ไทยพบติดเชื้ออีก 2.2 หมื่น ตาย 52 ราย รัฐบาลเผยวิจัยวัคซีนโควิดสัญชาติไทยกว่า 20 ชนิด ทดสอบในคนแล้ว 4 ส่วนแบบพ่นจมูกพร้อมทดสอบในคนไตรมาส 2 ของปีนี้ ขณะที่โฆษก สธ. เปิดผลประเมินตามตามหลัก WHO ไทยรับมือสถานการณ์โควิดอยู่ในระดับดีมาก เตรียมปรับเป็นโรคประจำถิ่น
เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2565 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 22,818 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 22,566 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 22,403 ราย, มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 163 ราย, มาจากเรือนจำ 115 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 137 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 18,462 ราย อยู่ระหว่างรักษา 232,147 ราย อาการหนัก 1,124 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 355 ราย
เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 52 ราย เป็นชาย 33 ราย หญิง 19 ราย อายุ 60 ปีขึ้นไป 40 ราย มีโรคเรื้อรัง 8 ราย ไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 4 ราย ขณะนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 3,004,814 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,749,491 ราย มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 23,176 ราย
สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ กทม. 2,809 ราย, ชลบุรี 1,126 ราย, นครศรีธรรมราช 1,067 ราย, สมุทรปราการ 891 ราย, สมุทรสาคร 670 ราย, ระยอง 669 ราย, นครปฐม 667 ราย, ภูเก็ต 658 ราย, พระนครศรีอยุธยา 656 ราย และนนทบุรี 654 ราย
ส่วนยอดฉีดวัคซีนวันที่ 4 มี.ค. 253,688 โดส ยอดฉีดสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.64 จำนวน 124,649,712 โดส ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 444,029,251 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 6,009,837 ราย
นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ความรุนแรงของโรคโควิด-19 ทั่วโลกและไทยมีทิศทางลดลง สธ.จึงวางแผนการบริหารจัดการเพื่อเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น ล่าสุด ทีมวิจัยของ สธ.ร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประเมินผลการรับมือสถานการณ์โควิด-19 โดยลงพื้นที่จริงทั้งในระดับประเทศและพื้นที่ จำนวน 8 พื้นที่หลัก และ 44 พื้นที่ย่อย เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย การเตรียมความพร้อมและมาตรการสำคัญในการรับมือสถานการณ์ในระยะถัดไปจนเข้าสู่การยุติการระบาด
โดยประเมินตามสมรรถนะหลักขององค์การอนามัยโลก (WHO) และถอดบทเรียน ทบทวนหลังปฏิบัติงาน พบว่า 1.ประเทศไทยและ สธ.มีสมรรถนะและการรับมือสถานการณ์อยู่ในระดับดีมาก ใน 7 องค์ประกอบหลัก เช่น ภาวะผู้นำ การบริหารจัดการ กำลังคน ยา เวชภัณฑ์ วัคซีน ระบบบริการ การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ
2.ขณะนี้สถานการณ์ส่วนใหญ่ทั่วโลกและไทย อยู่ในระยะปรับตัวเข้าสู่การยุติการระบาดใหญ่ (Pandemic Ending) เป็น "โรคประจำถิ่น" (Endemic) จากปัจจัยของเชื้อที่ลดความรุนแรงลงมาก สถานการณ์อยู่ในระยะทรงตัวและชะลอการเพิ่มจำนวน คาดว่าจะดีขึ้นตามลำดับและเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นในต้น ก.ค.2565 ซึ่งปัจจัยสำคัญในการยุติการระบาดใหญ่คือ ระดับภูมิคุ้มกันโควิด-19 ของประชาชน ต้องขอความร่วมมือรับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยอาการรุนแรงและเสียชีวิตลงให้มากที่สุด โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ซึ่งเข็มกระตุ้นจะลดโอกาสเสียชีวิตลงถึง 41 เท่า รวมถึงยังต้องเข้มมาตรการป้องกันการติดเชื้อ เพื่อลดและชะลอจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ซึ่งจะช่วยลดโรคทางเดินหายใจอื่นๆ ด้วย เช่น วัณโรค ไข้หวัดใหญ่
เตรียมปรับเป็นโรคประจำถิ่น
3.ระบบบริการการแพทย์และสาธารณสุข เช่น ระบบป้องกันควบคุมโรค บุคลากร ยา เวชภัณฑ์ และจำนวนเตียงมีความพร้อมรับสถานการณ์ แต่ต้องปรับการดูแลรักษาในลักษณะเดียวกับโรคติดต่อทั่วไป เช่น ไข้หวัดใหญ่ โดยผู้ที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อยรักษาตัวแบบผู้ป่วยนอก ดูแลตนเองที่บ้าน และรับเป็นผู้ป่วยในกรณีเสี่ยงหรืออาการรุนแรง ส่วนการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค จะเน้นสอบสวนควบคุมการระบาดที่เป็นกลุ่มก้อน เฝ้าระวังการกลายพันธุ์และเพิ่มความรุนแรง และพิจารณาให้วัคซีนระยะถัดไปเป็นการให้วัคซีนประจำปีในกลุ่มเสี่ยงคล้ายวัคซีนไข้หวัดใหญ่ นอกจากนี้ ต้องเร่งพัฒนาระบบสาธารณสุขในเขตเมืองขนาดใหญ่ เช่น กทม.
