หวั่นสงกรานต์ ติดทะลุ‘5หมื่น’ พ.ค.ยอดดับพีก

ไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 13,834 ราย แต่ยอดเสียชีวิตทะลุไป 54 คน ยอดติดโควิดสะสม 3 ล้านราย “สธ.” ยอมรับฉากทัศน์ผู้ติดเชื้อไทยเกินเส้นเขียวแล้ว หวั่นหลังสงกรานต์ทะลุ 5 หมื่นราย คุมไม่ดีอาจถึงแสน ซ้ำร้ายผู้ป่วยรุนแรงจะพุ่งพรวดช่วงต้น พ.ค.

เมื่อวันศุกร์ที่ 4 มี.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า  พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 23,834 ราย โดยเป็นการติดเชื้อในประเทศ 23,603 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 23,267 ราย, มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 336 ราย, มาจากเรือนจำ 85 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 146 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 19,351 ราย อยู่ระหว่างรักษา 227,843 ราย อาการหนัก 1,115 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 337 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 54 ราย เป็นชาย 30 ราย หญิง 24 ราย อายุ 60 ปีขึ้นไป 43 ราย มีโรคเรื้อรัง 8 ราย ไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 3 ราย

 ขณะนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,981,996 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,731,029 ราย มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 23,124 ราย ส่วนยอดฉีดวัคซีนวันที่ 3 มี.ค.2565 มีจำนวน  208,670 โดส ยอดฉีดสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.2564 จำนวน 124,396,024 โดส ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 442,331,939 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 6,001,494 ราย 

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ กทม. 2,580 ราย, ชลบุรี 1,320 ราย, นครศรีธรรมราช 1,124 ราย, สมุทรปราการ 953 ราย, นครราชสีมา 814 ราย, ปทุมธานี 689 ราย, สมุทรสาคร 686 ราย, นครปฐม 684 ราย, ระยอง 649 ราย และภูเก็ต 623 ราย

ขณะที่ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-3 มี.ค. สถานการณ์โควิด-19 ของไทยเป็นสายพันธุ์โอมิครอนเกือบทั้งหมด และแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ โดยล่าสุดอยู่ที่ 21,966 ราย ซึ่งแม้สายพันธุ์โอมิครอนมีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตา แต่ผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีผู้ป่วยอาการรุนแรงที่ต้องรักษาใน รพ.เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดย 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยปอดอักเสบเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า และใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า ขณะที่ผู้เสียชีวิตก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน แม้อัตราป่วยหนักและเสียชีวิตจะน้อยกว่าปีที่แล้วที่พบสายพันธุ์เดลตา แต่ยังมีผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยงที่ไม่ได้รับวัคซีนจำนวนหนึ่ง ทำให้มีการเพิ่มของผู้เสียชีวิต

นพ.โสภณกล่าวว่า สถานการณ์ติดเชื้อรายใหม่อยู่ในระดับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเส้นคาดการณ์สีเขียวน่าจะไม่เป็นจริงแล้ว ถ้าดูจากอัตราการเพิ่มของผู้ติดเชื้อในประเทศไทย มีโอกาสเป็นเส้นสีเหลืองหรือแดง โดยเส้นสีเหลืองผู้ติดเชื้อน่าจะเพิ่มสูงสุดประมาณกว่า 5 หมื่นรายต่อวันในช่วงหลังสงกรานต์ คือวันที่ 19 เม.ย.2565 และหากไม่คงมาตรการที่เข้มงวด เช่น การสวมหน้ากาก ป้องกันตนเองเข้มงวด และไม่ลดพฤติกรรมเสี่ยง ก็อาจมีโอกาสมีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า 5 หมื่นรายต่อวันขึ้นไป 2 เท่า

“จากประสบการณ์ของประชาชน เราสามารถร่วมมือร่วมใจได้ด้วยการยกระดับมาตรการป้องกันแพร่เชื้อ จะทำให้สถานการณ์จริงอยู่ในเส้นคาดการณ์สีเหลืองหรือไม่เกินเส้นสีแดง โดยช่วง พ.ค.-มิ.ย. น่าจะเป็นขาลงของการระบาดของโอมิครอนในไทย”

นพ.โสภณกล่าวอีกว่า สถานการณ์ผู้ป่วยปอดอักเสบใส่ท่อช่วยหายใจ ขณะนี้ถือว่าน่าเป็นห่วงจริง เนื่องจากขยับเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจขึ้นไปเป็นฉากทัศน์ที่คาดการณ์ไว้สูงสุดในเส้นสีแดงได้ ดังนั้น มาตรการป้องกันการติดเชื้อ การรักษาที่รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ การฉีดวัคซีนป้องกันอาการรุนแรง จะเป็นสิ่งสำคัญช่วยให้อัตราเพิ่มของผู้ป่วยปอดอักเสบใส่ท่อช่วยหายใจไม่มากเกินกว่าศักยภาพระบบรักษาพยาบาล คาดว่าจุดสูงสุดของการระบาดที่ทำให้เกิดผู้ป่วยอาการรุนแรงน่าจะอยู่ช่วงต้น พ.ค. โดยจะช้ากว่าการติดเชื้อรายใหม่สูงสุดประมาณ 2 สัปดาห์

นพ.โสภณกล่าวว่า การติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนปีนี้ต่างจากสายพันธุ์เดลตาปีที่แล้ว 3 เรื่องคือ 1.เชื้อโอมิครอนทำให้เกิดอาการรุนแรงในเปอร์เซ็นต์ที่ต่ำกว่าเดลตา 2.คนไทยรับวัคซีนเปอร์เซ็นต์สูงขึ้น ทั้งวัยทำงานและวัยเรียน ซึ่งปีที่แล้วเราเริ่มฉีดจากผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงก่อน และ 3.เรามีความรู้ความเข้าใจการป้องกันดีขึ้นว่าต้องป้องกันตนเองอย่างไร

"โอมิครอนโอกาสติดง่ายกว่าเดลตา โดยวัยทำงานและวัยเรียนมีการติดเชื้อเยอะ บางครอบครัวติดทั้งบ้าน ต่างจากสมัยเดลตาที่อาจติดประมาณครึ่งหนึ่ง แต่เราฉีดวัคซีนสูง ทั้งประเทศ 77% เฉพาะผู้สูงอายุ 83% ช่วยป้องกันการป่วยหนักและอาการรุนแรง แม้รับวัคซีนแล้วก็ต้องป้องกันตนเอง โดยหากรับ 2 เข็มนานเกิน 3 เดือน ให้รับเข็มกระตุ้นจะเพิ่มภูมิคุ้มกันสู้โอมิครอนดีขึ้น โอกาสเสี่ยงจะลดลงไปอีก" นพ.โสภณกล่าว

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทั้งในไทยและต่างประเทศ ซึ่งแม้ยังมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่พบอาการรุนแรงน้อยกว่าการระบาดก่อนหน้า โดยขณะนี้อัตราผู้เสียชีวิตในรอบ 7 วัน ประเทศไทยยังมีอัตราต่ำกว่าหลายประเทศ ขณะที่การใช้เตียงในโรงพยาบาล 57% ดังนั้นรัฐบาลจึงปรับการดูแลรักษาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยนายกฯ ขอให้ประชาชนมั่นใจต่อระบบการรักษาภายใต้โครงการการขยายบริการเจอ แจก จบ เพื่อรองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว หรือที่อาการไม่รุนแรงมากอย่างทั่วถึง เพราะเมื่อเข้าสู่ระบบผู้ป่วยนอก ทุกคนจะถูกบันทึกเข้าไปอยู่ระบบบริการ และจะได้รับการดูแลรักษาพยาบาลอย่างเหมาะสมมีประสิทธิภาพ

“ขอให้ทุกจังหวัด หน่วยปฏิบัติ และหน่วยงานในพื้นที่ เร่งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้ชัดเจนเกี่ยวกับการเข้าถึงระบบการรักษาและการเตรียมความพร้อมต่าง ๆ รองรับผู้ป่วยในแต่ละกลุ่มอาการเขียว เหลือง แดง ทั้งในส่วนของ HI และ CI หรือโรงพยาบาล เพื่อประชาชนจะได้ปฏิบัติตัวได้ถูกต้อง เหมาะสม” นายธนกรกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง