'ชัยชนะ' เชื่อ รมต. ค่าย ปชป. ทำงานหนักขึ้นเพื่อรับความวางใจจากประชาชน

ชัยชนะ’ ชี้ ‘ฝ่ายค้าน’ ชงญัตติไม่ไว้วางใจให้เป็นการชี้แจงผลงานรัฐบาลให้ ปชช. รับทราบ – อัด ส.ส.ฝ่ายค้านบางรายเล่นใหญ่หวังให้มีการตบรางวัล – แนะกลับไปทำการบ้านก่อนยื่นญัตติฯ มาใหม่ – เผยถึงแม้ ‘จุรินทร์’ ไว้วางใจน้อยที่สุด แต่พร้อมผลักดันให้คนทั้งประเทศ รวมทั้ง ‘ ส.ส. – ส.ว.’ ไว้วางใจให้นั่งเก้าอี้นายกฯ ในการเลือกตั้งครั้งหน้า

24 ก.ค. 2565 – นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราชและรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงภาพรวมการภายการอภิปรายไม่ไว้วางใจฯ ที่ผ่านมาว่า เป็นไปตามความคาดหมายของหลายฝ่าย ที่เห็นว่า ข้อมูลที่พรรคฝ่ายค้านนำมาอภิปรายนั้น ยังไม่สามารถให้ประชาชนคล้อยตามได้ว่า 11 รัฐมนตรี ที่ถูกอภิปรายนั้น ไม่สมควรที่จะได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งต่อไป แต่กลายเป็นว่า เป็นการเปิดโอกาสให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ชี้แจงผลงานและประชาชนได้ทราบถึงการทำงานตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รวมทั้ง ยังได้ย้อนเกล็ดไปยังพรรคฝ่ายค้านถึงเรื่องราวการทุจริตในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ รัฐมนตรีทั้ง 3 คน ก็สามารถชี้แจงต่อที่ประชุมสภาฯ ได้เป็นอย่างดี เช่น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ชี้แจงข้อกล่าวหาที่ว่า มีส่วนทำให้เกิดการทุจริตถุงมือยาง ซึ่งนอกจาก จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ แล้ว ก็ยังได้ชี้แจงถึงผลการปราบปรามการทุจริตในโครงการจำนำข้าวและโครงการจำนำมันสำปะหลัง และสามารถชี้แจงถึงมาตรการในการดูแลราคาสินค้า ที่ดีกว่ารัฐบาลในยุคก่อนๆ ที่ประชาชนโอดครวญว่า “แพงทั้งแผ่นดิน”

ต่อมา นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็ได้แสดงหลักฐานชี้แจงข้อกล่าวหาของฝ่ายค้านที่ว่า มีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่ ตั้งแต่สมัยที่นายนิพนธ์ เป็นนายก อบจ. สงขลา รวมทั้ง ยืนยันว่า นโยบายที่ให้คนต่างชาติถือครองที่ดินนั้น เป็นการแก้ไขระเบียบเพื่อเป็นการกระตุ้นการลงทุนในภาวะการณ์ระบาดของไวรัสโควิด – 19 เท่านั้น ไม่ได้เป็นการขายชาติตามที่พรรคฝ่ายค้านมีความเป็นห่วง

สุดท้าย นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก็ได้ยืนยันถึงการดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือประชาชนด้านที่อยู่อาศัย ผ่านการเคหะแห่งชาติ อย่างโปร่งใส พร้อมให้สภาฯ ตรวจสอบ แต่ปรากฏข้อครหาของผู้อภิปรายนายจุติเอง ที่เคยนำเอกสารเท็จมาอภิปราย จนมีการฟ้องร้องโดยหน่วยงานที่ได้รับความเสียหายแล้ว

“บรรยากาศการอภิปรายทั้ง 4 วันที่ผ่านมา ผมก็ได้เห็นปรากฏการณ์ที่ ส.ส. ฝ่ายค้านบางราย แสดงออกแบบเล่นใหญ่เพื่อหวังจะให้มีการตบรางวัลให้กับตัวเอง เช่น การใช้ตรรกะประเภท ‘ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย แต่ทำในสิ่งที่กฎหมายห้าม’ เพื่อเป็นการปกป้องกรณีการทุจริตจำนำข้าว ซึ่งขณะนี้ ทางกระทรวงพาณิชย์ ได้มีการติดตามฟ้องร้องในคดีดังกล่าวเกือบ 1,200 คดี มีการนำเรื่องที่ละเอียดอ่อน ไม่สมควรที่จะอภิปราย มาพูดจาจนสร้างภาพจำให้กับชาวบ้านในเขตเลือกตั้ง โดยไม่สนใจว่าจะเป็นการละเมิดความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ของ ส.ส.รายหนึ่ง เป็นต้น ดังนั้น การที่พรรคฝ่ายค้านโหมโรงโฆษณาแบบเอิกเกริก แต่พอถึงเวลาจริงกลับทำให้ประชาชน ‘หัวจะปวด’ เพราะบรรยากาศการอภิปรายไม่สมกับที่โฆษณาไปนั้น ผมจึงเห็นว่า หลังจากอภิปรายคราวนี้ ก็เหลือเวลาอย่างมากอีก 8 เดือนก็จะเข้าสู่การเลือกตั้ง และเชื่อว่าในสภาผู้แทนราษฎรชุดหน้านั้น ก็ยังคงมีพรรคฝ่ายค้านพรรคเดิม จะต้องยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจไปอีก 4 ปีอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้น ผมจึงอยากให้พรรคฝ่ายค้าน ทำการบ้านให้มากกว่านี้ ก่อนที่จะยื่นอภิปรายฯ ในครั้งต่อไป ” นายชัยชนะกล่าว

นายชัยชนะ กล่าวด้วยว่า สำหรับการที่รัฐมนตรีพรรคประชาธิปัตย์ ติดโผเป็นรัฐมนตรีที่ได้รับความ
ไว้วางใจจากสภาน้อยที่สุด โดยเฉพาะนายจุรินทร์ นั้น ก็ต้องน้อมรับผลจากวิจารณญาณของ ส.ส.แต่ละคน แต่ทั้งนี้ ตนและพรรคประชาธิปัตย์ ก็มีความเชื่อว่า รัฐมนตรี ส.ส. อดีต ส.ส. และว่าที่ผู้สมัครของพรรคฯ จะเดินหน้าทำงานให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนเห็นว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ มีความเหมาะสมที่จะได้รับความไว้วางใจจากประชาชนทั้งประเทศ รวมทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ในสภาฯ ให้ความไว้วางใจนายจุรินทร์ ให้เป็นนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศต่อไปในการเลือกตั้งที่กำลังจะถึงนี้ด้วย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ธนกร' แนะฝ่ายค้านเปิดศึกซักฟอกรัฐบาล อย่าแค่เล่นละคร ต้องตรวจสอบให้จริงจัง

นายธนกร วังบุญคงชนะ รองหัวหน้าพรรคและสส.บัญชีรายชื่อพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเตรียมยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลแบบลงมติ

'จุรินทร์' ยึดหลัก 4 ข้อ โหวตแก้รธน. เชื่อ สว. ลงมติมีเหตุผลอยู่แล้ว

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส. บัญชีรายชื่อ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงอุปสรรคในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ประธานรัฐสภา จะบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมร่วมรัฐสภา