ประสานเสียงไม่เชื่อ "บิ๊กตู่" ชิงยุบสภาหนีซักฟอก โฆษก รบ.การันตีอยู่ครบเทอม "อนุทิน-ภูมิใจไทย" แนะรัฐบาลต้องไม่ทิ่มแทงกันเอง ย้ำทุก รบ.พังเพราะจากข้างในไม่ใช่พังเพราะข้างนอก คนที่จะทำร้ายรัฐบาลได้น่ากลัวที่สุดก็คือคนในรัฐบาล พท.ยังเชื่อได้เลือกตั้งกลางปีนี้
ภายหลัง ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย รวมถึงนายสุรทิน พิจารณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองขนาดเล็กที่ใกล้ชิดกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า แกนนำพรรคเศรษฐกิจไทย ออกมาระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อาจชิงยุบสภาก่อนเปิดประชุมในวันที่ 22 พ.ค. ทำให้มีความเห็นทางการเมืองตามมา
โดยวันที่ 6 มี.ค. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เสถียรภาพของรัฐบาลขึ้นอยู่กับ 2 ส่วนในภาพหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลผสม จึงขึ้นอยู่กับการทำงานร่วมกันในคณะรัฐบาล ในฐานะฝ่ายบริหารคณะรัฐมนตรี แต่ส่วนที่ 2 คือการปฏิบัติภารกิจในส่วนของฝ่ายนิติบัญญัติ หรือในสภาผู้แทนราษฎรและรัฐสภา ซึ่งทั้ง 2 ส่วนจะต้องทำงานร่วมกัน ระหว่างพรรคการเมืองที่มาทำงานร่วมกัน เนื่องจากเป็นรัฐบาลผสม และในคณะรัฐมนตรีเองก็มีหลายพรรคการเมือง เพราะฉะนั้นการทำงานร่วมกัน และการมีกลไกการทำงานที่เข้มแข็ง การประสานงานที่ดี การพิจารณาตัดสินปัญหาต่างๆ ร่วมกันอย่างมีทิศทางที่ชัดเจน ซึ่งใน ครม. มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวเรือใหญ่ เนื่องจากเป็นผู้นำรัฐบาลและมีหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรค ไม่ว่าจะเป็นพรรคแกนนำหรือพรรคร่วม เป็นกลไกหลัก
เมื่อถามย้ำว่า สัญญาณการยุบสภา จะไม่เกิดขึ้นตามกระแสข่าวใช่หรือไม่ นายจุรินทร์ระบุว่า ตอบไม่ได้ มีเพียงแต่คนคาดการณ์ว่าจะมีหรือไม่มี แต่ทุกอย่างก็ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงและสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น และช่วงนี้เป็นช่วงปิดสมัยประชุมสภา คิดว่ายังไม่มีอะไรในลักษณะที่จะนำไปสู่การยุบสภา แต่ต้องติดตามในช่วงเปิดสมัยประชุมสภาอีกครั้งว่าจะเป็นอย่างไร พร้อมกับระบุว่า การยุบสภาก็ต้องกลับมาสู่จุดเดิม ที่เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี ก็ขึ้นอยู่กับนายกฯ ด้วยว่าจะคิดอย่างไร ส่วนที่มีการกล่าวอ้างว่าจะยุบสภาเพื่อหนีศึกซักฟอกนั้น ไม่สามารถตอบล่วงหน้าได้ เพราะไม่ทราบว่าฝ่ายค้านจะยื่นเมื่อใด เพียงแต่มีการโหมโรงว่าจะยื่น
นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวเช่นกันว่า เป็นสิทธิของฝ่ายค้านที่จะคิดไปได้ว่านายกรัฐมนตรีอาจชิงยุบสภาหนีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก่อนเปิดประชุมสภาในวันที่ 22 พ.ค. แต่เชื่อว่านายกรัฐมนตรีไม่คิดยุบสภาเพื่อหนีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะถ้าดูจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมาหลายครั้ง ฝ่ายค้านไม่ได้มีข้อมูลเชิงลึกที่จะสร้างผลสะเทือนกระทบต่อการดำรงอยู่ของรัฐบาล ถึงแม้จะมีการอภิปรายถึงประเด็นการทุจริต ก็เป็นข้อมูลที่พยายามเชื่อมโยงให้สังคมเห็นว่าน่าจะมีการทุจริตมากกว่า นอกจากนั้น ก็จะเป็นการอภิปรายถึงการบริหารงานที่ผิดพลาดบกพร่องตามมุมมองของฝ่ายค้าน ซึ่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายสามารถชี้แจงนำข้อมูลมาหักล้างคำอภิปรายได้เป็นส่วนมาก หลายประเด็นที่ฝ่ายค้านหยิบยกมาอภิปราย ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอต่อการล้มรัฐบาล ถ้ามีการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งหน้าช่วงปีสุดท้ายของสภาผู้แทนราษฎรเป็นแบบอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลทั้งคณะ เวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจอาจกลายเป็นเวทีให้รัฐมนตรีมีโอกาสชี้แจงแถลงผลงานด้วยซ้ำไป
"เชื่อว่านายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพร้อมรับมือกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะเกิดขึ้นหลังเปิดสภา ไม่คิดยุบสภาหนีการซักฟอกแต่อย่างใด" รองหัวหน้าพรรคปชป.ระบุ
เช่นเดียวกับ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี บอกว่า รัฐบาลมุ่งทำงานให้กับประชาชนเพียงอย่างเดียว และลดเรื่องการเมืองลง เพราะวันนี้ประชาชนยังรอให้รัฐบาลเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนอีกหลายเรื่อง ดังนั้นการให้สัมภาษณ์ในเรื่องต่างๆ ของฝ่ายค้าน ก็เป็นสิทธิชอบธรรมที่สามารถกระทำได้ แต่ขอให้อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงด้วย ไม่ใช่หวังเพียงแค่เรียกกระแสอย่างเดียว ยืนยันว่ารัฐบาลจะอยู่แก้ปัญหาให้กับประชาชนจนครบเทอมแน่นอน
ส่วนนายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ และในฐานะประธานวิปรัฐบาล บอกว่า เรื่องการยุบสภาคิดว่าไม่มีความเป็นไปได้ เสถียรภาพพรรคร่วมรัฐบาลยังดีอยู่
'อนุทิน'ย้ำ รบ.ต้องไม่ทิ่มแทงกันเอง
ส่วนนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่มีเสียง ส.ส.เป็นอันดับสอง กล่าวถึงเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลต่อจากนี้ หลังถูกถามว่า ประเมินว่ารัฐบาลจะอยู่ครบเทอม 4 ปีหรือไม่ ว่าการประเมินเรื่องนี้ใช้ตามหลักวิทยาศาสตร์โดยนำตัวเลขมายืนยัน ซึ่งคนที่จะทำให้รัฐบาลล้มได้ก็คือคนในรัฐบาล ไม่ใช่คนนอก ไม่ต้องไปโทษใคร ซึ่งการที่รัฐบาลจะล้ม ล้มจากอะไร ก็มี หนึ่งนายกรัฐมนตรียุบสภา สอง นายกรัฐมนตรีลาออก สาม นายกรัฐบาลไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีได้ สี่ พรรคร่วมรัฐบาลทะเลาะเบาะแว้งกันอย่างรุนแรงจนทำให้เกิดปัญหาเรื่องการไว้วางใจกันในสภา คือหากรัฐบาลจะไป ก็ไปด้วยเหตุผล 3-4 ข้อข้างต้น ซึ่งหากเราประคับประคองสถานการณ์ไม่ให้มันเกิดขึ้น พยายามที่จะเข้าใจกัน