สนามเลือกตั้ง”ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร“ที่จะเลือกกันวันอาทิตย์ที่ 22 พ.ค. 2565 เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ สัปดาห์ที่ผ่านมามีการเปิดตัวผู้สมัครอีกสองคนอย่างเป็นทางการ คือพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯกทม. ที่ลงสมัครอิสระ และน.ต.ศิธา ทิวารี ที่ลงสมัครในสังกัดพรรคไทยสร้างไทย
สำหรับอีกหนึ่งในผู้ประกาศเข้าสู่สนามเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ครั้งนี้ ที่หลายคนจับตามองก็คือ “สกลธี ภัททิยกุล“หรือ”เดอะจั้ม”เพราะถือว่าเป็นตัวเต็งคนหนึ่ง โดยเป็นคนที่มีคุณสมบัติที่ไม่ธรรมดาเช่น ประสบการณ์การเป็นอดีตรองผู้ว่าฯกทม.ร่วมสี่ปี -เป็นอดีตส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์-เป็นอดีตแกนนำพรรคพลังประชารัฐสายกทม.เป็นต้น
ซึ่งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. “สกลธี ภัททิยกุล ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ที่ลงในนามอิสระ“ได้แถลง 6 นโยบายในการลงสมัครรับการเลือกตั้งภายใต้สโลแกน “กทม.More ทำกรุงเทพให้ดีกว่านี้ได้” โดย สกลธี บอกว่า หลังเปิดตัวลงเลือกตั้ง พบว่ากระแสตอบรับถือว่าดีมาก มีกระแสขึ้นมารวมถึงโพล์ที่ผมและทีมงานทำโพล์สำรวจกันเอง ก็พบว่า ผลสำรวจออกมากระแสตอบรับขึ้นมาเท่าตัว หลังเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ส่วนความมั่นใจ ต้องบอกว่า มั่นใจเต็มที่อยู่แล้ว แต่อยู่ที่ประชาชน เขาตัดสินใจ เพราะว่า คนกทม.อ่านใจยากมาก เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ทุกครั้ง อย่างเช่นตอนเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ตอนปี 2556 ที่แข่งกันระหว่าง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร กับพล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญหรือการเลือกตั้งใหญ่ปี 2562 ในส่วนของการเลือกตั้งส.ส.เขต กรุงเทพมหานคร จะเห็นได้ว่ามันพลิกได้เสมอ ทุกอย่างมันเปลี่ยนเร็ว ข่าวสารไปเร็ว
“ถามว่าที่ลงสมัครมั่นใจในตัวเองหรือไม่ ต้องตอบว่ามีความมั่นใจ แต่ว่าการจะได้รับเลือกหรือไม่ได้รับเลือก ก็อยู่ที่คนกรุงเทพมหานคร ซึ่งผมไม่ได้มาเพื่อแพ้ ก็สู้เต็มที่แน่นอน”
ส่วนการลงสมัครในนามอิสระกับการลงสมัครในสังกัดพรรคการเมือง มองว่าหากลงในนามพรรคการเมือง ข้อได้เปรียบก็คือมีฐานคะแนนของพรรคการเมืองอยู่พอสมควร ผมยกตัวอย่างเช่น พรรคประชาธิปัตย์ ที่ผมก็เคยอยู่มา โดยหากสมมุติผมลงประชาธิปัตย์ ต่อให้ผมอยู่เฉยๆ หรือผมจะไปออกหาเสียง คิดว่าจะมีคนเลือกผมแบบแน่ๆ แล้วสองแสนคนถึงสามแสนคน เพราะเป็นฐานของพรรคในกรุงเทพมหานคร แต่ข้อเสียก็มีคือ ก็จะเป็นขั้วไปเลย ประชาธิปัตย์ก็คือขั้วประชาธิปัตย์ แต่ถ้าผมลงสมัครอิสระ ด้วยความที่ผมมีเพื่อนหลายกลุ่มทั้งประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ เพื่อไทย ผมก็มี ภูมิใจไทย พรรคกล้า บางทีคนในพรรคเหล่านั้นก็อาจมาช่วยผม โดยที่เขาไม่ต้องกังวลเรื่อง สีเสื้อที่ผมใส่ มันสะดวกใจกว่า แล้วผมก็เปิดกว้างด้วยว่า คนที่คิดไม่เหมือนผมในเรื่องการเมืองภาพใหญ่แต่ว่า อยากมาแก้ปัญหากรุงเทพมหานคร แล้วมีไอเดียมา เราเปิดรับทุกคน
-ในส่วนของการที่คนลงสมัครผู้ว่าฯกทม.โดยมีการส่งส.ก.ลงด้วยพร้อมกัน กับคนลงผู้ว่าฯกทม.แต่ไม่ได้มีส่งส.ก. ไปด้วยพร้อมกัน จะแตกต่างกันอย่างไรหรือไม่ ?
ถ้าเป็นระดับเขต คะแนนจัดตั้งจะมีความสำคัญ เพราะพื้นที่จะเล็กลงมา คนชนะกันจะชนะกันหลักพันหลักหมื่น ทำให้คะแนนทุกหนึ่งพัน สองพัน จึงมีความหมาย แต่การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ที่เป็นภาพใหญ่ ผมไม่ปฏิเสธว่าคนที่ลงส.ก.ทุกคน ทุกคนมีคะแนนของตัวเองหมด มากบ้างน้อยบ้าง แต่ผมเชื่อว่า คะแนนจัดตั้งที่อาจจะใช้คำว่า บ้านใหญ่กรุงเทพ เขตหนึ่งเต็มที่ไม่เกิน 3-5 พันคะแนน ไม่เหมือนกับบ้านใหญ่ต่างจังหวัดเช่นที่ชุมพร เขตของลูกหมี ชุมพล จุลใส อดีตส.ส.ชุมพร อาจจะมีสองหมื่นคะแนน แต่สำหรับกรุงเทพมหานคร ด้วยความที่เป็นสังคมกรุงเทพ จึงไม่มีใครเป็นเจ้าของคะแนนอย่างแท้จริง อาจจะมีบ้านใหญ่บ้างก็หลักพันต้นๆ
ผมจึงคิดว่าเวลาคนกรุงเทพมหานครเขาไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเขาจะเลือกจากกระแสที่เกิดขึ้นมา โหมกวาด ไม่อย่างนั้นตอนเลือกตั้งใหญ่ปี 2562 ประชาธิปัตย์คงไม่ได้ส.ส.เขต กทม.แม้แต่คนเดียวเป็นศูนย์ ทั้งที่เคยเป็นเจ้าสนามกทม.เพราะฉะนั้น เวลาที่กระแสมันมา จัดตั้งให้ตายยังไง ก็ทนไม่อยู่ ผมจึงคิดว่า การส่งส.ก.ลงด้วย โอเค มีประโยชน์ แต่ว่า ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายว่าจะช่วยให้ชนะการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ได้เสมอไป
-วิเคราะห์ว่า คนกรุงเทพ จะใช้การเมืองระดับชาติ อย่างเช่นการที่แบ่งการเมืองเป็นสองขั้ว มาเป็นจุดตัดสินใจในการลงคะแนนเสียงหรือไม่ ?
