ไทยโพสต์ ๐ "บิ๊กตู่" ประกาศยกเลิกเคอร์ฟิว "กทม.-16 จังหวัด" นำร่องท่องเที่ยว มีผลตั้งแต่ 5 ทุ่ม 31 ต.ค. ห้ามจัดกิจกรรมเสี่ยงแพร่โควิด ไม่ให้รวมกลุ่มมากกว่า 500 คน "ศบค." ชี้แม้ 17 จว.คลายล็อกแล้วสถานบันเทิงผับบาร์ยังห้ามเปิด ย้ำเกณฑ์นักท่องเที่ยว 46 ประเทศเสี่ยงต่ำเข้าไทยไม่กักตัว ต้องฉีดวัคซีนครบ ททท.คาดไทยจะต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ต่ำกว่า 1 ล้าน "โฆษกรัฐบาล" เชื่อ ศก.การท่องเที่ยวจะกลับมาฟื้นตัว
เมื่อวันที่ 22 ต.ค. มีรายงานว่า เมื่อเวลา 23.30 น. ของวันที่ 21 ต.ค.2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ข้อกำหนดออกตามมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับที่ 36 ที่การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยมีแนวโน้มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น รัฐบาลจึงเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องมีการฟื้นฟูประเทศเพื่อประโยชน์ด้านการใช้ชีวิตความเป็นอยู่และด้านเศรษฐกิจแก่ประชาชน ในเบื้องต้นจึงเห็นควรให้มีการเปิดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว อันจะเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจและการจ้างงาน โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ลงนามประกาศดังกล่าว
ทั้งนี้ ได้กำหนด 8 ข้อ สาระสำคัญคือ การกำหนดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว 17 จังหวัด นอกจากนี้ ยังมีการให้การยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถานในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเดิมเคยกำหนดให้เป็นเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด จากการจำแนกจังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์ แต่ได้มีคำสั่งกำหนดให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว มีผลตั้งแต่เวลา 23.00 น. ของวันที่ 31 ต.ค.2564 รวมถึงการห้ามจัดกิจกรรมเสี่ยงในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 500 คน การปรับระดับพื้นที่ ตลอดจนการกำหนดและมาตรการป้องกันโรคของผู้ที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร
อย่างไรก็ดี มี 4 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดที่ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร, ชลบุรี (เฉพาะอำเภอบางละมุง เมืองพัทยา อำเภอศรีราชา อำเภอเกาะสีชัง และอำเภอสัตหีบ เฉพาะตำบลนาจอมเทียน และตำบลบางเสร่), ระยอง (เฉพาะเกาะเสม็ด) และสมุทรปราการ (เฉพาะพื้นที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ) ทำให้ 4 จังหวัด/พื้นที่เหล่านี้ไม่มีการเคอร์ฟิวตามข้อกำหนดดังกล่าว
ขณะเดียวกัน ยังมีคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 18/2564 เรื่อง พื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ออกประกาศพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว 17 จังหวัด ดังนี้ 1.กรุงเทพมหานคร 2.กระบี่ 3.ชลบุรี (เฉพาะอำเภอบางละมุง เมืองพัทยา อำเภอศรีราชา อำเภอเกาะสีชัง และอำเภอสัตหีบ เฉพาะตำบลนาจอมเทียน และตำบลบางเสร่) 4.เชียงใหม่ (เฉพาะอำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอดอยเต่า อำเภอแม่ริม และอำเภอแม่แตง) 5.ตราด (เฉพาะอำเภอเกาะช้าง) 6.บุรีรัมย์ (เฉพาะอำเภอเมืองบุรีรัมย์) 7.ประจวบคีรีขันธ์ (เฉพาะตำบลหัวหิน และตำบลหนองแก) 8.พังงา
9.เพชรบุรี (เฉพาะเทศบาลเมืองชะอำ) 10.ภูเก็ต 11.ระนอง (เฉพาะเกาะพยาม) 12.ระยอง (เฉพาะเกาะเสม็ด) 13.เลย (เฉพาะอำเภอเชียงคาน) 14.สมุทรปราการ (เฉพาะบริเวณพื้นที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ) 15.สุราษฎร์ธานี (เฉพาะเกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า) 16.หนองคาย (เฉพาะอำเภอเมืองหนองคาย อำเภอสังคม อำเภอศรีเชียงใหม่ อำเภอท่าบ่อ) และ 17.อุดรธานี (เฉพาะอำเภอเมืองอุดรธานี อำเภอบ้านดุง อำเภอกุมภวาปี อำเภอนายูง อำเภอหนองหาน และอำเภอประจักษ์ศิลปาคม)
คลายล็อกยังห้ามผับบาร์
นอกจากนี้ ศูนย์ปฏิบัติการมาตรการการเดินทางเข้า-ออกประเทศและการดูแลคนไทยในต่างประเทศ ออกประกาศเรื่อง การกำหนดรายชื่อประเทศและพื้นที่ต้นทางที่อนุญาตให้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร สำหรับบุคคลประเภท (13) ได้ประกาศรายชื่อประเทศและพื้นที่ต้นทางสำหรับบุคคลประเภท (13) ที่ผู้เดินทางจากประเทศและพื้นที่ดังกล่าวได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร จำนวน 46 ประเทศ