รับฟังกันให้เกียรติกันให้มากที่สุด ทำงานด้วยความซื่อสัตย์ อย่าทำผิดกฎหมาย อย่าระแวงกันเอง อย่าทิ่มแทงหลังกันเอง รัฐบาลไม่มีวันที่จะล้มไปได้ ที่ผ่านๆ มาทั้งหมดในประวัติศาสตร์ ไปเช็กดูได้ รัฐบาลทุกรัฐบาลพังเพราะจากข้างใน ไม่ใช่พังเพราะข้างนอก เท่าที่ตนจำความได้ ไม่เคยเห็นรัฐบาลชุดไหนพังเพราะปัจจัยภายนอก มันต้องเริ่มมาจากปัจจัยภายในทั้งสิ้น คนที่มีศักยภาพในการทำลายล้างรัฐบาลคือคนในรัฐบาล
ถามย้ำว่า ถึงขณะนี้ไม่มีสัญญาณหรือร่องรอยว่าจะพังจากข้างใน หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยตอบว่า ต้องดูที่คนกดสัญญาณ หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลคือคนกดสัญญาณ ซึ่งถ้าเรากดสัญญาณพร้อมกัน โดยกดกันเป็นจังหวะ ถึงเวลาคนนั้นกด คนนี้กด ไม่แย่งกันกด ไม่ไปกดปุ่มผิด มันก็ไม่เป็นปัญหา และเรายอมรับกติกาทุกอย่างได้ ก็ประคับประคองให้มันพ้นไปได้ตลอดรอดฝั่ง คำว่ารัฐบาลก็คือจัดตั้งมาได้ด้วยการมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ไม่ว่าจะมาด้วยพรรคการเมืองพรรคเดียวหรือการรวมตัวของพรรคการเมืองหลายพรรค แล้วมีเสียงมากกว่าฝ่ายค้าน เพราะฉะนั้นถ้ารัฐบาลจะไป ก็คือต้องได้รับเสียงสนับสนุนน้อย แต่ในเมื่อเราตั้งเป็นรัฐบาลได้ ก็คือเราเคยมีเสียงข้างมากมาแล้ว แต่คนที่ทำให้รัฐบาลมีเสียงลดน้อยลง ก็คือคนของฝ่ายรัฐบาล
“คนที่จะทำร้ายรัฐบาลได้ที่น่ากลัวที่สุดก็คือคนในรัฐบาล แต่ใครอยากจะทำก็ทำ แต่ไม่ใช่พรรคภูมิใจไทย" นายอนุทินกล่าว
เมื่อถามถึงตัวเลข ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ถึงตอนนี้มีเสียงอยู่เท่าใดกันแน่ หากไม่นับส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทย นายอนุทินกล่าวว่า ต้องนับโดยนิตินัยก่อน คือนับจากคนที่เป็น ส.ส.ในปัจจุบันที่เป็นฝ่ายรัฐบาล นับยังไงก็ยังเกิน ส่วนพฤตินัยอีกเรื่องหนึ่ง พฤตินัยคืออาจมีคนที่เขาอาจบอกว่า ถ้ารัฐบาลทำดี เขาก็พร้อมสนับสนุน อย่างกฎหมายกัญชาแบบนี้เป็นต้น ส.ส.ฝ่ายค้านก็มาร่วมสนับสนุน ฝ่ายรัฐบาลก็สนับสนุน เพราะเป็นเรื่องของประชาชน มันก็จะมีแบบนี้ แต่ตนดูทางด้านนิตินัยว่าคนไหนฝ่ายรัฐบาล คนไหนฝ่ายค้าน ก็พบว่าเกินกึ่งหนึ่งคือรัฐบาล ก็อยู่ที่ประมาณ 245 คน กับ 209 คน อันนี้คือทางนิตินัย ที่ห่างกันร่วม 36 คน ก็ถือว่าเป็นรัฐบาลที่มีความมั่นคง แล้วตอนรัฐบาลชุดนี้เข้ามาตอนช่วงแรกฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้านห่างกันแค่สองเสียง ตอนนั้นประมาณ 253 เสียง ที่ตอนนั้นยังไม่มีการยุบพรรคการเมือง ยังไม่มีการตัดสิทธิการเมือง ตอนนี้ความแข็งแกร่งของรัฐบาลก็เพิ่มมากขึ้น แต่หลักสำคัญอยู่ที่ว่าทำงานหรือไม่ เพราะรัฐบาลไปด้วยวาระตามกฎหมายอยู่แล้ว ถ้าไม่ทำงาน ประชาชนก็ไม่เลือกกลับเข้ามา และหากทำอะไรที่มันไม่เข้าท่า ก็โดนอภิปรายไม่ไว้วางใจ แล้วหากตอบไม่ได้ ก็ไม่ได้รับเสียงไว้วางใจ ก็ต้องออก มีระบบ check and ballance อยู่
ส่วนที่มีการประเมินกันว่ากลางปีนี้อาจเกิดจุดเปลี่ยนทางการเมือง ทำให้หน้ากระดานการเมืองเปลี่ยนแปลง หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยวิเคราะห์ว่า ตนอยู่กับตัวเลข จะไปหรือไม่ไปอยู่ที่ว่าตัวเลขนิ่งหรือไม่ แต่หากดูจากทุกวันนี้ก็น่าจะนิ่ง เพราะว่านายกรัฐมนตรีก็ฟังพรรคร่วมรัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาลผลักดันกฎหมายก็ผ่าน ผลักดันนโยบายก็ผ่าน นายกรัฐมนตรีก็สนับสนุนให้รัฐบาลทำสิ่งที่ดีๆ ให้เกิดขึ้นในบ้านเมือง อย่างที่บอก คำว่ารัฐบาลคือผู้ที่ครองเสียงข้างมากในสภา ถ้ารัฐบาลไม่มีปัญหา สภาก็จะไม่มีปัญหา แค่นั้นเอง
ฝ่ายค้านกางมุ้งรอซักฟอก
ขณะที่ท่าทีจากฝ่ายค้าน นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลในการเปิดประชุมสภาสมัยหน้าว่า จะมีเรื่องใหม่แน่นอน รับประกัน ไม่มีเบาแน่นอน ไม่เชื่อว่า ส.ส. 260 เสียงที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ขนาด ร.อ.ธรรมนัส ยังสงสัยว่ามาจากไหน ถ้าพระรามตู่มั่นใจก็อย่ายุบสภาหนีก็แล้วกัน ส่วน 260 เสียงจะมีงูเห่าหรือไม่นั้น ขอท้าให้โชว์ตัวออกมา ยกมือออกมา อย่ามาทำลับๆ ล่อๆ กล้าหรือไม่ ประชาชนจะได้ลงโทษผ่านการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ คุณอยู่พรรคการเมืองหนึ่ง กลับไปยกมือให้กับอีกพรรคการเมืองหนึ่ง
เมื่อถามว่า ฟันธงได้หรือไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะยุบสภาก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ม.151 นายยุทธพงศ์กล่าวว่า ฟันธงมาตั้งนานแล้วว่ายุบสภาก่อนแน่นอน ตั้งแต่ ร.อ.ธรรมนัสออกจากพรรคพลังประชารัฐ ขณะนี้รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ประชุมสภายังไปไม่รอด
ส่วนกรณีหากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้งยังไม่แล้วเสร็จ จะมีโอกาสยุบสภาก่อนได้หรือไม่ นายยุทธพงศ์กล่าวว่า เป็นเรื่องของรัฐบาลที่ต้องไปว่ากัน อำนาจยุบสภา
อยู่ที่นายกฯ ไม่ได้อยู่ที่ฝ่ายค้าน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทอน-เท้งไม่กล้าแตะแม้ว ร้องกกต.ซื้อเสียง52เรื่อง
“อิทธิพร” ยืนยันความพร้อมเลือกตั้งสมาชิก-นายก อบจ.
งบปี69ยึด3เป้า ย้ำขรก.ใช้คุ้มค่า คัด‘ปธ.ธปท.’อืด
นายกฯ มอบนโยบายจัดทำงบปี 69 วาง 3 เป้าหมาย ไม่ลดสัดส่วนนักลงทุน-ไม่เพิ่มงบ-ไม่เพิ่มอัตรากำลัง
สภาไฟเขียว‘สุราชุมชน’ ตีปี๊บซอฟต์พาวเวอร์ไทย
มติสภาเอกฉันท์ 415 เสียง ไฟเขียว "กม.สุราชุมชน" เปิดโอกาสเกษตรกรรายย่อยผลิต-มีเครื่องกลั่นสุรา
อิ๊งค์หวิดโดนตุ๋น/3ทุนใหญ่งาบ
อึ้ง! "นายกฯ อิ๊งค์" หวิดโดนคอลเซ็นเตอร์หลอกโอนเงิน
ลากทักษิณขึ้นเขียง แพทยสภาเปิดวอร์รูมตรวจเวชระเบียนชั้น14เร่งจบมี.ค.
แพทยสภาเข็นนักโทษเทวดาขึ้นเขียง “หมออมร” เปิดวอร์รูมนัดแรกตรวจเอกสารลับ
27ม.ค.โอนเงินหมื่นเฟส2 คลังยันคุยธปท.ดันศก.โต
นายกฯ สรุปทิศทางทำงบปี 69 ย้ำต้องตอบโจทย์พัฒนาประเทศ