'ธีระชัย'ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง'ประยุทธ์'เกี่ยวกับระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกฯชี้ไม่ได้ลาออกจากหัวหน้าคสช. เสียก่อนจึงไม่ใช่ผู้ทรงสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง จึงไม่มีคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นนายกฯตามรธน. ต้องนับเวลาตามการดำรงตำแหน่งในความเป็นจริงก่อนรธน.ปี 60 คือ 24ส.ค.57
27ก.ค.2565-นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เผยแพร่ จดหมายเปิดผนึกเกี่ยวกับระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีเนื้อหาดังนี้
จดหมายเปิดผนึกเกี่ยวกับระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ด่วนที่สุด
วันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๕
เรื่อง ข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงในการดำรงตำแหน่งเกิน ๘ ปี
กราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
ตามที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรี นับตั้งแต่วันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๗ ซึ่งจะครบกำหนด ๘ ปีในวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๕ และมีปัญหาว่ากรณีที่ท่านดำรงตำแหน่งภายหลังจากนั้น จะเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ หรือไม่ นั้น
ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า การดำรงตำแหน่งภายหลังวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๕ จะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจของประเทศ และเสี่ยงต่อการฝ่าฝืนกฎหมายโดยนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี บุคคลที่แต่งตั้งให้ทำหน้าที่ด้านการเมืองโดยคณะรัฐมนตรี และบุคคลอื่นที่คล้ายกัน จึงขอแจ้งความเห็นแก่ท่านเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่การบริหารราชการแผ่นดิน ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้
ข้อ ๑. ไม่อาจนับระยะเวลาจากการเลือกตั้งทั่วไปในปี ๒๕๖๒
ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) ปฏิบัติฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๙๘ , มาตรา ๑๖๐ (๖) ในการเลือกตั้งปี ๒๕๖๒ ดังนี้
(๑) เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) ได้ทำหนังสือยินยอมให้พรรคพลังประชารัฐ เพื่อเป็นตัวแทนของพรรคเพียงรายชื่อเดียวในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อันเป็นการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ มาตรา ๘๘ และ ๘๙
(๒) เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ พรรคพลังประชารัฐได้ยื่นรายชื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อันเป็นการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ มาตรา ๘๘ และ ๘๙ ประกอบ พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๒๐ ประกอบมาตรา ๑๕ (๑๒) โดยพรรคพลังประชารัฐมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อดำเนินกิจการทางการเมืองตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
(๓) เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ กกต. ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับการพิจารณาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยชื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นลำดับที่ ๓๐
(๔) เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๖๒ รัฐสภาโดย ส.ส.ฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลและ ส.ว.เสียงข้างมากได้ลงมติให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรี อันเป็นการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ มาตรา ๑๕๙
(๕) การที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ได้ลาออกจากหัวหน้า คสช. เสียก่อน จึงไม่ได้เป็นผู้ที่มีสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญที่จะเป็นผู้ทรงสิทธิในการสมัครรับเลือกตั้ง และเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ มาตรา ๙๘ , มาตรา ๑๖๐ (๖) รวมทั้งเป็นการฝ่าฝืนหลักนิติธรรมอันเป็นหลักพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ และฝ่าฝืนประเพณีการปกครองของประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยฝ่าฝืนหลักนิติศาสตร์ที่ว่า “รัฐ (รวมถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) มิอาจเป็นได้ทั้งผู้ทรงสิทธิและเสรีภาพและผู้ถูกผูกพันอยู่กับสิทธิเสรีภาพในเวลาเดียวกันหรือพร้อมกันได้” อันเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ มาตรา ๓ วรรคสอง , มาตรา ๕ , ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ ๓๐ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อบทที่ ๒ , ข้อบทที่ ๕ และ ข้อบทที่ ๒๕
(๖) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งประเทศไทยเข้าเป็นภาคีเมื่อ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๓๙ และมีผลใช้บังคับเมื่อ ๓๐ มกราคม ๒๕๔๐ นั้น ข้อบทที่ ๒๕ กำหนดว่า “พลเมืองทุกคนย่อมมีสิทธิและโอกาสโดยปราศจากความแตกต่างดังกล่าวไว้ในข้อ ๒ และโดยปราศจากข้อจำกัดอันไม่สมควร .. (ข) ในการที่จะออกเสียงหรือได้รับเลือกตั้งในการเลือกตั้งอันแท้จริงตามวาระซึ่งมีการออกเสียงโดยทั่วไปและเสมอภาคและโดยการลงคะแนนลับเพื่อประกันการแสดงเจตนาโดยเสรีของผู้เลือก”
ดังนั้น จึงเป็นข้อกำหนดในระดับสากลที่ชัดเจนว่า พลเมืองเท่านั้นที่เป็นผู้ที่มีสิทธิเสรีภาพ มิใช่รัฐเป็นผู้ที่มีสิทธิเสรีภาพ
(๗) เนื่องจากหลักการนิติศาสตร์ว่า “รัฐมิอาจเป็นได้ทั้งผู้ทรงสิทธิและเสรีภาพและผู้ถูกผูกพันอยู่กับสิทธิเสรีภาพในเวลาเดียวกันหรือพร้อมกันได้” นั้น ย่อมได้รับความคุ้มครองและมีความผูกพันต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ มาตรา ๓ วรรคสอง , มาตรา ๕ วรรคสอง , มาตรา ๒๕ , มาตรา ๕๑ , มาตรา ๕๓ ประกอบรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ มาตรา ๒๖ , มาตรา ๒๗ , และรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ มาตรา ๒๖ , มาตรา ๒๗
ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงมีความเห็นว่า ขั้นตอนการเลือกพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรีดังที่บรรยายข้างต้น อาจจะมิชอบ และอาจจะส่งผลให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาไม่มีฐานะเป็นนายกรัฐมนตรีจนถึงบัดนี้
(๘) ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง การแจ้งรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองจะเสนอให้รัฐสภาพิจารณาแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี ประกาศ ณ วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ลงชื่อโดยนายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (ส.ส.๔/๓๑) นั้น เป็นผลมาจากการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๘๘ ซึ่งประกาศดังกล่าวต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๘๙ บัญญัติไว้ด้วย
แต่ปรากฏว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ออกประกาศดังกล่าว โดยมีข้อความในหน้าที่ ๔ ว่า “๓๐. พรรคพลังประชารัฐ (๑) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” ทั้ง ๆ ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาไม่ใช่ผู้ทรงสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง จึงไม่มีคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๑๖๐ ซึ่งการออกประกาศดังกล่าวนั้น ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๘๙ วรรคสอง ให้ถือว่าไม่มีการเสนอชื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาในประกาศดังกล่าวแต่อย่างใด ซึ่งอาจจะส่งผลถึงสถานะของคณะรัฐมนตรีด้วย
ข้าพเจ้าจึงมีความเห็นว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ไม่มีฐานะตามกฎหมายด้วยเหตุผลเดียวกันข้างต้น และหลักการนิติศาสตร์ว่า “รัฐมิอาจเป็นได้ทั้งผู้ทรงสิทธิและเสรีภาพและผู้ถูกผูกพันอยู่กับสิทธิเสรีภาพในเวลาเดียวกันหรือพร้อมกันได้” นั้น มีความผูกพันต่อ คณะรัฐมนตรี และต่อศาลทุกศาลด้วย
กรณีข้างต้น ข้าพเจ้าจึงมีความเห็นว่า การนับระยะเวลาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ นั้น ไม่อาจนับได้จากการเลือกตั้งทั่วไปในปี ๒๕๖๒
ข้อ ๒. ไม่อาจนับเวลาจากวันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มีผลใช้บังคับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ หน้าที่ ๑ ถึงหน้าที่ ๓ ปรากฏชัดแจ้งว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นผู้ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีในการนำความกราบบังคมทูลเพื่อการตรารัฐธรรมนูญดังกล่าว โดยปรากฏการอ้างถึงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในหน้าที่ ๑ ถึงหน้าที่ ๓ จำนวน ๓ ครั้ง และในหน้าสุดท้าย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาในฐานะนายกรัฐมนตรีก็เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ อีกทั้งบทเฉพาะกาล มาตรา ๒๗๙ วรรคสอง ก็ระบุว่า
“บรรดาการใด ๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๑) พุทธศักราช ๒๕๕๘ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๕๕๙ ว่าเป็นการชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย รวมทั้งการกระทําที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าว ให้ถือว่าการนั้นและการกระทํานั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมาย”
ดังนั้น การนับเวลาดำรงตำแหน่งจึงต้องย้อนไปก่อนหน้ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มิใช่นับตั้งแต่วันบังคับใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ โดยจะต้องนับเวลาตามการดำรงตำแหน่งในความเป็นจริง ตั้งแต่วันที่ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีอันเนื่องมาจากเป็นหัวหน้าคณะ คสช. หรืออย่างช้าที่สุด คือวันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรี คือจะต้องนับตั้งแต่วันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๗ ถือเป็นการดำรงตำแหน่งต่อเนื่องกันจนถึงปัจจุบันนี้
ทั้งนี้ หากไม่มีการนับเวลาในการดำรงตำแหน่งตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ก็จะไม่มีหนทางใด วิธีการใด ที่จะนับเวลาเริ่มต้นในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้เลย และส่งผลให้โอกาสดำรงตำแหน่งของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาในฐานะนายกรัฐมนตรียังคงมีอยู่ตลอดไป ไม่มีระยะเวลาในการสิ้นสุดลงแต่อย่างใด ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ และเป็นการส่งเสริม สนับสนุน ยินยอม ให้มีการปฏิวัติรัฐประหาร และเป็นการไม่รับใช้ประชาชนอีกด้วยเพราะอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๓ และขัดต่อหลักความยุติธรรมตามธรรมชาติที่ว่า “บุคคลใดจะได้รับประโยชน์จากการฉ้อฉล หรือความผิดของตนเอง หาได้ไม่”
ข้อ ๓. อาจเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๖๑
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๑๗๑ บัญญัติไว้ว่า
“เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในพฤติการณ์ที่อาจทําให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีตําแหน่งหรือหน้าที่ ทั้งที่ตนมิได้มีตําแหน่งหรือหน้าที่นั้น เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสําหรับตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
จึงมีความเสี่ยงที่บุคคลที่เกี่ยวข้องอาจจะมีความผิดในการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายภายหลังวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๕ ในรูปของเงินเดือน ค่าตอบแทน ค่าใช้จ่ายต่างๆ การใช้ยานพาหนะในตำแหน่ง การใช้บ้านพักราชการ การใช้สิทธิในการเดินทาง โดยบุคคลที่เกี่ยวข้องอาจรวมไปถึง นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล บุคคลที่แต่งตั้งให้ทำหน้าที่ด้านการเมืองโดยคณะรัฐมนตรี และบุคคลอื่นที่คล้ายกัน ซึ่งจะก่อความเสี่ยงทั้งต่อบุคคล และต่อฐานะเศรษฐกิจของประเทศ
ข้าพเจ้าจึงขอปฏิบัติหน้าที่ของปวงชนชาวไทยตามมาตรา ๕๐ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ แจ้งข้อมูลนี้เพื่อประโยชน์แก่ท่าน
ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'สมชาย' เห็นด้วยอดีตขุนคลังแจกเงินหมื่นเฟสสองเสี่ยงคุก!
นายสมชาย แสวงการ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์เฟซบุ๊ก
เตรียมรับอีกคดี! 'อดีตรมว.คลัง' ฟันธง! แจกเงินอายุเกิน 60 ปีผิดกฎหมาย
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ ประธานคณะกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความว่
'อดีตรมว.คลัง' ร่อนจม.ถึง 'รมว.คลัง' จี้ตรวจคุณสมบัติ 'โต้งไวท์ไล'
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ส่ง จดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีคลังเรื่องแต่งตั้งประธานบอร์ดแบงค์ชาติ
'ธีระชัย' เผย MOU44 จุดแข็งคือจุดอ่อน มาถึงบัดนี้ไทยย่อมจะไม่ใช้สิทธิที่จะทักท้วงอีกแล้ว
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ ประธานคณะกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังปร
'พปชร.' ลั่น ยกเลิก MOU44 ฝ่ายเดียวได้ หวั่นเอกสารแนบท้าย ทำไทยเสี่ยงเสียพื้นที่ทางทะเล
พปชร. ย้ำจุดยืน ยกเลิกเอ็มโอยู 44 ทำฉบับใหม่ทำให้ถูกต้องตามกฎหมายสากล ระบุ เลิกฝ่ายเดียวได้ ชี้ เอกสารแนบท้ายมีข้อบกพร่องเยอะ ทำไทยเสียเปรียบ เสี่ยงเสียพื้นที่ทางทะเล จี้ กต.แจง ปมทำผิดกติกาสากล ปัด เคลื่อนไหวหวังผลทางการเมือง
'ธีระชัย' ชำแหละกต.ก่อคำถามคาใจ ไม่บอกว่าถ้าเจรจาตาม MOU44 เสี่ยงเสียเกาะกูด 99%
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ ประธานร่วมศูนย์นโยบายและวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า