ปั่นกระแสใช้สูตรMMP

“พปชร.” คาดกฎหมายลูก 2 ฉบับจบก่อนเปิดสมัยประชุม พ.ค.นี้ รับถกปมบัตร 2 ใบเข้มข้น ส.ส.ปชป.หนุน กม.ลูกสูตร MMP คะแนนรวมหารด้วย 500 หาจำนวน ส.ส.พึงมี “หมอระวี” เอาด้วยสูตร MMP เผยสถานการณ์เปลี่ยน  อ้างคุย "บิ๊กป้อม-อนุทิน" บอกแนวโน้มดี แต่ พท.ยันบัตรเลือกตั้ง 2 ใบจะคิดแบบเดิมไม่ได้ต้องหาร 100 "เสี่ยหนู" ซุ่มหารือส.ส.ศรีสะเกษท่ามกลางข่าวสะพัดนักการเมืองเข้าซบ ภท.กว่า 20 คน "อานันท์” ฟันธงรัฐประหารมีแต่ทำให้เลวลง หวั่นจะเกิดวิกฤต แนะรัฐบาลสร้างปรองดองปฏิรูปโครงสร้าง 

เมื่อวันอาทิตย์ นายจักรพันธ์ พรนิมิตร  ส.ส.กทม. ในฐานะหัวหน้าภาค กทม. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่พรรค พปชร.ไม่ได้เป็นประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่...) พ.ศ..... และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่...) พ.ศ..... พิจารณากฎหมายจะเป็นปัญหาหรือไม่ ว่าในคณะกรรมาธิการฯ ยังไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้ มีแต่การกำหนดกรอบการทำงานตามที่ได้รับมอบหมายจากสภา โดยจะทำงานบนหลักการและกฎหมาย เช่น เรื่องของบัตร 2 ใบมีวิธีการคำนวณอย่างไร ก็ต้องเป็นไปตามนั้น และจะเร่งทำให้เสร็จก่อนเปิดสมัยประชุมสภาวันที่ 22 พ.ค.นี้ ดังนั้นไม่ว่าประธานกรรมาธิการฯ จะมาจากพรรคไหน ก็ต้องทำตามนี้ เชื่อว่าไม่มีปัญหา เพราะเวลาทำงานเราทำให้ฐานะกรรมาธิการฯ ไม่มีการแบ่ง

เมื่อถามว่า พรรค พปชร.จะเสนอแปรญัตติในเรื่องใด นายจักรพันธ์กล่าวว่า ต้องรอการหารือจากสมาชิกก่อน โดยรอให้ครบกำหนดเวลาการแปรญัตติ จากนั้นจึงจะมาดูว่ามีเรื่องใดที่ต้องแปรญัตติ ซึ่งตนมองว่าคงจะเป็นเรื่องวิธีหารคำนวณสัดส่วนปาร์ตี้ลิสต์ บางคนบอกว่าต้องหารด้วย 500 หรืออะไรบ้าง เพราะเป็นสิทธิที่แต่ละคนจะเสนอตามกระบวนการปกติ ส่วนจำนวน ส.ส.พึงมี ยังไม่ได้หารือตรงนั้น เราพูดแค่กรอบกว้างคือเรื่องบัตร 2 ใบ

นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โพสต์ข้อความถึงกฎหมายลูกว่า ทางเลือกที่ 1 ถ้าเราหารเฉลี่ยด้วยตัวเลข 500 จากบัตรเลือกตั้ง 37 ล้านใบ โดยใช้สูตรคำนวณแบบจัดสรรปันส่วนผสม หรือ MMP เพื่อหาจำนวน ส.ส.พึงมีของแต่ละพรรค ขณะเดียวกันจำนวน ส.ส.เขตและ ส.ส.บัญชีรายชื่อจะมีความเหมาะสม ซึ่งเป็นการคำนวณแบบเดียวกับการเลือกตั้งปี 62 ผลคือ คะแนนไม่ตกนํ้า ป้องกันเผด็จการรัฐสภา เปิดโอกาสให้พรรคเล็กและพรรคใหม่มีพื้นที่ทางการเมือง เพราะค่าเฉลี่ยประมาณ 7.1 หมื่นคะแนนต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน, ทางเลือกที่ 2 ถ้าเราหารด้วยตัวเลข 100 นั่นคือ 3.7 แสนคะแนนเลือกตั้ง เท่ากับ 1 ส.ส.บัญชีรายชื่อ ผลคือ พื้นที่ทางการเมืองจะถูกครอบงำโดยพรรคใหญ่และเก่าแก่แทบไม่ต่างอะไรจากการเมืองแบบเดิมๆ

นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ในฐานะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และพรรคการเมือง กล่าวว่า ตนและพรรคเล็กต่างไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข  รธน.ที่เปลี่ยนมาใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ซึ่งได้ยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของผู้ตรวจการแผ่นดิน และในชั้น กมธ. ตนจะแปรญัตติให้การคำนวณ ส.ส.ต้องยึดตามเนื้อหาตามรัฐธรรมนูญ ม.93, 94 ที่กำหนดเกี่ยวกับส.ส.พึงมีของแต่ละพรรค ตามเจตนารมณ์ของ รธน. โดยวิธีคำนวณจะให้นับทุกคะแนนจากบัตรเลือกตั้งทั้งแบบ ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แล้วนำมาหารด้วย 500 ตามจำนวน ส.ส.ทั้งสภา แล้วนำคะแนนของพรรคการเมืองแต่ละพรรคมาหารด้วยจำนวนดังกล่าว จะได้ ส.ส.พึงมีของแต่ละพรรค พรรคใดได้ ส.ส.เขตเต็มจำนวนแล้วจะไม่ได้ ส.ส.เพิ่มเติม วิธีการนี้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ รธน.ที่กำหนดไม่ให้คะแนนเลือกตั้งไม่ตกน้ำ  จำนวน ส.ส.พึงมี และแนวทางจัดสรรปั่นส่วนผสม หรือ MMP ซึ่งเป็นธรรมกับทุกพรรคการเมือง

เมื่อถามว่า แต่พรรค พปชร.ก่อนหน้านี้ยืนยันแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เลือกตั้งด้วยบัตร 2 ใบ จะเห็นด้วยกับแนวทางนี้หรือไม่ เพราะวิธีคำนวณนี้จะคล้ายคลึงกับการเลือกตั้งที่ผ่านมาที่ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว นพ.ระวีกล่าวว่า สถานการณ์ของพรรค พปชร.ในปัจจุบันกับตอนที่แก้รัฐธรรมนูญไม่เหมือนเดิมแล้ว และเท่าที่คุยกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ หัวหน้าพรรค พปชร.และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย มีแนวโน้มที่ดีกับแนวทางดังกล่าว

พท.ค้านสูตร MMP

ขณะที่นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชี รายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ปฏิเสธเรื่อง นพ.ระวีระบุถึงนายอนุทินกรณีการแก้ไข พ.ร.ป. 2 ฉบับในประเด็นสูตรการคำนวณ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อแบบปันส่วนผสม โดยยืนยันว่า ตนได้รับการยืนยัน นายอนุทินไม่เคยไปพูดคุยหรือหารือใดๆ กับ นพ.ระวีเลยเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวนั้น เนื่องจากท่านทราบดีว่าเป็นเรื่องอยู่ในชั้นการพิจารณาของ กมธ. จึงควรมอบให้ กมธ.พิจารณา และที่สำคัญคือ ส.ส.ของพรรคภูมิใจไทยได้ลงชื่อเสนอร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่กำลังพิจารณาในขณะนี้ แนวทางของพรรคจึงเป็นไปตามร่างพระราชาบัญญัติที่ได้เสนอไป

