กมธ.กฎหมายลูก เผย 23 มี.ค. โหวตใช้บัตรเลือกตั้ง 'เบอร์เดียว' ทั้งประเทศ

16 มี.ค.2565 - ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) (ฉบับที่…) พ.ศ. … โดยนายสมชัย ศรีสุทธิยากร โฆษกกมธ.ฯ แถลงว่าสำหรับการประชุมวันนี้ได้พิจารณาประเด็นการกำหนดเขตเลือกตั้งการเลือกส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ว่าจะสามารถใช้คำว่า “ใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง” ได้เหมือนกับที่เคยเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆที่มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบได้หรือไม่ ซึ่งกมธ.มีการอภิปรายกันว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือมีความชัดเจนว่ากรณีการเลือกบัตรแบบบัญชีรายชื่อ การนับคะแนนจะนับรวมทั้งประเทศโดยใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง แต่มีกมธ.บางส่วนโต้แย้งว่าอาจเกิดปัญหา หากมีการทุจริตการเลือกตั้ง เช่น ผู้ร้องพบว่ามีการกระทำผิดที่ อ.เบตง จ.ยะลา แต่ผู้ร้องอาจไปร้องที่ จ.เชียงราย เพราะถือว่าเป็นเขตเลือกตั้งเดียวกัน ในประเด็นนี้จึงยังไม่ได้ข้อยุติ

ทางกมธ.จึงได้ตั้งคณะทำงานชุดเล็ก ประกอบ ผู้แทนกฤษฎีกา กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา และนายกฤช เอื้อวงศ์ อดีตรองเลขาธิการกกต. และตน เพื่อพูดคุยหาข้อยุติในประเด็นนี้ รวมถึงการขอพ่วงประเด็นว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ หากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องการให้มีการออกเสียงประชามติ จะสามารถจัดการออกเสียงในวันเดียวกันกับวันที่จัดให้มีการเลือกตั้งได้หรือไม่ โดยคณะทำงานมีกรอบเวลา 14 วัน ก่อนนำกลับเข้ามาเสนอที่ประชุมกมธ.เพื่อลงความเห็นร่วมกันอีกครั้ง

นายสมชัย กล่าวต่อว่า ในส่วนของประเด็นบัตรเลือกตั้งทั้งแบบเขต และบัญชีรายชื่อ จะเป็นเบอร์เดียวกันทั้งประเทศได้หรือไม่ กมธ.เห็นว่าประเด็นดังกล่าว ประชาชนสนใจ และเป็นประเด็นชี้เป็นชี้ตายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ซึ่งเบอร์เดียวกันมีการอภิปรายอย่างมาก ซึ่งมีความเห็นแตกเป็น 2 ฝ่าย กมธ.ที่เป็นส.ส.ไม่ว่าจะพรรคการเมืองใดเกือบทั้งหมด 90% เห็นด้วยกับบัตรเบอร์เดียวกัน เพื่อประโยชน์ของประชาชน กกต.จัดการเลือกตั้งได้สะดวก และพรรคการเมืองสามารถรณรงค์หาเสียงได้โดยไม่สับสน

ขณะที่กมธ.ที่เป็นส.ว. กังวลว่าหากเป็นเบอร์เดียวกันทั้งประเทศจะขัดมาตรา 90 ของรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มีการแก้ไขหรือไม่ ซึ่งระบุว่าต้องสมัครส.ส.แบบแบ่งเขตก่อนจึงจะส่งส.ส.บัญชีรายชื่อได้ ที่ประชุมจึงนัดหมายกันในวันพุธที่ 23 มี.ค.นี้ ในการอภิปรายต่อเพื่อลงมติว่าจะเป็นเบอร์เดียวทั้งประเทศหรือไม่ โดยเชื่อว่าไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร กมธ.เสียงข้างน้อยอาจจะสงวนคำแปรญญัติไปอภิปรายในวาระ 2 – 3 ต่อไป ขณะเดียวกันหากสื่อมวลชนจะนำประเด็นนี้ไปช่วยทำโพลสำรวจความเห็นก็จะเป็นประโยชน์ เนื่องจากกมธ.อยากรู้ว่าประชาชนคิดอย่างไร อยากได้แบบไหน เพื่อประกอบการพิจาณาของกมธ.ในสัปดาห์หน้าได้

ด้าน นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะโฆษกกมธ.ฯ กล่าวว่า หลังจากมีกระแสข่าวเกี่ยวกับร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับ จะถูกคว่ำในวาระ 3 นั้น ถือเป็นเพียงการคาดการณ์ ยืนยันว่ากมธ.มาจากหลายพรรคการเมือง หลากหลายวิชาชีพ เราเป็นฝ่ายนิติบัญญัติทำหน้าที่ออกกฎหมาย พูดคุยกันด้วยเหตุผล เพื่อจะได้นำข้อสรุปเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภา ส่วนโอกาสที่ร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับ จะถูกคว่ำในวาระ 3 จะเป็นไปได้หรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ เพราะเราไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้เลย กมธ.ทุกคนตั้งใจทำงานเต็มที่ โดยจะชี้แจง และอธิบายต่อรัฐสภาให้ดีที่สุด

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ ยันไร้แผนปรับครม. ตอนนี้พรรคร่วม-รมต.ไม่มีใครดื้อ ไม่เสียใจ 'ทักษิณ' พูดนำก่อน

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงนโยบายปรับลดค่าไฟตรงนี้ถือเป็นหลักประกันเก้าอี้ของ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงานด้วยหรือไม่ ว่า อันนี้ไม่ทราบเลยว่าทำไม

‘สรวงศ์’ โต้รัฐบาลรับลูกพ่อนายกฯ อ้างเป็นแค่วิสัยทัศน์อดีตผู้นำ

ทำเนียบรัฐบาล นายสรวงศ์ เทียนทอง รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร การกา

ดร.ณัฏฐ์ ชี้ร่างแก้ไขรธน.เพิ่มหมวด 15/1 ตั้งสสร.ร่างรธน.ฉบับใหม่ มีผลเท่ากับยกเลิกรธน.ทั้งฉบับ

ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ ดร.ณัฏฐ์  นักกฎหมายมหาชน กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทยเตรียมขอมติจากที่ประชุม สส.ของพรรค เห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ฝ่ายกฎหมายของพรรคจัดทำไว้เสนอประกบกับร่างของ

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 42)

ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้แสดงให้เห็นถึงการปกครองภายใต้คณาธิปไตยสืบทอดอำนาจของคณะราษฎรตลอดระยะเวลา 13 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2476-2489