ดร.ธีรภัทธ์ออกบทความเรื่องผู้อำนวยการเขต 50 เขตกรุงเทพฯ ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ชี้เพื่อให้สอดคล้องกับการเป็นประชาธิปไตยท้องถิ่น
24 มี.ค.2565 - เพจโฟกัสเลือกตั้งผู้ว่า กทม. คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิตได้เผยแพร่บทความของศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ธีรภัทธ์ เสรีรังสรรค์ คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต ในหัวข้อ “ผู้อำนวยการเขต 50 เขตกรุงเทพฯ ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน” มีเนื้อหาว่า ปัญหาการบริการของเขตในด้านต่างๆ เป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญของกรุงเทพมหานคร อันเป็นหน่วยการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษที่ใหญ่และสำคัญที่สุดของไทยเรา
หลายปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่เขต เจ้าหน้าที่กรุงเทพฯ เราจะรู้สึกได้ว่าแทบไม่ได้ออกมาพบปะประชาชน ตรงกันข้าม เราจะเห็นนักการเมืองทุกระดับออกมาเคลื่อนไหวพบปะและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง แต่เจ้าหน้าที่ของกรุงเทพฯ รู้สึกว่าจะเน้นอยู่ในที่ตั้งแบบตั้งรับมากกว่าการออกไปพบปะเพื่อสอบถามปัญหาและการช่วยเหลือแก้ไขประชาชนในเชิงรุก เรียกได้ว่า เจ้าหน้าที่กรุงเทพฯ ห่างเหินจากประชาชนอย่างมาก
เรื่องการให้บริการบางอย่างจากเขต ต้องใช้ความรู้จักหรือระบบอุปถัมภ์เป็นการส่วนตัว จึงจะได้รับบริการที่เร็วและที่ดี แทนที่จะให้บริการเป็นที่รับรู้และเข้าถึงได้อย่างกว้างขวางโดยประชาชนทั่วไปอย่างเท่าเทียมกัน
นอกจากนี้ ยังควรขยายบริการด้านต่างๆ ให้กว้างขวางยิ่งขึ้นของทุกเขต เช่น การตัดต้นไม้ใหญ่ของบ้านประชาชน สวนสาธารณะที่กระจายไปยังชุมชนต่างๆ พื้นที่และเครื่องมือออกกำลังกายที่เข้าถึงจากชุมชนต่างๆ เรื่องการขออนุญาตก่อสร้างต่อเติมที่อยู่อาศัยรวมทั้งอาคารสูงใหญ่ ทำอย่างไรจะให้กระบวนการเร็วขึ้น เป็นที่รับรู้ของประชาชน มีความละเอียด อันจะทำให้ประชาชนบ้านข้างเคียงไม่ต้องกังวลใจว่าจะได้รับผลกระทบด้านต่างๆ เป็นต้น
ปัญหาการบริการประชาชนและความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่กรุงเทพฯกับประชาชนที่เป็นไปในลักษณะนี้หลายปีที่ผ่านมา น่าจะมีปัจจัยสัมพันธ์กับการรัฐประหาร 2557 และผู้ว่ากรุงเทพฯ มาจากการแต่งตั้ง ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
สมาชิกสภาเขต (ส.ข.) ยังเป็นสิ่งจำเป็นในระบบการเมืองท้องถิ่นกรุงเทพฯ
นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งจะเป็นบุคคลที่คลุกอยู่กับประชาชน ทั้งเห็นและเข้าใจปัญหาของประชาชนได้ดีกว่าเจ้าหน้าที่จากรัฐส่วนกลาง เหมือนกับเจ้าหน้าที่ กทม. หากไม่มีการเลือกตั้ง ก็จะทำให้เจ้าหน้าที่เหล่านี้มีความคิดความเชื่อและการปฏิบัติเหมือนข้าราชการประจำเท่านั้นเอง ซึ่งคงค่อนข้างขาดหัวจิตหัวใจที่จะมาคำนึงถึงประชาชน นี่ขนาดเพียง 7-8 ปีเท่านั้น
หากเราย้อนกลับไปสู่ยุคสิบยี่สิบปีก่อนที่ผู้ว่ากรุงเทพฯ สมาชิกสภากรุงเทพ (ส.ก.) และสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) รวมทั้ง ส.ส. มาจากการเลือกตั้ง เราจะเห็นนักการเมืองเหล่านี้เคลื่อนไหวพบปะช่วยเหลือประชาชน และหาทางแก้ไขปัญหาในวิถีทางใหม่ๆ ตลอดเวลา
ดังนั้น สมาชิกสภาเขตจึงยังเป็นสิ่งจำเป็นของกรุงเทพฯ เพื่อคอยตรวจสอบและให้ความคิดเห็นต่อการทำงานของเขตได้อย่างละเอียดละออยิ่งขึ้น นอกจากนั้น นักการเมืองเหล่านี้ทั้งที่ได้รับเลือกตั้งและที่ไม่ได้รับเลือกตั้งก็จะยังคงมีทีมปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่องหลายปี นักการเมืองท้องถิ่นเหล่านี้มีวิญญาณมีหัวใจในการให้บริการประชาชน และมีมากกว่าเจ้าหน้าที่เขตที่เป็นข้าราชการประจำอย่างแน่นอน
ถึงเวลาแล้วที่ผู้อำนวยการเขตต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน
กรุงเทพมหานครมีทั้งหมด 50 เขต แม้เราจะได้ผู้ว่ากรุงเทพฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ผู้ว่ากรุงเทพฯ ก็สามารถแต่งตั้งข้าราชการประจำให้มาเป็นผู้อำนวยการเขตได้เท่านั้น ซึ่งมันก็จะวนเวียนกันไปมาในหมู่ข้าราชการประจำ ที่เมื่อเราพิจารณาจากประเด็นข้างต้นทั้งหมด เราก็จะเห็นว่า ข้าราชการประจำมีบุคลิกลักษณะความคิดการทำงานและจิตวิญญาณที่ห่างเหินและขาดหัวใจในการบริการประชาชน มีลักษณะทำงานแบบประจำวันมากกว่าการทำงานเชิงรุกและสร้างสรรค์ รวมทั้งแต่ละเขตเองก็มีพื้นที่กว้างใหญ่ มีชุมชนและประชากรจำนวนมาก
ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ต้องปรับปรุงโครงสร้างและระบบการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษของกรุงเทพมหานคร โดยให้ผู้อำนวยการเขตทุกเขตมาจากการเลือกตั้งของประชาชนแต่ละเขตโดยตรง และน่าจะเป็นผลดีกว่าที่จะให้ผู้ว่ากรุงเทพฯ เป็นผู้แต่งตั้งผู้อำนวยการเขตแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งมันมีลักษณะรวมศูนย์อำนาจที่ผู้ว่ากรุงเทพฯ คนเดียว และการเลือกตั้งผู้อำนวยการเขตจะสอดคล้องกับการสร้างความเป็นประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่นยิ่งขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ขอเชิญชาวกรุงเทพมหานคร ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ฟรี ทั่วเขตกรุงเทพมหานคร
ขอเชิญชาวกรุงเทพมหานคร ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ฟรี ทั่วเขตกรุงเทพมหานคร โดยมีการออกให้บริการดังนี้
เปิด 5 เขตพื้นที่ มีฝุ่น PM2.5 สูงสุด ในกรุงเทพมหานคร
ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร ขอรายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในกรุงเทพมหานคร
เช็กเลย! สถานการณ์น้ำในพื้นที่ กทม. ปริมาณฝนรอบ 24 ชม.
เพจเฟซบุ๊ก "กรุงเทพมหานคร" อัปเดตสถานการณ์น้ำในพื้นที่ กทม. ประจำวันที่ 11 ตุลาคม 2567 ดังนี้ ปริมาณน้ำผ่านจุดสำคัญ
กทม. เฝ้าระวัง16 ชุมชน 731 ครัวเรือน รับมือน้ำล้นตลิ่ง
กรุงเทพมหานคร แจ้งการเฝ้าระวัง 13-23 ต.ค. 67 เฝ้าระวัง 16 ชุมชน 731 ครัวเรือน ในพื้นที่ 7 เขต นอกคันกั้นน้ำ ยกของขึ้นที่สูง ตรวจสอบปลั๊กไฟและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
ถนนทรุด! หลุมใหญ่กว้าง 10 เมตร ปิดสะพานเกษะโกมล ซ่อมด่วน
เกิดเหตุถนนทรุดตัว บริเวณคอสะพานเกษะโกมล ถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กทม. เป็นหลุมขนาดใหญ่กว้างประมาณ 10 เมตร ยาว 5 เมตร และลึก 3 เมตร เจ้าหน้าที่ต้องปิดการจราจรชั่วคราว