4 ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ขายฝันนโยบายสังคม

เสวนาโชว์นโยบายด้านสังคมผู้ว่าฯ กทม.​ 'สกลธี-อัศวิน'​ หวังกลับเข้าไปสานต่อผลงานเดิม​ 'วิโรจน์' ชูนโยบายคนเท่ากัน​ 'ดร.เอ้' โปรเมืองสวัสดิการ หวัง กทม.มีคุณภาพชีวิตเหมือนโตเกียว​

06 เม.ย.2565 - ที่สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์​ จัดเวทีสาธารณะ​ "เสนอไป​ เสนอมา...นโยบายสังคม​ ของผู้ว่าฯกทม.​ เสียงผู้หญิง​ 2.3 ล้าน​ ชี้ขาด... ใคร​ คือ​ ผู้ว่าฯกทม." โดยนายสกลธี​ ภัททิยกุล​ ผู้สมัครผู้ว่า​ราช​การกรุงเทพ​มหานคร​ หมายเลข​ 3 กล่าวว่า​ อุปสรรคสำคัญในการแก้ไขปัญหาสังคมของ กทม.คือการจัดสรรงบประมาณ​ ย้อนหลังกลับไปช่วง​ 5-10 ปีที่ผ่านมาสำนักงานพัฒนาสังคมของ กทม.เป็นผู้ดูแลเรื่องสังคม​ ได้งบประมาณ​ 200 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น​ ซึ่งไม่ถึงครึ่งเปอร์เซ็นต์​จากงบประมาณ​ทั้งหมดที่ กทม.ได้รับ​ ซึ่งการที่เราดูแลเรื่องสังคมอาจจะไม่ได้เห็นภาพ​เหมือนเราสร้างตึกสร้างถนน​ แต่มีผลที่สามารถแปลงเป็นมูลค่าเงินได้​ ถ้าได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯ กทม.​งบประมาณส่วนนี้จะมีการปรับปรุง

นายสกลธี​ กล่าวว่า​ กิจกรรมบางอย่างของ กทม.บางอย่างเราสามารถให้ภาคเอกชนทำแทน กทม.ได้​ เพียงแต่ว่าต้องไปปรับข้อกฎหมายในบางส่วน​เพื่อให้สามารถจ้างงานนอกได้เพิ่ม​ เรียนว่างบประมาณ​ 8 หมื่นล้านบาทดูเยอะจริง​ แต่ว่าจำนวนเงิน​ 3 หมื่นล้านบาท​เป็นการจ้างงาน​ และข้อบัญญัติ​ของ กทม.กำหนดกรอบไว้ว่าเราคงไม่สามารถเพิ่มค่าจ้างเพิ่มได้​ถือว่าเป็นอุปสรรค​ นอกจากนี้เรื่องของสตรีอยากเน้นเรื่องความปลอดภัยทั้งไฟฟ้าส่องสว่าง​ ช่วย​หรือเอื้อผู้หญิงที่ทำงานกลับบ้านดึกให้ได้กลับบ้านได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น​ ซึ่งเราจะใช้หน่วยงานเทศกิจ​มาช่วยกันได้

นายสกลธี​ ยังกล่าวอีกว่า​ ขณะนี้เราอยู่ในสังคมผู้สูงอายุ​ที่จะพบจำนวนมากขึ้นในทุกๆ ปี ​ เพราะฉะนั้นหลายนโยบายของตนเองจะเอื้อไปทางผู้สูงอายุ​เป็นหลัก​ เช่น​ ศูนย์สาธารณสุข​ของ กทม.​ ควรจะปรับให้เป็นสมาร์ท​คลินิก​ โดยใช้ระบบ​Telemedicine เพื่อทำให้การเดินทางของผู้สูงอายุสะดวกมากยิ่งขึ้น​ รวมถึงระบบที่จะคอยดูแลผู้สูงอายุติดเตียงที่บ้าน​ เช่นนาฬิกาที่ติดกับผู้สูงอายุที่จะคอยแจ้งได้ว่าชีพจรปกติตก​ หรือมีอาการหรือไม่​ โดยเจ้าหน้าที่ของกทม.จะสามารถเข้าหาได้เลย​ เป็นการช่วยดูแลอย่างใกล้ชิด​ ไม่ต้องมีคนมาคอยดูแลเสียเวลาทั้งวัน​ ส่วนการจ้างงานผู้สูงอายุ​ กทม.สามารถทำเป็นโครงการต่างๆเพื่อจะเอื้อผู้สูงอายุที่กำลัง​ สามารถที่จะทำกิจกรรมง่ายๆในชุมชน

นายสกลธี​ กล่าวอีกว่า​ ส่วนคนพิการได้ดำเนินการหลายอย่าง​เต็มที่​ ตามพ.ร.บ.คุ้มครองคนพิการ​ หน่วยงานรัฐหรือเอกชน​ ถ้าไม่อยากส่งเงินเข้ากองทุนต้องจ้างงานคนพิการ​ 1% ที่ผ่านมาไม่มีหน่วยงานใดที่จ้างเงินถึง​ 1% สมัยเป็นรองผู้ว่าฯ พยายามผลักดันตรงนี้แล้วประสบความสำเร็จ​ โดยได้ของบจ้างงานคนพิการไปกว่า 300 ตำแหน่ง​ นอกจากนี้โรงเรียนฝึกอาชีพคนพิการซึ่งเราก็ทำสำเร็จก่อนที่จะลาออกเช่นกัน​ และสิ่งสำคัญคือเราได้ทำเว็บ​ไซต์​หางานให้คนพิการได้สำเร็จเพื่อให้บริษัทต่างๆรับไว้เข้าทำงาน​ ส่วนเรื่องเด็กเล็ก​นั้นกทม.ต้องปรับ​ เพราะพื้นที่ศูนย์เด็กเล็กส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของเอกชน​เพราะฉะนั้นต้องทำลายในการใช้งบประมาณของกทม.ให้ได้​ ซึ่งสามารถทำได้โดยการแก้ไขข้อบัญญัติ​ ถ้าทำได้ศูนย์เด็กเล็กที่เป็นพื้นที่เอกชนก็จะใช้ประโยชน์​ในส่วนนั้นได้​ ส่วนความรุนแรงทางเพศต้องมีการกวดขันในที่ทำงาน​ รวมถึงปลูกฝังในโรงเรียน​กทม.ว่าให้เด็กๆเรียนรู้​ ให้เกียรติ​กับต่างเพศมากขึ้น​ ซึ่งต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็กๆ

นายสกลธี​ กล่าวอีกว่าสำหรับเรื่องแรงงาน​ต้องมีความสมดุลในการใช้พื้นที่สาธารณะ​มาใช้เป็นพื้น​ที่​ค้าขาย​ กับคนที่ใช้ทางเท้า​ ซึ่งช่วงหลัง กทม.ได้เปิดโอกาสให้กับผู้ใช้แรงงาน​มาใช้พื้นที่ได้

ด้าน พล.ต.อ.อัศวิน​ ขวัญเมือง​ ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.หมายเลข​ 6 กล่าวว่า​ เรื่องผู้สูงอายุเราให้ความสำคัญ​ รถตู้รับผู้สูงอายุเราทำไปแล้ว​ 30 คัน​ อยู่​ 3 จุด​ ที่รามคำแหง​ หนองแขม​ และพระราม​ 3 ซึ่งในอนาคตเราจะปรับเป็นรถพลังงานสะอาด​ส่วนสวัสดิการผู้สูงอายุ​ นอกจากนี้มีการส่งยาถึงบ้าน มีระบบพบแพทย​์ภายใน​ 60 นาที​ ซึ่งทำระบบนี้มาตั้งแต่​ 2 ปีที่แล้ว​ นอกจากนี้เราเพิ่มสวัสดิการการซ่อมแซมบ้านให้กับผู้ที่ประสบภัยต่างๆ ในชุมชน​ เราเพิ่มให้​เป็น​ 3 หมื่นบาท​ จาก​2 หมื่นบาทต่อหลังคาเรือน

ส่วนเรื่องการศึกษาของเด็กที่ผ่านมา​ กทม.​ได้รับเงินวันละ​ 20 บาทต่อหัว​ สำหรับค่าอาหารเด็กอนุบาล​และเด็กประถม​ เมื่อตนได้เป็นผู้ว่าฯกทม.จึงได้เสนอต่อสภากทม.ขอเพิ่มเป็น​ 40 บาท​ ซึ่งจะเป็นแบบนี้ตลอดไป​ รวมถึงเพิ่มการเรียนหลักสูตร​ 2 ภาษาให้ทั้งอังกฤษ​ และจีน​ ทำไปแล้ว​ 155 แห่ง​ เพราะฉะนั้นไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง​ ทำให้กับเด็กๆหลายอย่าง​ ส่วนเรื่องความรุนแรงทางเพศ​โรงเรียนจะต้องให้ความรู้เรื่องการคุกคามทางเพศต่างๆ​ อีกทั้งต้องดูรากฐานของครอบครัวที่อาจไม่ให้ความสำคัญ​ ซึ่งต้องช่วยค่อยๆกันแก้ไข

ด้านนายวิโรจน์​ ลักขณา​อดิศร​ ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.​ หมายเลข​ 1 พรรคก้าวไกลกล่าวว่าปัญหาใหญ่ของ กทม.​คือเราตกอยู่ภายใต้มายาคติบางอย่างที่ไม่เป็นธรรม​ เช่น ถ้าอยากรวยต้องขยัน​ แต่ข้อเท็จจริงคือเราเจอคนที่ขยันจนไม่มีเวลาพักผ่อน​ ขยันยังไงก็ยากจน​ คนสู้แล้วตายสู้แล้วจนมีเยอะแยะ​ การปล่อยให้คนจนเมืองต้องดิ้นรนอยู่ภาวะระบบนิเวศ​ที่ไม่เป็นธรรม​ โอกาสจะงอกเงยมันยากมากๆ​ ดังนั้นทำไมนโยบายของเราที่คนเท่ากัน​จึงเป็นการเพิ่มสวัสดิการ​ ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการผู้สูงอายุ​ เราจะเพิ่มจาก​ 600 เป็น 1,000 บาทหรือเด็กแรกเกิดถึง​ 6 ปี​เราให้เพิ่มเติมจาก​ 600 เป็น​ 1,200 บาท​

"ถ้าเมืองๆ นี้ดูแลพ่อแม่เราได้ดีกว่านี้​ ผมสามารถวิ่งตามความฝันได้​ ผมสามารถทำงานได้ พูดอยู่นั่น​ Up skill แต่ผมจะเอาอะไรไป​ Up skill ผมมีแต่คำพูดที่ว่า​กูไม่ออกหรอก​ ออกแล้วกูจะเอาอะไรแดก​ ทำไมเมืองนอกเขา​ Up skill ได้​ เพราะเขารู้สึกว่าเมืองๆ นี้ดูแลเรา​และพ่อแม่ดีกว่านี้​ คนที่ทำงานสักวันก็ต้องแก่​ ถ้าเรารู้ว่าเมืองๆ นี้จะดูแลเราในยามแก่ได้ดี​ ผมวิ่งตามความฝันได้เต็มที่​ ซึ่งเป็นจุดเบื้องต้นที่สุดที่จะสร้างเมืองสวัสดิการ​ ไม่ใช่การสงเคราะห์​ และถ้าเราทำได้​ มันจะไม่มีผู้ว่าหน้าไหนไปลดสวัสดิการตรงนี้ได้อีก​ และกดดันให้รัฐบาลทำรัฐสวัสดิการ​ 3,000 บาทให้กับทุกคน​ ทุกจังหวัด​ ถ้าไม่เริ้มที่ กทม.มันไปต่อที่อื่นไม่ได้"นาย​วิโรจน์​ กล่าว

นายวิโรจน์​ กล่าวอีกว่า​ เมื่อคนมีสวัสดิการคนก็รู้สึกมั่นคง​ เราก็กล้าบริโภค​ เมืองที่มีกำลังซื้อ​ เมืองที่มีกำลังการบริโภค​ คือเมืองที่กล้าลงทุน​ ถ้าเราปล่อยไปเราจะเต็มไปด้วยผู้สูงอายุที่ไม่มีเงิน​ เราจะมองเด็กคนหนึ่งในชุมชนที่รู้ว่าถ้าเด็กอยู่ในระบบนิเวศ​แบบนี้​ เขาต้องโตมาเป็นเด็กที่ไม่มีความหวัง​ ไม่มีศักย​ภาพ​ในการ​พัฒนา​อาชีพ​ เมืองแบบนี้มันมีความหวังหรือ​ น่าลงทุนหรือ​ คนรวยอย่าหลอกตัวเองเล​ยทุกวันนี้คุณลงทุนในต่างประเทศ เพราะที่นี่ไม่มีแหล่งลงทุนใหม่ๆ ที่น่าสนใจใช่หรือไม่​ เมื่อไม่มีการจ้างงาน ทักษะสูงก็ไม่มีเช่นกัน​ มันจะกลายเป็นเมืองต้องสาป

นายวิโรจ์ กล่าวอีกว่า​ เราต้องกระจายงบประมาณจากงบประมาณ​รวมศูนย์ที่สำนักงาน​เขต​ และงบกลางผู้ว่า​ 1.4 หมื่นล้านบาท​ เพราะผู้ถืออำนาจคือคนถือเงิน​ และต้องการทำในสิ่งที่ทำได้​ จะไม่มีผู้ว่าฯ กทม.คนไหน​ที่กระจายเงินไปแล้ว​สูบเงินกลับไปจากประชาชนอีก​

"วันนี้ผมฟังวิสัยทัศน์​แต่ละท่านผมทุกข์​ เพราะทุกท่านฝากผู้ว่าฯ ​กทม. เวลาที่ท่านเจอปัญหาทำไมต้องอ้อนวอน​ ถ้าเรากระจายงบประมาณอย่างถูกต้องเราจะทำโปรเจกต์อะไรก็สามารถทำได้เลย​ เพราะงบประมาณถูกกระจายลงไปในชุมชนหมดแล้ว​ ไม่ต้องร้องขอ​ เพราะท่านเป็นผู้ทรงอำนาจที่สุดแล้ว ซึ่งเป็นกระดุมเม็ดแรกที่เปลี่ยนแปลงสังคมอย่างยั้งยืน​ และคืนอำนาจให้กับประชาชน" นายวิโรจน์​ กล่าว

นายวิโรจน์​ กล่าวอีกว่า​ เวลาที่ประชาชนได้รับความรุนแรงทางเพศ​ หรือความเดือดร้อนใดๆ ประชาชนเป็นเหยื่อ​ เขาต้องการให้ กทม.มีหน่วยงานที่เป็นเจ้าทุกข์​แทนเขา​ ซึ่งเรื่องนี้หน่วยงานต่า​ๆ งในกทม.ต้องจัดการ​ ท้ายที่สุดหาบเร่แผงลอย​คุณไม่ไว้วางใจประชาชน​ ไม่ใช่ว่าจะขายได้ทั้งหมดเสรี​ แต่ต้องให้ประชาชนคุยกันว่าจะวางกติกากันอย่างไร​ ไว้วางใจประชาชน​ แล้วคุณสร้างกลไกให้กับคนตัวใหญ่ได้ทำประโยชน์​และช่วยเหลือ​ประชาชน​หรือไม่​ ให้ประชาชนคุยกันว่าจะวางระเบียบไหนอย่างไร​ จะทำอย่างไรให้ถูกต้องตามกฎหมาย​ คิดว่าคุณกำลังทำเป็นเจ้าเข้าเจ้านาย​ เบื่อกับคำว่าจัดระเบียบ​ ผู้ว่าฯ กทม.ที่แท้จริงต้องเปิดเวทีให้ประชาชนมาพูด​คุยกัน

ด้านนายสุชัชวีร์​ สุวรรณสวัสดิ์​ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.​หมายเลข​ 4 พรรคประชาธิปัตย์​ กล่าวว่า​ ทุกคนอาจเข้าถึงด้านสาธารณสุข​ การศึกษาที่ราคาถูกหรือไม่เสียเงิน​ แต่คำถามคือมีคุณภาพหรือไม่​ ดังนั้นความตั้งใจคือเรื่องของคน​กทม.ต้องเป็นเมืองสวัสดิการ​ที่มีคุณภาพจริงๆ ทำให้ทุกคนได้ยืนขึ้นได้​ ไม่จมน้ำและเดินไปข้างหน้าได้​ ซึ่งเป็นรากฐานของทุกๆเมือง

อย่างไรก็ตนต้องการเปลี่ยน กทม.ให้เป็นเมืองสวัสดิการที่ทันสมัยต้นแบบของอาเซียน​ ในวันนี้ทุกคนใช้โทรศัพท์​กัน​ ​แต่การบริการประชาชนตามเขตต่างๆ ยังต้องไปเขตอยู่​ ซึ่งนโยบายคือคน กทม.ต้องใช้อินเตอร์​เน็ต​ฟรี​ เพราะเป็นรากฐานสำคัญของความเท่าเทียม​ และเป็นจุดเชื่อมโยงของทุกๆ อย่าง​ วันนี้เด็กเรียนออนไลน์​ หรือทำงานที่บ้านเราก็ต้องจ่ายเงิน​ ที่น่าเห็นใจผู้สูงอายุที่ต้องอยู่ตามลำพัง​ สิ่งที่กลัวคือเรื่องเหตุฉุกเฉิน​ เพราะฉะนั้นอินเตอร์​เน็ต​ฟรีทำให้สามารถรายงานเหตุ​ฉุกเฉินได้ทัน

"ผมอยากให้ กทม.เป็นประหนึ่งโตเกียวที่เราอยากจะไปเที่ยวกัน​ ทุกอย่างก็เรียบ​ ทุกคนไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล​เอกชน​ ไปโรงพยาบาล​ของรัฐใกล้บ้านได้​ นโยบายของผมชัดเจนว่าต้องการเปลี่ยนชีวิตคน​ หยุดปัญหาซ้ำซาก" นายสุชัชวีร์​ กล่าว

นายสุชัชวีร์​ กล่าวอีกว่า​ นโยบายเงินเต็มบ้านงานเต็มเมือง​ กองทุนการสร้างงาน​ 2 พันชุมชนปีละ​ 6 แสนบาทต่อชุมชนสามารถจ้างงานได้ถึง​ 5 หมื่นอัตรา​แล้วงานตรงนี้ผู้สูงอายุในชุมชนได้โอกาสเป็นอันดับแรก​ เข้ามาช่วยดูแลเด็กเล็ก​ ดูแลผู้สูงอายุด้วยกัน​ ดูแลความปลอดภัย​ เพราะฉะนั้นกทม.ไม่เฉา​ ชีวิตเปลี่ยนทำงานแลกได้เงิน​ ส่วนเรื่องเด็กเล็กขอประกาศนโยบายว่า​ตั้งใจจะเป็นผู้ว่าฯที่อุดหนุน​ 0-6 ปี​ อย่างเสมอภาค​ และถ้วนหน้า​ นอกจากนี้เรื่องสตรี​ต้องปลูกฝังตั้งแต่ในโรงเรียนว่าการล่วงละเมิดทางเพศ​เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้​ นอกจากนี้ต้องการตั้งสภาผู้สูงอายุให้ผู้สูงอายุได้มาร่วมบริหารจัดงบประมาณด้วยตัวเองได้ถูกจุด​ ไม่ลงไปที่เขต​ เพราะนโยบายที่เขตออกไม่สามารถแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุในแต่ละเขตได้ตรงจุด​.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เพื่อความสบายใจ 'สส.พรรคส้ม' แจงยิบ 3 ประเด็น ต้องฟ้องหมิ่นประมาท ปกป้องสาธารณะ

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน(ปชน.) โพสต์เฟซบุ๊ก แสดงความเห็นกรณีปชน.จะฟ้องบุคคลที่กล่าวหาปชน.เป็นแนวร่วมขบวนการบีอาร์เอ็น ว่า

กทม. เฝ้าระวัง16 ชุมชน 731 ครัวเรือน รับมือน้ำล้นตลิ่ง

กรุงเทพมหานคร แจ้งการเฝ้าระวัง 13-23 ต.ค. 67 เฝ้าระวัง 16 ชุมชน 731 ครัวเรือน ในพื้นที่ 7 เขต นอกคันกั้นน้ำ ยกของขึ้นที่สูง ตรวจสอบปลั๊กไฟและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด