โฆษกรัฐบาลย้ำอย่าเชื่อเฟกนิวส์ เศรษฐกิจไทยวิกฤต หวังดิสเครดิตลดความน่าเชื่อถือรัฐบาล ระบุที่ประชุม IMF ย้ำเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง อัดผู้ประไม่ประสงค์ดีกำลังทำลายความเชื่อมั่นชาติ
26 มิ.ย.2565 – นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รายงานธนาคารโลก (World Bank) ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจโลกล่าสุดเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2565 ธนาคารโลกได้ประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศ แต่ไม่มีการประเมินว่าประเทศไทยอยู่ในช่วงวิกฤต โดยได้ปรับลดประมาณการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ขยายตัวเพียงร้อยละ 2.9 ต่ำกว่าระดับคาดการณ์เมื่อเดือน มกราคม 2565 ที่คาดว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 4.1
นายธนกร กล่าวว่า พร้อมทั้งคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะเติบโตที่ร้อยละ 3.0 ในปี 2566 และคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2565 โตที่ร้อยละ 2.9 จากที่คาดการณ์เมื่อเดือนมกราคม 2565 เติบโตที่ ร้อยละ 3.9 และคาดการณ์การเติบโตในปี 2566 ที่ร้อยละ 4.3 ซึ่งการปรับลดคาดการณ์ ของปี 2565 ดังกล่าว เกิดจากสงครามในยูเครนส่งผลกระทบต่อไทยและประเทศส่วนใหญ่ผ่านผลกระทบต่อการค้าโลกและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาอาหารและเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น ซึ่งกดดันให้อัตราเงินเฟ้อให้สูง
นายธนกร กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ รายงานของธนาคารโลกได้คาดการณ์เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Markets and Developing : EMDs) ว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 3.4 ลดลงจากร้อยละ 6.6 เมื่อปีก่อน รวมทั้งได้คาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวเพียงร้อยละ 2.5 ในปีนี้ ลดลงจากระดับร้อยละ 5.7 เมื่อปีก่อนหน้า คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโร จะเติบโตที่ร้อยละ 2.5 ในปีนี้ เทียบกับระดับการเติบโตที่ร้อยละ 5.4ในปีก่อน เช่นเดียวกับเศรษฐกิจจีน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.3 ในปีนี้ ลดลงจากระดับร้อยละ 8.1 เมื่อปีก่อนหน้า ซึ่งเห็นได้ว่าทุกประเทศได้รับผลกระทบจากความท้าทายทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน
“อย่างไรก็ตาม การประเมินเศรษฐกิจไทยของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ได้ประชุมทบทวนภาวะเศรษฐกิจของไทยประจำปี 2565 สรุปได้ว่า เศรษฐกิจไทยได้ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยได้รับการสนับสนุนจากมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ และแผนการเร่งฉีดวัคซีน คาดการณ์ว่า GDP ของประเทศไทยจะขยายตัวที่ร้อยละ 3 ในปี 2565 โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ และจะขยายตัวเร่งขึ้นสู่ร้อยละ 4.3 ในปี 2566” นายธนกร กล่าว
นายธนกร ระบุด้วยว่า IMF เห็นด้วยกับการดำเนินนโยบายของรัฐบาลไทย ที่ลดการอุดหนุนราคาพลังงานอย่างค่อยเป็นค่อยไป และเห็นว่าการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและ ICT จะเป็นส่วนสำคัญในการได้รับผลประโยชน์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเศรษฐกิจสีเขียว และดิจิทัล เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ และปรับปรุงผลลัพธ์ทางสังคม ซึ่งเป็นการดำเนินนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาตลอด
“ขอประชาชนอย่าเชื่อข่าวปลอม เฟกนิวส์ ยืนยันธนาคารโลกไม่ได้มีการประเมินระบบเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะวิกฤตนั้น ซึ่งถือเป็นปล่อยข่าวเท็จและบิดเบือน เพื่อหวังดิสเครดิตลดความน่าเชื่อถือรัฐบาล ขอประชาชนให้รับข่าวสารจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ และจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ และฝากเตือนไปถึงผู้ไม่ประสงค์ดี หยุดกระทำการดังกล่าว เพราะท่านกำลังทำลายความเชื่อมั่นประเทศชาติ” นายธนกร กล่าว.