'แกนนำเพื่อไทย' สุมหัวตั้งศาลเตี้ยไล่บี้วาระนายกฯ 8 ปี 'ประยุทธ์' ไปได้แล้ว

"เพื่อไทย" สุมหัวเสวนา ท่องคำเดิม วาระ 8 ปี ตู่ไปได้แล้ว อ้างรัฐธรรมนูญระบุชัดไม่ให้ยึดติดอำนาจ "สุทิน" แนะเอาแบบอย่าง "เปรม" พอแล้ว ชี้เสียสละตัวเอง ก่อนเกิดวิกฤติความขัดแย้ง

16 ส.ค.2565 - ที่ห้องสมุด Think Lab ที่ทำการพรรคเพื่อไทย จัดงานเสวนา “8 ปีประยุทธ์ อยากไปต่อ แต่ต้องพอแค่นี้” มีแกนนำพรรค ประกอบด้วย นายจาตุรนต์ ฉายแสง คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทยร่วมเสวนา

นายชูศักดิ์กล่าวว่า เรื่องนี้กำลังจะเข้าสู่การการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า พล.อ.ประยุทธ์จะยังดำรงแหน่งนายกฯเกิน 8 ปีกระทำได้หรือไม่ หรือต้องพ้นไป เรื่องของนายกฯ เป็นวาระ เป็นเรื่องของเทอมการดำรงตำแหน่ง นายกฯ เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารควบคุมดูแลประเทศ มีอำนาจออกคำสั่งกฎระเบียบทั้งหลาย เพื่อให้ประเทศเดินไปตามนโยบาย จึงมีหลักการสำคัญการจำกัดอำนาจ ไม่ให้ใช้อำนาจในระยะเวลามากเกินไป หากบุคคลใดบุคคลหนึ่งดำรงตำแหน่งยาวนานเกินไป จะสร้างอิทธิพล สร้างบารมี ผลประโยชน์ ควบคุมดูแลทุกสิ่งทุกอย่าง จะเป็นบ่อเกิดการกระทำทุจริต ประพฤติมิชอบ ด้วยเหตุนี้จึงต้องจำกัดเวลา รัฐธรรมนูญเกือบทุกฉบับก็มีระยะเวลาของการดำรงตำแหน่ง มาชัดเจนตอนมีรัฐธรรมนูญปี 2550 ระบุว่านายกฯ จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 8 ปีมิได้ รัฐรรมนูญพ.ศ. 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ เอาหลักการ 8 ปีมาใช้ แต่เขียนใหม่ว่าห้ามดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ คือเจตนารมณ์ใหม่ของรัฐธรรมนูญ2560 ไม่ต้องการให้คนเป็นนายกฯ อยู่ในตำแหน่งยาวนานเกินไป เพราะกลัวว่าจะยึดติดในอำนาจเหมือนที่เราเห็นกันอยู่ ทำอะไรก็ลุแก่อำนาจหลายเรื่องเช่น การถวายสัตย์ เป็นต้น

นายชูศักดิ์กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 นับรวมเป็นนายกฯ จนถึงรัฐธรรมนูญปี 2560 แปลว่าทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เป็นนายกฯ ตั้งแต่ปี 2557-2562 พอมาถึงวันที่24 ส.ค.65 นี้ พล.อ.ประยุทธ์จะดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี ฟังดูเหมือนจะอยู่ถึงงานเอเปคเลย จึงมีความจำเป็นที่ต้องตั้งเรื่องร้องเรียนไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ว่าพล.อ.ประยุทธ์ดำรงตำแหน่งนายกฯ เกิน 8 ปี ความเป็นนายกฯ ของพล.อ.ประยุทธ์ต้องสิ้นสุดลงโดยผลของกฎหมาย ตามบทเฉพาะกาลมาตรา 264 ระบุไว้ชัดว่า คณะรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ ให้เป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้คนที่เป็นนายกฯ มาก่อนต้องมีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ยกเว้นไว้หลายเรื่อง แต่ไม่ยกเว้นเรื่อง 8 ปี ดังนั้นเรื่องนี้ติดตัวพล.อ.ประยุทธ์มา

“เมื่อไปดูรายงานการประชุมของกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ 500 ต้องการยกร่างเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 158 ซึ่งนายมีชัย ฤชพันธุ์ ตั้งประเด็น นายสุพจน์ ไข่มุกด์ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ พูดเสริมว่า ใครที่เป็นนายกฯ ก่อนรัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้ สามารถนับรวมระยะเวลากับการเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ห้ามเป็นเกิน 8 ปี สรุปแล้วทั้งลายลักษณ์อักษรตามมาตรา 264 และเจตนารมณ์ พล.อ.ประยุทธ์พ้นจากความเป็นนายกฯ แน่นอน ส่วนที่เนติบริกรระบุว่าการประชุมดังกล่าวรับฟังได้นิดหน่อยนั้น ยืนยันว่า พล.อ.ประยุทธ์ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯส่วนครม.ที่เหลืออยู่ก็รักษาการ ส่วนนายกฯ คนใหม่ก็เข้าสู่กระบวนการ” นายชูศักดิ์ กล่าว

นายจาตุรนต์ กล่าวตอนหนึ่งว่า เหตุผลที่พล.อ.ประยุทธ์ครบ 8 ปีในวันที่ 24 ส.ค.มีทั้งในแง่ข้อกฎหมาย เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ป้องกันการผูกขาดอำนาจและการสืบทอดอำนาจที่ยาวนานจนนำไปสู่การทุจริต ในสมัย พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯยุคคสช.มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แทรกแซงองค์กรอิสระ และส.ว.ก็ถูกสรรหาโดยพล.อ.ประยุทธ์ นอกจากนี้บริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจที่ใหญ่มาก เป็นจุดอ่อน คือ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ทำลายหลักนิติรัฐ นิติธรรม ใช้ความมั่งคงทางทหารมาบริหารประเทศ เมื่อรวม 3 มิติเข้าด้วยกัน ทั้งข้อกฎหมาย ป้องกันการผูกขาดและการทุจริต และการป้องกันความเสียหายของประเทศในการล้มเหลวแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องของอารมณ์ ความรู้สึก พอใจไม่พอใจ ชอบหรือไม่ชอบ แต่พล.อ.ประยุทธ์ ต้องพ้นจากนายกฯในวันที่ 24 ส.ค.

นายสุทิน กล่าวว่า เรื่อง 8 ปีเป็นเรื่องของพล.อ.ประยุทธ์ จะตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไร และประชาชนจะว่าอย่างไร สุดท้ายจึงไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ ตามหลัก ศาลจะทำหน้าที่ก็ต่อเมื่อมนุษย์คุยกันไม่รู้เรื่อง กระบวนการนี้พล.อ.ประยุทธ์จึงต้องคิดและตัดสินใจเองก่อน หากดูท่าทีว่า จะไม่ลง ประชาชนต้องลุกขึ้นมาพูด วันนี้ประชาชนทำหน้าที่แล้ว มันต้องจบตรงนี้ อย่าเพิ่งไปที่ศาล เมื่อดูท่าทีว่าพล.อ.ประยุทธ์ จะไม่จบและปัดเป็นหน้าที่ของศาล จึงต้องออกมาชี้ให้เห็นว่าข้อกฎหมายเขียนเช่นนี้ การชี้ขาดตัดสินวาระของนายกฯ ไม่ใช่เรื่องข้อกฎหมายอย่างเดียว แต่แน่นอนว่าข้อกฎหมายจะต้องเป็นประเด็นหลัก เมื่อพูดถึงข้อกฎหมายต้องอย่าลืมเรื่องเจตนารมณ์ด้วย จะไปเอาเฉพาะตัวบทไม่ได้ ต้องเอาเจตนารมณ์ก่อนว่ามีปัญหาอะไรจึงต้องร่างกฎหมายนี้ขึ้นมา เขียนกฎหมายนี้ขึ้นมาเพื่อหวังผลอะไร รวมถึงต้องดูหลักข้อเท็จจริงว่าต้องเป็นนายกฯ กี่ปี พล.อ.ประยุทธ์นับเลขเป็นหรือไม่ คุณจะนับปีไหนก็ตาม แต่เรื่องคือ มันกี่ปีหาก 8 ปีเข้าข้ออันตรายตามที่เขากังวลหรือไม่ กำลังจะเกิดเรื่องด้วย ข้อเท็จจริงมันชัดแล้ว

นายสุทินกล่าวว่า วัฒนธรรมประชาธิปไตยสำคัญมาก คนในสังคมนี้ คิดอย่างไร หากประชาชนอยากได้อย่างไร ควรรับฟังและทำตามนั้น บอกเป็นประชาธิปไตย แต่ไม่รับฟัง ก็ไม่ใช่ ต้องชมพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่สามารถไปต่อได้ แต่มีความละอายที่ประชาชนไม่เอาแล้ว บอกพอแล้ว หลักประชาธิปไตยต้องรับฟังประชาชนและสำคัญกว่านั้นคือ ต้องรับผิดชอบต่อประชาชนและประเทศ หากรู้ว่าอยู่ไปประเทศจะวิกฤตและขัดแย้ง ต้องเสียสละ ถ้าอยู่ต่อคุณจะทำงานได้จริงหรือไม่ หากประชาชนไม่ยอมรับ เมื่อรวมหลายหลักแล้วจะอยู่ถึงปี 2570 มันก็ 13 ปี ถามว่าหากอยู่ 13 ปี เข้าข้อกังวลหรือไม่ ก็ยิ่งเข้ากังวลมาก จึงเรียกร้องว่า หากพล.อ.ประยุทธ์ฟังเราพูด อ้างว่ามาตามประชาธิปไตยต้องคิดเรื่องวัฒนธรรมประชาธิปไตยให้มาก ประชาชนวันนี้เขาคิดอย่างไรให้ฟังเขา หากอยู่ต่อจะเกิดอะไรขึ้นแล้วจะทำงานได้หรือไม่ หากทำไม่ได้ไม่ใช่คุณเสียหาย แต่ประเทศชาติเสียหาย เศรษฐกิจพัง ใครจะรับผิดชอบ หากถึงวันที่อิ่มตัวแล้ว ประเทศชาติพังยับแล้วมันก็ไม่ได้ ไม่ใช่นายกฯ ตามวัฒนธรรมประชาธิปไตย เป็นนายกฯ เผด็จการที่อาศัยตัวหนังสือให้คุณเท่านั้นเอง

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รองเลขาฯเพื่อไทย ฟาดกลับ 'ไอซ์ รักชนก' แซะแจกเงินหมื่นช่วงเลือกตั้งนายก อบจ.

น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่าน X ว่า ใจเย็นๆ นิดนะคะ รัฐบาลตั้งใจส่งเงินหมื่นกระตุ้นเศรษฐกิจ ถึงมือกลุ่มเป้าหมายให้เร็วที่สุด

ระทึกสุดขีด! 22 พ.ย. ศาลรธน.ลงมติ 'รับ-ไม่รับ' คำร้อง 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ล้มล้างการปกครอง

คอนเฟิร์ม ศุกร์นี้ 22 พ.ย. 9 ตุลาการศาลรธน.นัดประชุมวาระพิเศษ หลังงดมาสองรอบ เตรียมนำหนังสือ-ความเห็นอัยการสูงสุด กางบนโต๊ะประชุม ก่อนลุ้นโหวตลงมติ”รับ-ไม่รับคำร้อง”คดีทักษิณ-เพื่อไทย โดนร้องล้มล้างการปกครองฯ

'แพทองธาร' โชว์วิชั่น การเมืองมีเสถียรภาพ ประเทศไทยจะดีขึ้น!

นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ไทยสงบ สันติ หวังรัฐบาลเปลี่ยน นายกฯเปลี่ยน แต่นโยบายเพื่อปชช.เดินหน้า บอกต่างชาติเจอคำถามแรกถามพ่อ-อาเป็นอย่างไร ย้ำการเมืองมั่นคง มีเสถียรภาพแน่นอน

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476

'อนุทิน' เช็กสัญญาณ ครม.อิ๊งค์ ปมศาลรธน.นัดถกรับ-ไม่รับคำร้อง คดีทักษิณ-เพื่อไทย ล้มล้างการปกครอง

ที่ด่านพรมแดนบ้านผักกาด ตำบลคลองใหญ่ อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี นายอนุชิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณี ที่ในวันพรุ่งนี้(22 พ.ย.) ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณารับคำร้อง