ขณะที่ พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงถึงข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ฉบับที่ 36 ตอนหนึ่งว่า ต้องยึดหลักว่าประชาชนต้องมีความปลอดภัยและสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมทั้งประชาชนในประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมให้สามารถดำเนินการควบคู่กับมาตรการด้านสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมือนที่มีการปฏิบัติในแต่ละประเทศทั่วโลกที่มีสถานการณ์ใกล้เคียงกัน
พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ในข้อ 5 เป็นข้อกำหนดที่ถือว่ามีความสำคัญ คือการเตรียมความพร้อมของสถานบริการหรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ในระยะเริ่มแรกของการดำเนินการเปิดเขตพื้นที่สีฟ้านำร่องด้านการท่องเที่ยว ให้สถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ แม้จะตั้งอยู่ในเขตพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ยังคงปิดดำเนินการไว้ก่อนในช่วงเวลานี้
โดยให้หน่วยงานและผู้ประกอบการเตรียมความพร้อมเพื่อการผ่อนคลายในอนาคตได้ ตามที่ได้ประกาศไว้แล้วในข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 35) ลงวันที่ 15 ต.ค.2564 เพื่อให้สามารถเปิดดำเนินการได้ต่อไปตามแผนและกรอบเวลาที่รัฐบาลจะประกาศกำหนด
“สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ แม้จะตั้งอยู่ในเขตพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ยังคงขอให้ปิดไว้ก่อน” พญ.อภิสมัยกล่าวย้ำ
ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าวว่า สำหรับการรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร หรือการเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งรวมถึงคนไทยและชาวต่างชาติ กำหนดแบ่งกลุ่มเป็น 3 ประเภทด้วยกัน กลุ่มแรก เดินทางเข้าประเทศแบบไม่กักตัวจะมี 45 ประเทศ +1 เขตบริหารพิเศษฮ่องกง ประกอบด้วย ออสเตรเลีย ออสเตรีย บาห์เรน เบลเยียม ภูฏาน บรูไนดารุสซาลาม บัลแกเรีย กัมพูชา แคนาดา ชิลี จีน ไซปรัส สาธารณรัฐเช็ก เดนมาร์ก เอสโตเนีย ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี กรีซ ฮังการี ไอซ์แลนด์ ไอร์แลนด์ อิสราเอล อิตาลี ญี่ปุ่น ลัตเวีย ลิทัวเนีย มาเลเซีย มอลตา เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ โปแลนด์ โปรตุเกส กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย สิงคโปร์ สโลวีเนีย สาธารณรัฐเกาหลี สเปน สวีเดน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหรัฐอเมริกา และบวกกับเขตบริหารพิเศษฮ่องกง (วัคซีนครบ ไม่จำกัดประเทศ) โดยในส่วนของเข็มที่สองจะต้องมีระยะเวลา 14 วันก่อนการเดินทาง มีการตรวจหาเชื้อโควิดด้วยวิธี RT-PCR ภายใน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง และมีผลยืนยันเป็นลบ
เปิดปท.ทำศก.ฟื้นตัว
นอกจากนี้ ต้องมีประกันสุขภาพอย่างน้อย 50,000 เหรียญสหรัฐ ต้องเดินทางมาทางอากาศเท่านั้น รวมถึงต้องมีใบจองที่พัก เป็นต้น รวมถึงต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน และสามารถติดตามตัวได้ว่าเดินทางไปที่ไหนอย่างไรด้วย ส่วนคนไทยที่เดินทางเข้าประเทศไทย หรือชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในประเทศไทย ไม่ต้องมีเรื่องของประกันที่ครอบคลุม 50,000 เหรียญสหรัฐ ส่วนการเดินทางเน้นเดินทางทางอากาศเท่านั้น และในท่าอากาศยานหรือสนามบินหลักคือ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ ภูเก็ต สมุย อู่ตะเภา และบุรีรัมย์ ซึ่งต้องเป็นการเช่าแบบเหมาลำเท่านั้น
กลุ่มที่สอง การเข้าพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (แซนด์บ็อกซ์) เช่น สมุย พังงา กระบี่ เป็นต้น ตามเงื่อนไขที่กำหนด (วัคซีนครบ ไม่จำกัดประเทศ) ใช้หลักการเดียวกับกลุ่มที่ 1 คือได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม มีการตรวจหาเชื้อโควิด 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง มีประกันสุขภาพ และหลักฐานการจองที่พัก มีการตรวจโควิดซ้ำในวันที่ 6 หรือ 7 ก่อนที่จะออกจากแซนด์บ็อกซ์นั้น
