'ไทยสร้างไทย' ไล่บี้ 'ศธ.' แจงงบ 66

‘ไทยสร้างไทย’ จี้ ศธ. แจงประสิทธิภาพการใช้งบปี 66 เน้นจ่ายค่าจ้าง-ซื้อครุภัณฑ์ แต่ยังเจอโรงเรียนไฟดับ-เงินไม่พอจ้างครู

19 ส.ค. 2565 – นางสาวธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายพรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้จัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีฯ 2566 โดยเสนอของบประมาณแผ่นดินเพื่อใช้จ่ายจำนวน 325,900 ล้านบาท ไม่รวมเงินนอกงบประมาณเพื่อใช้จ่ายเพิ่มเติมอีก 1,213 ล้านบาท จึงขอตั้งคำถามไปยัง รมว.ศธ. ถึงประสิทธิภาพในการใช้จ่ายงบประมาณของกระทรวงว่ามีมากน้อยเพียงใด หลังจากที่พบว่างบประมาณปี 66 เป็นงบลงทุนเพียง 16,546 ล้านบาท ในขณะที่เป็นรายจ่ายเพื่อบุคลากรสูงถึง 204,023 ล้านบาท ในขณะที่ต้องมาเห็นข่าวโรงเรียนขาดแคลนครู-ขาดแคลนอุปกรณ์ไม่เว้นแต่ละเดือน

นางสาวธิดารัตน์ กล่าวว่า โครงสร้างงบของ ศธ. อาจแบ่งได้เป็นสามส่วนหลักๆ คือส่วนให้บริการจัดการศึกษา คือสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ส่วนสนับสนุนคือสำนักงานปลัดกระทรวงฯ (สป.ศธ.) และสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) และส่วนของหน่วยงานในกำกับ/องค์กรมหาชน ของกระทรวง

หลังจากได้อ่านตัวร่างงบประมาณฯ มีคำถามที่ต้องการทราบหลายข้อ โดยเรื่องที่เห็นว่าสำคัญที่สุดคืองบประมาณในส่วนของ สพฐ. ที่พบว่าเป็นค่าตอบแทนบุคลากรถึง 186,203 ล้านบาท ในขณะที่งบดำเนินการเพื่อซื้อวัสดุและจ่ายค่าสาธารณูปโภคสำหรับการศึกษาภาคบังคับ (ประถมและมัธยมต้น) ได้เพียง 3,602.97 ล้านบาท ส่วนของระดับปฐมวัยและระดับมัธยมปลายได้เพียง 79.5 ล้านบาท และ 230.01 ล้านบาทตามลำดับ

จากตัวเลขข้างต้น หากคิดเป็นสัดส่วนจะได้เพียง 0.02 % ของงบค่าตอบแทน จึงไม่แปลกใจเมื่อเห็นข่าวโรงเรียนใน จ. อุบลราชธานีไฟดับนานกว่าสองเดือน หรือโรงเรียนอื่นๆ ที่ขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์ในการดำเนินการเรียนการสอน แต่ในขณะเดียวกันแปลกใจว่าทำไมโรงเรียนในเขตทุรกันดารกลับขาดแคลนครู เพราะไม่มีอัตรากำลังจ้าง ทั้งๆ ที่งบบุคลากรฯ ของ สพฐ. มีมากกว่ากึ่งหนึ่งของงบประมาณรวมทั้งกระทรวงเสียด้วยซ้ำ

ส่วนงบอื่นๆ ที่มีข้อสงสัย เช่น ทำไม ศธ. ต้องใช้จ่ายงบประมาณเพื่อเป้าหมายด้านความมั่นคงรวมกันกว่า 1,048.36 ล้านบาท ในขณะที่งบประมาณเพื่อการสร้างความสามารถในการแข่งขันกลับได้เพียง 188.38 ล้านบาท งบพัฒนาศักยภาพครูได้เพียง 243.16 ล้านบาท งบพัฒนาหลักสูตรและการประเมินผล 158.18 ล้านบาท งบพัฒนา Digital literacy เพียง 22.94 ล้านบาท หรือโครงการที่ต้องการคำอธิบายถึงความคุ้มค่าของการใช้งบประมาณ เช่น โครงการปรับกระบวนทัศน์ผู้บริหารโรงเรียนเอกชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ของ สป.ศธ. ที่ของบ 6.65 ล้านบาท ค่าใช้ง่ายดูงานต่างประเทศของ สกศ. ที่ตั้งสำรองถึง 2.49 ล้านบาท เป็นต้น

“หากกระทรวงฯ สามารถตอบข้อสงสัยต่างๆ และชี้แจงให้เห็นว่ากระทรวงฯ ได้บริหารงบประมาณเหล่านี้อย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดิฉันเชื่อว่าประชาชนจะช่วยผลักดันให้มีการจัดสรรงบประมาณเพิ่มด้วยอีกแรง เพราะไม่มีประชาชนคนไหนที่เมื่อรู้ว่างบประมาณที่จำเป็นขาดแคลน แล้วจะคัดค้านไม่ยอมให้เพิ่มงบประมาณฯ โดยเฉพาะกับงบประมาณทางการศึกษาซึ่งทุกคนต่างรู้ว่าเป็นหน่วยงานสำคัญในการพัฒนาประเทศ” นางสาวธิดารัตน์ ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เช็กเลย! ของเล่นประเภทไหนบ้าง ผู้ปกครองอย่าซื้อให้เด็ก

'คารม' เตือนผู้ปกครอง ระวังอย่าซื้อของเล่นที่เป็นอันตรายกับเด็ก พร้อมแนะเลือกของเล่นที่ช่วยเสริมทักษะการเรียนรู้-พัฒนาการ-จินตนาการ และผู้ปกครองควรแนะวิธีการเล่นของเล่นอย่างถูกต้อง

รัฐบาลชวน 'ครู-นร.' ลงทะเบียน 'ซิมพร้อมเรียน' ใช้เน็ตฟรี

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาล โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ร่วมมือกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

กระทรวงศึกษาธิการ เร่งผลักดันการเรียนรู้แบบ Active Learning

กระทรวงศึกษาธิการ สั่ง สพฐ. เร่งผลักดันการเรียนรู้แบบ Active Learning ให้ครอบคลุมทุกภาค ทุกโรงเรียน หวัง ส่งเสริมให้นักเรียนตั้งคำถามและหาคำตอบเอง แทนการท่องจำแบบเดิม