4.ระบบเวชภัณฑ์ ยา วัคซีน สามารถบริหารจัดการได้ดี มีจำนวนเพียงพอ นโยบายรัฐบาลมีความต่อเนื่องในการพัฒนาความมั่นคงด้านสุขภาพ โดยส่งเสริมสนับสนุนการผลิตภายในประเทศ เพื่อพร้อมรับมือวิกฤตด้านสุขภาพและโรคติดต่ออุบัติใหม่อื่นในอนาคต และ 5.ต้องเร่งพัฒนาระบบการสื่อสารสร้างความเข้าใจที่ทันสมัยและเชิงรุก ทั้งสื่อสังคมออนไลน์และสื่ออื่นให้เข้าถึงคนทุกกลุ่ม บริหารจัดการข่าวปลอมอย่างมีประสิทธิภาพ เตรียมความพร้อมเข้าสู่ “โรคประจำถิ่น” โดยสร้างความรู้ ความเข้าใจ การปรับตัว ทั้งในภาคประชาชน สังคม วัฒนธรรม การใช้ชีวิตรูปแบบวิถีใหม่ มาตรการทางสังคมที่ดีและเหมาะสม เช่น การป้องกันตนเองและผู้อื่น ความรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อไม่ให้เกิดการระบาดหรือการแพร่เชื้อ เป็นต้น
“หากเทียบเคียงกับการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ 2019 เมื่อปี 2552 ขณะนี้เป็นการเข้าสู่การยุติการระบาดใหญ่และปรับตัวไปเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งวิกฤตโรคโควิด-19 ครั้งนี้จะสิ้นสุดลงได้ด้วยความร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้งการบริหารจัดการและมาตรการในระดับชาติและพื้นที่ ความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน ที่สำคัญคือการสร้างความรู้ความเข้าใจและความร่วมมือจากประชาชน” นพ.รุ่งเรืองกล่าว
ด้าน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความก้าวหน้าในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย ขณะนี้มีวัคซีนอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาจำนวนกว่า 20 ชนิด โดยวัคซีนที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด จำนวน 4 ชนิด ได้แก่ วัคซีน Chula-Cov19, วัคซีน HXP-GPOVac, วัคซีน Baiya SARS-CoV-2 Vax และวัคซีน Covigen ซึ่งอยู่ในขั้นการทดสอบในมนุษย์ และหากทดสอบครบสามระยะ ก็จะสามารถยื่นขอขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยา (อย.) ได้
แบบพ่นวางตลาดไตรมาส 4
สำหรับวัคซีนตัวอื่นๆ มีความก้าวหน้าอยู่ในระดับทดสอบในสัตว์ทดลอง และมีหลายประเภท ทั้งชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Viral Vector) ชนิดโปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อ (Protein Subunit) ชนิดสารพันธุกรรม (mRNA) ชนิดอนุภาคไวรัสเสมือน (Virus-like particle: VLP) เป็นต้น ซึ่งความก้าวหน้าของการพัฒนาวัคซีนต่างๆ มาจากความร่วมมืออย่างเต็มที่ของหลายภาคส่วน ทั้งหน่วยงานรัฐ อาทิ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ องค์การเภสัชกรรม สวทช. โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สถาบันอุดมศึกษา เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล และภาคเอกชน เป็นต้น
