จบ!คุก‘วัฒนา’99ปี อุทธรณ์ฎีกายืน/สั่งชดใช้89ล้านบาทภายใน30วัน

ไม่พลิก! ศาลฎีกาอ่านคำวินิจฉัยอุทธรณ์ยืนตามเดิม จำคุกวัฒนา 99 ปี แต่ให้จำคุกจริง 50 ปี พร้อมให้ชดใช้ทรัพย์ 89 ล้านบาทให้เสร็จใน 30 วัน ระบุชัด รมว.พม.เป็นเจ้าพนักงานรัฐ ปล่อยปละให้ “เสี่ยเปี๋ยง” ตบทรัพย์ผู้ประกอบการ ทนายเผยเจ้าตัวยอมรับคำตัดสินแต่ไม่ยอมรับว่ากระทำผิด ยังกั๊กขออภัยโทษ

เมื่อวันศุกร์ที่ 4 มีนาคม ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้นัดหมายอ่านคำพิพากษาอุทธรณ์คดีหมายเลขดำ อม.อธ. 1/2565 ที่อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายวัฒนา เมืองสุข อายุ 65 ปี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และพวกรวม 14 ราย เป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 และตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 6 และ 11 หรือคดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ (กคช.)

โดยนายวัฒนาได้เดินทางมารับฟังคำพิพากษาก่อนเวลา 14.00 น. โดยยังยืนยันในความบริสุทธิ์และมั่นใจว่าพยานหลักฐานที่นำมาให้ศาลก่อนหน้านี้ตอบคำถามได้ โดยระบุว่า สู้มา 15 ปีแล้ว เมื่อคืนนอนหลับปกติ แต่เตรียมใจไว้ทั้ง 2 ด้าน ถ้าคำพิพากษาออกมาตามครรลองก็ยอมรับก็จบ แต่ถ้าไม่ออกมาตามครรลองที่ถูกต้อง จะสู้ต่อในฐานะพสกนิกรก็มีช่องทางของตนเอง เพราะการเป็นผู้ต้องหาหรือนักโทษ ไม่ได้ห้ามใช้สิทธิ์ในศาลสู้กันจนสุดทุกทางจนหมดช่องทางสู้ แต่ถ้าเป็น covid ตายก็ช่วยไม่ได้

“มั่นใจว่าคดีนี้เป็นเรื่องการเมืองล้านเปอร์เซ็นต์” นายวัฒนากล่าวก่อนรับฟังคำพิพากษา

เมื่อถึงเวลานัดหมาย องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ได้อ่านคำพิพากษา โดยระบุว่า พิจารณาพยานหลักฐานที่ศาลฎีกาฯ ประกอบการแถลงปิดคดีด้วยวาจาของนายวัฒนาแล้วเห็นว่าคดีนี้โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยมีประเด็นต้องวินิจฉัยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และมีการตั้งคณะทำงานร่วมกับผู้แทนของ อสส.พิจารณาหลักฐานจนครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว จึงส่งให้ อสส.พิจารณาฟ้องโดยชอบตามกฎหมาย

ประเด็นวินิจฉัยต่อมาที่จำเลยที่ 1 อ้างว่างไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 จึงไม่มีอำนาจพิจารณาโครงการของ กคช.นั้น เห็นว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นรัฐมนตรี กำกับดูแลหน่วยงานในสังกัด พม. และตาม พ.ร.บ.การเคหะแห่งชาติ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจกำกับดูแลหรือยับยั้งการกระทำใดที่อาจทำให้เกิดความเสียหาย จำเลยที่ 1 จึงเป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจดูแล กคช.ตามกฎหมาย

ส่วนประเด็นต้องวินิจฉัยจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจ หรือจูงใจ เพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหาให้มาซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 หรือไม่ คดีนี้ คตส.ได้เรียกผู้ประกอบการมาให้การ โดยแจ้งว่าหากให้ความร่วมมือจะกันไว้เป็นพยาน ซึ่งผู้ประกอบการ 8 รายยอมรับว่าได้รับการติดต่อจากตัวแทนจำเลยที่ 1 อ้างว่าหากอยากได้งานต้องจ่ายค่าตอบแทน ซึ่งจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่าพยานเหล่านี้ คตส.ใช้วิธีการข่มขู่ จูงใจ หรือให้คำมั่นสัญญาว่าหากให้การเป็นประโยชน์จะกันไว้เป็นพยาน พยานจึงไม่อาจรับฟังได้ตามกฎหมาย เห็นว่าการสอบสวนเป็นวิธีการของเจ้าพนักงานในการแสวงหาหลักฐาน โดยไม่ปรากฏว่ามีการจูงใจหรือชี้นำพยานว่าต้องให้การไปในทางใด พยานให้การเป็นอิสระ จึงสามารถรับฟังพยานเหล่านี้ได้

คดีนี้จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่าไม่ได้แต่งตั้งนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง นักธุรกิจค้าข้าวรายใหญ่จำเลยที่ 4 เป็นที่ปรึกษา แต่จำเลยที่ 4 แอบอ้างและทำเองตามลำพัง เห็นว่าจำเลยที่ 4 มาพบจำเลยที่ 1 หลายครั้ง อีกทั้งยังไปแนะนำตัวกับจำเลยอื่นและผู้ประกอบการว่าเป็นที่ปรึกษาจำเลยที่ 1 ประกอบกับพยานที่เป็นเจ้าหน้าที่ กคช.เข้าเบิกความ และมีพยานเบิกความว่าได้ส่งเอกสารเชิญประชุมระบุชื่อจำเลยที่ 4 เป็นที่ปรึกษา แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้แต่งตั้งจำเลยที่ 4 อย่างเป็นทางการ แต่เป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่าจำเลยที่ 4 กระทำในฐานะที่ปรึกษาจำเลยที่ 1 โดยมีจำเลยที่ 5 เป็นเลขานุการ จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 4 เป็นที่ปรึกษาของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 5 เป็นเลขานุการอย่างไม่เป็นทางการ

ต่อมาจำเลยที่ 1 สั่งการให้การเคหะฯ ออกประกาศฉบับใหม่ หากผู้ประกอบการรายใดไม่ได้รับการอนุมัติโครงการให้ผู้ประกอบการยื่นแบบโครงการ พร้อมแนบหลักประกัน 5% ของโครงการ โดยจำเลยที่ 1 ยังเคยเรียกประชุมผู้ประกอบการแจ้งว่ามีค่าดำเนินการยูนิตละ 1 หมื่นบาท หากผู้ประกอบการรายใดพร้อมจะได้รับอนุมัติโครงการ ซึ่งมีพยานโจทก์หลายรายให้การสอดคล้องกันว่า หากอยากได้งานให้ติดต่อจำเลยที่ 4 โดยมีจำเลยที่ 5 เป็นผู้ประสานงาน พยานจึงยอมจ่ายค่าตอบแทน โดยลดราคาเหลือ 9,000 บาทต่อยูนิต พยานจึงนำเช็คจำนวน 46 ล้านบาทไปให้ และได้รับอนุมัติโครงการสร้างบ้านเอื้ออาทร จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 4 อาศัยประกาศฉบับใหม่เรียกรับเงินจากผู้ประกอบการจริง และเชื่อว่าจำเลยที่ 1 รู้เห็นเป็นใจด้วย จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ร่วมข่มขืนใจ หรือจูงใจ เพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหาให้มาซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น

ประเด็นการริบทรัพย์สินนั้น เห็นว่า เมื่อเงินที่จําเลยที่ 1 กับพวกได้ทรัพย์สินมาโดยการกระทําความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 ซึ่งขณะนั้น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 42 และ 43 ยังไม่มีผลใช้บังคับ และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. 2542 ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการริบทรัพย์สิน จึงต้องนําประมวลกฎหมายอาญาใช้บังคับแทน แม้โจทก์ไม่ได้อ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (2) แต่เมื่อโจทก์มีคําขอให้ริบเงินแล้ว ศาลจึงมีอํานาจริบเงินได้ ทั้งต้องปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องและเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี อันมีผลถึงจําเลยอื่นที่ไม่ได้อุทธรณ์ด้วย โดยประเด็นการริบเงิน 89 ล้านบาทตามอุทธรณ์โจทก์นั้น เห็นว่าการจ่ายเงินจำนวน 89 ล้านบาทให้จำเลยที่ 7 เป็นการจ่ายเงินเพื่อตอบแทนข้อตกลงในการผลักดันโครงการบ้านเอื้ออาทรของบริษัท ช. โครงการอื่นนอกจากโครงการบ้านเอื้ออาทร ส. เงินจำนวน 89 ล้านบาท จึงเป็นเงินที่สัมพันธ์กับเงินสินบนที่ใช้ในการอำนวยความสะดวกให้กับโครงการบ้านเอื้ออาทรอื่นของบริษัท ช. เงินดังกล่าวจึงเป็นเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดที่ศาลมีอำนาจริบได้

พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ปรับบทตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 42, 43 แต่ให้ปรับบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (2) ริบเงิน 89 ล้านบาทด้วย โดยให้จำเลยผู้มีหน้าที่ต้องส่งเงิน 89 ล้านบาทที่ริบชำระเป็นเงินแทนตามมูลค่าของเงินที่ศาลสั่งริบภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันอ่านคำพิพากษานี้ หากจำเลยที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 8 และที่ 10 ไม่ชำระเงินภายในระยะเวลากำหนด ต้องชำระดอกเบี้ยอัตรา 7.5% ต่อปีของต้นเงินแต่ละจำนวนนับแต่วันที่ 24 ก.ย.2563 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เม.ย.2565 และอัตรา 5% ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เม.ย.2564 เป็นต้นไปกว่าจะชำระเสร็จ แต่อัตราดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 11 เม.ย.2564 หากกระทรวงการคลังออกพระราชกฤษฎีกาปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยให้ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยไปตามนั้น ทั้งนี้ ต้องไม่เกินอัตรา 7.5% ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ โดยให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 8 ร่วมกันชำระเงินแทนตามมูลค่าเพิ่มขึ้นอีกคนละ 89 ล้านบาท จากคำพิพากษาศาลฎีกาฯ กำหนดไว้ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลฎีกาฯโดยให้ออกหมายจำคุกถึงที่สุดจำเลยที่ 1 และออกหมายจับ น.ส.กรองทอง วงศ์แก้ว จำเลยที่ 6, น.ส.รุ่งเรือง ขุนปัญญา จำเลยที่ 7 และนายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง จำเลยที่ 10 มาฟังคำพิพากษาวันที่ 27 เม.ย.นี้ เวลา 14.00 น. โดยศาลใช้เวลาอ่านคำพิพากษา 2 ชั่วโมง ภายหลังเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้คุมตัวนายวัฒนาไปเรือนจำ

ทั้งนี้ คำพิพากษาศาลฎีกาฯ เมื่อวันที่ 24 ก.ย.2563 นั้น ได้พิพากษาว่านายวัฒนามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 รวมความผิด 11 กระทง กระทงละ 9 ปี รวม 99 ปี โดยคงจำคุกจริง 50 ปี และให้ร่วมกับจำเลยอื่นๆ ชดใช้เงินจำนวน 89 ล้านบาท

ด้านนายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ในฐานะทนายความของนายวัฒนาภายหลังว่า นายวัฒนายอมรับคำพิพากษา เพราะเป็นกติกาของกระบวนการยุติธรรม เเต่การยอมรับไม่ได้หมายความว่ายอมรับว่าได้กระทำผิด ซึ่งนายวัฒนาฝากว่าการที่ได้ต่อสู้คดีมาตั้งเเต่ปี 2549 จนถึงวันนี้เป็นการเเสดงเจตนาให้เห็นว่าตนเองบริสุทธิ์

เมื่อถามว่าเรื่องนี้มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวหรือไม่ นายนรินท์พงศ์กล่าวว่า นายวัฒนาเป็นอดีตรัฐมนตรี เป็นนักการเมือง ตนเองเป็นทนายความ คงเเยกเเยะไม่ได้ว่าศาลฎีกาชุดนี้ลงโทษนายวัฒนาเกี่ยวกับการเมืองหรือไม่ ก้าวล่วงไม่ได้ เเต่เชื่อว่าการตัดสินบนพยานหลักฐานวันนี้ คำพิพากษาที่ออกมาโดยละเอียดประชาชนที่ได้รับทราบควรไปใช้วิจารณญาณว่าการตัดสินลงโทษวันนี้เป็นเรื่องการเมืองหรือไม่อย่างไร

 “ต้องยอมรับว่านายวัฒนาเป็นมนุษย์ประหลาด มีจิตใจที่เข้มเเข็ง ไม่กระทบกระเทือนเเละไม่พูดจาก้าวล่วงต่อศาล เเต่ขอให้นายวัฒนาได้ตั้งหลักนิดหนึ่ง วันนี้ก็มียาลดความดัน ยาโรคหัวใจ เเละโรคเกี่ยวกับตับ หลังจากนี้ก็จะประสานความเป็นอยู่ของการรับการรักษาพยาบาลตามกระบวนการของราชทัณฑ์ ในกรณีผู้ต้องขังสูงอายุ ส่วนเรื่องจะมีการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษหรือไม่นั้นค่อยพิจารณาต่อจากนี้ หลังจากนี้ก็ต้องเข้าไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยต้องกักตัวตามมาตรการโควิด-19 จำนวน 21 วัน” นายนรินท์พงศ์ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง