"พรรคเพื่อชาติ" จัดเสวนา "หาทางออกประเทศ" "ยงยุทธ" เผยส.ส.กินกล้วยต้องหมดสภาฯ เชื่อ "ธรรมนัสฟีโนมินอล" ล้มรัฐบาลไม่ได้ "วิโรจน์ อาลี" ชี้ปัญหาปท.อยู่ที่ผู้นำ แนะอย่าเน้นความมั่นคงจนละเลยเศรษฐกิจ
28 พ.ค.2565 - ที่ห้องแกรนด์ไดมอนด์ บอลรูม อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี พรรคเพื่อชาติ (พพช.) จัดงานเสวนาพรรคเพื่อชาติ “มื้อค่ำเพื่อทางออกประเทศไทย” ร่วมเสวนาโดย นายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร น.ส.ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พพช. นายวิโรจน์ อาลี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายจารุพล เรืองสุวรรณ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีการแสดงดนตรีสดจากวงออร์เคสตรา (Orchestra) จากนายสุกรี เจริญสุข รวมถึงการแสดงงานศิลปะจากนายสุชาติ วงษ์ทอง ศิลปินสีน้ำชื่อดังและครูศิลปะนานาชาติ โดยมีผู้สนับสนุนพรรคเข้าร่วม
น.ส.ปิยะรัฐชย์ กล่าวตอนหนึ่งว่า พรรค พพช. ยืนยันความเป็นพรรคการเมืองประชาธิปไตย ที่ให้ความสำคัญกับประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตย อันเป็นอำนาจสูงสุดของประเทศ เราไม่นั่งเทียนเขียนนโยบายบนอากาศ ทุกอย่างจะเกิดขึ้นจากการศึกษาวิจัยไปพร้อมๆกับประชาชน สิ่งใดที่ประชาชนไม่ต้องการ เราไม่ทำ และไม่ประกาศตัวเป็นพรรคใหญ่ พรรคกลาง หรือพรรคเล็ก เพราะไม่ต้องการดูถูกประชาชน เพราะประชาชนต่างหากที่จะเป็นผู้ตัดสิน หากประชาชนให้เราใหญ่ เราก็พร้อมจะใหญ่ พรรค พพช. ยึดมั่นในอุดมการณ์ เพื่อชาติ เพื่อประชาชน ที่ไหลอยู่ในเลือดของพรรคเพื่อชาติทุกคน เราชัดเจน และเรามองภาพอันเดียวกัน คือการทำเพื่อประชาชน การให้เกียรติประชาชน และยกประชาชนไว้เสมือนเป็นเจ้านายของเรา เราไม่ต้องการมีส.ส.จำนวนมาก แต่ต้องการมีผู้แทนราษฎรให้มากที่สุด ผู้แทนที่เป็นผู้แทนจริงๆ ไม่ใช่แค่ส.ส.ที่ใส่สูทเข้าไปนั่งเล่นในสภาฯ การสนับสนุนของประชาชน จะเป็นส่วนสำคัญยิ่งที่จะนำเราไปสู่เป้าหมายร่วมกัน
นายยงยุทธ กล่าวตอนหนึ่งว่า โครงสร้างประเทศไทยตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน มีปัญหาที่ถกเถียงกันยังไม่จบสิ้น เพราะปัญหาของประเทศมีความเปลี่ยนแปลงไม่มีวันจบ แม้ปัจจุบันเราจะใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน แต่เรายังมีกฎหมายที่ล้าหลัง ทั้งยังขาดการบริหารประเทศในภาวะวิกฤต และเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม เพราะผู้บริหารขาดวิสัยทัศน์ ประเทศไทยมีปัญหาตรงที่ต่อให้เปลี่ยนชายอายุครบ 8 ปีออกไป ก็จะเปลี่ยนเอาชายคนใหม่เข้ามาเหมือนเดิม เพราะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ตราบใดที่รัฐธรรมนูญ และกฎหมายลูกยังออกแบบมาเช่นนี้อยู่ ตนลงเลือกตั้งเมื่อไหร่ใบแดงก็จะจ่อคอหอย กฎหมายสวยหรู และหลักการดี แต่กลับถูกนำไปใช้ทำลายฝ่ายตรงข้าม และทำให้องค์กรอิสระเสื่อมทรุด เราจึงต้องให้มีรัฐบาลที่เข้มแข็ง ส.ส. กินกล้วยต้องหมดสภาฯ และต้องได้นายกฯ ที่มีคุณภาพ ไม่ใช่เอายามอาชีวะมาเป็น
นายยงยุทธ กล่าวว่า การต่อสู้เป็นเรื่องที่ดี แต่ตราบใดที่เรายังมีส.ว.สีเขียว 250 คน ที่สามารถโหวตเลือกนายกฯ ได้ การแลนด์สไลด์ ได้ 300 เสียงจาก 500 เสียงแบบถล่มทลาย เป็นเรื่องยากภายใต้เงื่อนไขนี้ เพราะจะยังได้พี่ชายคนเดิมกลับมา พอคนทนไม่ไหว ก็จะเกิดเงื่อนไขทางการเมือง ส่วน ธรรมนัสฟีโนมินอล ที่เกิดขึ้นตอนนี้ มีไส้ในไม่เหมือนในอดีต ที่ต่อให้เสียงขาดไป 40 เสียง แต่พี่ชายจากที่พูดไม่รู้เรื่อง จะสามารถกดปุ่มให้ทุกคนเดินเข้าแถวปกติ ดังนั้นปรากฏการณ์ที่ล้มรัฐบาลโดยน้องชายตนจึงเป็นเรื่องยากมาก
นายวิโรจน์ กล่าวตอนหนึ่งว่า มุมมองเร่งด่วนของประเทศคือ ศักยภาพที่เป็นปัญหาของประเทศไทย ซึ่งมีปัญหาภายในที่มีโครงสร้างแบบไม่สามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับสิ่งที่เป็นความมั่นคงมากเกินไป จนละเลยสิ่งที่จำเป็น คือความสามารถในการเติบโตของเศรษฐกิจ ใช้ทรัพยากรไปในทางที่ไม่ถูกต้อง และทำให้เสียทัศนคติเรื่องการแข่งขันไปอย่างชัดเจน และตัวนายกฯไม่มีมุมองในการสะท้อนด้านการแข่งขัน จนทำให้สถาบันต่างๆ ที่เกี่ยวข้องหดตัว และปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในหัวเลี้ยวหัวต่อของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 แต่สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนผ่านไปได้ เกิดความถดถอย และปัญหาของประเทศคือผู้นำ จนทำให้โครงสร้างภาครัฐและเอกชนต้องปรับตัวอย่างมหาศาล เพราะฉะนั้นต้องช่วยกันชี้ปัญหาให้ผู้นำ และไม่ว่าใครเข้ามาแทนต้องค่อยๆ ปรับมุมมอง แต่จะใช้ระบบคนดีแบบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้
นายจารุพล กล่าวตอนหนึ่งว่า การที่รัฐพยายามมองความมั่นคงมากเกินไป จะนำมาสู่ปัญหาความมั่นคงตามมา เพราะมองแคบเกินไป ทั้งที่ความมั่นคงมีหลากหลายมิติ เช่น สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ นอกจากนี้ รัฐยังมีปัญหาในการปรับตัว ซึ่งมองได้ 2 อย่าง คือ ไม่พยายามปรับตัว หรือไม่มีปัญญาในการปรับตัว ดังนั้น ความเข้มแข็งของภาคประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจของการปกครองประเทศ จึงมีความสำคัญ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ดีลลับทักษิณ ยังอยู่หรือจบแล้ว? แนะล็อกเป้า นายกฯคนเดียว
หลังการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) ทำการตัดการจ่ายไฟไปที่เมียนมา เมื่อวันพุธที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา ตามมติสภาความมั่นคงชาติ(สมช.) เพื่อสกัดการดำเนินธุรกิจของขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติ
‘จตุพร’ อ่านเกม ดีลลับหมดอายุ เม.ย.ปิดฉาก ‘ทักษิณ’ I อิสรภาพแห่งความคิด กับ..สำราญ รอดเพชร
‘จตุพร’ อ่านเกม ดีลลับหมดอายุ เม.ย.ปิดฉาก ‘ทักษิณ’ อิสรภาพแห่งความคิด กับ..สำราญ รอดเพชร : วันเสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568
เปิด 4 ทางเลือก! ความเป็นไปได้ หลังสภาล่ม-ร่างแก้ไขรธน.จะเดินหน้าอย่างไร?
การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นหนึ่งในประเด็นทางการเมืองที่ร้อนแรงที่สุดของรัฐบาลชุดนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมสองฉบับเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา แต่เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเกิด “ล่ม” ขึ้นอีกครั้งเนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ
ดร.ณัฏฐ์ ชี้เกมยื้อแก้รธน. 'ปชน.-พท.' ข้ามขั้นตอน เสี่ยงขัดคำวินิจฉัยศาลรธน. ส่งตีความก็ไม่ช่วย
“ดร.ณัฏฐ์” มือกฎหมายมหาชน เผย พลิกเกมยื้อแก้ไข รธน.ฉบับ ปชน.-พท. แม้บรรจุเป็นวาระแล้ว เป็นการลักไก่ ข้ามขั้นตอน ไม่ใช่ปัญหาความขัดแย้ง แม้ส่งศาลรธน. ย่อมไม่มีอำนาจรับไว้พิจารณา
ล่ม "รัก" รัฐธรรมนูญ | ห้องข่าวไทยโพสต์
ห้องข่าวไทยโพสต์ : วันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568
ส่อล่มแต่ไก่โห่! ประธานสั่งพักการประชุม หลังโต้กันวุ่นปมนับองค์ประชุม
การประชุมร่วมรัฐสภา เกิดความตึงเครียด เมื่อสมาชิกฝ่ายค้านโต้แย้งการตัดสินใจของประธานรัฐสภาเกี่ยวกับการนับองค์ประชุม ขณะที่สมาชิกวุฒิสภาเสนอวิธีการขานชื่อ แต่ท้ายที่สุด ประธานรัฐสภาสั่งพักการประชุม 20 นาที เพื่อให้มีการหารือร่วมกัน