รองโฆษกรัฐบาลกล่าวว่า การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 แบบพ่นจมูก ซึ่งแนวโน้มจะมีการใช้เพิ่มขึ้น ข้อดีคือใช้งานง่าย เป็นวัคซีนที่พ่นละอองฝอยในโพรงจมูกผ่านเข็มฉีดพ่นยาชนิดพิเศษที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อส่งวัคซีนไปเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในเยื่อเมือกของระบบทางเดินหายใจส่วนบนโดยตรง ซึ่งไวรัสส่วนใหญ่มักจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางจมูกและก่อตัวขึ้นในโพรงจมูกก่อนที่จะแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย รวมถึงปอด ซึ่งขณะนี้ทีมนักวิจัยไบโอเทค ได้พัฒนาวัคซีนพ่นจมูก “NASTVAC” ที่ผ่านการทดลองในสัตว์แล้ว คาดว่าจะสามารถผลิตตัวอย่างวัคซีนประมาณ 200-300 โดส เพื่อใช้สำหรับการทดสอบในมนุษย์ได้ในไตรมาสสองปีนี้
น.ส.รัชดากล่าวว่า มากไปกว่านั้น ยังมีสเปรย์แอนติบอดีพ่นจมูกที่มีคุณสมบัติยับยั้งเชื้อโควิด-19 ซึ่งได้รับการพัฒนาจากความร่วมมือ 5 ภาคีเครือข่ายรัฐและเอกชน ประกอบด้วยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) องค์การเภสัชกรรม และบริษัท ไฮไบโอไซฯ ซึ่งสเปรย์แอนติบอดีได้ผ่านการทดสอบเบื้องต้นในสัตว์ทดลอง มีผลเป็นที่น่าพอใจ คาดว่าจะสามารถยื่นขอขึ้นทะเบียนต่อ อย. ประมาณเดือนมิถุนายน และจะผลิตออกสู่ตลาดประมาณไตรมาส 3 ของปีนี้เช่นกัน
“นายกรัฐมนตรีชื่นชมผลงานและความทุ่มเทของนักวิจัยไทย รวมถึงความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่ทำให้ความก้าวหน้าในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19ภายในประเทศอยู่ในระดับแนวหน้าของภูมิภาค เป็นการใช้องค์ความรู้ที่สั่งสมมาจากงานวิจัยและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยทัดเทียมกับนานาชาติ ในส่วนของรัฐบาล ได้จัดสรรทุนสนับสนุนการวิจัยผ่านสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ซึ่งมีเป้าหมายให้การพัฒนาวัคซีนนำไปสู่การสร้างวัคซีนที่มีคุณภาพสำหรับคนไทย ช่วยเสริมความมั่นคงทางสาธารณสุขให้กับประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคต” น.ส.รัชดากล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไทยติดโควิดใหม่รอบสัปดาห์ 549 ราย ดับเพิ่ม 1 คน
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2567
โควิดกลับมาระบาดใหม่ ‘หมอมนูญ’ ขออย่าตื่นตระหนก รักษาตามอาการหายได้
เวลาผ่านไปโรคโควิดลดความรุนแรงลง โรคโควิดไม่น่ากลัวหมือนเมื่อ 3-4 ปีก่อน คนไทยไม่ต้องตื่นตระหนกตกใจกลัวโรคโควิดมากเกินไป
สายการบิน 'ลุฟท์ฮันซา' ต้องจ่ายค่าปรับกรณีเลือกปฏิบัติต่อผู้โดยสารชาวยิว
สายการบินลุฟท์ฮันซาต้องจ่ายค่าปรับจำนวน 4 ล้านดอลลาร์ในสหรัฐอเมริกา เหตุเพราะในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดขอ
ไทยติดโควิดรอบสัปดาห์ 353 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 6 - 12 ตุลาคม 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่