19 ก.ค.2565 - เวลา 16.00 น. นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ อภิปรายในส่วนของกระทรวงคมนาคม ถึงการครอบครองที่ดินเขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ 5,083 ไร่ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ว่าหลังจากการอภิปรายเดือนก.ย.64 ตนติดตามว่าที่ดินเขากระโดง มีการดำเนินการในกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายเพียงใด แต่ปรากฎว่าการดำเนินการยังไม่สะเด็ดน้ำ เหมือนง้างธนูไม่สุด วันนี้รัฐมนตรีและพวกพ้อง ยังคงทำธุรกิจ และพักอาศัยอยู่ตรงนี้ไม่ได้ออกไปไหน ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.64 รฟท. ซึ่งกำกับดูแลโดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม มีหนังสือถึงกรมที่ดิน ให้ทำการเพิกถอนโฉนดที่ดิน ปรากฎว่าวันที่ 27 ก.ค.64 กรมที่ดิน มีหนังสือตอบมาว่า การเพิกถอนโฉนดที่ดิน ทางกรมที่ดินจะดำเนินการได้ต้องมีรูประวางแผนที่ส่งให้กรมที่ดิน พร้อมมีคำถามไปยังรฟท.ว่า ที่ดิน 2 แปลง ซึ่งเป็นภูมิลำเนา 30/2 ม.15 ที่รัฐมนตรีแจ้งอยู่บนที่ดินแปลงนี้ ซึ่งที่ดิน 2 แปลงนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาปี 41 เคยวินิจฉัยว่าเป็นที่รฟท. ปี 54 คณะกรรมป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เคยวินิจฉัยให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ก็วินิจฉัยให้รฟท.ฟ้องเพิกถอนเอกสารสิทธิ์
นายกมลศักดิ์ กล่าวต่อว่า กรมที่ดินบอกว่าสามารถเพิกถอนที่ดินเอกสารสิทธิ์ได้ แต่มีกระบวนการที่ต้องให้รฟท.ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ต้องให้ความร่วมมือโดยส่งรูประวางแผนที่ไปให้ ซึ่งรฟท.ส่งไปให้กรมที่ดิน 2 ครั้ง แต่ทั้ง 2 รูประวางที่ส่งไปมีเนื้อที่ไม่ครบ อีกทั้งรูประวางปี 31 กับปี 39 ไม่ตรงกัน ตนไม่ทราบว่ารฟท.ที่รัฐมนตรีกำกับดูแล เจตนาส่งให้กรมที่ดินไม่ครบหรือต้องการให้มีความล่าช้าทางเทคนิคหรือไม่อย่างไร จะได้ให้มีการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ช้ากว่าปกติ โดยกรมที่ดินมีหนังสือวันที่ 12 พ.ย.64 เมื่อรูประวางไม่ตรงกับกรมที่ดิน ก็ขอให้รฟท.จัดส่งผู้แทนไม่เกิน 6 คน เข้าเป็นคณะทำงาน 2 ชุด แต่กลับไม่มีการส่งผู้แทนเข้าเป็นคณะกรรมการ แถมยังไปฟ้องกรมที่ดินต่อศาลปกครองเมื่อเดือนธ.ค.64 ซึ่งการฟ้องต่อศาลปกครองใช้เวลานาน การที่ท่านฟ้องศาลปกครองโดยไม่ส่งคณะกรรมการ 2 ชุด ส่อเจตนาว่าท่านกำลังปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง และพวกพ้องให้นานที่สุดโดยอาศัยช่องว่างของกฎหมาย แต่ท่านอย่าลืมว่ามีประมวลจริยธรรมคุ้มครองอยู่
ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ อภิปรายว่า โฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และ 3564 อัยการบอกให้เพิกถอนท่านก็ไม่ดำเนินการ จนทุกวันนี้ท่านก็ยังคงใช้ภูมิลำเนาอยู่ที่นั่น และเป็นที่ตั้งของหจก.อีกหลายบริษัทในบริเวณนี้ ถ้าตรวจสอบที่กรมการค้า กระทรวงพาณิชย์ จะพบว่าบริษัทต่างๆเกี่ยวข้องกับท่านทั้งนั้น โดยเฉพาะบริษัท ศ. ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน 3466 ก็ตั้งอยู่ที่นั้น รวมถึงหจก. บ. จากการตรวจสอบพบว่า บริษัท ศ. บริจาคเงินให้พรรคภูมิใจไทย 4.7 ล้านบาท ส่วนหจก. บ. บริจาค 4.8 ล้านบาท นี่คือความเกี่ยวโยงกันระหว่างรัฐมนตรีกับพวกพ้อง เพราะเช่นนี้หรือไม่ท่านจึงไม่ดำเนินการเพิกถอน
อีกคดีที่น่าสนใจคือคดีที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าที่ดินของนายเอ จำเลยในคดีที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาปี 61 แต่สังเกตว่าทำไมไม่มีการบังคับคดี พอไปตรวจสอบข้อมูลยิ่งเห็นชัดว่านายเอ มีความสัมพันธ์กับรัฐมนตรี สะท้อนให้เห็นว่ารัฐมนตรีจึงไม่ดำเนินการใดๆกับที่ดินแปลงนี้ ในการฟ้องขับไล่แตกต่างจากคดีอื่นๆ ที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับรัฐมนตรี คดีของนายเอที่ศาลฎีกามีคำพิพากษา ตั้งแต่ปี 61 รัฐมนตรีมารับตำแหน่งปี 62 จนถึงปีนี้ 65 เพิ่งจะตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเมื่อเดือนมิ.ย.65 ก่อนการอภิปรายจึงเหมือนแค่ขยับให้เห็น
“นายเอ สมัยปี 61 ก่อนที่นายศักดิ์สยามจะมาเป็นรัฐมนตรี เคยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของ หจก. บ. ใช้ที่อยู่ที่เดียวกันกับรัฐมนตรีในปัจจุบัน ปรากฏว่าวันที่ 26 ม.ค.61 รัฐมนตรีถอนหุ้น ก่อนโอนหุ้นทั้งหมด 119 ล้านบาท ให้กับนายเอ และให้นายเอเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ปัจจุบัน หจก.นี้ก็ยังอยู่ที่นี่ แสดงให้เห็นว่ารัฐมนตรีกับจำเลยในคดีที่รฟท.ต้องขยับเป็นพวกเดียวกัน นอกจากนี้ นายเอยังบริจาคเงินให้พรรคภูมิใจไทย 2.7 ล้านบาท และหจก. บ. โอนหุ้นไปให้ บริจาคเงินให้พรรคท่านอีก 4.8 ล้านบาท มาถือว่าเป็นพวกเดียวกันจะให้เข้าใจว่าอย่างไร อีกทั้งตามบัญชีงบดุลปี 60 บริษัท ศ. ได้ยืมเงินจากนายเอ 120 ล้านบาท ปี 61 ยืมอีก 221 ล้านบาท ต่อมาปี 62 บริษัท ศ. ยังกู้ยืมเงินจากนายเอ 143 ล้านบาท ปี 63 ยืมอีก 152 ล้านบาท ผมไม่ได้พูดลอยๆแต่มีเอกสารงบดุลของบริษัท ศ.” นายกมลศักดิ์ กล่าว
นายกมลศักดิ์ กล่าวต่อว่า นายเอคนนี้ตนไปตรวจสอบมาแล้ว ปรากฏว่าก่อนที่รัฐมนตรีจะออกจาก หจก. บ. นายเอ มีหลักฐานเพียงว่าเป็นพนักงานของ บริษัท ศ. เท่านั้น เดิมทีเป็นแค่พนักงาน แต่ไม่ทราบว่าร่ำรวยมาจากไหนถึงมีเงินให้บริษัท ศ. ซึ่งกรรมการผู้จัดการคือ นายเอ สิ่งเหลานี้ตนจึงไม่อยากมองเป็นอย่างอื่น รมว.คมนาคม ที่มีหน้าที่กำกับดูแลรฟท. ต้องทวงสิทธิ์เอาที่ดินของรฟท.คืนโดยเร็ว แต่ทำไมท่านไม่เลือกวิธีที่เร็วที่สุด คือให้กรมที่ดินเพิกถอน แต่กลับใช้วิธีที่ยืดเยื้อที่สุด ซึ่งนายกฯปล่อยปละละเลยให้หน่วยงานของรัฐฟ้องร้องค่าเสียหายกันเอง
ดังนั้น ขอให้ท่านเลิกใช้แทคติก แต่ขอให้ความจริงใจกับทรัพย์สมบัติของแผ่นดิน โดยท่านต้องแสดงสปิริตให้คนทั้งประเทศได้รับรู้ว่าท่านก็อยู่ในมาตรฐานจริยธรรม ท่านต้องรีบเอาทรัพย์สมบัติของแผ่นดินคืน ปล่อยไว้แบบนี้ยิ่งกว่าที่ท่านเคยกล่าวหาพี่น้องใน 3 จังหวัดว่าต้องการแบ่งแยกดินแดง นี่คือการเอาแผ่นดินของประเทศมาเป็นของตัวเองโดยใช้กฎหมายอย่างแยบยล นายกฯในฐานะผู้นำรัฐบาลจะอ้างว่าไม่เกี่ยวไม่ได้ ทั้งหมดนี้ตนมองได้อย่างเดียวว่าท่านละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ รักษาผลประโยชน์พวกพ้องตัวเองมากกว่าประโยชน์ของประเทศชาติ จึงไม่อาจไว้วางใจรมว.คมนาคม และนายกฯ ให้บริหารราชการแผ่นดินอีกต่อไป.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 34): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
'ปชน.' ตีปี๊บ! 1 ปีฝ่ายค้านผลงานเพียบ เมินเรตติ้งร่วง โต้ฮั้ว พท.
'พรรคประชาชน' โวผลงานฝ่ายค้าน 1 ปี' เสนอกฎหมาย 84 ฉบับ ตั้งเป้าทำงานผสมผสานได้ทั้ง 'รุก-รับ' ปัดฮั้ว 'เพื่อไทย' เมินผลโพลคะแนนร่วง เปรียบ 'เตะบอล' ต้องรอจบ 90 นาที
'กูรูใหญ่' แฉเบื้องลึก! ทำไมนักการเมืองยุคนี้ไม่กลัว 'ยึดอำนาจ'
นายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมาย และอดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า การเมืองไทยกำลังเข้าสู่ทางตัน
เพจพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ปลื้ม ‘คนคุณภาพประชาธิปัตย์’ ได้เป็นขรก.การเมือง
เฟซบุ๊กเพจ พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความว่า ครม. เห็นชอบ แต่งตั้ง “คนคุณภาพประชาธิปัตย์” เป็นข้าราชการการเมือง สังกัด ทส. และ สธ.
‘พล.ร.อ.พัลลัภ’ เตือนภัย กับดักบันได 3 ขั้น พ่ายเขมรเสียดินแดน..!! I อิสรภาพแห่งความคิด กับ..สำราญ รอดเพชร
อิสรภาพแห่งความคิด กับ..สำราญ รอดเพชร : วันเสาร์ที่ 02 พฤศจิกายน 2567