ยอดดับทุบสถิติ คาด‘กรกฎาคม’ สู่โรคประจำถิ่น

ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19ใหม่ 21,881 ราย เสียชีวิตทำสถิติ 59 ราย “ธนกร” บอกบิ๊กตู่ขอบคุณประชาชนที่ไว้วางใจในการแก้ปัญหาโควิด คาด ก.ค.จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น สปสช.ปรับเกณฑ์จ่ายเงินยกล็อกเรื่องรักษาพยาบาล

เมื่อวันที่ 6​ มี.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 21,881 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 3,026,695 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น​ 21,448 ราย ทำให้มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,770,939 ราย อยู่ระหว่างรักษา 232,521 ราย อาการหนัก 1,145 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ​ 366 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 59 ราย เป็นชาย 32 ​ราย หญิง 27​ ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 23, 235 ราย

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดประกอบด้วย กทม. 2,147 ราย, นครศรีธรรมราช 980 ราย, สมุทรปราการ 888 ราย, ชลบุรี 883 ราย​, นครราชสีมา 723 ราย, ปทุมธานี​ 707 ราย,​ นนทบุรี​ 700 ราย, สมุทรสาคร 670 ราย,​ พระนครศรีอยุธยา​ 633 ราย และภูเก็ต 612 ราย 

ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขอบคุณประชาชนที่ให้ความไว้วางใจการทำงานของรัฐบาล ในการบริหารจัดการเพื่อรับมือสถานการณ์โควิด-19 ทุกระยะตั้งแต่เริ่มระบาด แม้ขณะนี้จะพบผู้ติดเชื้อในประเทศเป็นจำนวนมาก แต่สถานการณ์อยู่ในระยะทรงตัวและชะลอการเพิ่มจำนวน กระทรวงสาธารณสุข คาดว่าสถานการณ์การติดเชื้อในประเทศจะดีขึ้นตามลำดับ และเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นในต้นเดือน ก.ค.นี้  

ขณะที่ พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า กรมการแพทย์ได้ทบทวนและปรับแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วย ตามข้อมูลวิชาการในประเทศและต่างประเทศ เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. โดยกำหนดให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 เมื่อตรวจ ATK กรณีมีผลบวกให้ประเมินอาการและความเสี่ยง หากไม่มี ให้เข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยนอกหรือลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ Home Isolation (HI) และแยกกักตัวที่บ้านได้ ซึ่งกรณีรับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก ระบบจะโทร.ติดตามอาการเมื่อครบ 48 ชั่วโมง หากมีอาการที่แย่ลงก็จะส่งต่อรักษาในโรงพยาบาล ส่วนกรณีผู้มีอาการและมีความเสี่ยง รวมถึงที่บ้านไม่มีความพร้อมในการแยกกักตัว จะเข้าสู่การดูแลในระบบ Hotel Isolation, Hospitel แล Community Isolation โดยไม่ต้องทำการตรวจ RT-PCR ซึ่งการตรวจ RT-PCR จะทำการตรวจเฉพาะกรณีที่ต้องเข้ารักษา หรือส่งต่อรักษาที่ รพ.

“การให้ยารักษานั้นกรณีผู้ป่วยไม่มีอาการหรือสบายดี จะไม่ให้ยาต้านไวรัส เช่น ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นต้น โดยแพทย์จะรักษาตามอาการ ให้ยาฟ้าทะลายโจร ขึ้นอยู่ตามดุลยพินิจของแพทย์ ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการ แพทย์จะพิจารณาให้ยาฟาวิพิราเวียร์ โดยเริ่มให้ยาเร็วที่สุด แต่หากมีอาการมาแล้วเกิน 5 วัน โดยผู้ป่วยไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อยอาจไม่จำเป็นต้องให้ยา เพราะจากข้อมูลการรักษาพบว่าเชื้อโอมิครอน 80% ผู้ป่วยจะหายเองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน” พญ.นฤมลระบุ

ด้าน พญ.กฤติยา ศรีประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามที่กรมการแพทย์ได้ปรับแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19  สปสช.จึงปรับหลักเกณฑ์การจ่ายค่าบริการเพื่อรองรับการให้บริการของหน่วยบริการ เริ่ม ณ วันที่ 1 มี.ค. ซึ่งรายการบริการต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงมีดังนี้ 1.บริการคัดกรองโควิด-19 โดยการตรวจแบบ RT-PCR ประเภท 2 ยีน อัตรา 900 บาท/ครั้ง และประเภท 3 ยีน อัตรา 1,100 บาท/ครั้ง การตรวจแบบ Antigen Professional ทั้งวิธี Chormatography อัตรา 250 บาท/ครั้ง และวิธี FIA อัตรา 350 บาท/ครั้ง 2.การสนับสนุนชุดตรวจการติดเชื้อโควิด-19 แบบ ATK สำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยง ในอัตรา 55 บาท/ชุด โดยจ่ายให้กับหน่วยบริการ ซึ่งประชาชนสามารถรับชุดตรวจครั้งละไม่เกิน 2 ชุด/ครั้ง โดยตรวจเว้นระยะห่างอย่างน้อย 5 วัน 3.บริการดูแลรักษาโรคโควิด-19 ที่เป็นการรักษาแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้าน  (OP self Isolation)  เฉพาะผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเท่านั้น ซึ่งแยกจ่ายชดเชยเป็น 2 ส่วน คือ 1.ค่าบริการดูแลรักษาที่เป็นจ่ายแบบเหมาจ่าย 1,000 บาท/ราย และ 2.ค่าบริการสำหรับการให้คำปรึกษาหรือการดูแลรักษาเบื้องต้นหลังครบ 48 ชั่วโมงไปแล้ว เหมาจ่ายอัตรา 300 บาท/ราย

“กรณีการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียว กำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเช่นเดียวกับ Home Isolation และ Community Isolation (HI/CI) แบบเหมาจ่าย ทั้งกรณีรักษาในโรงพยาบาลที่เป็นหน่วยบริการในระบบ และกรณีเข้ารักษาในระบบ UCEP COVID ในหน่วยบริการนอกระบบ รวมถึงการรักษานอกโรงพยาบาล ซึ่งการจ่ายชดเชยกรณีการให้บริการรักษาตั้งแต่ 1-6 วัน จะอยู่ที่อัตรา 4,000 บาท หากมีบริการอาหารเพิ่มเป็น 6,000 บาท และบริการรักษา 7 วันขึ้นไป อยู่ที่ 8,000 บาท หากมีบริการอาหารเพิ่มเป็น 12,000 บาท”

ส่วนบริการผู้ป่วยนอกที่ไม่เข้าเกณฑ์ OP self Isolation จะครอบคลุมบริการตรวจแล็บและค่าเก็บตัวอย่าง จ่ายตามจริงไม่เกิน 7,200 บาท/ราย และค่ารถส่งต่อผู้ป่วย รวมค่าชุด PPE และยาฆ่าเชื้อจ่ายตามจริงตามระยะทางไม่เกิน 1,400 บาท/ครั้ง บริการผู้ป่วยใน กำหนดจ่ายตามระบบ DRG และจ่ายเพิ่มเติมทั้งในส่วนค่าตรวจแล็บ ค่ายารักษาเฉพาะผู้ป่วยโควิดไม่เกิน 7,200 บาท/ราย ค่าห้องดูแลรวมค่าอาหาร ตั้งแต่เตียงระดับ 1-3 ในอัตราตั้งแต่ 1,000-7,500 บาท ค่าชุด PPE อัตรา 550 บาท/ชุด และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับกระบวนการและอุปกรณ์ในการป้องกันเชื้อ 300-11,000 บาท/วัน และค่ารถส่งต่อผู้ป่วย รวมค่าชุด PPE และยาฆ่าเชื้อจ่ายตามจริงตามระยะทางไม่เกิน 1,400 บาท/ครั้ง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตั้งรัฐบาลอุ๊งอิ๊ง จบใน ‘15กันยา’

"ภูมิธรรม" เผย "ป.ป.ช." ส่งผลตรวจคุณสมบัติว่าที่รัฐมนตรีแล้ว รอ "สลค.-กฤษฎีกา" ตรวจซ้ำ เพราะไม่รู้ใครเสี่ยงมีคดีกี่คน พยายามให้เสร็จใน 1

ชี้เป้าโกงเลือกตั้ง กกต.แจก ‘1ล้าน'

"ประธาน กกต." ย้ำนายจ้าง-ผู้บังคับบัญชา ต้องอนุญาตให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกไปใช้สิทธิเลือกนายก อบจ.ราชบุรี ตามกฎหมาย เผยได้รับเบาะแสเรื่องการซื้อสิทธิขายเสียง

‘อ้วน’ ปลุกผีเขื่อนเสือเต้น

รัฐบาลจุดพลุสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น "ภูมิธรรม" อ้างประชาชนประสบภัยพิบัติทุกข์ร้อน ต้องจมอยู่กับน้ำขังน้ำหลากมาเป็นเวลานาน เผยมีการประสานงานกับเวิลด์แบงก์ศึกษาผลกระทบ