ย่อมเอื้อต่อการทุจริตคอร์รัปชันในทุกระดับและในแทบทุกภาคส่วน เพราะนักการเมืองย่อมอาศัยกลไกในระบบบราชการและเครือข่ายในภาคส่วนธุรกิจ เป็นเครื่องมือสำคัญในการเข้ามาถอนทุน ผลเสียหายต่อบ้านเมืองและการพัฒนาประเทศย่อมมีมากมายมหาศาล

นายชวน กล่าวต่อว่า ดังนั้นการแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างยั่งยืน จะต้องเริ่มต้นที่การสร้างบ้านเมืองให้สุจริต ไม่ใช่แค่ทำการเมืองให้สุจริตเท่านั้น แต่จำเป็นต้องกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคการเมือง ให้เห็นความสำคัญของการเมืองที่ยึดหลักคุณธรรมและหลักธรรมาภิบาล หลักนิติธรรม นิติรัฐ หลักคุณธรรม หลักความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบ และหลักความคุ้มค่า โดยตนขอเพิ่มหลักความไม่เกรงใจต่อสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไว้เป็นค่านิยมใหม่อีกข้อหนึ่ง

“ในสมัยที่ผมดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ทราบว่าต่อให้มีการสร้างมหาวิทยาลัยในพื้นที่ต่างจังหวัด แต่ถ้าครอบครัวยากจน เด็กก็ไม่ได้ศึกษาต่อ ผมจึงได้ออกนโยบายกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ขึ้นมา ส่วนหนึ่งมาจากการเข้าใจความยากลำบากของประชาชน จึงออกนโยบายช่วยเหลือเด็กด้านการศึกษา อย่างไรก็ตามเมื่อผู้ได้รับเงินกยศ. จบการศึกษาและมีงานทำแล้ว ก็ควรที่จะใช้เงินทุนคืน เพื่อให้รัฐนำเงินทุนนั้นไปมอบต่อไปให้เด็กๆรุ่นต่อไป สิ่งนี้ก็เป็นความสุจริตประการหนึ่ง ” นายชวน กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'คารม' แจงยิบยัน 'กยศ.' คิดดอกเบี้ยอัตรา 1%

'คารม' ย้ำ กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาคิดดอกเบี้ยอัตรา 1% ตั้งแต่เริ่มกู้จนชำระเสร็จสิ้น ไม่มีการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ย ขอให้ผู้กู้ยืมชำระหนี้ตามจำนวนที่แจ้งในหน้าแอปพลิเคชัน กยศ.Connect

รัฐบาลชวนผู้กู้ยืม กยศ.เข้าร่วมมหกรรมแก้หนี้!

รัฐบาลเชิญชวนผู้กู้ยืม กยศ. เข้าร่วม 'มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม' ตามสถานที่ที่กำหนดตลอดเดือน ก.ค.2567 เผยมียอดผู้กู้ยืมที่ปรับโครงสร้างหนี้แล้ว 67,194 ราย