ด้านนายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะ กมธ.วิสามัญฯ กล่าวว่า การคำนวณ ส.ส.เขตกับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ต้องแยกกันเด็ดขาด เพราะใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบแล้ว เจตนารมณ์ รธน.ที่เราแก้มาต้องการให้ชัดเจนว่า ส.ส.เขต ประชาชนจะเลือกใคร ใครชนะก็ได้เป็น ส.ส. ใครแพ้ก็ไม่ได้เป็น ส.ส. คะแนนของคนแพ้ก็จบที่ตรงนั้น ขณะที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นความต้องการของประชาชนว่าชอบพรรคการเมืองไหนก็ให้เลือกพรรคนั้น แล้วนำคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อทั่วประเทศของทุกพรรคมารวมกันแล้วหาร 100 ตามจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่เขียนไว้ใน รธน. พรรคไหนได้คะแนนเท่าไหร่ก็ได้ ส.ส.ไปเท่านั้น ทุกอย่างมันชัดเจน และพรรค พท.จะยืนยันในหลักการ ส่วนท่านใดจะคิดอย่างไรก็มีสิทธิคิดได้ แต่จะทำได้หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง คงต้องมาถกกันในชั้น กมธ. และคำว่า ส.ส.พึงมีนั้น เป็นกรณีที่ รธน.ใช้บัตรใบเดียว แต่วันนี้เราได้แก้ รธน.ไปแล้ว จะมายึดวิธีคิดแบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงช่วงหลังดูเหมือนพรรค ภท.เนื้อหอมเป็นพิเศษ มีข่าวคนกำลังจะย้ายมาอีกหลายคน หลังล่าสุดก็เพิ่งมีสามอดีต ส.ส.พปชร.ย้ายเข้าพรรคมาว่า คิดว่าสิ่งที่ทางพรรคพยายามสร้างขึ้นมาให้เป็นแบรนด์ของพรรคภูมิใจไทย หรือให้เวลาที่เอ่ยคำว่าพรรคภูมิใจไทยแล้วประชาชนเขามีคำที่ผุดขึ้นมาในความคิดของเขาว่าเป็นพรรคการเมืองที่ทำได้ในสิ่งที่เคยพูดไว้ ผลักดันทุกอย่างโดยไม่ได้มีความเกรงกลัวต่อแรงกดดันใดๆ และเป็นพรรคการเมืองที่รักษาคำพูด  มีความเป็นปึกแผ่น มีความแน่นแฟ้น ทั้งหมดคือปัจจัยบวกสำหรับพรรคภูมิใจไทยในท่ามกลางการเมืองที่มีความขัดแย้ง แต่พรรคภูมิใจไทยไม่เคยมีเรื่องต่างๆ เหล่านั้น

ภายหลังที่นายอนุทินเป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 47ที่ จ.ศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา จากนั้นนายอนุทินได้เชิญ ส.ส.พรรค ภท. และนักการเมืองที่สนใจมาสังกัด ภท.มาร่วมหารือแนวทางการทำงานการเมืองเพื่อพัฒนา จ.ศรีสะเกษ ประกอบด้วย นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ, นายอาสพลธ์ สรรณ์ไตรภพ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย, นพ.จาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ ส.ส.ศรีสะเกษ, นายธีระ ไตรสรณกุล ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย, นายปวีณ แซ่จึง สามีนางผ่องศรี แซ่จึง ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย และนายวิชิต ไตรสรณกุล นายก อบจ.ศรีสะเกษ บิดาของ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

'อานันท์' หวั่นวิกฤตกว่าเก่า

การหารือครั้งนี้สอดคล้องกับกระแสข่าวที่พรรคภูมิใจไทยระบุว่า มีนักการเมืองทั้งที่เป็น ส.ส.ปัจจุบันและอดีต ส.ส. สนใจสมัครเข้าร่วมงานกับพรรค ภท. มากกว่า 20 คน และมีบุคคลที่มีชื่อเสียงในระดับท้องถิ่นและภูมิภาคหลายจังหวัด ให้ความสนใจ เสนอตัวเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรค ภท.ในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ขณะที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย นำทัพคาราวานสร้างไทย 77 จังหวัด ลงพื้นที่ฝั่งธนบุรี พร้อมด้วยนายสุธา ชันแสง ผู้บริหารพรรค และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส., ส.ก.ฝั่งธนบุรี เพื่อนำเสนอนโยบายสำคัญของพรรค ซึ่งบรรยากาศตลอดเส้นทางขบวนคาราวาน พี่น้องประชาชนให้การตอบรับเป็นอย่างดี โดยนายสุธากล่าวว่า หลังจากได้ลงพื้นที่ฝั่งธนบุรีติดกันกว่า 2 สัปดาห์ พบว่ามีพี่น้องประชาชนต่างชื่นชอบนโยบายบำนาญประชาชนเดือนละ 3,000 บาท เพราะตอบโจทย์พี่น้องประชาชนผู้สูงอายุและคนวัยทำงาน พร้อมกับอยากให้คุณหญิงสุดารัตน์เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อเข้ามาบริหารประเทศแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจไทย

นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ช่องยูทูบสภาที่ 3 ถึงบทเรียน 30 ปี เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ว่า ถ้าดูตามประวัติศาสตร์การเมืองของเมืองไทยแล้ว เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก เปิดตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกตั้งแต่ 2475 มาจนถึงปัจจุบัน และประวัติศาสตร์ไทยมันก็ซ้ำรอยอยู่เรื่อยๆ มีรัฐบาลที่บริหารราชการแผ่นดินไม่ค่อยเป็นไปตามความต้องการหรือความประสงค์ของคนยากจน มีการฉ้อโกง คอร์รัปชันต่างๆ นานา ไม่ได้ทำให้เมืองไทยดีขึ้นเลย การใช้อำนาจรัฐต้องให้เกิดผลประโยชน์กับประชาชนส่วนใหญ่ ให้เกิดการเข้าใจกัน ไม่ใช่ใช้อำนาจเพื่อที่ทำให้เกิดความเกลียดชังกันมากขึ้น หน้าที่ของรัฐบาลก็คือการสร้างความสามัคคีปรองดอง ต้องเป็นการสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน สร้างความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ไม่ดูถูกซึ่งกันและกัน เคารพซึ่งกันและกันทั้งสองฝ่าย ถ้าฝ่ายหนึ่งคิดว่าฉันมีอำนาจคุณต้องฟัง มันก็ปรองดองไม่ได้

"เชื่อว่าในไม่ช้าก็จะเกิดวิกฤตในเมืองไทยขึ้นอีก และทุกครั้งที่เกิดวิกฤตมันจะหนักกว่าวิกฤตเก่า เพราะจากการที่ล้มรัฐบาลยึดอำนาจ เขียนรัฐธรรมนูญใหม่แล้วตัวเองก็มาบริหารราชการแผ่นดิน ทำซ้ำซากมาเป็น 18-19 ครั้งในระยะเวลา 78-79 ปี ผลลัพธ์ที่ได้เห็นทันตาคือความจนของราษฎร มีแต่เลวลงๆ ไม่ต้องพูดถึงระบบการบริหารเลย เพราะเลวลง เรื่องธรรมาภิบาลไม่มีใครสนใจแล้ว ทรัพยากรส่วนใหญ่ไปที่ชั้นบนหมด จึงเกิดความน้อยใจ เกิดความอึดอัดใจ เกิดความเดือดดาลขึ้นมา ก็ทำให้บรรยากาศที่จะปรองดองกันก็ยากขึ้น" นายอานันท์กล่าว

เมื่อถามว่า 30 ปีที่ผ่านมา สรุปแล้วรัฐประหารไม่ใช่คำตอบ แล้วถ้าเกิดความขัดแย้งอีกจะทำอย่างไรที่จะไม่ให้เกิดรัฐประหารอีก อดีตนายกฯ กล่าวพร้อมหัวเราะว่า “อันนี้คงตอบยาก ถ้าไปขอร้องให้ทหารอย่ารัฐประหาร ผมไม่แน่ใจว่าจะสำเร็จหรือไม่ ทั้งนี้ ถ้าปฏิรูปประเทศไทยจะต้องปฏิรูปโครงสร้าง การส่งเสริมให้มีการแข่งขันทางการค้า การไม่มีอำนาจผูกขาด ในการซื้อขาย ซึ่งมีอีกหลายอย่างที่ต้องทำ และต้องโปร่งใสทั้งหมด ต้องเขียนรัฐธรรมนูญที่สะท้อนความเป็นประชาธิปไตยของสังคม.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง