รัฐบาลเฮ! ศาลปกครองสูงสุดกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น ให้รับคำขอพิจารณาคดีโฮปเวลล์ เปิดทางภาครัฐสู้คดีใหม่ได้อีกครั้ง “พีระพันธุ์” ชูเป็นผลงานโบแดงรัฐบาล ประหยัดเงินไปกว่า 3 หมื่นล้านบาท ขณะที่ "ศักดิ์สยาม" สั่งเดินหน้ากระบวนการยุติธรรมต่อ
เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2565 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น ในคดีคำร้องที่ 394- 396/2564 ระหว่างกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย อุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองกลางที่ไม่รับคำขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีใหม่ไว้พิจารณานั้น เป็นให้รับคำขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีใหม่ไว้พิจารณา
ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า จากคำพิพากษาในคดีดังกล่าวที่ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด รู้ว่ามีข้อพิพาทเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 ม.ค.2541 อันเป็นวันที่ได้รับหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาจากกระทรวงคมนาคม เมื่อสัญญาระหว่างคู่พิพาทไม่ได้กำหนดเรื่องระยะเวลาการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการไว้โดยเฉพาะ การเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ จึงกระทำได้ภายในอายุความการฟ้องคดีต่อศาล เมื่อข้อพิพาทได้เกิดขึ้นก่อนที่ศาลปกครองเปิดทำการ การนับอายุความการฟ้องคดีต่อศาลปกครองจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการ คือวันที่ 9 มี.ค.2544 เมื่อบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 24 พ.ย.2547 อันเป็นการยื่นภายในกำหนดระยะเวลา 5 ปีนับแต่วันที่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญา
ข้อพิพาทนี้จึงเป็นข้อพิพาทที่เสนอต่อคณะอนุญาโตตุลาการภายในระยะเวลาโดยชอบแล้ว ทั้งนี้ แม้ว่าคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวจะไม่ได้ระบุถึงที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดโดยตรง แต่ก็เริ่มนับระยะเวลาการฟ้องคดีตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการตามที่กำหนดในมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2545
ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มติที่ประชุมใหญ่ฯ เกี่ยวกับการเริ่มนับระยะเวลาการฟ้องคดีปกครองดังกล่าว ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และโดยที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญย่อมเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ
ดังนั้น การที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาในคดีดังกล่าว ตามแนวทางที่กำหนดโดยมติที่ประชุมใหญ่ฯ จึงเป็นกรณีที่ข้อกฎหมายที่ศาลปกครองสูงสุดใช้ในการทำคำพิพากษาหรือคำสั่งเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ ซึ่งทำให้ผลแห่งคำพิพากษาหรือคำสั่งขัดกับกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทยจึงชอบที่จะขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีปกครองใหม่ได้ ตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง (4) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
แม้ว่ามาตรา 212 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญจะบัญญัติไว้ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ใช้ได้ในคดีทั้งปวง แต่ไม่กระทบต่อคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้ว ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญข้างต้น มิได้มีผลเป็นการห้ามมิให้คู่กรณีหรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในคดีนำผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2564 มาใช้เป็นข้ออ้างในการขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีนี้ใหม่แต่อย่างใด
ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้รับคำขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีใหม่ของกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทยไว้พิจารณา
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า ถือเป็นข่าวดี เพราะอย่างน้อยที่ต่อสู้กันมาไม่รู้กี่ปี เราก็ไม่เคยประสบความสำเร็จเลย นี่เป็นครั้งแรก ซึ่งก็ต้องขอบคุณทุกคนที่เกี่ยวข้อง ทั้งเจ้าหน้าที่ ฝ่ายการเมือง รัฐมนตรีคมนาคม และนายกรัฐมนตรี ที่ให้โอกาสพวกเราทำงานต่อสู้กันอย่างเต็มที่ ซึ่งก็เป็นตัวอย่างในการร่วมมือกันทำงาน และก็ทำให้เห็นสิ่งที่ดีๆ ทางการเมืองเหมือนกัน
"หากใช้การเมืองในการทำให้เกิดประโยชน์กับบ้านเมืองในการร่วมมือกัน ถือเป็นผลงานชิ้นโบแดงของรัฐบาลนี้เพราะอย่างน้อยก็ประหยัดเงินไปกว่า 3 หมื่นล้านบาท” นายพีระพันธุ์กล่าว
ด้านนายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความ กล่าวว่า หลังจากนี้ต้องกลับมาพิจารณาคดีใหม่เริ่มที่ศาลปกครองชั้นต้น ซึ่งประเด็นปัญหาในข้อเท็จจริงจบไปแล้ว เท่ากับว่าวันนี้จะมีเฉพาะประเด็นข้อกฎหมายเท่านั้น ทั้งนี้ ต้องรอว่าศาลปกครองกลางจะกำหนดนัดอย่างไร ทั้งนี้ต้องถือเป็นโอกาสประเทศไทย เพราะยังมีอีกหลายเรื่องที่มีลักษณะคล้ายแบบนี้
เมื่อถามว่าโอกาสที่เราจะไม่ต้องจ่ายเงินมีเยอะหรือไม่ นายนิติธรกล่าวว่า ในขณะนี้คิดว่าเราก็ทำให้เห็นชัดเจนมาโดยลำดับ ทั้งศาล ประชาชน และรัฐบาล โดยเฉพาะนายกฯ และ รมว.คมนาคมก็เต็มที่ ฉะนั้นเรื่องนี้ก็คงไม่เป็นปัญหาอะไร ทั้งนี้ถ้าตอบโดยอิงข้อกฎหมายคิดว่าเราก็น่าจะประสบผลสำเร็จ
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ต้องขอขอบพระคุณคณะผู้พิพากษาศาลปกครองสูงสุด เรื่องนี้ยังไม่จบกระบวนการยุติธรรม แต่เป็นเรื่องดี ทั้งนี้เนื่องจากเป็นการช่วยเปิดโอกาสให้ภาครัฐได้ดำเนินการต่อสู้คดีใหม่ได้อีกครั้ง ซึ่งประเด็นที่จะนำมาต่อสู้หลังจากนี้ อาทิ เรื่องอายุความของคดี มติจาก ครม. การจดทะเบียนวัตถุประสงค์ บริษัทที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเรื่องการลงนามในสัญญา ผู้ลงนามไม่ใช่บริษัทที่ได้รับสัมปทาน เป็นต้น
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดีกับภาครัฐ และหลังจากนี้จะต้องเตรียมความพร้อมในการเดินหน้าต่อไปตามกฎหมาย ซึ่งยืนยันว่าทางกระทรวงคมนาคมและ รฟท.มีความพร้อมในเรื่องนี้ และพร้อมปรับตัวกับให้เข้ารูปคดีที่เกิดขึ้นจนถึงที่สุดต่อไป
“ส่วนตัวผมมั่นใจว่าการต่อสู้คดีในครั้งนี้เราจะได้รับความยุติธรรมจากกระบวนการยุติธรรมในครั้งต่อไป ทั้งนี้ จากการเตรียมตัวในเรื่องกฎหมายแล้ว ทาง รฟท.ยังได้มีการหารือกันในเรื่องของการวางรูปคดีของเรื่องนี้ให้ดีที่สุด เพื่อให้ศาลได้ค้นหาความจริงได้อย่างเต็มที่ จนนำไปสู่ดุลพินิจที่ถูกต้อง และเราในฐานะองค์กรของรัฐ เราพร้อมเคารพในคำตัดสินของศาล โดยถึงที่สุดอย่างเต็มที่อยู่แล้ว ส่วนหลังจากนี้ภาครัฐจะต้องจ่ายค่าโง่ให้กับบริษัท โฮปเวลล์ฯ หรือไม่นั้น ยังไม่สามารถตอบได้ ต้องรอให้กระบวนการการตัดสินอีกที” นายนิรุฒกล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ฉายาสภาเหลี่ยม(จน)ชิน
ถึงคิวสื่อสภา ตั้งฉายา สส. "เหลี่ยม (จน) ชิน" จากการพลิกขั้วรัฐบาลเขี่ย
ตอกฝาโลงกิตติรัตน์ ‘กฤษฎีกา’ชี้ขาดคุณสมบัติ เหตุมีส่วนกำหนดนโยบาย
"กฤษฎีกา" ชี้ชัดสมัย "นายกฯ เศรษฐา" ตั้ง "กิตติรัตน์" เป็นประธานที่ปรึกษาของนายกฯ
‘เท้งเต้ง’ไม่ทน! ชงแก้ข้อบังคับ รมต.ตอบกระทู้
ทนไม่ไหว! “หัวหน้าเท้ง” หารือประธานสภาฯ ขอให้แก้ข้อบังคับการประชุม
แม้วพบอันวาร์กลางทะเล เตือนเสือกทุกเรื่องทำพัง!
ปชน.จี้ถามรัฐบาล “ทักษิณ” มีอำนาจจริงปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือไม่
ให้กำลังใจจนท.ดูแลปีใหม่ เข้มงวด‘ความปลอดภัย’
นายกฯ ให้กำลังใจตำรวจ-กรมทางหลวง ทำงานหนักช่วงปีใหม่
กฤษฎีกาเอกฉันท์โต้งหมดสิทธิ์
กฤษฎีกามติเอกฉันท์ "กิตติรัตน์" ขาดคุณสมบัติ หมดสิทธิ์นั่ง "ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ"