'คำนูณ' วิเคราะห์ไทมไลน์ลุงตู่ในเดือน ส.ค.2565 ว่าจะอยู่หรือไปในกรณีครบ 8 ปี ชี้มี 3 แนวคิดมุมมองทางกฎหมาย แต่สุดท้ายต้องไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ
05 พ.ค.2565 - นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โพสต์เฟซบุ๊กในรูปแบบบทความ “สิงหา 65 ต้องหา ‘นายกฯสำรอง’ มั้ย ? ลุงตู่เผชิญมรสุมห้ามอยู่เกิน 8 ปี เปิด 3 มุมมองข้อกฎหมาย 2 คำตัดสิน คำตอบสุดท้ายอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ! มีเนื้อหาว่า
รัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติไว้เป็นครั้งแรกให้นายกรัฐมนตรีอยู่ในตำแหน่งได้รวมกันแล้วไม่เกิน 8 ปี ไม่ว่าจะติดต่อกัน หรือเว้นวรรคกี่ครั้งก็ตาม จึงเกิดเป็นประเด็นปัญหาขึ้นมาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 จะอยู่ได้จนถึงวันที่ 24 สิงหาคม 2565 นี้เท่านั้น จริงหรือไม่ ?
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจ ‘ข้อกฎหมาย’ กันก่อน สรุปสั้น ๆ ปัญหานี้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ 2560 อย่างน้อย 2 มาตรา หนึ่งคือมาตรา 158 วรรคสี่ “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตําแหน่ง” อีกหนึ่งคือบทเฉพาะกาลมาตรา 264 วรรคแรก “ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้...”
ต่อมา เรามาดู ‘ข้อเท็จจริง’ เกี่ยวกับการขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ท่านได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 วันที่ 24 สิงหาคม 2557 ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ครั้งที่ 2 วันที่ 9 มิถุนายน 2562 ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มีความเห็นทางกฎหมายแตกต่างกันเป็น 3 แนวทาง คือ ความเห็นแรก อยู่ได้แค่ 24 สิงหาคม 2565, ความเห็นที่สอง อยู่ได้จนถึงปี 2570 และความเห็นที่สาม อยู่ได้ถึงปี 2568
มาพิเคราะห์ดูเหตุผลของแต่ละความเห็น
(1) ความเห็นที่หนึ่ง : อยู่ได้แค่ปี 2565 “ไม่มีบทยกเว้นมาตรา 158 วรรคสี่ไว้” “เป็นไปตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ เพื่อป้องกันการผูกขาดอำนาจทางการเมือง อันจะเป็นต้นเหตุของวิกฤตทางการเมือง” เห็นว่าเมื่อพิจารณามาตรา 158 วรรคสี่ ประกอบบทเฉพาะกาลมาตรา 264 แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ถึงเพียงไม่เกินวันที่ 24 สิงหาคม 2565 เท่านั้น เพราะแม้จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรกมาก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 แต่ในบทเฉพาะกาลมาตรา 264 วรรคแรกก็กำหนดไว้ชัดเจนให้เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่ง ‘รัฐธรรมนูญนี้’ หมายถึงรัฐธรรมนูญ 2560 จึงต้องอยู่ในบังคับของมาตรา 158 วรรคสี่
และถ้ารัฐธรรมนูญมีความประสงค์จะไม่ให้ใช้บทบัญญัติว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของคณะรัฐมนตรีประการใดมาใช้บังคับกับคณะรัฐมนตรีที่มีอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 จะต้องเขียนระบุไว้ให้ชัดเจนในบทเฉพาะกาล ดังที่บัญญัติยกเว้นไว้ในมาตรา 264 วรรคสอง ให้ยกเว้นหลายกรณีตามมาตราต่าง ๆ ที่ระบุไว้ชัดเจน
- มาตรา 160 (6) บางส่วน
- มาตรา 170 (3) และ (4) บางส่วน
- มาตรา 170 (5) บางส่วน
- มาตรา 112
ล้วนเป็นเรื่องเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรีเสียเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ ถือว่านายกรัฐมนตรีเป็นรัฐมนตรีด้วยคนหนึ่ง เช่นเดียวกับการรับรองสถานะของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติในมาตรา 263 และองค์กรอิสระรวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญอื่น ๆ ในมาตรา 265, 266, 273, 274 ก็จะระบุไว้ว่าไม่ให้นำคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามมาตราใดประการใดมาใช้บังคับบ้าง
รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้บัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาลให้มีการยกเว้นการนำมาตรา 158 วรรคสี่ มาบังคับใช้กับนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนหน้ารัฐธรรมนูญประกาศใช้ ระยะเวลา 8 ปีตามมาตรา 158 วรรคสี่ ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาจึงเริ่มนับตั้งแต่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557
ความเห็นที่หนึ่งนี้ยังยกเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรคสี่มาประกอบด้วย ทั้งนี้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) บันทึกไว้ในหนังสือ ‘ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560’ หน้า 275 ตอนท้ายอธิบายความมุ่งหมายของมาตรา 158 ไว้ช่วงหนึ่งว่า... “การกำหนดระยะเวลา 8 ปีไว้ก็เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมืองยาวเกินไปอันจะเป็นต้นเหตุเกิดวิกฤตทางการเมืองได้”
ถือได้ว่าเป็น ‘การปฏิรูปการเมือง’ โดยรัฐธรรมนูญประการหนึ่ง ซึ่งเมื่อพิจารณาโดยสามัญสำนึกแล้วก็น่าจะให้มีผลทันทีโดยไม่คำนึงถึงว่าเป็นการบังคับใช้ย้อนหลังหรือไม่ มิเช่นนั้นจะเป็นการปฏิรูปการเมืองได้อย่างไร
อนึ่ง มาตรการเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่รัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติให้เข้มข้นขึ้นนี้ หลายมาตรการล้วนจงใจให้บังคับทันทีที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้และมีผลย้อนหลังทั้งสิ้น ไม่ถือว่าเป็นการขัดหลักกฎหมายทั่วไปและโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักนิติธรรม เพราะไม่ได้ ‘มีโทษ’ ทางอาญาแต่ประการใด การเสียสิทธิของบุคคลบางประเภทบางประการก็ล้วนเป็นไปเพื่อกลั่นกรองให้คนที่ปราศจากมลทินมากที่สุดเข้ามาดำรงตำแหน่งการเมือง เพื่อประโยชน์สุขของสังคมส่วนรวม เพื่อป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือเพื่อเป็นการปฏิรูปทางการเมืองนั่นเอง อาทิ มาตรา 98 ว่าด้วยคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นมาตราอ้างอิงของผู้ที่จะมีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น ๆ ด้วย
อนึ่ง มีประเด็นที่พอจะกล่าวได้ว่าใกล้เคียงกันพอสมควรซึ่งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2549 เคยมีคำวินิจฉัยที่ 3-5/2550 เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 ประมาณว่า มาตรการทางกฎหมายที่ออกมาภายหลังการกระทำความผิดสามารถมีผลใช้บังคับย้อนหลังได้ เพราะนอกจากจะไม่ใช่โทษทางอาญาแล้ว ยังเป็นเพราะว่ามาตรการทางกฎหมายนั้นย่อมบัญญัติขึ้นมาเพื่อให้เหมาะสมแก่สภาพแห่งสังคม เพื่อมิให้เกิดความเสียหายซ้ำอีก หรือเพื่อให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยในสังคมนั้นดำรงอยู่ (คดีตามคำวินิจฉัยนี้คือคดียุบพรรคไทยรักไทยและตัดสิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคจำนวน 111 คนเป็นเวลา 5 ปี) การกำหนดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไว้จำกัดเพียงไม่เกิน 8 ปี น่าจะถือเป็นมาตรการบังคับทางการเมืองตามนัยแห่งคำวินิจฉัยที่ 3-5/2550 นี้เช่นกัน สมควรพิจารณาโดยมาตรฐานเดียวกันหรือไม่
(2) ความเห็นที่สอง : อยู่ได้ถึงปี 2570 “ไม่บังคับใช้กฎหมายย้อนหลังเป็นโทษแก่บุคคล ถ้าจะบังคับใช้ต้องบัญญัติไว้ให้ชัดเจน” เห็นว่ามาตรา 158 วรรคสี่ ไม่มีปัญหาในช่วงปี 2565 เลย หากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาประสงค์จะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป และได้รับแต่งตั้งต่อเนื่องตามกระบวนการที่กำหนดไว้ สามารถดำรงตำแหน่งได้ถึงปี 2570 โดยจะเกินวันที่ 24 สิงหาคม 2570 เสียด้วยซ้ำ เพราะจะต้องมีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่อย่างน้อย 1 ครั้งอย่างช้าที่สุดก็ในช่วงต้นปี 2566 เพราะเหตุสภาผู้แทนราษฎรครบวาระ 4 ปี หรือยุบสภาก่อน จึงมีช่วงที่จะดำรงตำแหน่งในฐานะนายกรัฐมนตรีที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นตำแหน่ง มาตรา 158 วรรคสี่ตอนท้ายไม่ให้นับรวมเข้าไว้ในข้อจำกัด 8 ปีด้วย
เหตุผลหลักสำคัญที่สุดของความเห็นนี้คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี 2 ครั้งตามที่กล่าวไว้ในช่วงเกริ่นนำข้างต้น ครั้งที่ 1 ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 และครั้งที่ 2 ตามรัฐธรรมนูญ 2560
รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ จึงเพิ่งจะบังคับใช้กับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานับตั้งแต่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2562 ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักกฎหมายทั่วไปและหลักนิติธรรมที่มีอยู่ประการหนึ่งว่า จะต้องไม่บังคับใช้รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายย้อนหลังเป็นโทษแก่บุคคล ขอย้ำว่าตามแนวคิดฝ่ายที่สองนี้หลักกฎหมายทั่วไปและหลักนิติธรรมในกรณีนี้หมายถึง ‘เป็นโทษ’ ไม่ใช่ ‘มีโทษ’ ในความหมายของ ‘โทษทางอาญา’ ! ทำให้ในกรณีนี้แม้จะไม่ได้ ‘มีโทษ(ทางอาญา)’ แต่ก็เป็นการรอนสิทธิของบุคคล ทำให้บุคคลเสียสิทธิ ถือได้ว่า ‘เป็นโทษ’ เช่นกัน หากบังคับใช้ย้อนหลังก็จะเข้าข่ายขัดหลักกฎหมายทั่วไปและหลักนิติธรรม
ในกรณีนี้ ถ้ารัฐธรรมนูญหรือกฎหมายประสงค์จะให้บังคับใช้ย้อนหลัง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ก็จะต้องบัญญัติไว้ให้ชัดเจน เพราะเมื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 นั้นเป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ซึ่งไม่ได้มีบทบัญญัติกำหนดระยะเวลาจำกัดไว้ เพิ่งจะมามีบทบัญญัติกำหนดระยะเวลาจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 นี่เอง หากบังคับใช้บทจำกัดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีย้อนหลังกับท่านจะเป็นการบังคับใช้รัฐธรรมนูญย้อนหลัง ‘เป็นโทษ’ กับบุคคล ขัดหลักกฎหมายทั่วไปและหลักนิติธรรม
ดังนั้น การเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกของท่านจึงไม่อยู่ภายใต้บทบังคับมาตรา 158 วรรคสี่ การที่มีบทเฉพาะกาลมาตรา 264 วรรคแรกกำหนดให้ท่านและรัฐมนตรีร่วมคณะซึ่งมาตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ 2560 ก็เพื่อให้การบริหารประเทศเดินหน้าไปอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน ไม่ขาดคณะรัฐมนตรีทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร หาได้หมายความว่าคณะรัฐมนตรีชุดเปลี่ยนผ่านนี้จะต้องอยู่ภายใต้บทบังคับของรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งหมด ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยในทางปฏิบัติเพราะอยู่บนฐานคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงระหว่างรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ
และถ้ารัฐธรรมนูญ 2560 ประสงค์จะให้นับเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก่อนหน้ารวมไว้ด้วย จะต้องเขียนระบุไว้ให้ชัดในบทเฉพาะกาล เหมือนกรณีบทเฉพาะกาลของกฎหมายบางฉบับที่กำหนดให้นับเวลาการดำรงตำแหน่งก่อนกฎหมายประกาศใช้รวมไว้ในวาระการดำรงตำแหน่งด้วย ตามหลักทั่วไปที่ว่าการใดที่เป็นโทษหรือรอนสิทธิบุคคลจะต้องบัญญัติไว้ให้ชัดเจน
ประเด็นที่อาจถือได้ว่าใกล้เคียงกันนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเคยมีคำพิพากษาที่ อม. 138/2562 โดยมติที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาตัดสินข้อกฎหมายไม่ให้นำสภาพบังคับที่กำหนดไว้ในกฎหมายขณะตัดสินคดีที่กระทบสิทธิของจำเลยรุนแรงกว่ามาตรการที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่บังคับใช้ในขณะกระทำความผิดมาใช้ แม้สภาพบังคับนั้นศาลจะได้วินิจฉัยแยกแยะไว้อย่างชัดเจนว่าไม่ใช่โทษทางอาญาก็ตาม ก็จะนำมาใช้ย้อนหลังไม่ได้
(คดีนี้เป็นความผิดฐานไม่แจ้งหรือแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จ ทั้งนี้ มาตรการบังคับทางการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 บัญญัติไว้หนักกว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บังคับใช้ขณะกระทำความผิด) จะเห็นได้ว่าคำพิพากษาศาลฎีกาฯที่ อม. 138/2562 วางหลักในสาระสำคัญแตกต่างจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3-5/2550 ที่กล่าวไว้ในส่วนความเห็นที่หนึ่งอย่างชัดเจน
อนึ่ง หลักการที่คำพิพากษาศาลฎีกาฯที่ อม. 138/2562 วางไว้ดังกล่าวมีความสอดคล้องกับหลักการที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (HRC : The United Nations Human Rights Committee) และศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป (European Court of Human Rights) วางไว้ในบางคดีกรณีการบังคับใช้กฎหมายย้อนหลังเป็นโทษแก่บุคคลแม้จะมิใช่โทษทางอาญาก็ตาม
(3) ที่กล่าวมาคือความเห็นทางกฎหมายที่ตรงข้ามกันเป็น 2 ขั้ว และคำพิพากษาศาลสูงของไทยกับคณะตุลาการรัฐธรรมนูญในอดีตที่วางหลักไว้แตกต่างกันในสาระสำคัญ 2 ทาง ยังมีความคิดเห็นที่สาม… ความเห็นที่สาม : อยู่ได้ถึงปี 2568 “มาตรา 158 มีผลตั้งแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560” เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาจะอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ถึงปี 2568 โดยยึดถือวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 วันที่ 6 เมษายน 2560 เป็นหลัก สรุปสั้น ๆ ง่าย ๆ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเข้ามาอยู่ในบังคับของมาตรา 158 วรรคสี่ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 ระยะเวลา 8 ปีเริ่มนับแต่จุดนั้น จึงจะไปจบลงในปี 2568
ความเห็นที่สามนี้ตรงกับความเห็นที่สองในประเด็นที่ว่ามาตรา 158 วรรคสี่ไม่บังคับใช้ย้อนหลังไปยังความเป็นนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 วันที่ 6 เมษายน 2560 และตรงกับความเห็นที่หนึ่งในประเด็นที่ว่าระหว่างวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ไปจนถึงวันที่ 24 สิงหาคม 2562 ซึ่งท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 1 อยู่โดยมาจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 นั้น ไม่มีบทบัญญัติยกเว้นไม่ให้นำมาตรา 158 วรรคสี่มาใช้บังคับกับท่านแต่ประการใด นอกจากนี้ที่สำคัญ ยังตรงกับความเห็นที่หนึ่งในประเด็นเจตนารมณ์และความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่บันทึกไว้ว่า “….เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมืองยาวเกินไปอันจะเป็นต้นเหตุเกิดวิกฤตทางการเมืองได้” ด้วย
ทั้ง 3 ความคิดเห็น มีเหตุผลทางกฎหมายรองรับตามที่กล่าวมาโดยสังเขป ยังไม่อาจกล่าวได้ว่าความเห็นใดถูกต้องที่สุด จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยชี้ขาด เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 211 วรรคสี่ บัญญัติให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นเด็ดขาดและผูกพันทุกองค์กร
ถ้าการเป็นไปตามความเห็นที่หนึ่งเท่านั้นจึงจะเกิดมี ‘นายกฯสำรอง’ หรือ ‘นายกฯขัดตาทัพ’ ตามที่เริ่มมีการเรียกขานกัน แต่ถ้าการเป็นไปตามความเห็นที่สองหรือความเห็นที่สาม ก็ไม่มีเหตุให้ต้องมีนายกฯสำรอง เพราะเทอมการเป็นนายกรัฐมนตรีตามบังคับรัฐธรรมนูญของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาจะไปปิดเอาในปี 2570 หรือ 2568 แล้วแต่กรณี คำตอบสุดท้ายอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ !
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เอ็มโอยู44-เอื้อนายทุน จุดจบรัฐบาลไม่ครบเทอม
หากอ้างอิงข้อมูลจากนิด้าโพลเมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา หัวข้อ รัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์ อยู่ครบเทอมหรือไม่ โดยประชาชนมากกว่า 57.71% มองว่าอยู่ไม่ครบเทอม ประกอบด้วยสัดส่วนร้อยละ
กระจ่าง! ดร.ณัฏฐ์ นักกฎหมายมหาชน ชี้กรณีคุณสมบัติ 'สว.หมอเกศ'
“ดร.ณัฏฐ์” นักกฎหมายมหาชน ชี้ กรณี สว.หมอเกศ ปริญญาเอกและตำแหน่งศาสตราจารย์ หากไม่จริง เป็นการโชว์เหนือ หลอกลวงเพื่อจูงใจให้ผู้สมัคร สว.ด้วยกัน เข้าใจผิดในคุณสมบัติ ความรู้ ความสามารถของตนเอง
'กกร.เชียงใหม่' จ่อชง 'ครม.สัญจร' เยียวยาผู้ประกอบการน้ำท่วม
นายอาคม สุวรรณกันทา ประธานสมาพันธ์ SMEs ไทย จังหวัดเชียงใหม่ และรองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า มาหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นกับเชียงใหม่ปีนี้
'นายกฯอิ๊งค์' ยกนิ้วโป้ง! หายป่วย ลงพื้นที่ร้อยเอ็ด
’นายกฯอิ๊งค์‘ นำคณะลงพื้นที่ร้อยเอ็ด แม้เสียงยังแหบ ยกนิ้วโป้งอาการดีขึ้น เปิดตารางงาน ลุยปัญหายาเสพติด พร้อมพบปะชาวบ้าน ก่อนกลับ กทม. ช่วงเย็น
'เพื่อไทย' ไม่ฟังเสียงต้าน! ดันทุรังเข็น 'กิตติรัตน์' นั่งปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ
รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า รัฐบาลที่มาจากพรรคเพื่อไทยตั้งแต่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน
1พ.ย.นายกฯอิ๊งค์ลงร้อยเอ็ดตามติดนโยบายปราบยาเสพติด
โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯเร่งแก้ปัญหายาเสพติด เตรียมบินร้อยเอ็ด 1 พ.ย. ตรวจการป้องกันและปราบปรามตามนโยบายรัฐบาล