ที่ผ่านมามี และตอนนี้ผมมองว่าก็ยังมีอยู่ เพียงแต่ผมก็อยากให้คนกรุงเทพได้ดูว่า บางทีการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.มันไม่เหมือนการเมืองภาพใหญ่ ซึ่งอุดมการณ์ สีเสื้อมันรุนแรงมาก แต่การเลือกผู้ว่าฯกทม.คือการเลือกตัวแทนของคนที่จะมาทำงาน มาดูแลเมืองหลวง มาเป็นพ่อเมืองแทนคนที่เลือก เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นไปได้ ก็อยากให้เลือกคนที่คิดว่า นำเสนอนโยบายหรือลักษณะการทำงานที่น่าจะถูกจริตกับคนกรุงเทพให้มากที่สุด ผมมองแบบนั้น แต่ว่าจะให้เขาไม่มองดูเรื่องสีเสื้อเลย ผมคิดว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะบ้านเรามันผ่านอะไรมาเยอะในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา เพราะฉะนั้น มันคงอาจมีอยู่ แต่ผมก็อยากให้การเลือกตั้งท้องถิ่นมันเจือจางลงกว่านี้
สองขั้ว-ตัดคะแนนกันสนุก
พลังเงียบ-New voters กลุ่มชี้ขาด
-คนมองว่าผู้สมัครที่เปิดตัวออกมาแบ่งเป็นสองขั้วคือ ขั้วแรก ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ วิโรจน์ จากพรรคก้าวไกล และจากไทยสร้างไทย และอีกขั้วก็จะมี พล.ต.อ.อัศวิน ดร.เอ้ สกลธี แบบนี้ ในสองขั้วด้วยกันเองแบบนี้จะมีการตัดคะแนนกันเองหรือไม่?
แน่นอนอยู่แล้ว ในพื้นที่กทม.หากเราแบ่งเป็นสองก้อนง่ายๆ แบบเดิมคือ เพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ ก็จะมีฐานแฟนคลับอยู่ ซึ่งฐานเพื่อไทยเก่า ก็ต้องไปแชร์ในกลุ่มของคุณชัชชาติ วิโรจน์และของไทยสร้างไทย (น.ต.ศิธา ทิวารี) โดยสภาพ และอีกฝ่าย ก็อาจจะมี ตัวผม -พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ดร.สุชัชวีร์ จากประชาธิปัตย์ รวมถึงคุณรสนา โตสิตระกูล ก็จะเป็นฐานแฟนคลับเดียวกัน ก็จะตัดคะแนนกันเองอยู่แล้วแน่นอน เพียงแต่ว่าใครจะตัดเยอะ ตัดน้อยมากกว่ากัน ซึ่งเป้าของแต่ละฝั่ง คงต้องเอาแฟนคลับของฝั่งตัวเองให้ได้มากที่สุด แล้วก็แย่งคะแนนจากคนที่เป็นกลางๆ เช่นกลุ่มNew Volter ที่รอบนี้มีประมาณ 7-8 แสนคน ที่ตอนนี้เขาอาจจะยังไม่ได้มีสีเสื้อชัดเจน
ส่วนคนรุ่นอายุ 40 ปีขึ้นไป มันชัดอยู่แล้ว โอกาสที่จะเปลี่ยนแทบจะไม่มี แต่สำหรับพวกกลุ่มเด็ก ที่จะเข้ามาใช้สิทธิ์รอบนี้ หากให้ผมวิเคราะห์ เขาก็จะดูเรื่องบทบาทการทำงาน และหลายอย่างประกอบ นอกจากดูเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง ก็ทำให้มีโอกาสตรงนั้น แต่ว่าแต่ละฝ่ายก็ต้องแย่งคะแนนของฝ่ายตัวเอง
-มีโอกาสที่คนจะลงคะแนนแบบสวิงไปอีกฝ่ายได้ไหม แบบไฮบริดไปเลย เช่นชอบรัฐบาลชุดปัจจุบัน แต่เขาอาจจะชอบชัชชาติ แล้วไปเลือกทางนั้น?
ก็มีโอกาส อย่างผมทำโพล์มา ผมทำละเอียด ที่จะเลือกชัชชาติ แต่ก็เป็นกลุ่มคนที่ชอบนายกฯพลเอกประยุทธ์ก็พบว่ามีอยู่ ส่วนคนที่ชอบผม แต่เขาชอบธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แต่จะมาเลือกผม ก็พบว่าก็มีเหมือนกัน ผมจึงมองว่ามีโอกาส แต่จะเป็นแบบไฮบริดดูแล้วจะน้อยมาก หากเป็นเปอร์เซนต์ผมว่าก็คงอยู่ที่ 10-20 เปอร์เซนต์ ส่วน 80 เปอร์เซนต์ เป็นคะแนนแฟนคลับที่ตายตัวอยู่แล้ว
-คะแนนเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ตอนปี 2556 ที่ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ที่ชนะการเลือกตั้งได้ถึงหนึ่งล้านสองแสนคะแนน ส่วนคนที่แพ้ของเพื่อไทย พล.ต.อ.พงศพัศ เองก็ยังได้ถึงหนึ่งล้านคะแนน รอบนี้คิดว่าคนชนะจะได้ถึงหนึ่งล้านคะแนนหรือไม่?
ผมมองว่าการชนะกันในการเลือกตั้งรอบนี้ คะแนนจะห่างกันไม่เยอะ เพราะคะแนนในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ผมบอกคือแบ่งออกเป็นสองฝั่ง ที่ความห่าง มันอยู่ที่ ประมาณ 52 กับ 48 เปอร์เซนต์ ที่ไม่ห่างกันมาก ซึ่งมีคนที่ลงสมัครฝั่งละคน จะเฉือนกันแค่นั้น แต่เมื่อลงสมัครกันหลายคน มันเลยสนุกเพราะไม่รู้ว่าจะตัดคะแนนกันแค่ไหน มันเลยดูยาก ผมมองว่าคนชนะจะได้คะแนนอยู่ที่ประมาณ 700,000-800,000 คะแนน โดยหากสองฝ่าย มีส่งแค่ฝั่งละหนึ่งคน คนชนะจะได้คะแนนร่วม 1 ล้าน 4 แสนคะแนน แต่พอคนลงสมัครเยอะ คนชนะอาจได้คะแนนประมาณ 700,000-800,000 คะแนน ก็อาจจะได้เป็นผู้ว่าฯกทม.แล้ว
อย่าเพิ่งมั่นใจ “ชัชชาติ”จะลอยลำ
-การที่ลงสมัครรอบนี้ โดยที่โพล์ทุกสำนัก ชัชชาติ ก็นำมาอันดับหนึ่งตลอด ทุกครั้งเป็นเวลานานแล้ว?
ก็มีคนถามผมหลายคนว่า หนักใจพี่ชัชชาติ ผลโพล์นำมาตลอด ก็อยากบอกว่ามันวัดอะไรไม่ได้เลย คือโอเค ผมยอมรับว่าพี่ชัชชาตินำมาตอนนี้เพราะว่า อย่างผมทำโพล์เอง เขาก็ยังนำอยู่ แต่ว่าไม่ได้นำเยอะ ในขนาดที่โพล์ออกมาแบบนั้น คือมันยังเกาะ ทุกคนยังมีสิทธิ์ตาม และโพล์ตอนนี้ มันยังวัดอะไรไม่ได้ เพราะตอนม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร แข่งกับพล.ต.อ.พงศพัศ จะพบว่าตอนนั้นโพล์ บอกว่า พล.ต.อ.พงศพัศ นำมาตลอด แม้แต่วันที่มีการเลือกตั้ง ก็ยังบอกว่า พล.ต.อ.พงศพัศ คะแนนนำม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร แต่สุดท้าย พล.ต.อ.พงศพัศ ก็แพ้ ผมถึงบอกว่า สนามเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. มีเซอร์ไพรส์เสมอและคนกรุงเทพ ก็เป็นคนที่ จะเลือกอะไร ก็เดาได้ยาก ผมจึงมองว่าคงจะวัดกันจนถึงวันเลือกตั้งเลย ผมจึงมองว่าทุกคนมีโอกาสไหมในการเลือกตั้งครั้งนี้ อย่าเพิ่งรีบตัดใครออกจากสารบบ
-ตัวแปรที่จะทำให้ผลการเลือกตั้งพลิกผัน?
ก็อาจจะอยู่ที่ตอนช่วง 7 วันสุดท้าย ผมมองว่า ตั้งแต่ตอนนี้ไปจนถึงช่วง 7 วันสุดท้าย ก่อนวันเลือกตั้ง คนกรุงเทพ เขาก็จะเก็บข้อมูลไว้ตลอด ช่วงนี้ แคนดิเดตที่ลงสมัคร ก็ต้องรักษาตัว อย่าพลาดอะไรออกมา เพราะกรุงเทพ ถ้าพลาดอะไรนิดเดียว แล้วยิ่งเป็นสังคมสมัยปัจจุบัน ทุกอย่างเร็วมาก ก็ต้องรักษาถนอมตัว และนำเสนอนโยบายไป ซึ่งโค้งสุดท้าย ผมคิดว่าคนกรุงเทพฯ เขาจะตัดสินใจตอนนั้น ที่อาจจะมีกระแสอะไรสักอย่างขึ้นมา ผมมองแบบนั้น
-โพล์ทุกสำนัก จะพบว่า กลุ่มคนที่ยังไม่ตัดสินใจจะเลือกใคร จะอยู่อันดับสอง รองจากชัชชาติ ?
พลังเงียบก็มีเยอะ เพราะเวลามีคนไปถาม เขาก็จะตอบว่า ยังไม่ตัดสินใจที่มีประมาณเกือบสี่สิบเปอร์เซนต์ ซึ่งโพล์เอง ผมก็ยังงงเลย เพราะอย่างตัวผม หรือญาติ ๆของผม ที่ผมก็เป็นคนมีญาติเยอะ 200-300 คน แต่ไม่เคยมีใครได้ทำโพล์ ก็ไม่รู้ว่าไปถามกันยังไง ถึงได้บอกว่า มันก็ยังวัดอะไรมากไม่ได้ เพราะว่า สิ่งที่เห็นจากโพล์ อาจไม่ใช่สิ่งที่เป็นเสมอไปก็ได้
-มองการที่พรรคใหญ่อย่าง พลังประชารัฐ เพื่อไทยไม่ส่งคนลงสมัครผู้ว่าฯกทม.อย่างไร เพราะก็มีกระแสข่าวพรรคพลังประชารัฐ สนับสนุน สกลธี?
สำหรับผมชัดเจน คือตัวผม ตั้งแต่ลาออกจากประชาธิปัตย์ ก็ลาขาด และตั้งแต่ลาออกจากพลังประชารัฐ ก็ขาด และจะเห็นได้ว่า ช่วงที่มีข่าวพลังประชารัฐ หาตัวคนที่พรรคจะส่งลงเลือกตั้ง ไม่เคยมีชื่อผม เพราะฉะนั้นผมน่าจะอยู่นอกสารบบไปแล้ว เพียงแต่ว่า ที่สื่อมองเรื่องนี้อาจเพราะเพื่อนๆ ผมหลายคน รวมถึงส.ส.เขต กทม.ของพลังประชารัฐทั้งหมดตอนนี้ ก็เป็นคนที่พวกเราหากันมาสมัยนั้นที่ผม ช่วยพลังประชารัฐอยู่ ก็รู้จักกันหมด เพราะฉะนั้น การที่พลังประชารัฐไม่ส่งคนลง แล้วหลายคน จะมาช่วยผม ผมว่าก็มีเหตุผล ที่มันจะเป็นไปได้ แต่ว่าไม่ใช่แค่พลังประชารัฐที่ช่วยผม พรรคกล้า ก็ช่วยผมเพราะก็เพื่อนกัน ก็รู้จักกัน ก็พร้อมจะช่วย รวมถึงประชาธิปัตย์บางคน ต่อให้ส่งดร.เอ้ บางคน ก็อาจช่วยผมก็ได้ เพราะว่ามีความสัมพันธ์รู้จักกันมาอยู่แล้ว แต่สำหรับพี่ชัชชาติ ผมคงไปก้าวล่วงไม่ได้เพราะไม่ทราบเส้นสนกลใน แต่ก็เห็นบางคนที่เป็นทีมงานที่เดินกับพี่ชัชชาติ ก็ใส่เสื้อ ก็เป็นส.ก.เพื่อไทย อันนี้ก็อาจบอกได้ถึงความเชื่อมโยงบางอย่าง แต่ของผมไม่มีแน่ๆ ที่เป็นทีมของส.ก.พลังประชารัฐ หรือทีมงานทางนั้นแล้วใส่เสื้อผมมาเดิน
-คิดว่าคนกรุงเทพฯมีความตื่นตัวในการเลือกตั้งครั้งนี้แค่ไหน จะออกมาใช้สิทธิ์กันเยอะหรือไม่ ?
คิดว่าคนจะออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งกันจำนวนมาก เพราะไม่มีการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯกทม.มาแปดปี ซึ่งรอบนี้จะมี ‘First Time Voter’ที่จะได้ลงคะแนนเสียงเลือกผู้ว่าฯกทม.ครั้งแรกเยอะมาก ร่วมๆ แปดแสนคน ดูแล้วคนกทม.คงตื่นเต้นกันพอสมควรและจะออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งกันเยอะ เพราะคือการเลือกคนมาทำงานแทนในกทม. ซึ่งในกลุ่ม’First Time Voter’ดังกล่าว ที่ทีมงานของเราเคยทำโพล์พบว่ายังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเลือกใครมีประมาณ 40 เปอร์เซนต์ ที่ถือว่าเยอะอยู่ คุณชัชชาติ อาจจะนำอยู่คือคนจะเลือกประมาณ 20 กว่าเปอร์เซนต์ คนอื่นอาจจะยังเลขตัวเดียวอยู่หรือประมาณ 10 เปอร์เซนต์ แต่มีอีกประมาณ 40 เปอร์เซนต์ที่เขายังไม่ได้ตัดสินใจ ซึ่งกลุ่มดังกล่าวถือว่าเป็นตัวแปรสำคัญ แต่ในกลุ่มดังกล่าว อาจจะตัดสินใจแล้วก็ได้ แต่ยังไม่บอกว่าจะเลือกใครเพราะคนกทม.ก็จะเป็นแบบนี้ คือไปถามก็จะบอกว่ายังไม่ตัดสินใจ แต่จริงๆ มีคนอยู่ในใจแล้ว
-หลังมีการปิดรับสมัครคนลงสมัครผู้ว่าฯกทม.ในวันที่ 4 เมษายน ภาพรวมการแข่งขันจะเป็นอย่างไร?
จากประสบการณ์ที่เคยลงเลือกตั้งส.ส.เขต และจากประสบการณ์เคยช่วยหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. 2-3 ครั้ง ผมมองว่าเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.แตกต่างกับการเลือกตั้งส.ส.ทั่วไปมาก โดยการเลือกตั้งส.ส. เช่นผมลงสมัครเขตจตุจักร ผมก็ต้องพยายามไปเคาะประตูบ้านประชาชนในพื้นที่ ไปตามชุมชนต่าง ๆให้ครบทั่วทุกแห่งในเขตเลือกตั้ง แต่ของกทม.เป็นภาพใหญ่ ดังนั้น การที่เราจะเห็นการที่ผู้สมัครไปเคาะตามประตูบ้านคงไม่ไหวในช่วงสองเดือนของการหาเสียง คงไปทุกที่ไม่ได้ แต่จะเห็นการทำคอนเทนต์ การแสดงวิสัยทัศน์ มากกว่าเพราะทำให้ได้เห็นตัวตน และเจอกลุ่มเป้าหมายได้เยอะกว่า ผมลงพื้นที่ในชุมชนแห่งหนึ่งสองชั่วโมง ผมอาจเจอคนแค่ร้อยเดียว แต่ผมมาทำfacebook ผมสองชั่วโมง คนอ่านเป็นแสน แนวการหาเสียงจะไม่เหมือนการเลือกตั้งแบบเขต แล้วตอนนี้ไม่ได้มีการเลือกตั้งทั่วไป ทุกคนก็จะมาโฟกัสกันที่สนามเลือกตั้งกทม. ทำให้ข่าวสาร จะถึงคนได้่ง่ายกว่า ส่วนส.ก. ก็จะอีกแบบเพราะคงต้องหาเสียงแบบถึงประตูบ้านเหมือนกับการเลือกส.ส.เขต เพราะเป็นพื้นที่เล็ก
“ผมมีความตั้งใจมากและที่ผ่านมา ผมก็เก็บประสบการณ์พอสมควร ทั้งการเป็นส.ส.เขต การเป็นรองผู้ว่าฯกทม. ซึ่งถ้าคนที่ติดตามการทำงานของผม ก็จะเห็นว่าตั้งแต่วันแรกที่ผมเข้าทำงานเป็นรองผู้ว่าฯกทม.จนถึงวันสุดท้ายที่ผมลาออก ผมทำงานตลอด และทำงานในหน้างานที่ผมรับผิดชอบอย่างเต็มที่ ผมก็มีความตั้งใจว่า หากผมได้เอาแนวทางที่ผมทำงานมาจับภาพรวมทั้งหมด จะทำให้แก้ปัญหาได้หลายอย่าง ทำอะไรที่ดีขึ้นมาหลายอย่าง ก็อยากฝากบอกคนกรุงเทพว่าหากอยากได้คนที่ลุยงาน ทำงานแบบเกาะติด เป็นคนหนุ่มที่ตั้งใจ ก็ขอให้เลือกผมเพราะว่า งานของกทม.ต้องได้คนที่มีพลังและพร้อมจะลุยแก้ปัญหา” สกลธีกล่าวย้ำ
…………………………………………………………………………………………………………………………………………………….
“กทม.More” ทำกรุงเทพให้ดีกว่านี้ได้
“สกลธี ภัททิยกุล ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ในนามอิสระ“กล่าวลงรายละเอียดถึงนโยบายการหาเสียง ภายใต้สโลแกน “กทม.More ทำกรุงเทพให้ดีกว่านี้ได้“โดยบอกว่า นโยบายหลักในการหาเสียง จะมีด้วยกัน 5-6 ด้าน ที่มาจากประสบการณ์การเป็นอดีตรองผู้ว่าฯ กทม.มาสี่ปี ซึ่งงานในหน้าที่เราก็ทำ แต่บางที เราเห็นว่า งานบางอย่าง เราก็ทำได้ไม่สุด เพราะว่าเราเป็นแค่รองผู้ว่าฯ บางทีเราทำได้แค่งานที่ผู้ว่าฯกทม.(พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง)มอบหมาย หรือตามกรอบอำนาจเรา แต่ว่าระหว่างทาง ผมเป็นคนลงพื้นที่เยอะ เจอประชาชนชาวกรุงเทพมหานคร ร้องถึงปัญหาต่างๆ เยอะ เราก็เก็บข้อมูลหรือบางอย่างเราแก้ เราก็รู้แล้วว่า ถ้ามีโอกาสได้ทำภาพรวมมันจะเป็นอย่่างไร
…. อย่างนโยบายเรื่อง”ระบบการขนส่งสาธารณะ”อยากใช้แนวของนายกรัฐมนตรีคือ”เชื่อมต่อ ล้อ-ราง-เรือ”คือผู้ว่าฯกทม.ทุกคน เวลาหาเสียงจะบอกว่าจะเข้าไปแก้ปัญหารถติด แต่เอาเข้าจริง อำนาจ ของกรุงเทพมหานคร ไม่ได้มีเบ็ดเสร็จเหมือนเป็นนายกเทศมนตรีของต่างประเทศที่เขาคุมทุกอย่าง ของเรา กทม. ตำรวจจราจา ก็ไม่ได้คุม โดยกทม.เรื่องหน้าที่ในด้านการขนส่งสาธารณะเรื่องจราจร มีแค่ ขีดสี-ตีเส้น ทำป้ายจราจร ตั้งเซ็ตไฟแดงไฟเขียว แต่คนใช้คือตำรวจ ผมก็บอกว่าระบบถ้าจะให้มันไหลลื่น ควรจะเอาAI หรือระบบสมองกลนำมาใช้ในการปล่อยรถแทน
ช่วงตอนผมเป็นรองผู้ว่าฯ กทม.มีการจ้างปรึกษามาดูแลและทำกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือ ไจก้า มีการทดลองทำแถวแยกถนนพหลโยธินที่ได้ผลดี แต่ว่า ต้องทำในภาพรวม ซึ่งหากเราใช้คนเช่น จ่าตำรวจ ไปยืนกดตามตู้เขาก็จะเห็นแค่แยกข้างหน้า แต่เขาจะไม่เห็นอีกสามแยกข้างหน้าว่าสภาพการจราจรตอนนั้นเป็นอยางไร ซึ่งถ้าเรา เอาระบบ สมองกลมาใช้ โดยก่อนใช้ให้มีการเก็บข้อมูลก่อนว่า ตรงแยกที่จะนำระบบมาใช้ สภาพจราจรของแต่ละวันเป็นอย่างไร โดยเก็บข้อมูลล่วงหน้าสัก 3-6 เดือน แล้วนำมาใช้ประเมิน ซึ่งปกติก็จะใช้ระบบสมองกลหรือระบบ AI : Artificial Intelligence แต่ถ้าเกิดกรณีพิเศษเช่นเกิดอุบัติเหตุในจุดดังกล่าว ก็ให้ใช้คนมาคอยคอยคุมการจราจรเหมือนเดิม
ส่วนเรื่อง “แก้ปัญหารถติด“ควรต้องส่งเสริมให้คนใช้รถสาธารณะมากขึ้นและใช้รถสว่นตัวน้อยลง ตอนนี้เรามีรถไฟฟ้าอยู่หลายสาย และอีก 2-3 ปี ก็จะเสร็จอีกหลายสาย แต่ปัญหาคือ”การเข้าถึง” รถไฟฟ้ายังยาก ซึ่งการเข้าถึงยากไม่ใช่เรื่องเงินแต่เรื่องการไปที่สถานีรถไฟฟ้า จะต้องใช้เวลา ต้องเดินทางหลายต่อ อาจจะเดินไกล แต่หากเรามีระบบที่ช่วย ให้คนมาใช้รถไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น เช่นระบบฟีดเดอร์ รถอีวี ต่างๆ ซึ่งก็เคยมีการทำไปในบางส่วนเช่น บริเวณถนนประดิษฐ์มนูธรรม เลียบด่วนรามอินทรา ที่ครอบคลุมพื้นที่ใกล้เคียงเช่นวังทองหลาง-ลาดพร้าว-บางเขน-บางกระปิ-บึงกุ่ม-คันนายาว คนอยู่เป็นแสน แต่รถขสมก.วิ่งอยู่แค่สายเดียว ซึ่งถ้าผมเข้าไปดูแล ก็จะมีการคุยกับขสมก. โดยหากขสมก.วิ่งเส้นไหนไม่ไหว เราก็จะทำเป็น รถฟีดเดอร์ รถเมล์ทีจะคอยเกี่ยวคนตามป้ายต่างๆ แต่จะไม่ให้ทับซ้อนกับของขสมก. เพื่อนำผู้โดยสารไปส่งตามสถานีใหญ่ๆ เช่น วิ่งรับคนตั้งแต่แถวย่านวัชรพลแล้วก็วิ่งไปตามจุดต่างๆ เพื่อนำคนไปส่งแถวสถานีรถไฟฟ้าแถวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็จะทำให้คนมีทางเลือกในการเดินทาง เราก็จะทำแบบนี้หลายจุด เพื่อให้คนเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้ง่ายขึ้น
“สกลธี”กล่าวต่อไปว่า ส่วนเรื่อง”เรือโดยสาร“ตอนผมเป็นรองผู้ว่าฯกทม. ผมทำเรื่องการเดินเรือในคลองผดุงกรุงเกษมห้ากิโลเมตร กับการเดินเรือไฟฟ้าคลองแสนแสบจากท่าเรือวัดศรีบุญเรือง เขตบางกะปิ ถึงท่าเรือตลาดมีนบุรี เขตมีนบุรี โดยอย่างคลองแสนแสบ เราทำเพราะว่าเอกชนเขาวิ่งแค่ศรีบุญเรืองเข้าเมือง สิบแปดกิโลเมตร แต่วิ่งออกนอกเมืองเขาไม่ทำ เพราะว่า มันไม่คุ้มทุน กทม.ก็เข้าไปทำ ที่เปิดให้บริการเรียบร้อยแล้วสิบกิโลเมตร แต่อนาคตถ้ามีโอกาส ผมอยากทำในเฟสต่อไป คือว่าให้วิ่งต่อไปอีกจากมีนบุรีไปหนองจอก ซึ่งเท่าที่ผมได้ไปลงพื้นที่หนองจอก ที่ประชาชนมาใช้บริการ ประชาชนก็บอกว่าคนมาใช้บริการเยอะมาก เขาก็บอกว่า อยากให้ขยายเส้นทางวิ่งไปอีกสักห้ากิโลเมตร ก็จะครอบคลุมมากขึ้น
ส่วนเรื่อง”ราง“รถไฟฟ้าอยู่ในแผนสายสีเทา วัชรพล-ทองหล่อ กับรถไฟฟ้าสายสีเงิน บางนา-สุวรรณภูมิ โดยสองเส้นดังกล่าวจะเชื่อมต่อกับเส้นทางอื่นๆที่เสร็จแล้วทำให้การเดินทางเป็นโครงข่ายมากยิ่งขึ้น พอทุกอันมาประกอบกันเป็น ล้อ-ราง-เรือ ทำให้คนเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะง่าย ก็จะใช้รถส่วนตัวน้อยลง เรื่องมลภาวะ-รถติด ก็จะได้รับการแก้ไขไปโดยปริยาย
“สกลธี-ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.อิสระ”กล่าวถึงนโยบายเรื่อง”การสาธารณสุข“ด้วยว่า สถานการณ์โควิด ท้าทาย กรุงเทพมหานครมาก ทำให้รู้เลยว่าระบบสาธารณสุขของกทม. ที่คนก็ทำงานกันเต็มที่แต่มันยังไม่พร้อมหลายอย่าง เรามีศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่งที่ตั้งอยู่ในจุดที่มีชุมชนใหญ่ๆ แต่ว่าศูนย์บริการฯ ยังไม่ได้ใช้ศักยภาพเต็มที่ ซึ่งหากมีการปรับก็จะช่วยทำให้คนที่แทนที่จะต้องตื่นตีห้า หกโมงเช้าเพื่อไปต่อคิวเข้าโรงพยาบาล โดยเสียเวลาทั้งวัน ซึ่งบางทีไม่จำเป็น ก็ควรปรับศูนย์ทั้ง 69 แห่งของกทม. ให้เป็นสมาร์ทคลีนิค มีแพทย์ประจำ ส่วนการดูแลรักษาโรคเฉพาะทาง ก็นัดหมอให้มาทำ Telemedicine โดยหากเป็นโรคที่รักษาได้ ก็จ่ายยา ส่งยาถึงบ้านหรือจ่ายยาตรงที่ศูนย์เลย แต่หากเป็นเจ็บป่วยฉุกเฉินก็ส่งเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล อีกทั้งศูนย์ที่มีอยู่ 69 แห่ง ก็ยังถือว่าน้อยเกินไปจากที่กทม.มี 50 เขต ควรให้มีครอบคลุมมากกว่าปัจจุบัน
ส่วนโรงพยาบาลในเครือกรุงเทพมหานคร 11 แห่ง ต้องพัฒนาและให้มีเพิ่มขึ้นเช่นที่มีอยู่ในแผนงานไว้แล้วว่าจะให้มีการสร้างโรงพยาบาลของกทม.แถวบางนา ที่กำลังรอการผลักดันของผู้บริหาร รวมถึงการเปลี่ยนโรงพยาบาลให้เป็นเฉพาะทางมากขึ้น เพราะตอนนี้มีโรงพยาบาลที่บางขุนเทียนแห่งเดียวที่เป็นโรงพยาบาลผู้สูงอายุ ที่เป็นโรงพยาบาาเฉพาะทาง ส่วนอีก 10 แห่งสามารถปรับได้อยู่ที่การบริหารงานเช่นเรื่องการจัดแพทย์มาประจำ หรือการจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ เช่น โรงพยาบาลตากสินอาจทำเป็นโรงพยาบาลเกี่ยวกับโรคหัวใจ หรือโรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ อาจเป็นโรงพยาบาลในเรื่องการรักษาโรคระบบทางเดินหายใจ คือปรับให้มีจุดเด่นของแต่ละโรงพยาบาล รวมถึงการดูแลกลุ่มเปราะบาง
ช่วงโควิดผมว่า กทม.เราทำได้ดี ทั้งเจ้าหน้าที่อนามัยและเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน ที่มีการทำงานเชิงรุกเช่นไปดูเรื่องการฉีดวัคซีน -ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยสูงอายุ ที่ติดโควิด-การเข้าไปตรวจ ATK ซึ่งผมอยากจะเน้นการใช้ระบบนั้นเพราะบางที ผู้ป่วยติดเตียงการออกไปรักษาที่โรงพยาบาลมันลำบากมาก ก็ต้องมีระบบคล้ายๆ smart watch ที่คอยเตือน เช่นหากผู้สูงอายุอยู่คนเดียวแล้วเจ็บป่วย ก็จะมีระบบไปเตือนยังศูนย์สาธารณสุข หรือโรงพยาบาลเพื่อจะได้ส่งรถมารับ ที่อยู่ในวิสัยที่จะทำได้
ทำให้มีสวนสาธารณะทุกเขต
“สกลธี-ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร“กล่าวต่อไปว่า อยากทำให้สวนสาธารณะที่มีอยู่แล้ว โดยเฉพาะสวนขนาดใหญ่ พวกสวนจตุจักร สวนลุมพินีและอีกหลายแห่งที่มีรวมกันทั้งหมด 38 สวนสาธารณะให้มีศักยภาพมากขึ้นอย่างสวนลุมพินี ตอนนี้ก็มีโครงการปรับปรุงอยู่แล้วเพราะครบหนึ่งร้อยปี ก็ต้องทำให้ดีขึ้นเช่นทำถนนลู่วิ่งให้ดีขึ้น ทำสิ่งอำนวยความสะดวก ทำล็อกเกอร์สำหรับประชาชนมาฝากของ อย่างที่”บึงหนองบอน“ที่มีบึงอยู่แล้ว ผมอยากทำให้บึงหนองบอน ตรงสวนหลวง ร.9 เป็นสวนกีฬาทางน้ำที่ใหญ่สุดของกรุงเทพมหานคร เพราะตอนนี้คนชอบเล่นกีฬาทางน้ำ เซิร์ฟบอร์ด แต่หากจะเล่นต้องไปที่ปทุมธานี ซึ่งตรงนี้มีศักยภาพทำได้ ก็อยากปรับให้เป็นศูนย์กีฬาทางน้ำของคนกรุงเทพมหานคร
รวมถึงสวนเล็กๆ ที่ผมได้ไอเดียเวลาไปต่างประเทศ ก็จะเห็นสวนเล็ก ๆ ไม่ใหญ่มาก อาจแค่ประมาณ 50-100 ตารางวา ก็อยากจะทำตรงนี้ เพราะบางทีคนอยากออกกำลังกาย จะได้ไม่ต้องเดินทางมาถึงที่สวนลุมพินี หรือสวนหลวง ร.9 อยากให้มีสวนเล็กๆ อยู่ใกล้บ้าน ใช้ชื่อว่านโยบาย”สวนทุกเขต“อาจจะนำที่ดินรกร้างว่างเปล่า ที่คนบุกรุกหรือที่ซึ่งคนไว้ทิ้งขยะ หรือที่ของกทม.ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาทำเป็นสวนขนาดเล็ก โดยไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่ 100-200 ไร่ อาจแค่ 5-10 ไร่
ผมเคยทำโมเดลไว้ที่ลาดพร้าว ชื่อว่า”สวนอยู่เย็น” เนื้อที่ 14 ไร่ โดยนำที่ดินซึ่งคนรุกล้ำให้ย้ายไปบ้านมั่นคง แล้วก็ทำทางวิ่ง นำต้นไม้จากที่ต่างๆ มาปลูก แล้วเขตก็เข้าไปดูแล ก็กลายเป็นสวนแล้ว โดยไม่ต้องใช้งบประมาณรัฐเลย ซึ่งหากทำทุกเขตก็จะเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียว
ส่วนเรื่องนโยบายเกี่ยวกับความปลอดภัยของคนกทม. เรื่องนี้ “สกลธี”บอกว่าเป็นอีกหนึ่งนโยบายที่สำคัญในการหาเสียงครั้งนี้ เพราะจะพบว่ากรุงเทพมหานคร ที่เป็นเมืองใหญ่ขนาดนี้ แต่มีกล้องวงจรปิดแค่ 62,000 กล้องเท่านั้นเอง ที่ เซินเจิ้น ซึ่งเป็นเมืองหลวงไอทีของจีน มีประมาณ 3 ล้านกล้อง ต่างกันเยอะมาก นโยบายของผม จึงต้องการเพิ่มกล้องวงจรปิดให้เยอะที่สุดเพราะว่ากล้องวงจรปิดช่วยในการตามจับอาชญกรรมหรือป้องกันความปลอดภัยอะไรได้หลายอย่าง รวมถึงอื่นๆ เช่น ตามเอาผิดคนที่ขับขี่มอเตอร์ไซด์บนทางเท้า
รวมถึงโซนท่องเที่ยวที่เป็นจุดสำคัญ ๆ ก็อยากให้มีระบบต่างๆ เข้ามาช่วย อย่างเหตุการณ์ระเบิดที่สี่แยกราชประสงค์ (17 สิงหาคม 2558.) เราจะให้ระบบAIมาตรวจจับเช่นหากคุณวางของทิ้งไว้เกินหนึ่งนาที ระบบจะเตือนตำรวจให้เข้ามาตรวจสอบ ซึ่งทำได้เพราะปัจจุบันมีเทคโนโลยีลักษณะดังกล่าว หรือเรื่องระบบจดจำใบหน้า อย่างจุดสำคัญที่นักท่องเที่ยวตะวันตกชอบไปเช่น ซอยนานา ข้าวสาร ถนนสุขุมวิท มีระบบนี้ก็จะลิงค์ข้อมูลกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถึงเวลาพอมีผู้ต้องหาที่เคยมีหมายจับเข้ามาในโซนดังกล่าว ระบบก็จะแจ้งเตือน ก็จะทำให้ กรุงเทพฯ เป็นมหานครแห่งความปลอดภัยมากขึ้น
“นโยบายทั้งหมดข้างต้นเป็นสิ่งที่ผมคิดว่าจะทำได้ภายในการเป็นผู้ว่าฯกทม.สี่ปี คือผมก็คิดว่า หากเราจะทำนโยบายแบบหรูหราเว่อร์ๆ ก็ดูดี แต่มันอาจทำไม่ได้จริง แต่นโยบายเหล่านี้ผมดูแล้วว่า เอามาต่อยอดและทำได้จริงภายในสี่ปี”
-คนกรุงเทพฯ หากเลือกสกลธี เป็นผู้ว่าฯ เขาจะได้อะไร?
เขาจะได้คนที่มีประสบการณ์ในการทำงานกรุงเทพมหานครมาสี่ปี โดยรู้ว่าควรต้องทำอะไร และควรผลักดันในเรื่องใดต่อไป และจะได้คนที่ทำงานเชิงรุก
ผมเคยเป็นส.ส.เขต เพราะฉะนั้นการทำงานของผม หากเป็นผู้ว่าฯกทม.ในอนาคต จะไม่ใช่แนวทำงานแบบข้าราชการ นั่งประชุม แล้วก็ดูรายงาน แต่ผมจะเอาตัวผมลงไปด้วย หากดูในเฟสบุ๊กจะเห็นเลยว่าผมเป็นคนที่ลงพื้นที่ตลอด ลงไปแก้ ไปดู ไปฟังก็จะได้ผู้ว่าฯกทม.สไตล์แบบนี้
ถ้าได้เป็นผู้ว่าฯกทม.
งานเร่งด่วน -สิ่งที่จะทำเป็นอันดับแรก
-หากได้รับเลือกให้เป็นผู้ว่าฯกทม. ช่วง 3-6 เดือนแรก จะทำอะไรเป็นเรื่องแรกๆ ?
จะดูเรื่องงบประมาณก่อน ซึ่งงบในส่วนใดที่ดูแล้วเป็นโครงการที่ไม่น่าจะทำและประโยชน์น้อย ผมจะเลิกและปรับ ที่ผ่านมา ปัญหาในระดับเขตเยอะมาก อย่างคนกทม.ที่อยู่บ้าน เราจะรู้ว่าหัวถนนตรงไหนไม่ดี แต่ว่าสำนักงานเขตเสนอโครงการปรับปรุงถนนมาทุกปี โดยแต่ละปี ทางเขตอาจเสนอมาสัก 10-20 เส้น โดยบอกว่าเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม ถนนไม่ดี แต่ที่ถูกเลือกไปทำจริงๆ แต่ละปีจะมีแค่ 1-2 เส้น เพราะงบไม่มี โดยงบประมาณที่ผอ.สำนักงานเขตถือไว้ สำหรับทำโครงการแบบเร็วๆ แก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ละปีมีไม่เกิน 1-2 ล้านบาท แต่งบส่วนใหญ่ไปอยู่ที่ส่วนกลางของกทม.ทั้งหมด
หากมีการกระจายงบไปให้ผอ.สำนักงานเขตไปถือไว้ให้มากขึ้น แล้วเรื่องที่ผอ.สำนักงานเขต ส่งมาจำนวนมากเช่น ส่งเรื่องการปรับปรุงถนนมา 15 ถนน แต่ทำได้จริงๆ แค่หนึ่งเส้น แล้วปีต่อไป ก็จะมาพิจารณาต่อ ก็จะเสนอใหม่เข้ามาอีก 15 ถนน โดยไปเสนอเรื่องต่อแถวจาก14 เส้นที่เคยเสนอมาเมื่อปีก่อนหน้านั้น จึงทำให้ไม่มีการทำเสียที ผมก็จะนำมาดูว่าตรงไหนที่เป็นความเดือดร้อนของประชาชน ก็จะเร่งทำทันที
การบริหารกรุงเทพมหานครอยู่ที่ผู้ว่าฯกทม.และผู้บริหาร จะวางแผนการบริหารงบประมาณของกทม.อย่างไร ซึ่งที่ผ่านมา ผมมองว่าการวางแผนบริหารงบประมาณอาจจะยังสะเปะสะปะอยู่ ผมคิดว่า หากได้เข้าไปเป็นผู้ว่าฯกทม. จะให้น้ำหนักในเรื่องการใช้งบประมาณเพื่อแก้ปัญหาประชาชน
ดังนั้น สิ่งแรกที่ผมจะเข้าไปดู คือจะไปดูเรื่องการจัดวางงบประมาณการบริหารงานของกทม.ใหม่ นอกจากนี้ ในส่วนของงานที่สามารถนำเทคโนโลยีมาทดแทนได้ ผมจะรีบทำ อย่างเมื่อก่อน เรื่องการกวดขันการขับขี่มอเตอร์ไซค์บนทางเท้า พบว่าก่อนผมเข้ามาเป็นรองผู้ว่าฯกทม. มีการจับและได้เงินค่าปรับหลักแสนบาทต่อปี แต่ผมมาเป็นรองผู้ว่าฯกทม.สามปี จับกุมและได้เงินค่าปรับ 45-46 ล้านบาท ซึ่งไม่ใช่ว่าเราอยากได้เงิน แต่อยากให้คนรู้จักเรื่องระเบียบวินัย และใส่ใจคนที่ใช้ทางเท้า โดยที่จับกุมได้เยอะ ก็มีการใช้เทศกิจมาดักจับ แต่หากมีตัวช่วยมีกล้องมาช่วยถ่ายเก็บภาพไว้ แล้วก็ส่งเอกสารส่งเรื่องไปให้คนที่ทำผิดที่บ้าน เพื่อให้มาจ่ายเงิน ก็จะช่วยประหยัดคนและศักยภาพจะดีขึ้น ที่ก็คือนำเทคโนโลยีมาช่วยการทำงานของสำนักงาน
อีกอย่างหนึ่งที่ผมอยากทำก็คือ ตอนช่วงเป็นรองผู้ว่าฯกทม. ผมก็งงว่าทำไมกทม.ต้อง”เก็บขยะ“เองทั้งหมด อย่างประชาชน ก็อาจรู้สึกว่าที่กทม.เข้าไปเก็บขยะตามจุดบ้านพักคนต่างๆ สัปดาห์ละสองวัน ซึ่งบางทีไม่พอ จะเห็นได้จากที่ขยะจะล้น เหตุเพราะว่ากทม.ไม่ปล่อย ซึ่งด้วยกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือกฎหมายสาธารณสุขกับกฎหมายรักษาความสะอาด สามารถให้เอกชนเข้ามาทำด้วยได้
ผมอาจทำโมเดลแบบนี้คือ กทม.ไม่ต้องจ่ายเงินซื้อถังขยะและรถเก็บขยะเลย ทางเอกชนจะซื้อถังขยะ มีรถของเอกชนเองในการเก็บขยะ แล้วให้เอกชนเข้าไปเก็บขยะ ให้เอาขยะไปจัดการเพื่อให้มีค่าตอบแทน ซึ่งมันทำได้ แต่ต้องแก้ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร โดยไปเพิ่มหรือแก้กฎหมายบางอย่าง ที่สามารถทำได้ แต่ยังไม่เคยมีการทำ
ผมคิดว่าบางที กรุงเทพมหานคร ไม่ควรต้องใช้เจ้าหน้าที่ของกทม.ทั้งหมด แต่ควร Outsource ให้เอกชนนำเทคโนโลยีและการลงทุนเข้ามาช่วยการทำงานของกรุงเทพมหานคร ที่สามารถทำได้แต่ต้องไปทะลายข้อจำกัดทางด้านตัวบทกฎหมายบางประการ ที่ตรงนี้ผมก็จะเข้าไปดู
-สโลแกนการหาเสียงที่ว่า กรุงเทพmore ต้องการสื่อถึงอะไร?
คือ กทม.บวก more ที่แปลว่า”มากกว่า”หรือ”ดีกว่า” ซึ่งผมจะสื่อว่ากรุงเทพมีดีอยู่แล้ว โดยหากมองกทม.ก็จะเห็นว่า สิ่งที่ผู้ว่าฯกทม.แต่ละคนทำไว้ ทุกอย่างดี เพียงแต่ว่าพอไปถึงเวลาหนึ่ง สิ่งที่ดี อาจล้าสมัยแล้ว หรือดีไม่พอแล้ว แต่สามารถนำระบบบริหารจัดการและนำระบบเทคโนโลยีมาช่วยบริหารจัดการให้ดีกว่านี้ได้ ทำให้งานที่กทม.ดีขึ้นกว่านี้ได้
………………………………………………….
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“อนุทิน” ให้นโยบาย ขรก.มหาดไทย คุณภาพชีวิต มุ่งขับเคลื่อน 5 นโยบายหลัก สร้างคุณภาพชีวิต 3 ด้าน “ความมั่นคงปลอดภัย - เศรษฐกิจ - สะดวกสบาย”
วันนี้ (16 ต.ค. 67) เวลา 10.00 น. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายของผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ถ.วิภาวดีรังสิต
'โรม' ชำแหละเอนเตอร์เทนเม้นท์คอมเพล็กซ์ ข้องใจ 'นายใหญ่' ได้กี่เปอร์เซ็นต์
ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นวันที่สองวาระการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ของรัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
ปชป. อภิปรายอวย 'นายกฯอิ๊งค์' ขอบคุณรับ 3 ข้อเสนอ
นายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ อภิปราย โดยกล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ได้บรรจุ 3 เงื่อนไขของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้เสนอไว้ในการเข้าร่วมรัฐบาล 1.การแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตร 2.การแก้ปัญหาที่
'อนุทิน' ยันรัฐบาลแพทองธาร เดินหน้า พ.ร.บ.กัญชา ภท. หนุน 'กาสิโน'
'อนุทิน' ยันรัฐบาลแพทองธาร 1 สานต่อนโยบายกัญชา เดินหน้า พ.ร.บ.ควบคุมใช้เฉพาะทางการแพทย์ หนุน 'เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์' สร้างรายได้ให้คนไทย
‘สกลธี’ สอนมวยเลือกตั้งทั่วไปได้เยอะ ไม่ได้แปลว่าท้องถิ่นจะประสบความสำเร็จ
เห็นบางคนหาเสียงแล้วยังเพลียเลยครับ เพราะยังไม่รู้ว่าอำนาจหน้าที่ท้องถิ่นกับระดับชาติต่างกันยังไง หาเสียงมั่วซั่วไปหมด
'วิษณุ' ให้รอดูรัฐบาลชุดที่ 64 แถลงนโยบายมี 'ดิจิทัลวอลเล็ต' หรือไม่
นายวิษณุ เครืองาม อดีตที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้หรือไม่ ว่า ตนไม่มีความเห็น ว่าควร