กลุ่มที่สาม เป็นกลุ่มคนที่ไม่เข้าเกณฑ์ทั้ง 2 ประเภท การเข้าสถานที่กักกันตามที่ราชการกำหนด (วัคซีนไม่ครบ ไม่จำกัดประเทศ) กลุ่มนี้อาจจะยังไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับวัคซีนไม่ครบ หรือฉีดเข็ม 2 ไม่ครบ 14 วันก่อนการเดินทาง รวมทั้งคนที่มาจากประเทศอื่นๆ นอกจาก 45 ประเทศ บวก 1 เขตบริหารพิเศษฮ่องกง เมื่อเข้ามาในประเทศไทยแล้ว จะต้องอยู่ในสถานที่กักกันตามที่ราชการกำหนด เช่น SQ, ASQ ของเอกชน หรือสถานกักกันของหน่วยงาน หรือองค์กร (OQ) หรือกลุ่มที่เข้ามารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล (HQ) ซึ่งจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน
ส่วนนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังจากที่ไทยได้ประกาศยกเลิกแผนการกักตัวประเทศอื่นๆ อาทิ อเมริกา อินโดนีเซีย (บาหลี) ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย และมาเลเซีย ก็กำลังดำเนินการในลักษณะเดียวกัน รวมทั้งมีการผ่อนคลายมาตรการข้อบังคับต่างๆ และหลายๆ ประเทศที่เป็นนักท่องเที่ยวของประเทศไทย ก็เพิ่งประกาศผ่อนคลายให้ประชาชนของประเทศนั้นเดินทางออกนอกประเทศได้ง่ายขึ้น นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศไทยจากกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำดังกล่าวได้โดยไม่ต้องกักตัว จะต้องเป็นผู้ที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว เดินทางเข้าประเทศไทยโดยทางอากาศ และมีหลัก ฐานปลอดเชื้อโควิด โดยมีการตรวจก่อนออกเดินทาง และตรวจเมื่อมาถึงประเทศไทย ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.เป็นต้นไป
"ททท.ได้ประมาณการแผนการเปิดประเทศของรัฐบาลในวันที่ 1 พ.ย.2564 แบบไม่ต้องกักตัว จะทำให้เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวกลับมาฟี้นตัว โดยในไตรมาสที่ 4/2564 และไตรมาสที่ 1/2565 ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) ไทยจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยจะเติบโตในรูปแบบตัววี (V) และปีหน้าจะมีรายได้ประมาณ 50% ของปี 62 ที่มีรายได้ 2 ล้านล้านบาท และมีรายได้เพิ่ม 80% ของปี 62 ในปี 66" โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว
วันเดียวกัน น.ท.มัธยัณห์ ไกรสรทองศรี รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ (สายปฏิบัติการ) และคณะ ให้การต้อนรับคณะจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศ (ททท.) นำโดยนายธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชีย และแปซิฟิกใต้ ในโอกาสเดินทางมาสำรวจความพร้อมก่อนการเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตามโครงการ CHARMING Chiang Mai ซึ่งท่าอากาศยานเชียงใหม่เป็นหนึ่งในพื้นที่ด่านหน้า และพื้นที่คัดกรองนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าและออกจังหวัดเชียงใหม่ และอยู่ในกระบวนการจัดทำ Standard Operation Procedures (SOP) ในการเปิดประเทศของรัฐบาล.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กกต.หายห่วง! ชูเลือกตั้งอบจ. รู้สึก ‘ปลอดภัย’
"แสวง" ปลุกเจ้าหน้าที่ กกต.! ยันไม่ได้รู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยหลังจากที่ได้ลงตรวจเยี่ยมการสมัครรับเลือกตั้งที่ปราจีนบุรี ไม่คิดว่าผู้สมัครนายก อบจ.คนไหนจะสร้างความรุนแรง
ประเดิม 10 วันอตร. ตาย 52
ประเดิม 10 วันอันตราย เกิดอุบัติเหตุ 322 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 318 คน ผู้เสียชีวิตแล้ว 52 ราย สาเหตุส่วนใหญ่ขับรถเร็ว
เปิดของขวัญปีใหม่ แพทองโพยแจกยับ
รัฐบาลคืนความสุขให้ประชาชน หลังเครียดกับเศรษฐกิจและการเมือง ขุดของเก่ารวมของใหม่ เหมารวมเป็นของขวัญปีใหม่แต่ละกระทรวง ลดแลกแจกแถมไม่อั้น
ไม่กลัวรัฐประหาร ‘ภูมิธรรม’ ลั่น! จัดการได้รัฐบาลอยู่ครบเทอมแน่
“ภูมิธรรม” โวยเอ็มโอยู 44 ถูกปลุกปั่นไปไกล แทบจะออกนอกอวกาศอยู่แล้ว ไม่กังวลใจกับคำถามที่ว่าในปี 2568 สถานการณ์การเมืองจะวุ่นวายและโดนรัฐประหาร
บิ๊กต่อแจงบ้านลอนดอน รมว.ดีอีดีดรับพ่อนายกฯ
ป.ป.ช.เปิดขุมทรัพย์ “บิ๊กต่อ” หลังพ้นเก้าอี้ ผบ.ตร. ทรัพย์สิน 209 ล้าน
ภท.เฮรอดคดียุบพรรค! อิ๊งค์ขอเริ่มทำงาน2ม.ค.
“ภท.” เฮ รอดยุบพรรค กกต.ยุติสอบ “วันนอร์” ไม่หวั่นถูกเลื่อยขาเก้าอี้